โดย ปวิวัณณ์ คำเจริญ
23 กุมภาพันธ์ 2017
ดูหนังอย่างคนเบี้ยน้อยหอยน้อย 097; ดู Hacksaw Ridge หนังชีวประวัติวีรบุรุษสงครามของอเมริกา ซึ่งเมล กิบสัน ผู้กำกับ บอกว่า ฮีโร่ในโลกแห่งความเป็นจริงคงไม่ได้แต่งชุดรัดรูปแบบหนังซูเปอร์ฮีโร่อ่ะนะ #แรง
เวลาพูดถึง “วีรบุรุษสงคราม” เรามักจะนึกถึงคนที่รบเก่ง สังหารข้าศึกได้เยอะ จนนำชัยชนะมาสู่กองทัพของตนได้ แต่ในหนังเรื่องนี้ตรงข้ามเลย เพราะผู้ที่สร้างวีรกรรมอันยิ่งใหญ่จนได้รับยกย่องเป็น “บุรุษผู้กล้า” ในสงครามนั้น ไม่ได้จับอาวุธ และไม่ได้สังหารข้าศึกแม้แต่คนเดียว เขาผู้นั้นก็คือ พลทหารเดสมันด์ ดอสส์ ซึ่งเข้าร่วมรบในสงครามแปซิฟิก อันเป็นส่วนหนึ่งของสงครามโลกครั้งที่ 2 ในปี 1945
ชื่อ “สงครามแปซิฟิก” คือชื่ออย่างเป็นทางการซึ่งอเมริกาใช้ แต่เราคนไทยจะคุ้นกับชื่อ “สงครามมหาเอเชียบูรพา” มากกว่า เพราะมันเป็นชื่อที่ญี่ปุ่นเรียก แล้วบังเอิญในสงครามนี้เราเป็นฝ่ายเดียวกับญี่ปุ่นไง เขาเรียกยังไงเราก็เรียกตามนั้น คำว่า “มหาเอเชียบูรพา” นี้ แปลว่า เอเชียตะวันออกอันยิ่งใหญ่ ก็เป็นเป้าหมายของญี่ปุ่นที่จะสร้างเอเชียให้เป็นมหาอำนาจโดยมีญี่ปุ่นเป็นศูนย์กลาง
สงครามมหาเอเชียบูรพาเริ่มต้นอย่างเป็นทางการในวันที่ 7 ธันวาคม 1941 (พ.ศ. 2484) เมื่อญี่ปุ่นโจมตีฐานทัพเรือสหรัฐฯ ที่เพิร์ลฮาร์เบอร์ เกาะฮาวาย ทำให้สหรัฐอเมริกาตัดสินใจโดดเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 2 เปิดแนวรบด้านมหาสมุทรแปซิฟิก รบกับญี่ปุ่นอย่างเป็นบ้าเป็นหลัง จนกระทั่งถึงปี 1945 สหรัฐฯ ก็บุกโอกินาวา เกาะที่อยู่ทางใต้ของญี่ปุ่น ซึ่งสมรภูมิโอกินาวานี่แหละที่พลทหารดอสส์ได้สร้างตำนาน
เดสมันด์ ดอสส์ สมัครเข้ารับใช้ชาติในปี 1942 เมื่ออายุ 23 ปี โดยมีความตั้งใจแน่วแน่ที่จะเป็นแพทย์ในสนามรบ (combat medic) หรือที่ศัพท์ภาษาไทยเรียกว่า เสนารักษ์ แปลว่า “ผู้รักษาทหาร” หรือ “ทหารผู้รักษา” ก็ได้ ทีนี้จะเป็นเสนารักษ์ก็ต้องฝึกแบบทหารทั่วไป เพราะการทำหน้าที่ปฐมพยาบาลและลำเลียงผู้บาดเจ็บในสนามรบ ก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องรบด้วย ไม่งั้นก็ถูกข้าศึกยิงตายห่าน ดังนั้น ดอสส์จึงต้องฝึกยิงปืนให้ผ่านก่อน จึงจะออกสู่สมรภูมิได้ แต่ปัญหาก็คือ เขาปฏิญาณว่าจะไม่จับอาวุธ เพราะไม่ต้องการจะพรากชีวิตใคร ตามคำสอนของพระผู้เป็นเจ้า นอกจากนี้ เขายังของดฝึกในวันเสาร์ เพราะเป็นวันสะบาโต (Sabbath Day) ห้ามทำกิจกรรมใดๆ นอกจากกิจกรรมที่ทำถวายพระเจ้า ตามแนวปฏิบัติของคริสตจักร Seventh-day Adventist ที่เขานับถือ ดอสส์จึงเป็นที่รังเกียจเหยียดหยามของทุกคน และถึงกับต้องขึ้นศาลทหารโทษฐานขัดคำสั่งผู้บังคับบัญชา แต่ไม่ว่าจะอย่างไร เขาก็ยังคงยืนยันว่า จะปฏิบัติหน้าที่ในสนามรบโดยไม่ถือปืนแม้แต่กระบอกเดียว
