ดูหนังอย่างคนเบี้ยน้อยหอยน้อย 146; ดู Fiddler on the Roof หนังอภิมหาอมตะซึ่งหอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) คัดสรรมาฉายในโปรแกรม “ทึ่ง! หนังโลก (World Class Cinema)” ประจำเดือนพฤศจิกายน 2560 โปรแกรมดังกล่าวจัดมาตั้งแต่ต้นปี ที่โรงหนังสกาลา โดยคัดภาพยนตร์คลาสสิกมาฉายเดือนละเรื่อง รวมทั้งหมด 9 เรื่อง ค่าตั๋วเรื่องละ 100 บาท ที่ผ่านมาดิฉันก็ดูมาตลอด มีพลาดบ้างถ้างานเข้ากะทันหัน หลายๆ เรื่องแอบหลับบ้างเพราะหนังย้าวยาว และการดำเนินเรื่องของหนังสมัยก่อนก็อาจจะอืดๆ ไปนิดสำหรับวัยรุ่นอย่างเรา #กล้าพูดดดด แต่ทุกเรื่องก็ถือว่าควรค่าที่จะได้ดูจากจอใหญ่ๆ ในโรงหนังสักครั้งในชีวิตนี้

Fiddler on the Roof เป็นหนังเพลงที่ออกฉายในปี 1971 (พ.ศ. 2514) หลายๆ คนยังไม่ตายจากชาติที่แล้ว รวมทั้งดิฉันด้วย แต่ถึงกระนั้นก็น่าจะมีหลายคนที่เคยได้ยินเพลงจากหนังเรื่องนี้อยู่บ้าง เพราะพ่อแม่พากันเปิดฟัง อย่างดิฉัน แม้จะไม่เคยดูหนัง เนื้อเพลงก็ยังฟังไม่ออก แต่ก็จดจำทำนองเพลงและความไพเราะของดนตรีได้ขึ้นใจ

ธรรมดาหนังเพลงส่วนใหญ่ มักจะสร้างมาจากละครเพลง หนังเรื่องนี้ก็มีต้นกำเนิดมาจากละครเพลงเช่นกัน และละครเพลงเรื่องนี้ก็มีต้นกำเนิดมาจากวรรณกรรมอีกทีหนึ่ง บทประพันธ์ตั้งต้นของ Fiddler on the Roof คือเรื่องสั้นชุด Tevye and His Daughters (เทฟเวียและบรรดาบุตรสาว) ผลงานของโชเลม อลีเคม นักประพันธ์ชาวยิวที่เกิดในจักรวรรดิรัสเซียและมีถิ่นพำนักในกรุงนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา เรื่องสั้นชุดนี้แต่งขึ้นในช่วงปี 1894 – 1914 ด้วยภาษายิดดิช (ภาษาหนึ่งของยิว) สร้างเป็นละครเวทีภาษายิดดิชในปี 1919 หลังจากผู้แต่งถึงแก่กรรมไปแล้ว 3 ปี ต่อมาในปี 1939 ได้สร้างเป็นหนังภาษายิดดิช แล้วราวปลายทศวรรษที่ 1950s ก็สร้างเป็นละครเพลงภาษาอังกฤษ แสดงที่โรงละครเล็กๆ ในนิวยอร์ก จากนั้นในปี 1964 จึงได้สร้างเป็นละครเพลงโปรดักชันใหญ่แสดงในบรอดเวย์ โดยเปลี่ยนชื่อเรื่องเป็น Fiddler on the Roof แบบที่เรารู้จักกันในปัจจุบัน

ตัวละครเอกของ Fiddler on the Roof ชื่อเทฟเวีย เป็นชายชาวยิวยากจน ประกอบอาชีพเป็นคนส่งนม อาศัยอยู่กับภรรยาชื่อโกลดี และลูกสาว 5 คน ในหมู่บ้านอนาเทฟกาแห่งจักรวรรดิรัสเซีย ช่วงเวลานั้นกำลังเกิดขบวนการเคลื่อนไหวอันนำไปสู่การปฏิวัติรัสเซียในปี 1917 จึงเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่ความคิดความเชื่อใหม่ๆ เข้ามาปะทะสังสรรค์กับขนบธรรมเนียมประเพณีโบราณที่ชาวบ้านยึดถือกันมา

ตามประเพณีของชาวยิวนั้น หนุ่มสาวไม่สามารถเลือกคู่ครองได้เอง การแต่งงานเกิดขึ้นได้ด้วยการจัดสรรของพ่อแม่และแม่สื่อ โดยอำนาจการตัดสินใจอยู่ที่พ่อของเจ้าสาวเท่านั้น ว่าอยากได้ใครมาเป็นเขย แต่ปรากฏว่า ลูกสาวสามคนโตของเทฟเวียกลับตกหลุมรักชายหนุ่มที่พ่อไม่ได้เห็นชอบ คนโตรักกับช่างตัดเสื้อยากจนซึ่งเป็นเพื่อนเล่นกันมาตั้งแต่เด็ก คนที่สองรักกับหนุ่มหัวก้าวหน้าซึ่งเป็นแกนนำการประท้วง คนที่สามรักกับชาวรัสเซีย ซึ่งแตกต่างทั้งเชื้อชาติ ศาสนา และถือได้ว่าเป็นปฏิปักษ์กับชาวยิวด้วยนโยบายของพระเจ้าซาร์ในการ ‘จำกัด’ และ ‘กำจัด’ ชาวยิวที่มาอาศัยอยู่ในประเทศ ทั้งหมดนี้ได้นำเทฟเวียไปสู่การตัดสินใจอันยากลำบากครั้งแล้วครั้งเล่า ว่าจะยึดถือประเพณีซึ่งให้หลักประกันกับชีวิตได้มากกว่า หรือจะยอมรับว่าโลกได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว และความรู้สึกของคนเราอาจเป็นสิ่งที่สำคัญกว่าประเพณี

ชื่อเรื่อง Fiddler on the Roof ได้แรงบันดาลใจมาจากภาพวาด The Fiddler ของมาร์ก ชากาลล์ จิตรกรชาวยิวซึ่งเกิดในจักรวรรดิรัสเซียและมีถิ่นพำนักในกรุงปารีส ฝรั่งเศส คำว่า “ฟิดด์เลอร์” แปลว่า คนสีซอ มาจากคำ fiddle (ฟิดเดิล) อันแปลว่าเครื่องดนตรีประเภทซอ เช่นไวโอลิน ซึ่งสมัยก่อนเราเรียกว่า “ซอฝรั่ง” ปกติแล้วก็คงจะไม่มีใครขึ้นไปสีไวโอลินบนหลังคา ดังนั้น Fiddler on the Roof จึงมีนัยเปรียบเทียบถึงคนที่ทำอะไรแหวกแนว นอกรีตนอกรอย และสุ่มเสี่ยง แต่ในขณะเดียวกันก็มีอิสระเสรีภาพและร่าเริงใจถึงขีดสุด ซึ่งนี่ก็คือจิตวิญญาณส่วนหนึ่งของตัวละครเทฟเวีย

ละครเพลง Fiddler on the Roof เมื่อปี 1964 เป็นหนึ่งในความสำเร็จตลอดกาลของบรอดเวย์ กวาดรางวัลใหญ่ๆ สำหรับละครเพลงมาได้เกือบหมด เปิดการแสดงยาวนานถึง 8 ปี ด้วยจำนวนรอบที่เยอะเป็นประวัติการณ์ แล้วพอปี 1967 ก็มีเวอร์ชันเวสต์เอนด์ที่อังกฤษ ประสบความสำเร็จถล่มทลายเช่นเดียวกัน จวบจนทุกวันนี้ ละครเพลง Fiddler on the Roof ก็ยังถูกหยิบยกขึ้นมาสร้างใหม่แทบว่าจะทุก 5 ปีทั้งในอเมริกาและอังกฤษ สร้างทีไรก็เป็นปรากฏการณ์ทีนั้น ล่าสุดเมื่อปี 2015 บรอดเวย์เอามาสร้างใหม่ แล้วก็เข้าชิงรางวัลสำหรับละครเวทีเยอะแยะมากมาย โดยเฉพาะสาขาละครเพลงยอดเยี่ยมและนักแสดงนำชายในละครเพลงยอดเยี่ยม เรียกได้ว่า ‘นอนมาชิง’ ตลอดไม่ว่าจะสร้างมากี่ครั้ง

