ดูหนังอย่างคนเบี้ยน้อยหอยน้อย 158; ดู Ferdinand ภาพยนตร์แอนิเมชันที่วาดโดยคอมพิวเตอร์จากค่ายบลูสกายสตูดิโอส์ เจ้าของผลงานคุณภาพอย่างแฟรนไชส์ Ice Age (ประกอบด้วยหนังยาว 5 เรื่อง หนังสั้น 5 เรื่อง หนังฉายทางทีวี 2 เรื่อง) หนัง Rio ทั้ง 2 ภาค และอีกเรื่องที่ดิฉันชอบมาก คือ Epic #หลายท่านอาจงงว่านี่มันเรื่องอะไร555
แอนิเมชันเรื่องนี้ ดัดแปลงมาจากวรรณกรรมสำหรับเด็กของอเมริกา เรื่อง The Story of Ferdinand แต่งโดย มุนโร ลีฟ วาดภาพโดย โรเบิร์ต ลอว์สัน ตีพิมพ์ในปี 1936 (พ.ศ. 2479) ได้รับความนิยมสูงสุดในสมัยนั้น และกลายเป็นวรรณกรรมคลาสสิกของอเมริกาตราบจนทุกวันนี้ บริษัทวอลต์ ดิสนีย์ เคยนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์การ์ตูนสั้นในปี 1938 ชื่อ Ferdinand the Bull และชนะรางวัลออสการ์ด้วย
“เฟอร์ดินานด์” เป็นชื่อของวัวตัวหนึ่ง วัวแบบเฟอร์ดินานด์นี้ฝรั่งเรียกว่า บูล (bull) หมายถึงวัวตัวผู้ที่มีร่างกายแข็งแกร่ง เลี้ยงไว้สำหรับลงแข่งขันในสนามสู้วัวและชนวัว การชนวัวนี่เมืองไทยก็มีเหมือนกัน เรียกว่า “กีฬาวัวชน” แต่เราไม่มี “กีฬาสู้วัว” เพราะมันเป็นมหรสพของฝรั่งที่ได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมของจักรวรรดิโรมัน คือพวกโรมันเนี่ยก็ไม่รู้เหมือนกันว่ามีดีเอ็นเออะไรอยู่ในร่าง นางชอบเห็นเลือดเห็นคนตายกันเหลือเกิน มหรสพของนางคือการเอาทาส (เชลยศึกจากต่างแดน) มาสู้กัน แล้วให้ฆ่ากันตายจริงๆ หรือเอาทาสมาวิ่งหนีไปมา แล้วให้ทหารโรมันขี่ม้าไล่ฆ่า หรือเอาทาสมาสู้กับสัตว์ดุร้าย เช่น เสือ สิงโต ซึ่งถ้าใครได้ดูหนังเรื่อง Gladiator เมื่อปี 2000 น่าจะนึกออก เมื่อตอนที่ดิฉันเรียนการละครโรมันก็ปวดตับแทบแย่ เพราะละครของนาง ถ้ามีฉากสู้รบหรือสงคราม ก็จะเอาทาสมาแสดง แล้วให้ฆ่ากันจริงๆ บนเวที ดังนั้น การเอาวัวตัวใหญ่ๆ มากระตุ้นให้โมโหโทโสแล้วไล่ขวิดคน อันเป็นที่มาของกีฬาสู้วัวในปัจจุบัน จึงเกิดจากรสนิยมวิไลในการชมมหรสพของชาวโรมันนี่เอง
กีฬาสู้วัวจริงๆ แล้วมีในหลายประเทศ แต่สเปนดูจะนิยมกีฬาชนิดนี้มากที่สุด ถึงกับสถาปนาให้เป็นกีฬาประจำชาติ และการสู้วัวแบบสเปนก็กลายเป็นรูปแบบที่คนทั่วโลกรู้จักมากที่สุดด้วย รูปแบบดังกล่าวก็คือ จะมีนักสู้วัว เรียกว่า มาทาดอร์ แต่งตัวสวยๆ ลีลาจัดๆ สะบัดผ้าแดงออกมาล่อให้วัวขวิด ถ้าวัวไม่ขวิด ก็จะมีฝูงทีมงานมาช่วยกันยั่วให้วัวโกรธ ด้วยการต้อนไปต้อนมาและแทงให้บาดเจ็บ พอวัวหันไปขวิดผ้าแดงของมาทาดอร์ มาทาดอร์ก็จะพลิ้วหลบวัวไปเรื่อยๆ จนวัวเหนื่อยล้าเต็มที่แล้ว ก็จะถึงจุดไคลแม็กซ์ มาทาดอร์จะยืนประจันหน้ากับวัวในระยะประชิด แล้วใช้ดาบแทงไหล่วัวให้ทะลุหัวใจ ตายในดาบเดียว ปิดฉากการสู้วัว แต่ถ้าวัวตัวไหนสู้เก่งเป็นที่ประทับใจคนดู ตอนที่มาทาดอร์จะฆ่าวัว คนดูก็สามารถโบกผ้าเช็ดหน้าเชียร์ให้ไว้ชีวิตได้ ในกรณีที่มาทาดอร์พลาดถูกวัวขวิดจนบาดเจ็บหรือตาย ทีมงานจะออกมาฆ่าวัวเพื่อตัดจบเลย แล้วเนื้อวัวก็จะถูกชำแหละขายเป็นอาหารชั้นเลิศต่อไป
วัวแบบที่ฝรั่งเรียก “บูล” นี้ คนไทยเรียกว่า “วัวกระทิง” ซึ่งทำให้ดิฉันงงมาก เพราะตั้งแต่เด็กก็เรียก “วัว” มาโดยตลอด ส่วน “กระทิง” เป็นสัตว์ป่า ไม่ได้เอามาใช้ในกีฬาสู้วัว แล้วทำไมอยู่ดีๆ เราไปเรียกวัวว่ากระทิง ร้อนถึงเพื่อนๆ ดิฉันต้องมาอธิบายให้ฟังว่า “กระทิง” กับ “วัวกระทิง” ไม่เหมือนกัน กระทิงคือวัวป่าชนิดหนึ่ง ส่วนวัวกระทิงคือวัวนักสู้ในกีฬาสู้วัวหรือในเทศกาลที่ปล่อยวัวออกมาวิ่งไล่คน ซึ่งเป็นวัฒนธรรมของต่างประเทศ บ้านเรามีแต่วัวเชื่องๆ ไม่มีแบบดุๆ ไล่ขวิดคนเท่าไหร่ เราจึงต้องหาคำเรียกวัวนักสู้เหล่านั้นให้เห็นภาพชัดว่าเป็นวัวสายโหด ก็เลยเรียกว่า “วัวกระทิง” หมายถึงวัวที่ตัวใหญ่ดุร้ายและทรงพลังแบบกระทิง #เพื่อนเดี๊ยนเริ่ดมั้ยคะ นี่ดิฉันก็เกือบปักใจเชื่อแล้วล่ะ ถ้าไม่ฉุกคิดถึงเครื่องดื่มชูกำลังยี่ห้อหนึ่งขึ้นมาเสียก่อน เครื่องดื่มนี้มีชื่อภาษาอังกฤษว่า Red Bull และมีโลโก้เป็นรูปวัวกระทิงตั้งท่าขวิดกัน แต่ชื่อภาษาไทยกลับเป็น “กระทิงแดง” ไม่ยักใช่ “วัวกระทิงแดง” เสียหน่อย สรุปแล้วในความรับรู้ของคนไทย “กระทิง” กับ “วัวกระทิง” เป็นคนละอย่างกันจริงๆ เหรอ มีใครสงสัยแบบดิฉันมั่งไหมเนี่ย #ได้ยินเสียงเพื่อนตอบว่ามีแต่เมิงคนเดียวแหละ
เข้าเรื่อง Ferdinand กันเถอะนะ #เฮ้อ! หนังเล่าเรื่องของวัวน้อย “เฟอร์ดินานด์” เกิดที่ฟาร์มปศุสัตว์ในประเทศสเปน มีเพื่อนวัยเดียวกันอยู่หลายตัว ซึ่งต่างก็อยากเติบโตขึ้นเป็นวัวนักสู้ที่สามารถเอาชนะมาทาดอร์ในสนาม แต่เฟอร์ดินานด์กลับไม่ต้องการเช่นนั้น เพราะมันเป็นวัวที่อ่อนโยนมาก กิจกรรมที่มันชอบที่สุดไม่ใช่การฝึกต่อสู้ แต่คือการดมดอกไม้ เฟอร์ดินานด์จึงโดนเพื่อนแกล้งเป็นประจำ และแล้ววันหนึ่งก็มีเหตุให้มันหนีออกมาจากฟาร์ม และได้ไปพบกับเด็กหญิงลูกสาวเจ้าของสวนปลูกดอกไม้ เฟอร์ดินานด์จึงอาศัยอยู่กับครอบครัวนี้จนโต ตัวโตมากใหญ่เว่อร์เป็นวัวยักษ์อยู่ในสวน ในกาลต่อมา เกิดมีเหตุที่ทำให้คนเข้าใจผิดคิดว่ามันเป็นวัวดุร้าย เฟอร์ดินานด์จึงถูกจับกลับไปอยู่ฟาร์มเดิม กลายเป็นวัวที่รอการคัดเลือกให้ไปสู้กับมาทาดอร์ แผนการหนีครั้งที่ 2 จึงเริ่มต้นขึ้น และในครั้งนี้ มันตัดสินใจจะพาเพื่อนทุกตัว รวมทั้งเพื่อนใหม่ หนีออกไปพร้อมกันด้วย
