ดูหนังอย่างคนเบี้ยน้อยหอยน้อย 098; ดู Hidden Figures หนังที่แปลชื่อได้ 2 ความหมาย คือ “ตัวเลขที่ซ่อนอยู่” กับ “บุคคลสำคัญที่ซ่อนอยู่” นับว่าเป็นชื่อที่เข้ากับเนื้อหาของเรื่องมากๆ
หนังเรื่องนี้สร้างจากหนังสือสารคดีเรื่อง Hidden Figures: The Story of the African-American Women Who Helped Win the Space Race เขียนโดย มาร์โกต์ ลี เชตเทอร์ลีย์ เป็นเรื่องราวว่าด้วยสตรีผิวสี (“colored” เรียกอย่างเป็นทางการว่า “แอฟริกัน-อเมริกัน” หมายถึงชาวอเมริกันเชื้อสายแอฟริกัน) ผู้ช่วยให้สหรัฐอเมริกาสามารถเอาชนะสหภาพโซเวียตในการแข่งขันการสำรวจอวกาศ (Space Race) ซึ่งมีขึ้นระหว่างปี 1957-1975
Space Race เป็นส่วนหนึ่งของสงครามเย็น (Cold War) ซึ่งเกิดขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ตอนนั้นประเทศต่างๆ ได้แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มประเทศโลกเสรี นำโดยสหรัฐอเมริกา กับกลุ่มประเทศคอมมิวนิสต์ นำโดยสหภาพโซเวียต ด้วยความที่มีอุดมการณ์ทางเศรษฐกิจและการเมืองแตกต่างกัน อเมริกากับโซเวียตก็เลยระแวงกัน จึงแข่งกันสร้างแสนยานุภาพทางทหาร และพัฒนาเทคโนโลยีโดยเฉพาะอย่างยิ่งทางอวกาศ เพื่อแย่งกันเป็นเจ้าเป็นใหญ่ในโลก เหตุที่เรียกว่า “สงครามเย็น” ก็เพราะสองประเทศนี้ไม่ได้สู้กันด้วยอาวุธ แต่ทำสงครามจิตวิทยากัน รวมทั้งเข้าไปสนับสนุนให้ประเทศอื่นตีกัน แบบที่เรียกว่า “สงครามตัวแทน” จนสถานการณ์ตึงเครียดไปทั้งโลก เย็นยะเยือกหนาวสันหลังกันถ้วนหน้า
ในช่วงแรกของ Space Race โซเวียตนำอเมริกาไปหลายช่วงตัว ทั้งในด้านการส่งดาวเทียม และการส่งสิ่งมีชีวิตเช่นหมา ขึ้นไปในอวกาศ อเมริกาจึงตั้งหน่วยงานด้านการพัฒนาเทคโนโลยีทางอวกาศขึ้นมาโดยเฉพาะ ซึ่งก็คือองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ หรือ นาซา (National Aeronautics and Space Administration: NASA) นั่นเอง
นาซาเริ่มต้นโครงการส่งมนุษย์ขึ้นไปในอวกาศ โดยตั้งชื่อโครงการว่า “โปรเจ็กต์เมอร์คิวรี” ตามชื่อเทพสื่อสารในปกรณัมโรมันผู้เดินทางได้รวดเร็วเหมือนสายฟ้าแลบ และประกาศชื่อนักบินอวกาศ 7 คน เรียกว่า “เมอร์คิวรีเซเว่น” ซึ่งจะเป็น 7 คนแรกของโลกที่ได้ท่องอวกาศและกลับมาอย่างปลอดภัย ในยานอวกาศของโครงการซึ่งจะมีชื่อลงท้ายด้วยเลข 7 ทั้งหมด
