โดย Average Joe
19 ธันวาคม 2013
เป็นที่น่าสังเกตว่าระยะหลังๆ หนังการ์ตูนดิสนีย์ที่มี “เจ้าหญิง” เป็นตัวเอก ไม่ได้เจาะตลาดเฉพาะเด็กผู้หญิงอีกต่อไป แต่กลับปรับเนื้อหาและรายละเอียดให้เข้าถึงผู้ชมที่เป็นผู้ชายและวัยผู้ใหญ่ได้อีกด้วย(มีคนเคยสำรวจเอาไว้ว่า Disney Princesses จะขายได้เฉพาะเด็กผู้หญิงอายุ 7-13 ขวบเท่านั้น) เพราะขืนดิสนีย์ยังทำแต่เรื่องเทพนิยายแบบเจ้าชายขี่ม้าขาวมาช่วยเจ้าหญิง และทั้งสองก็ครองรักกันไปชั่วนิรันดร์ บลาๆๆ บริษัทคงเจ๊งไปนานแล้ว วิธีปรับเนื้อหาที่ว่า ได้แก่การตัดบางอย่างที่ล้าสมัยน่าเบื่อทิ้งไป เช่น ความโรแมนติกหวานเลี่ยนแบบเทพนิยายดั้งเดิม หรือตัวละครเอกที่แสนดีแต่มักจะแบนราบเป็นมิติเดียว แล้วเพิ่มความเป็นร่วมสมัยมากขึ้น ทั้งภาพลักษณ์และนิสัยใจคอของตัวละคร โดยสร้างตัวละครเอกทั้งหญิงและชายที่มีความเป็นขบถนิดๆ ใส่มุกตลกเฟี้ยวๆ ห่ามๆ เพื่อดึงคนดูกลุ่มอื่นให้มากขึ้น และไม่ได้เน้นที่เรื่องความรักอย่างชัดเจนเพียงเรื่องเดียวเท่าไรนัก
ที่มารูป: http://lifestyle.campus-star.com
การปรับเปลี่ยนที่กล่าวไปข้างต้น รวมถึงการค้นหาและจัดการความต้องการของตัวละครใหม่ โดยจะเห็นได้ชัดว่า “เจ้าหญิงดิสนีย์” สมัยนี้ ไม่ได้สนใจเรื่องการครองคู่กับเจ้าชายมากเท่าไร แต่กลับเน้นเรื่องการค้นหาตัวตนและที่ยืนที่เหมาะสมของตัวเองเสียมากกว่า (เช่น Rapunzel จากเรื่อง Tangled และ Merida จากเรื่อง Brave) นอกจากนี้ สิ่งหนึ่งที่ดิสนีย์ได้ลองทำและประสบความสำเร็จมาแล้วก็คือ
การล้อเลียนขนบและภาพลักษณ์ของ “เจ้าหญิงดิสนีย์” อย่างขบขันและชาญฉลาด ดังที่เคยทำใน Enchanted (2007) มาก่อน เช่นเรื่อง “จุมพิตแห่งรักแท้” (True Love’s Kiss) หรือกฎแห่งรักแรกพบ ที่เจ้าหญิงเจ้าชายเจอหน้ากันวันเดียวแล้วตัดสินใจครองคู่ชู้ชื่น เป็นต้น
ส่วนเรื่อง Frozen แม้จะมีตัวละครชายหนุ่มถึงสองคน แต่หนังก็ประกาศจุดยืนอย่างชัดเจนตั้งแต่ฉากแรกๆ ว่าไม่ได้เน้นเรื่องความรักระหว่างหนุ่มสาว แต่ต้องการนำเสนอความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนของสองพี่น้อง ตั้งแต่ใกล้ชิด ห่างเหิน แตกหัก และกลับมาประสานรอยร้าวกันได้อีกครั้ง โดยหนังก็สามารถรักษาใจความหลักนี้ได้ตั้งแต่ต้นจนจบเรื่อง ด้วยการสร้างเหตุการณ์และเรื่องราวต่างๆ ขึ้นมาเสริมเนื้อหาหลักได้อย่างเหมาะเจาะและลงตัว บวกกับการสานต่อการชำแหละ “ขนบเจ้าหญิง” ด้วยการเปลี่ยนมุมมองใหม่ เช่น