ความสำเร็จของละครเพลงในปี 1964 ทำให้เกิดเป็นหนังเพลงในปี 1971 โดยทีมงานระดับสุดยอดทั้งสิ้น กำกับโดย นอร์แมน เจวิสัน ผู้กำกับมือฉมังชาวแคนาดา (ปัจจุบันอายุ 91 ปี) เขียนบทโดย โจเซฟ สไตน์ ซึ่งเขียนมาตั้งแต่เวอร์ชันละครบรอดเวย์จนได้รางวัลบทละครเพลงยอดเยี่ยมมาแล้ว (ท่านถึงแก่กรรมเมื่อปี 2010 สิริอายุ 98 ปี) ถ่ายภาพโดย ออสวอลด์ มอร์ริส ตากล้องภาพยนตร์มือรางวัลชาวอังกฤษ (ถึงแก่กรรมเมื่อปี 2014 สิริอายุ 98 ปี) ใช้เพลงจากละครบรอดเวย์ซึ่งได้รางวัลเพลงยอดเยี่ยมมาเรียบร้อย ประพันธ์ทำนองโดย เจอร์รี บ็อค (ถึงแก่กรรมเมื่อปี 2010 สิริอายุ 81 ปี) ประพันธ์คำร้องโดย เชลดอน ฮาร์นิค (ปัจจุบันอายุ 93 ปี) โดยมี จอห์น วิลเลียมส์ ทำหน้าที่ปรับเพลงและดนตรีให้เหมาะกับภาพยนตร์ (ท่านผู้นี้ก็คือผู้ประพันธ์ดนตรีประกอบภาพยนตร์เรื่อง Jaws, E.T. ภาพยนตร์ชุด Star Wars ภาพยนตร์ชุด Jurassic Park ภาพยนตร์ชุด Harry Potter และอื่นๆ อีกมากมายสาธยายไม่หมด ปัจจุบันท่านอายุ 85 ปี) ส่วนผู้แสดงเป็นเทฟเวีย ก็คือผู้ที่รับบทนี้ในละครเพลงเวสต์เอนด์ เป็นนักแสดงชาวยิว เกิดที่ปาเลสไตน์ (ปัจจุบันคือประเทศอิสราเอล) มีชื่อว่า เคม โทโปล แต่ใช้ชื่อในการแสดงว่า “โทโปล” เฉยๆ ท่านผู้นี้ก็ยังมีชีวิตอยู่ ปัจจุบันอายุ 82 ปี #ทุกท่านอายุยืนกันมากข่าาาา

ตั้งแต่เปิดเรื่อง หนัง Fiddler on the Roof ก็ได้ใจดิฉันไปครอง และเมื่อดูต่อไปจนจบ ดิฉันรู้สึกว่านี่เป็นหนังที่ทุกคนควรดูให้ได้ก่อนตาย ทุกภาพทุกเสียงและทุกสิ่งอย่างที่ร้อยเรียงกันเป็นเรื่องราวตลอดระยะเวลา 3 ชั่วโมงนั้น ช่างมีความหมายและงดงามมากๆ หนังใช้กลวิธีทางภาพยนตร์ผสานกับกลวิธีของละครเวทีได้อย่างพอเหมาะพอดีและมีศิลปะ เป็นหนังที่ทั้งสนุก หรรษา และซาบซึ้ง หลับไม่ลงเลยแม้แต่วินาทีเดียว #นี่เป็นเรื่องที่สำคัญมาก 555 โทโปลให้การแสดงอันวิเศษสุด ล้ำลึก และเปี่ยมพลัง จนแทบไม่อยากเชื่อว่าเขาอายุเพียง 36 ปีเองในตอนนั้น แต่สามารถรับบทชายสูงวัยที่ทะเลาะกับโชคชะตาอันเป็นลิขิตของพระเจ้ามาแล้วอย่างโชกโชน