แต่ระหว่างที่โปรเจ็กต์เมอร์คิวรีกำลังดำเนินการ โซเวียตก็ส่ง ยูริ กาการิน ไปกับยานวอสต็อก 1 ขึ้นไปโคจรรอบโลก 1 รอบ ใช้เวลา 1 ชั่วโมง 29 นาที นับเป็นมนุษย์คนแรกของโลกที่ได้ขึ้นไปในอวกาศ ทั้งยังกลับมาได้อย่างปลอดภัยด้วย
เกือบเดือนหลังจากนั้น นาซาจึงสามารถส่ง อลัน เชพเพิร์ด นักบินอวกาศคนแรกในกลุ่มเมอร์คิวรีเซเว่น ขึ้นสู่อวกาศไปกับยานฟรีดอม 7 โคจรอยู่ 15 นาที แล้วกลับลงมาอย่างปลอดภัยได้ แค่นี้คนอเมริกันก็ดีใจน้ำตาเล็ด จนประธานาธิบดี จอห์น เอฟ. เคนเนดี ซึ่งเพิ่งรับตำแหน่งได้ไม่กี่เดือน ถึงกับประกาศว่าอเมริกาจะส่งมนุษย์ไปลงดวงจันทร์แล้วกลับสู่โลกอย่างปลอดภัยภายในทศวรรษนี้
ต่อมาในปีเดียวกัน นาซาก็ส่ง กัส กริสซัม นักบินอวกาศคนที่ 2 ในกลุ่มเมอร์คิวรีเซเว่น ไปกับยานลิเบอร์ตีเบลล์ 7 โคจรได้ 15 นาทีครึ่งก็กลับลงมา โดยลงที่กลางมหาสมุทร แต่ตัวยานดันเปิดออก ทำให้น้ำเข้า และยานก็จมลงอย่างรวดเร็ว โชคดีที่กริสซัมได้รับการช่วยเหลือออกมาได้ทัน ในขณะที่ฝั่งโซเวียต ได้ส่งนักบินอวกาศ เจอร์แมน ติตอฟ ไปกับยานวอสต็อก 2 ไปโคจรรอบโลก 17 รอบ ใช้เวลาอยู่ในอวกาศวันกว่าๆ เป็นมนุษย์คนแรกของโลกที่ได้นอนหลับในยานอวกาศ เป็นการพิสูจน์ว่ามนุษย์สามารถใช้ชีวิตในอวกาศและกลับมาได้อย่างปลอดภัย
นาซาอยู่ในภาวะกดดันขั้นสุด เพราะเป้าหมายต่อไป คือการส่ง จอห์น เกล็นน์ นักบินอวกาศคนที่ 3 ในกลุ่มเมอร์คิวรีเซเว่น ไปโคจรรอบโลก 7 รอบด้วยยานเฟรนด์ชิป 7 ยังไม่เป็นรูปเป็นร่างเท่าไหร่เลย
และนี่เองคือจุดเริ่มต้นของการค้นพบ “อัจฉริยะในหมู่อัจฉริยะ” อันได้แก่ สตรีผิวสี 3 คนผู้สร้างประวัติศาสตร์ให้แก่อเมริกา
ที่มาภาพ: www.impawards.com
แคทรีน โกเบิล (แสดงโดย ทาราจี พี. เฮนสัน) โดโรธี วอห์น (แสดงโดย อ็อกเทเวีย สเปนเซอร์) และ แมรี แจ็กสัน (แสดงโดย จาเนลล์ โมเน) ทำงานอยู่ในศูนย์วิจัยแลงลีย์ขององค์การนาซา รัฐเวอร์จิเนีย ในแผนก West Area Computers ที่ว่า “คอมพิวเตอร์” นี้ไม่ได้หมายความว่าใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ทำงาน เพราะสมัยนั้นยังไม่มีเครื่องคอมพิวเตอร์เลย เวลาจะคำนวณอะไรก็ต้องใช้คนล้วนๆ แล้วก็เรียกคนที่ทำงานด้านนี้ว่า คอมพิวเตอร์ (ผู้คำนวณ) หรือภาษาไทยว่า “คณิตกร” ส่วน West Area หรือพื้นที่ทางตะวันตกนั้น เป็นส่วนงานของคนผิวสีโดยเฉพาะ ห้องทำงานของแคทรีน โดโรธี แมรี รวมทั้งคณิตกรสตรีผิวสีทุกคนในนาซา เป็นห้องใต้ดินแคบๆ ในตึก ติดป้ายหน้าห้องว่า Colored Computers เหมือนกับทุกสิ่งทุกอย่างในรัฐเวอร์จิเนียสมัยนั้น ซึ่งต้องติดป้ายแบ่งแยกชัดเจน ว่าอะไรเป็นของคนผิวสี อะไรเป็นของคนขาว