นำเรื่องรักแรกพบมากล่าวถึงอีกครั้งด้วยน้ำเสียงเชิงสั่งสอนตักเตือน ส่วน true love’s kiss ก็ไม่ได้มีบทบาทสำคัญอะไรเลยด้วยซ้ำ และที่น่าสนใจเป็นอย่างมากก็คือ การนำนิยามเรื่องความรักมาขยายให้มากกว่าความเป็น romantic love เพียงด้านเดียว ฉะนั้น the act of true love ในตอนท้ายเรื่อง จึงส่งผลกระทบในวงกว้างถึงคนดูทุกเพศทุกวัยได้มากกว่า “หนังเจ้าหญิง” เรื่องก่อนๆ
ที่มารูป: http://www.marketingoops.com
ตัวละครสองพี่น้อง เอลซ่า และ อันนา ต่างก็มีมิติที่น่าสนใจ ทั้งสองต่างรักใคร่และสนิทสนมกันมากสมัยที่ยังเป็นเด็ก แต่หลังจากอุบัติเหตุอันไม่คาดฝันอันเนื่องมาจาก “ความสามารถพิเศษ” ของเอลซ่า ทำให้ทั้งสองต้องห่างเหินกันไปนานนับหลายปี จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์ร้ายแรงครั้งใหญ่ที่ทำให้ต้องกลับมาเผชิญหน้ากับความลับที่ถูกซุกซ่อนเมื่อในอดีตอีกครั้ง ความสัมพันธ์ที่ห่างเหินของสองพี่น้องนี้ล้วนเกิดจากความรักและความหวังดีที่แสดงออกอย่างไม่ถูกวิธี จนทำให้ทั้งสองเข้าใจอีกฝ่ายผิดไป โชคดีที่เอลซ่าและอันนาต่างก็ยังรักกันและศรัทธาในความเป็นพี่น้องมาก จนยอมเสียสละความสุขของตนเองเพื่อปกป้องอีกฝ่าย นอกจากนี้ หนังยังพูดถึงความขัดแย้งระหว่างพี่น้องอีกแบบหนึ่ง (แม้เพียงผิวเผิน) นั่นคือ Sibling rivalry หรือการแข่งขัน-เอาชนะกันระหว่างพี่น้อง ผ่านตัวละครเจ้าชายฮันส์ผู้แบกความกลัดกลุ้มที่ต้องถูกเปรียบเทียบกับเชษฐาทั้ง 12 พระองค์ ซึ่งเป็นความสัมพันธ์ระหว่างพี่น้องที่ตึงเครียดอีกแบบ
ประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจคือ ความสามารถพิเศษของเอลซ่า ที่ดูแล้วก็คล้ายกับกรณีของเหล่ามนุษย์กลายพันธุ์ในเรื่อง X-Men คือ สามารถนำไปตีความเข้ากับกลุ่มคนรักเพศเดียวกันที่ต้องผ่านการ (ถูกบังคับให้) ปิดบัง “ตัวตนที่แท้” ก่อนที่จะมี “โอกาส” และ “พื้นที่” ให้เปิดเผยตัวเองได้อย่างอิสระ (เช่นในฉากเพลง Let It Go) โดยความพิเศษที่แต่ละคนมีอยู่นั้น อาจจะทำให้เกิดผลดีหรือร้ายก็ได้ อยู่ที่ว่าเจ้าของความพิเศษนั้นได้รับการเอาใจใส่ ความเข้าใจ หรือส่งเสริมให้แสดงออกตามที่เหมาะที่ควรหรือไม่ (หากเสด็จพ่อและเสด็จแม่ทรงส่งเอลซ่าให้ไปเรียนกับ Professor Charles Xavier ตั้งแต่เด็ก ก็คงหมดเรื่องไปแล้ว)
