ดูหนังอย่างคนเบี้ยน้อยหอยน้อย 192; เป็นครั้งแรกที่เบี้ยน้อยฯ จะขอเมาท์มอยถึงละครทีวี เพราะละครเรื่องนี้ควรค่าแก่การเมาท์ นี่ไม่ได้หมายถึง “กรงกรรม” 555 แต่หมายถึงทีวีซีรีส์ (ภาพยนตร์ชุดทางโทรทัศน์) ของช่อง HBO ที่มีคนติดตามชมทั่วโลก
Game of Thrones
ที่มาภาพ: imdb.com
ซีรีส์เรื่องนี้ดัดแปลงมาจากนวนิยายแนวมหากาพย์แฟนตาซีของคุณลุง จอร์จ อาร์. อาร์. มาร์ติน (R. R. ย่อมาจากชื่อกลางของแกคือ เรย์มอนด์ ริชาร์ด) นักเขียนชาวอเมริกัน ผู้หลงใหลในประวัติศาสตร์สงครามและการนองเลือดระหว่างตระกูลต่างๆ ของอังกฤษและสก็อตแลนด์ในสมัยโบราณ แกนำเรื่องราวเหล่านั้นมาเป็นวัตถุดิบและแรงบันดาลใจในการเขียนนวนิยายชุด A Song of Ice and Fire (ฉบับแปลไทยชื่อ “มหาศึกชิงบัลลังก์”) ซึ่งทีแรกแกว่าจะเขียนเป็นไตรภาค แต่ไปๆ มาๆ ก็งอกออกมาเรื่อยๆ จนสิริรวมแล้วจะมีทั้งหมด 7 ภาค ตอนนี้ตีพิมพ์ไปแล้ว 5 ภาค อีก 2 ภาคยังเขียนไม่เสร็จ ทำเอาแฟนคลับด่ากันระงม โทษฐานที่แกมัวแต่เอาเวลาไปทำโน่นทำนี่ ไม่รู้จักเขียนให้จบสักที
ช่อง HBO ติดต่อขอซื้อ A Song of Ice and Fire ไปทำเป็นซีรีส์ Game of Thrones ในช่วงที่ลุงมาร์ตินกำลังเขียนหนังสือภาค 5 โดยลุงได้มาเป็นหนึ่งในทีมเขียนบทของซีรีส์เรื่องนี้ด้วย ช่วงแรกๆ ซีรีส์ก็ยังดำเนินตามหนังสือดีอยู่ แต่ทำไปทำมา เรื่องราวและตัวละครก็ได้พัฒนาไปเรื่อยๆ ในแนวทางของตัวเอง ดังนั้น แม้เราจะอ่านหนังสือมาก่อน ก็ไม่มีทางล่วงรู้ว่าซีรีส์จะดำเนินต่อไปอย่างไร ต้องรอลุ้นเองตอนออกอากาศ ก็เลยเกิดการคาดเดา ตั้งทฤษฎีกันไปต่างๆ นานาในหมู่สาวก ทำให้อินกับซีรีส์เข้าไปอีก จนกลายเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่เคยมีซีรีส์เรื่องใดทำได้ คือผู้ชมทั่วโลกต่างรอคอยที่จะได้ดูซีรีส์ตอนต่อไป ซีซั่นต่อไป ราวกับทั้งชีวิตมีเพียงสิ่งนี้เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจอยู่เพียงสิ่งเดียว แสดงให้เห็นว่า Game of Thrones เป็นซีรีส์ที่มีพลังพิเศษบางอย่างในการเข้าถึงจิตใจมนุษย์ แม้ว่ามันจะดูเป็นเรื่องที่ไกลตัว และไม่น่าจะมีบริบทใดที่เกี่ยวข้องกับชีวิตคนเดินดินกินข้าวแกงอย่างพวกเราเลยก็ตาม
เรื่องราวใน Game of Thrones เกิดขึ้นในดินแดนสมมุติในอดีต ซึ่งโลกแบ่งออกเป็น 2 ทวีป คือ เวสเทอรอส (west – ตะวันตก) กับเอสซอส (east – ตะวันออก) ทั้งสองทวีปเป็นที่ตั้งของอาณาจักรต่างๆ โดยแต่ละอาณาจักรประกอบด้วยแคว้นต่างๆ ซึ่งมีตระกูลต่างๆ เป็นผู้ปกครอง ในส่วนของเวสเทอรอส มี 7 อาณาจักรที่ถูกรวบอำนาจอยู่ใต้การปกครองของกษัตริย์พระองค์เดียว เนื่องจากในอดีตกาล ทั้ง 7 อาณาจักรได้ถูกผู้นำชนเผ่าหนึ่งจากเอสซอส ซึ่งมีความสามารถในการควบคุมมังกร เข้ามายึดครองและก่อตั้งราชวงศ์ “ทาร์แกเรียน” ขึ้น สืบสันตติวงศ์ต่อเนื่องมาจนถึงรัชกาลของแอริส ทาร์แกเรียน ผู้มีอาการป่วยทางจิต จึงเรียกกันว่า “กษัตริย์บ้า” (Mad King)