ในช่วงปี 1961 ซึ่งองค์การนาซากำลังวุ่นวายกับ Space Race นั้น เป็นช่วงที่รัฐเวอร์จิเนียยังคงใช้กฎหมายแบ่งแยกคนขาวกับคนผิวสีอย่างเข้มข้น กฎหมายนี้บังคับใช้ตั้งแต่ปี 1874 โดยกำหนดให้คนผิวสีใช้บริการสาธารณะแยกจากคนขาวอย่างเด็ดขาด เช่น ใช้ส้วมแยกกัน ที่ดื่มน้ำสาธารณะแยกกัน นั่งรถเมล์ได้เฉพาะที่นั่งด้านหลังซึ่งต้องเดินเข้าไปไกลกว่า ต้องใช้ห้องสมุดสำหรับคนผิวสี และเข้าเรียนในโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยสำหรับคนผิวสีเท่านั้น แม้แต่ตึกทำงานก็ต้องแยกกัน ตามหลัก Separate but Equal หรือ “แบ่งแยกแต่เท่าเทียม” ซึ่งฟังแล้วอยากจะหัวเราะให้ฟันร่วงจริงๆ ให้ตาย
เรื่องราวในหนัง Hidden Figures เริ่มต้นขึ้น เมื่อกลุ่มงานภารกิจในอวกาศ (Space Task Group) ของนาซา ซึ่งมี อัล แฮร์ริสัน (แสดงโดย เควิน คอสต์เนอร์) เป็นหัวหน้า ไม่สามารถคำนวณทิศทางและพิกัดในการลงสู่พื้นโลกของยานเฟรนด์ชิป 7 ได้สักที แฮร์ริสันจึงสั่งให้ วิเวียน มิตเชลล์ (แสดงโดย เคอร์สเทน ดันสต์) ผู้กำกับดูแลแผนก West Area Computers คัดเลือกคณิตกรมาคนหนึ่ง เพื่อมาทำงานที่ Space Task Group ซึ่งผู้ที่ได้รับเลือกก็คือแคทรีน
ส่วนแมรี ได้ไปช่วยงานแก้ไขข้อบกพร่องของยานอวกาศ เพื่อให้ยานเฟรนด์ชิป 7 ไม่เปิดออกเมื่อโดนแรงดันลมหรือน้ำแบบยานลิเบอร์ตีเบลล์ 7
ในขณะเดียวกัน นาซาก็ได้สั่งซื้อเครื่องคำนวณอัตโนมัติของ IBM เข้ามา (หน้าตาเมื้อนเหมือนเครื่องถอดรหัสอีนิกมาของอลัน ทูริง ในเรื่อง The Imitation Game) โดยหวังว่าจะให้เครื่องนี้ช่วยคำนวณทิศทางและพิกัดของยานเฟรนด์ชิป 7 และยานอื่นๆ ในอนาคต แต่พอติดตั้งแล้ว ปรากฏว่าเครื่องไม่ทำงาน โดโรธีซึ่งทำหน้าที่หัวหน้าแผนก West Area Computers อยู่ จึงแอบศึกษาวิธีการใช้งานเครื่อง IBM อย่างลับๆ โดยมีความอยู่รอดของคณิตกรสาวในแผนกทุกคนเป็นเดิมพัน