ตัวละครที่มีเสน่ห์และควรค่าแก่การกล่าวถึงตัวหนึ่งก็คือ โอลาฟ มนุษย์หิมะหน้าตาตลก บุคลิกเด๋อๆ ด๋าๆ ที่มองโลกในแง่ดีสุดๆ (ฉากเพลง In Summer ทั้งชวนขำและน่ารักมากกกกกกก) หลายคนอาจจะมองว่าโอลาฟเป็นเพียงตัวตลกที่มาสร้าง comic relief ในเรื่องเท่านั้น แต่จริงๆ แล้วโอลาฟนี่เองที่เป็นตัวละครสำคัญที่ขาดไม่ได้ เพราะเขายังเป็นสิ่งที่เชื่อมโยงสองพี่น้องกับความทรงจำที่ดีในอดีตอีกด้วย
ที่มารูป: http://img.lum.dolimg.com
เพลงและดนตรีในเรื่องนี้ก็อยู่ในเกณฑ์ดีถึงดีมากตามมาตรฐานของดิสนีย์ แต่ละเพลงที่ปรากฏในเรื่องมีบทบาทชัดเจนและช่วยดำเนินเรื่อง ฟังง่าย ติดหู และที่สำคัญคือ เนื้อร้องใช้ศัพท์ธรรมดา ไม่ใช่ว่าไม่ชอบเพลงการ์ตูนดิสนีย์สมัยก่อนนะ แต่บางครั้งความหรูหราของเนื้อเพลง (ที่สงสัยว่า เด็กจะฟังรู้เรื่องได้ไงฟระ) ก็ชวนเหนื่อยที่ต้องคอยเปิดดิกฯ ตามไปด้วยตลอด (No offense to Howard Ashman, Tim Rice & Stephen Schwartz. I still think you are geniuses.)
งานด้านภาพและการกำกับศิลป์เป็นเรื่องที่ดิสนีย์ให้ความสำคัญและรักษามาตรฐานได้สูงเสมอมา หากใครยังจำฉากใต้ท้องทะเลอันงดงามในเรื่อง The Little Mermaid ฉากห้องโถงและการเต้นวอลซ์อันงดงามพลิ้วไหวในเรื่อง Beauty and the Beast หรือฉากที่ควาสิโมโดร้องเพลงอยู่บนยอดวิหารนอเทรอะดามในเรื่อง The Hunchback of Notre Dame ได้ ก็จะไม่แปลกใจเลยกับฉากอันสวยงามวิจิตรของอาณาจักรเอเรนเดล สถาปัตยกรรมปราสาทน้ำแข็งของเอลซ่า หรือภูเขาหิมะที่สูงตระหง่านอลังการ ประหนึ่งฉากใน Lord of the Rings ก็ไม่ปาน
โดยสรุป สิ่งสำคัญของทุกความสัมพันธ์ก็คือ เราควรตระหนักอยู่เสมอว่า ทุกคนล้วนเป็นมนุษย์ที่ไม่สมบูรณ์แบบ ต่างมีตำหนิและข้อด้อยต่างๆ กันไป ดังเช่นเพลง Fixer Upper ของเหล่าโทรล (ที่น่ารักที่สุดเท่าที่เคยเห็นมา) ที่มีเนื้อหากล่าวไว้ว่า เราไม่ควรจะเปลี่ยนใครให้มาอยู่ในกรอบที่เราอยากให้เขาเป็น แต่จงใช้ความรักที่มีต่อเขาทำความเข้าใจและยอมรับในสิ่งที่เขาเป็น หากเราสามารถประคองความรักให้อยู่ควบคู่ไปกับความเข้าใจได้ ไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์ในรูปแบบใด ความสัมพันธ์นั้นก็จะคงความยั่งยืนยาวนานได้ตราบชั่วชีวิต
9/10 ครับ ^_^
ปล. การ์ตูนสั้นฉายนำเรื่อง Get A Horse! ก็เจ๋งมากในแง่ของการนำ “ความเป็นดิสนีย์” แบบเก่าและแบบใหม่มายำรวมกันอย่างมีชั้นเชิงทางศิลปะ นับเป็นการแสดงความเคารพ (homage) ต่อ Walt Disney ได้อย่างมีรสนิยม
ปล.2 ถึงแม้ Frozen จะไม่ได้เน้นเรื่องรักแบบโรแมนติก แต่เราก็ยังซึ้งกับประโยค “Some people are worth melting for.” ของโอลาฟได้นะ