แฮ็กซอว์ ริดจ์ (Hacksaw Ridge) แปลว่า สันเขาที่ถูกตัดด้วยเลื่อย เป็นชื่อที่กองทัพสหรัฐฯ ใช้เรียก “หน้าผามาเอดะ” ฐานที่มั่นของญี่ปุ่นในโอกินาวา ซึ่งมีลักษณะเป็นผาสูงชันตัดตรงราวกับถูกเลื่อยตัดยังไงยังงั้น ที่แห่งนี้เป็นชัยภูมิที่ดีมากสำหรับญี่ปุ่น เพราะวิธีเดียวที่ข้าศึกจะขึ้นไปได้ก็คือปีนหน้าผาขึ้นไป แล้วพอไปถึงก็จะเจอเจ้าบ้านกระหน่ำยิงต้อนรับอยู่ ซึ่งทางญี่ปุ่นก็ระดมอาวุธยุทโธปกรณ์และกำลังพลมาอย่างเต็มที่ ผู้ชายถูกเกณฑ์มารบเกือบหมดประเทศฮ่ะตอนนั้น เพราะโอกินาวาเป็นสมรภูมิสุดท้ายก่อนที่ข้าศึกจะเข้าไปถึงญี่ปุ่น ดังนั้นกองทัพญี่ปุ่นจึงรบอย่างถวายชีวิต จนกองทัพสหรัฐฯ แทบหมดหวังที่จะเอาชนะญี่ปุ่นในสงคราม
พลทหารดอสส์กระโจนเข้าสู่สนามรบโดยมีเพียงอุปกรณ์การแพทย์อยู่ในเป้หลัง เขาไม่ตาย และไม่ได้ฆ่าใคร แต่สามารถช่วยชีวิตเพื่อนทหารที่บาดเจ็บและเคลื่อนย้ายผู้ป่วยลงจากหน้าผาได้อย่างปลอดภัยเป็นจำนวนมาก ท่ามกลางดงกระสุนที่ญี่ปุ่นระดมยิงมาเป็นห่าฝน ผลก็คือ นอกจากจะอนุรักษ์กำลังรบได้ตามภารกิจของเสนารักษ์แล้ว วีรกรรมของดอสส์ยังทำให้ทุกคนในหน่วยมีขวัญและกำลังใจที่จะต่อสู้ จนในการปะทะครั้งต่อมา ก็สามารถเอาชนะญี่ปุ่น ยึดโอกินาวาได้สำเร็จ แล้วหลังจากนั้นเดือนเศษๆ สหรัฐฯ ก็ทิ้งระเบิดปรมาณูที่เมืองฮิโรชิมาและนางาซากิ ปิดฉากสงครามแปซิฟิกและสงครามโลกครั้งที่ 2 อย่างสมบูรณ์
เดสมันด์ ดอสส์ มีอายุยืนยาวต่อมาอีก 60 ปี เขาเสียชีวิตไปในปี 2006 เมื่ออายุได้ 87 โดยก่อนหน้านั้นในปี 2004 ผู้กำกับ-ผู้อำนวยการสร้าง เทร์รี่ เบเนดิกต์ ได้ทำหนังสารคดีว่าด้วยเรื่องราวของดอสส์ ชื่อว่า The Conscientious Objector (“ผู้คัดค้านโดยอ้างมโนธรรม” หมายถึง ผู้ที่ใช้สิทธิ์คัดค้านการเกณฑ์ทหารด้วยเหตุผลทางศาสนาหรือเสรีภาพทางความคิด) เนื่องจากดอสส์เป็นผู้ที่ใช้สิทธิ์นี้ จึงไม่ถูกเกณฑ์ทหาร แต่เขากลับสมัครเป็นทหารด้วยตัวเอง ทั้งๆ ที่ความคิดความเชื่อของเขาก็ไม่เคยเปลี่ยน
ประเด็นนี้คงจะจับใจเบเนดิกต์มาก หลังจากได้รับความยินยอมจากดอสส์ให้นำเรื่องราวชีวิตมาสร้างเป็นหนังที่ใช้คนแสดง เบเนดิกต์จึงไปรวบรวมไพร่พล เอ๊ย! ทีมงาน มาช่วยกันทำหนัง Hacksaw Ridge จากหนังสารคดีที่เขาทำไว้ โดยให้ประเด็น “ผู้คัดค้านโดยอ้างมโนธรรม” เป็นประเด็นที่สร้างมิติความลึกให้แก่หนัง เพราะถ้ามองอย่างผิวเผิน การกระทำของดอสส์ก็ดูขัดแย้งกับความคิดความเชื่อของตัวเอง หนังจึงขยี้ประเด็นนี้เพื่อให้เข้าใจชัดถึงเหตุผลและวิธีคิดของดอสส์ รวมทั้งสาเหตุที่ทำให้ดอสส์ยังคงยึดมั่นในความคิดความเชื่อของตัวเองได้แม้ในสถานการณ์ที่เลวร้ายถึงขีดสุด