หนังเล่าถึงการต่อสู้ของสตรีผิวสีทั้งสามด้วยท่าทีหรรษาฮาเฮแต่เจ็บลึกอยู่ภายใน เพราะสิ่งที่ทั้งสามต้องเผชิญนั้นไม่ใช่แค่การแบ่งแยกตามที่กฎหมายบังคับ แต่มันคือสิ่งที่มาพร้อมๆ กับการแบ่งแยก นั่นก็คือ อคติ การกีดกัน และการดูถูกเหยียดหยาม ซึ่งจริงๆ แล้วมันน่าจะเป็นสาเหตุสำคัญเลยแหละ ที่ทำให้อเมริกาไม่เคยตามทันโซเวียตใน Space Race มาตั้งแต่ต้น ก็เล่นเอาคนเก่งๆ ไปดักดานไว้ ไม่เปิดโอกาสให้เขาได้ใช้ศักยภาพที่มีอยู่ให้เต็มที่ เพียงเพราะว่าเขาเป็นคนผิวดำ และเป็นผู้หญิง ซึ่งในตอนนั้น แม้แต่ผู้หญิงผิวขาวก็ยังไม่ค่อยมีใครยอมรับความสามารถเลย การเป็น “ผู้หญิงผิวสี” จึงเท่ากับผิด 2 กระทง ในสังคมที่ผู้ชายเป็นใหญ่และเหยียดผิวเช่นสังคมนาซา #ในสมัยนั้นนะจ๊ะ เหอๆๆ
ที่สำคัญ ถึงนาซาจะยกย่องเชิดชูเกียรติสตรีทั้งสามเป็นอย่างสูงในเวลาต่อมา แต่ก็ยังไม่ค่อยมีใครรู้อยู่ดีว่าความสำเร็จในการสำรวจอวกาศของอเมริกา มีสตรีผิวสีเหล่านี้อยู่เบื้องหลัง ดูจากคำโปรยบนโปสเตอร์ที่ว่า “สร้างจากเรื่องจริงที่ไม่เคยบอกเล่า” และ “พบกับสตรีที่คุณไม่รู้จัก ผู้อยู่เบื้องหลังภารกิจที่คุณรู้จักดี” ก็แสดงว่ามันเป็นเรื่องที่ไม่ได้รับรู้กันในวงกว้างจริงๆ
หนัง Hidden Figures จึงมีคุณูปการในการบอกเล่าเรื่องจริงที่ให้ทั้งความรู้ บทเรียน และแรงบันดาลใจแก่ผู้ชม โดยนำเสนอในลักษณะ Comedy Drama คือเป็นหนังชีวิตแบบสุขนาฏกรรม ทำให้ดูสนุกเพลิดเพลินแต่ก็ได้สาระ ซึ่งดิฉันว่าเป็นแนวที่เหมาะมาก มันทำให้ทุกอย่างดูเบาลงแต่แรงอยู่ข้างใน สะใจดี ทั้งนี้ ก็ต้องอาศัยนักแสดงที่มีฝีมือในทาง comedy แต่แฝง drama ไว้อีกชั้นหนึ่ง ซึ่งเฮนสันกับสเปนเซอร์ก็เป็นเจ้าแม่ในการนี้อย่างไร้ข้อกังขา
ถึงแม้เราจะคาดเดาได้ตั้งแต่ต้นแล้วว่าใครบ้างคือบุคคลสำคัญที่ซ่อนอยู่ และตัวเลขที่เฝ้าเพียรหากัน ท้ายที่สุดแล้วได้มาจากไหน แต่เส้นทางแห่งการต่อสู้ของบุคคลเหล่านั้น รวมทั้งผลแห่งการต่อสู้ที่มีต่อวงการสำรวจอวกาศและสังคม ก็เป็นคุณค่าที่คู่ควรให้เราได้เข้าไปสัมผัส รับรู้ และนำไปพิจารณาให้ได้ประโยชน์แก่ตัวเอง
สรุป: จ่าย 140 ได้กลับมา 160
หมายเหตุ: Hidden Figures เข้าชิงรางวัลออสการ์ 3 สาขา ดังนี้
1. ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม
2. บทภาพยนตร์ดัดแปลงยอดเยี่ยม – ธีโอดอร์ เมลฟี และแอลลิสัน ชโรเดอร์ (เมลฟี เป็นทั้งผู้เขียนบท ผู้กำกับ และผู้อำนวยการสร้าง)
3. นักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยม – อ็อกเทเวีย สเปนเซอร์ (เคยชนะในสาขานี้จากเรื่อง The Help เมื่อปี 2011)
โดย ปวิวัณณ์ คำเจริญ
26 กุมภาพันธ์ 2017
(ขอบคุณภาพปกจาก www.soulcentralmagazine.com)