ส่วนเพลงซึ่งติดอยู่ในใจดิฉันมาตั้งแต่เด็ก เมื่อก่อนฟังโดยไม่มีบริบทของหนังรองรับ ก็ฟังแบบเพลงเพราะๆ โดยทั่วไป แต่พอได้มาฟังและดูไปพร้อมกันในฐานะที่เพลงนั้นเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินเรื่อง ความรู้สึกมันต่างออกไปโดยสิ้นเชิง มันเป็น ‘ความทราบซึ้ง’ อย่างที่ไม่เคยรู้สึกมาก่อน คือทั้ง ‘ทราบ’ และ ‘ซึ้ง’ ในทุกสิ่งจนอารมณ์ความรู้สึกท่วมท้นออกมาเป็นน้ำตาแห่งความอิ่มเอมเต็มตื้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เพลง Sunrise, Sunset (ตะวันขึ้น, ตะวันลา) ซึ่งใช้ในฉากพิธีแต่งงานลูกสาวคนโตของเทฟเวีย ฉากนี้งดงามและเปี่ยมความหมายอย่างยิ่ง จนอยากจะให้ทุกท่านได้ชม ครั้งนี้จึงเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของเบี้ยน้อยหอยน้อยที่ยกฉากในหนังมาให้ดูกันเลย

ฉากนี้เริ่มต้นด้วยภาพตะวันยอแสงในยามเย็น และขบวนแห่เจ้าบ่าวเจ้าสาวไปยังสถานที่จัดพิธีแต่งงาน เราจะเห็นเจ้าบ่าว คือโมเทิล ช่างตัดเสื้อหนุ่ม ซึ่งยังรู้สึกอยู่ตลอดเวลาว่าการที่เขาได้สมรักครั้งนี้คือปาฏิหาริย์ จากนั้นเราจะเห็นเทฟเวียเดินนำเจ้าสาว คือไซเทิล พร้อมด้วยโกลดีและลูกสาวอีก 4 คน ถัดไปเป็นผู้ชายแก่มีเคราเดินกับผู้หญิงแก่ตัวเล็กๆ นั่นคือเลซาร์ วูล์ฟ ชายที่ขอไซเทิลแต่งงานแต่ต้องพลาดหวังไป กับแม่สื่อซึ่งแห้วไปเช่นกันจากการจับคู่เลซาร์-ไซเทิล จบด้วยภาพดวงอาทิตย์ค่อยๆ ลับเหลี่ยมเขา

จากนั้นตัดไปที่คนสีไวโอลินซึ่งนั่งอยู่บนหลังคา มองลงมาด้วยความเข้าอกเข้าใจ คนสีไวโอลินนี้จะปรากฏเนืองๆ ในหนัง เป็นภาพแทนจิตใต้สำนึกของเทฟเวีย

เพลง Sunrise, Sunset เริ่มขึ้นเมื่อแรบไบ (ศาสนาจารย์ของยิว) เริ่มทำพิธี และดำเนินไปเรื่อยๆ จนจบลงเมื่อเสร็จพิธี เนื้อเพลงเป็นความรู้สึกของเทฟเวียและโกลดี ว่าวันเวลาช่างผ่านไปเร็วยิ่งนัก ไม่ทันไรเด็กๆ ก็โตเป็นหนุ่มเป็นสาวและมีชีวิตของตัวเอง ในท่อนท้ายมีความรู้สึกของหนุ่มสาวอีกคู่ที่เริ่มชอบพอกัน คือเพอร์ชิค หนุ่มนักปฏิวัติ กับโฮเดิล ลูกสาวคนรองของเทฟเวีย อันเป็นลางบอกเหตุ (foreshadow) ถึงเรื่องราวอันแสนเศร้าของคู่นี้ในช่วงครึ่งหลังของหนัง

ภาพที่ตัดสลับสอดประสานไปกับเพลง ล้วนเป็นภาพที่สอดคล้องกับเนื้อหาของเพลง ซึ่งพูดถึงความเปลี่ยนแปลงของชีวิตตามวันเวลาที่ผันผ่าน มีทั้งความสุขและความเศร้าคละเคล้ากัน เปรียบเสมือนดวงตะวันที่ขึ้นและตกเวียนไปเป็นวัฏจักร

ดิฉันจึงขออ้างถึงเนื้อเพลง พร้อมถอดความและเรียบเรียงเป็นกลอน ดังนี้

(Tevye)
Is this the little girl I carried?
Is this the little boy at play?