ในรัชสมัยของกษัตริย์บ้า ได้เกิดกบฏล้มล้างราชวงศ์ทาร์แกเรียน จากนั้นอำนาจทางการปกครองก็ตกอยู่ในมือของ 3 ตระกูลซึ่งเป็นพันธมิตรในการก่อกบฏ ได้แก่ บาราเธียน (ปราบดาภิเษกเป็นกษัตริย์) แลนนิสเตอร์ (อภิเษกสมรสเป็นราชินี) และ แอร์ริน (ได้รับแต่งตั้งเป็น “หัตถ์” หรือ ‘มือขวา’ ของกษัตริย์) ส่วนพันธมิตรอีกตระกูลหนึ่ง คือ สตาร์ค กลับไปปกครองอาณาจักรทางเหนือตามเดิม โดยขึ้นตรงต่อราชาแห่ง 7 อาณาจักร ซึ่งในตอนนั้นก็คือ กษัตริย์โรเบิร์ต บาราเธียน
ซีรีส์ Game of Thrones เปิดฉากขึ้นหลังจากโรเบิร์ตครองราชย์มาได้ประมาณ 15 ปี จอน แอร์ริน ผู้เป็นหัตถ์แห่งกษัตริย์ ได้ถึงแก่อสัญกรรม โรเบิร์ตจึงเดินทางขึ้นไปยังแดนเหนือ เพื่อไปขอให้ เอ็ดดาร์ด “เน็ด” สตาร์ค รับภาระหน้าที่เป็นหัตถ์คนใหม่ ลอร์ดสตาร์คยอมรับพระราชโองการ ย้ายไปอยู่คิงส์แลนดิ้งซึ่งเป็นศูนย์กลางการปกครองของ 7 อาณาจักร เพื่อจะพบว่าเขาได้ตกไปอยู่ในเกมแห่งการแย่งชิงราชบัลลังก์อีกครั้งหนึ่งแล้ว ในขณะที่เชื้อสายของทาร์แกเรียนที่ยังเหลืออยู่ ก็เริ่มเติบโตขึ้นและส่อแววว่าจะมาทวงบัลลังก์กลับคืน ส่วนอาณาจักรทางเหนือเอง ก็ส่อเค้าว่าจะต้องเผชิญกับศัตรูที่น่าสะพรึงกลัวอย่างที่สุด
นับตั้งแต่ออกอากาศซีซั่นแรกในปี 2011 (พ.ศ. 2554) จนจบซีซั่นที่ 8 อันเป็นซีซั่นสุดท้ายในปีนี้ Game of Thrones ขึ้นชื่อลือชามากในเรื่องการฆ่าตัวละครที่มีบทบาทเด่นและสำคัญ อย่างในซีซั่นแรก ถ้าเราสามารถผ่านความเนิบนาบของช่วงเปิดเรื่องในตอนที่ 1 ไปได้ เราจะพบว่าซีรีส์เรื่องนี้เต็มไปด้วยความรุนแรงที่กระหน่ำใส่ตัวละครอย่างไม่ยั้งมือ แล้วจากนั้นเมื่อเรื่องดำเนินไป ตัวละครตัวหนึ่งที่เราเกลียดมากก็ถูกฆ่าตาย เรารู้สึกสะใจมาก คิดว่าซีรีส์เรื่องนี้ช่างรู้ใจคนดูเหลือเกิน แต่ต่อมา ตัวละครที่เราเริ่มจะเปิดใจรัก กลับต้องมาตายลง เราก็ชักจะใจเสีย ภาพฝันที่วาดไว้พังทลาย จนสุดท้าย เมื่อจบซีซั่น ตัวละครที่ ‘ดูเหมือนจะ’ เป็นตัวเอก คือลอร์ดสตาร์ค ก็ถูกบั่นคอ
ในความรู้สึกของดิฉัน ความตายของลอร์ดสตาร์คมีความสำคัญต่อเรื่องมาก มันทำให้เรารู้ชัดทันทีว่าซีรีส์เรื่องนี้มีแนวทางเป็นอย่างไร เพราะมันแสดงให้เห็นว่า คนที่ดีที่สุด ยึดมั่นในความถูกต้องอย่างที่สุด ถ้า ‘เล่นเกม’ ไม่เป็น ก็ตายได้ ที่สำคัญ มันเป็นจุดพลิกผัน ที่ทำให้ลูกๆ ของลอร์ดสตาร์คต้องแตกฉานซ่านเซ็นไปคนละทิศละทาง แล้วเผชิญกับเหตุการณ์ต่างๆ ที่ทำให้พวกเขา ‘เติบโต’ ขึ้นทั้งทางร่างกาย ความคิด จิตใจ และความสามารถเฉพาะตัว จนเมื่อเรื่องดำเนินมาถึงซีซั่นท้ายๆ ตระกูลสตาร์คก็กลายเป็นตระกูลที่ ‘น่ากลัว’ ที่สุด ตีคู่มากับทาร์แกเรียนผู้กลับมาทวงบัลลังก์อย่างยิ่งใหญ่พร้อมกองทัพและมังกร 3 ตัว สมกับชื่อนวนิยาย “A Song of Ice and Fire” หรือ “บทเพลงแห่งน้ำแข็งและอัคคี” อันสื่อความหมายถึงตระกูลสตาร์คซึ่งเป็นเจ้าแห่งแดนเหนืออันเต็มไปด้วยน้ำแข็ง กับตระกูลทาร์แกเรียนเจ้าแห่งมังกรซึ่งทำลายล้างทุกสิ่งได้ด้วยไฟ
ตลอดเวลา 8 ปีที่ผ่านมา ซีรีส์เรื่องนี้เป็นที่คาดหวังของคนดูอย่างมาก เพราะความเข้มข้นของเรื่องราวได้พัฒนาขึ้นเรื่อยๆ จนมาพีคสุดในซีซั่น 7 เมื่อปี 2017 (พ.ศ. 2560) ซึ่งสมบูรณ์ทั้งในเรื่องความคมคาย เฉียบขาด เชือดเฉือน พัฒนาการของตัวละครและเหตุการณ์ การขมวดปม การคลี่คลายปม และการปูพื้นไปสู่บทสรุปในซีซั่น 8 แต่หลังจากใช้เวลาในการผลิต 2 ปี Game of Thrones กลับมาในซีซั่นสุดท้ายอย่างผิดฟอร์มไปเยอะ จนเกิดกระแสด่าทอรับไม่ได้จากบรรดาสาวกถ้วนหน้า ถึงขั้นเข้าชื่อกันให้รื้อเวอร์ชั่นนี้ทิ้ง แล้วสร้างใหม่โน่นเลย
สำหรับดิฉันผู้ซึ่งติดตามซีรีส์เรื่องนี้อย่างตั้งใจมาตั้งแต่ต้น ก็เข้าใจในความเดือดดาลของเหล่าสาวกอยู่เหมือนกัน เพราะซีซั่น 8 มันแอนตี้ไคลแม็กซ์อย่างมาก ตัวละครที่มีพัฒนาการมาเรื่อยๆ โดยตลอด อยู่ดีๆ ก็ถอยหลังกลับไปอยู่จุดเดิม ทำให้เรื่องราวหักเหไปในอีกทิศทางหนึ่งโดยไม่มีเหตุอันควร ที่จริงถ้าอยากจะหักมุมแบบนั้น ก็พอจะได้อยู่ แต่ควรปูพื้นไว้สักหน่อย มิฉะนั้นมันก็จะไม่สมเหตุสมผล แล้วเมื่อไม่สมเหตุสมผล จาก ‘เกม’ อันเชือดเฉือนเข้มข้น ก็เลยกลายเป็น ‘เด็กเล่นขายของ’ ไป
แม้ซีซั่น 8 จะทำลายซีรีส์เรื่องนี้อยู่พอสมควร แต่คุณค่าของซีซั่น 1 – 7 ก็เป็นสิ่งที่ดิฉันคงไม่อาจลืมเลือนได้ เพราะไม่ว่าเราจะเป็นใคร ก็หนีไม่พ้นที่จะต้อง ‘เล่นเกม’ ด้วยกันทั้งนั้น บางคนอาจจะคิดว่า แค่ใช้ชีวิตให้ผ่านพ้นไปแต่ละวันก็เหนื่อยแล้ว ยังจะต้องมาเล่นเกมอะไรกันอีก แต่แท้จริง เกมมันก็อยู่ในชีวิตของเรานั่นเอง ในสถานการณ์ที่เราต้องตัดสินใจทำอะไรบางอย่าง ท่ามกลางภาวะที่ทั้งยากใจและยากสมอง เราจะตัดสินใจอย่างไรโดยที่ยังคงรักษาหลักการที่ถูกต้องไว้ได้ และโดยที่เราต้องไม่ตายด้วย #อันนี้สำคัญ เมื่อโลกเหวี่ยงชะตากรรมเลวร้ายมาให้เรา เราจะใช้มันให้เป็นประโยชน์แก่ตัวเองได้มากน้อยแค่ไหน ถ้าเราเข้าใจว่าโลกก็ย่อมเป็นไปแบบนี้ เราก็จะไม่พยายามฝืนมันให้เหนื่อยเปล่า แต่จะหาวิธีที่จะไม่ไหลตามมันไปตามยถากรรม แล้วหาจุดยืนที่ถูกต้องเหมาะสมที่สุดให้แก่ตัวเอง นี่ก็คือ ‘เกมชีวิต’ ที่เราทุกคนต้องชนะให้ได้ ไม่ว่าจะอยากเล่นหรือไม่ก็ตาม
สรุป: จ่าย 0 (ค่า AIS Play กับค่าไฟ คนที่บ้านจ่ายให้) ได้กลับมา 700
โดย ปวิวัณณ์ คำเจริญ
24 พฤษภาคม 2562
(ขอบคุณภาพปกจาก imdb.com)