เมื่อตอนที่ดูหนังตัวอย่าง ดิฉันรู้สึกเฉยๆ กับหนังเรื่องนี้ เพราะมุขที่ใส่มามันฝืดๆ พิกล และดูเหมือนหนังตัวอย่างจะบอกหมดแล้วว่าเรื่องราวเป็นยังไง แต่ที่ดิฉันตกลงปลงใจว่าจะไปดู ก็เพราะคิดถึงสไตล์ของแอนิเมชันค่ายนี้ ว่ามันจะมีมุขตลกที่เราคาดไม่ถึงอยู่เสมอ แล้วจังหวะการยิงมุขจะมาแบบต่อเนื่อง แบบตบแล้วตบอีกตบแล้วตบอีก ขำจนจะบ้าแล้วยังขำได้อีก อย่างตัวกระรอกดึกดำบรรพ์ที่ไล่ตามลูกโอ๊ค ในแฟรนไชส์ Ice Age แต่ละมุขนี่ไม่รู้คิดได้ไง ดิฉันสังหรณ์ว่า Ferdinand ก็อาจจะมีอะไรดีๆ ซ่อนอยู่แบบนี้แหละ จึงตัดสินใจไปดูที่ห้างสรรพสินค้าใกล้บ้าน
ที่มาภาพ: businessinsider.sg
ปรากฏว่า Ferdinand กลายเป็นหนังอีกเรื่องหนึ่งที่ดิฉันประทับใจมาก มุขที่คิดว่าฝืดในหนังตัวอย่าง พออยู่ในหนังมันตลกจริงๆ เพราะว่ามันมีจังหวะที่ปูมาก่อนเรื่อยๆ แล้วพอถึงจังหวะตบก็เต็มเหนี่ยวเลย ทำเอาดิฉันเผลอหัวเราะก๊ากๆ อย่างเสียกิริยาอยู่หลายหน โดยเฉพาะในฉากที่มี “มากิน่า” วัวหน้าตายไร้อารมณ์ซึ่งเกิดมาจากการโคลนนิง (ตัวขวาสุดแถวหลังในภาพ) และฉากโชว์เหนือของแก๊งม้าดีดกะโหลก ซึ่งเล่นใหญ่ไฟกะพริบราวกับเคยมาเข้าคอร์สตัวอิจฉาในละครไทย
แต่เห็นขำๆ แบบนี้ก็เถอะ บทจะโหดร้ายต่ออารมณ์ความรู้สึก หนังก็กระหน่ำมาแบบไม่คาดคิดเหมือนกันนะ เพราะเรื่องราวที่หนังบอกเล่าคือความพยายามที่จะเอาชีวิตรอดของตัวละครกลุ่มหนึ่ง ซึ่งไม่ยอมจำนนต่อชะตากรรมที่คนอื่นหยิบยื่นให้ มันจึงมีอะไรโหดๆ อยู่ตามรายทาง ซึ่งหนังก็ขยี้ได้อย่างตรงจุด แต่ก็ไม่ดาร์กเกินไปจนกลายเป็นหดหู่ นับว่าบริหารจัดการทิศทางของหนังได้เป็นอย่างดี
โดยเหตุที่หนังเรื่องนี้มีประเด็นเกี่ยวเนื่องกับกีฬาสู้วัว ซึ่งเป็นที่ถกเถียงตบตีกันมานานแล้วระหว่างฝ่ายอนุรักษ์ประเพณีกับฝ่ายต่อต้านการทารุณกรรมสัตว์ หนัง Ferdinand จึงถูกโจมตีจากฝ่ายอนุรักษ์หนักเอาการ ทั้งที่ดิฉันรู้สึกว่าหนังก็ไม่ได้มีท่าทีที่จะไม่เคารพประเพณี เพียงแต่เรียกร้องให้ทุกคนเคารพในชีวิตของผู้อื่นด้วยเท่านั้น
ที่สำคัญ สิ่งที่หนังนำเสนอก็กว้างใหญ่ไพศาลกว่าเรื่องกีฬาสู้วัวเป็นไหนๆ เพราะมันทำให้เรารู้ว่า “นักสู้ผู้กล้า” ที่แท้จริง ไม่ใช่คนที่สามารถเอาชนะคนอื่นได้ แต่หมายถึงคนที่กล้าสู้กับอุปสรรค เพื่อสามารถมีชีวิตแบบที่ตัวเองเลือก โดยไม่ยอมพ่ายแพ้แก่ชะตากรรม
สรุป: จ่าย 200 ได้กลับมา 320
หมายเหตุ: Ferdinand เข้าชิงรางวัลออสการ์สาขาภาพยนตร์แอนิเมชันยอดเยี่ยมประจำปีนี้ เช่นเดียวกับ Coco (อ่านได้ในเบี้ยน้อยหอยน้อย 157 จ้ะ)
(ขอบคุณภาพปกจาก moviepilot.de)