ที่มาภาพ: www.comingsoon.net
หนัง Hacksaw Ridge มีเทร์รี่ เบเนดิกต์ เป็นหนึ่งในผู้อำนวยการสร้าง กำกับโดย เมล กิบสัน นักแสดง-ผู้กำกับซึ่งมีผลงานชั้นเลิศอย่าง Braveheart (ปี 1995) และ The Passion of the Christ (ปี 2004) ครั้งนี้น้าเมลก็จัดเต็มให้ผู้ชม โดยเฉพาะฉากสงครามที่สมจริงมากกกก จนดิฉันลมแทบจับ มันทำให้เห็นความบัดซบของสงครามซึ่งไม่ให้อะไรเลยนอกจากความสูญเสีย คนไม่รู้จักกันมาฆ่ากันเอาเป็นเอาตาย มันเป็นเรื่องที่น่าอนาถมาก ดิฉันว่าฉากสงครามอันโหดร้ายนี้สมบูรณ์ที่สุดแล้วในแง่การถ่ายทำ ทั้งยังช่วยขับเน้นให้เห็นว่า ความตั้งใจของดอสส์ที่จะรักษาชีวิตคน ไม่ใช่ทำลายนั้น เป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่ขนาดไหน ดังนั้น การที่เขาเชื่อมั่นว่าเขาจะช่วยชาติได้มากกว่า หากไม่ฆ่าคนในสงคราม จึงเป็นความย้อนแย้งที่น่าใคร่ครวญอย่างยิ่ง
น้องแอนดรูว์ การ์ฟิลด์ น่าเชื่อถือมากๆ ในบทเดสมันด์ ดอสส์ น้องสามารถหาจุดที่ลงตัวในการเป็นคนยึดมั่นในความคิดความเชื่อของตัวเองและปฏิบัติตามความคิดความเชื่อนั้นอย่างมั่นคง ทั้งๆ ที่เปี่ยมไปด้วยความถ่อมตัวและแทบไม่มีอัตตาเลย นี่ก็เป็นอีกหนึ่งความย้อนแย้งที่น่าใคร่ครวญอย่างยิ่งนะ อีกประการหนึ่งที่น่าประทับใจ น้องแบกเพื่อนเก่งมาก 555 ขอมอบรางวัลแบกเพื่อนดีเด่นให้ค่ะ #วิชาการมากนาจา
แม้หนังจะพูดถึงศาสนาคริสต์ แต่ก็ไม่ยากที่คนศาสนาอื่นจะเข้าใจ เพราะ “ความศรัทธา” ก็เป็นหลักการที่มีในทุกศาสนา และเส้นแบ่งระหว่างความศรัทธากับความงมงายก็ยังเป็นสิ่งที่หลายๆ คนสับสนอยู่ หนังเรื่องนี้ให้ความกระจ่างแก่เราว่า ศรัทธาที่ถูกต้องจะต้องสร้างขึ้นจากการคิดพิจารณาให้เห็นเหตุผลและประโยชน์ของสิ่งที่ศรัทธานั้น แล้วเมื่อเรามีศรัทธา เราก็จะมีความกล้าหาญ ความเข้มแข็ง ความเพียรพยายาม และสติปัญญา ที่จะทำในสิ่งที่เราเชื่อมั่นให้สำเร็จ เพื่อให้เกิดประโยชน์ขึ้นอย่างแท้จริง
สรุป: จ่าย 140 ได้กลับมา 180
หมายเหตุ: Hacksaw Ridge เข้าชิงรางวัลออสการ์ 6 สาขา ดังนี้
1. ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม
2. ผู้กำกับยอดเยี่ยม – เมล กิบสัน (เคยชนะจากเรื่อง Braveheart ในปี 1995)
3. นักแสดงนำชายยอดเยี่ยม – แอนดรูว์ การ์ฟิลด์
4. ตัดต่อยอดเยี่ยม
5. ลำดับเสียงยอดเยี่ยม
6. บันทึกเสียงยอดเยี่ยม
(ขอบคุณภาพปกจาก adwent.pl)