(เทฟเวีย)
นี่หรือคือเด็กหญิงตัวน้อยๆ
คนที่คอยให้ข้าอุ้มขึ้นอิงไหล่
นี่เด็กชายคนนั้นหรือว่าไร
คนที่เคยวิ่งไล่เล่นซุกซน

(Golde)
I don’t remember growing older
when did they?

(Tevye)
When did she get to be a beauty?
When did he grow to be so tall?

(Golde)
Wasn’t it yesterday when they were small?

(โกลดี)
เจ้าเติบโตขึ้นมากันเมื่อไหร่

(เทฟเวีย)
งามเพียงนี้แต่เมื่อใดให้ฉงน
สูงเท่านี้แต่เมื่อใดให้ชอบกล

(โกลดี)
ยังเป็นเด็กเล่นซนอยู่เมื่อวาน

(Men)
Sunrise, sunset
Sunrise, sunset
Swiftly flow the days
Seedlings turn overnight to sunflowers
Blossoming even as we gaze.

(หมู่มวลชาย)
ดวงตะวันเบิกฟ้าแล้วลาจาก
เป็นสิ่งพรากคืนวันให้ผันผ่าน
เพียงข้ามคืนเมล็ดน้อยก็ผลิบาน
เป็นดอกไม้งามตระการประจักษ์ตา

(Women)
Sunrise, sunset
Sunrise, sunset
Swiftly fly the years
One season following another
Laden with happiness and tears.

(หมู่มวลหญิง)
ดวงตะวันเบิกฟ้าแล้วลาจาก
เป็นสิ่งพรากเดือนปีให้เดินหน้า
ฤดูกาลผันเปลี่ยนเวียนกันมา
มีความสุขมีน้ำตาเวียนกันไป

(Tevye)
What words of wisdom can I give them?
How can I help to ease their way?

(Golde)
Now they must learn from one another
day by day.

(เทฟเวีย)
ควรมอบคำสอนใดให้แก่เจ้า
ที่บรรเทาปกป้องผองภัยได้

(โกลดี)
นับแต่นี้ต้องเรียนรู้ดูกันไป
สร้างสมความเข้าใจในกันและกัน

(Perchik)
They look so natural together.

(Hodel)
Just like two newlyweds should be.

(Perchik & Hodel)
Is there a canopy in store for me?

(เพอร์ชิค)
ทั้งสองช่างน่าชมสมกันนัก

(โฮเดิล)
เป็นคู่รักจริงแท้ไม่แปรผัน

(เพอร์ชิค & โฮเดิล)
วิวาห์งามตามประเพณีดีเช่นนั้น
สำหรับฉันจะมีบ้างยังรางเลือน

(All)
Sunrise, sunset
Sunrise, sunset
Swiftly fly the years
One season following another
Laden with happiness and tears.

(ทั้งหมด)
ดวงตะวันเบิกฟ้าแล้วลาจาก
เป็นสิ่งพรากวันเวลาให้ลาเลื่อน
ฤดูกาลผันไปไม่แชเชือน
ยังมาเยือนทั้งสุขล้ำและน้ำตา

สรุป: จ่าย 100 ได้กลับมา 350

หมายเหตุ: Fiddler on the Roof เข้าชิงรางวัลออสการ์ 8 สาขา ชนะ 3 สาขา ดังนี้
1. ดนตรีประกอบยอดเยี่ยม – จอห์น วิลเลียมส์
2. ถ่ายภาพยอดเยี่ยม – ออสวอลด์ มอร์ริส
3. บันทึกเสียงยอดเยี่ยม

โดย ปวิวัณณ์ คำเจริญ

15 พฤศจิกายน 2560

(ขอบคุณภาพปกจาก filmsufi.com)