โดย Average Joe
10 มิถุนายน 2015
เอกและโอ๊ต สองพี่น้องกำพร้าพ่อแม่อาศัยอยู่กับป้าลูกติด โดยเอกเป็นผู้หาเงินมาเลี้ยงครอบครัว ส่วนโอ๊ตก็เห็นเอกเป็นทั้งพี่และพ่อ ทั้งสองสนิทกันมากแม้อายุจะห่างกันร่วมสิบปี เอกมีแฟนเป็นผู้ชายชื่อไจ๋ ครอบครัวของไจ๋มีฐานะร่ำรวย แม้จะแตกต่างกันในหลายด้าน เอกและไจ๋ก็คบกันมาได้นานโดยไม่ให้ความแตกต่างใดๆ เป็นอุปสรรค ทั้งโอ๊ตและป้าก็ไม่ได้ติดใจอะไรที่เอกมีแฟนเป็นผู้ชาย ทุกอย่างดูเหมือนจะลงตัวดีอยู่แล้ว แต่เมื่อมีหมายเรียกเอกไปเกณฑ์ทหาร สิ่งต่าง ๆ รอบตัวสองพี่น้องก็มีอันต้องเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง โดยเฉพาะผลกระทบที่มีต่อโอ๊ต
ปกติแล้วถ้ากล่าวถึงหนังก้าวข้ามวัย (coming-of-age) และตัวละครเกย์ เราคงจะนึกถึงเด็กหรือวัยรุ่นที่เป็นเกย์ และต้องเรียนรู้ “ความเป็นเกย์” ผ่านประสบการณ์ต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องความผิดหวังหรือสมหวังในความรัก ทว่าตัวละครหลักที่ก้าวข้ามวัยในเรื่องนี้กลับไม่ใช่ตัวละครเกย์ ทว่าเป็นเด็กชายธรรมดาคนหนึ่งที่เติบโตมาในสังคมที่มีเรื่องราวดำมืดมากมาย และเขาก็ได้เรียนรู้อะไรหลายอย่างเหล่านั้นผ่านพี่ชายที่เป็นเกย์ของเขาเอง ฉะนั้น แม้หนังจะมีตัวละครเอกเป็นเกย์ แต่สารหลักของเรื่องกลับไม่เกี่ยวข้องกับ “ความเป็นเกย์” โดยตรง
How to Win at Checkers (Every Time) ดัดแปลงจาก Draft Day และ At the Café Lovely ซึ่งเป็นเรื่องสั้นสองเรื่องที่อยู่ในหนังสือเรื่อง Sightseeing ของรัฐวุฒิ ลาภเจริญทรัพย์ นักเขียนชาวไทยที่ไปโตที่อเมริกา สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับการดัดแปลงครั้งนี้คือ ในเรื่องสั้นต้นฉบับทั้งสองเรื่องนั้น ไม่มีตัวละครที่เป็นเกย์เลยแม้แต่คนเดียว แต่การที่ผู้กำกับ/เขียนบท เพิ่มเติมตัวละครเกย์ลงไปในเนื้อเรื่องด้วย ก็หาใช่การเพิ่มเข้าไปอย่างไร้จุดหมาย ในทางตรงกันข้าม ความเป็นเกย์ของตัวละครนี้กลับทำให้ประเด็นหลักที่จะพูดถึงโดดเด่นขึ้นมากกว่าเดิม
โอ๊ตเห็นเอกเป็น role model เขาเห็นอนาคตของเขาผ่านความสำเร็จของเอก เขาอยากทำอะไรได้หลายอย่างที่เอกทำได้ เช่น การขี่มอเตอร์ไซค์ การต่อยมวย หรือเรื่องที่ไม่ต้องใช้พละกำลังมากอย่างการเล่นหมากฮอส แม้จะดูเหมือนว่าโอ๊ตยกย่องให้เอกเป็นฮีโร่ของตัวเอง แต่ในขณะเดียวกัน เขายังต้องการทำสิ่งเหล่านั้นให้อยู่ในระดับที่ “เหนือกว่า” เอกอีกด้วย การชนะเกมหมากฮอสสำหรับโอ๊ตแล้วไม่ได้เป็นเพียงเงื่อนไขที่ให้เอกพาเขาออกไปเที่ยวตอนกลางคืนเท่านั้น แต่ยังเป็นสิ่งที่พิสูจน์ว่า เขาได้ก้าวเข้าใกล้ “ความเป็นเอก” ได้อีกขั้นหนึ่งแล้ว สิ่งที่โอ๊ตได้เรียนรู้จากการเล่นหมากฮอสกับเอกก็คือ ชีวิตก็เหมือนเกมกระดาน ที่ท้ายสุดแล้วเราอาจจะต้องยอมโกงหรือใช้เล่ห์เหลี่ยมบางอย่างเพื่อจะชนะ แต่ชัยชนะที่ได้มานั้นอาจจะต้องแลกกับอะไรบางอย่าง แม้โอ๊ตจะหาวิธีเล่นหมากฮอสจนชนะเอก และทำให้เอกยอมพาเขาออกไปข้างนอกด้วย แต่การออกไปข้างนอกกับเอกในคืนนั้น (และคืนเดียว) โอ๊ตก็ต้องพบกับความจริงอันโหดร้ายที่เขาจะไม่มีวันลืมเลือนไปตลอดชีวิต
ที่มารูป : www.frolichawaii.com
แม้จะกล่าวไปข้างต้นว่า หนังเรื่องนี้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับ “ความเป็นเกย์” โดยตรง แต่หนังก็แสดงให้เห็นความหลากหลายทางเพศในสังคมที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปได้อย่างชัดเจน เช่นการที่เอกกับไจ๋คบกันอย่างคนรัก โดยไม่เป็นที่ประหลาดใจของคนรอบข้าง (อย่างน้อยก็ในหมู่คนใกล้ชิด) ภาพลักษณ์ตัวละครเกย์ที่เป็น “คนปกติ” เช่น คิตตี้ เพื่อนของเอกและไจ๋ ที่ใครๆ ก็รู้ว่าเป็นผู้หญิงข้ามเพศ (ที่ยังไม่ได้ผ่าตัดแปลงเพศ) แต่ก็ดูเป็นที่ยอมรับของคนรอบตัวอย่างไม่ตะขิดตะขวงใจเลย โดยคิตตี้เองก็ไม่ได้สร้างดรามาให้กับชีวิตด้วยการโอดครวญหรือเรียกร้องความเห็นใจใดๆ จากสังคม แต่กลับใช้ชีวิตเช่นคนทำมาหากินทั่วไป
Josh Kim ผู้กำกับเคยให้สัมภาษณ์ว่า การเกณฑ์ทหารของไทยที่มีการจับใบดำใบแดงนั้น เป็นสิ่งที่แปลกใหม่และไม่ซ้ำกับเงื่อนไขการเป็นทหารของสองวัฒนธรรมที่เขาเคยพบมา (Josh เป็นชาวอเมริกันเชื้อสายเกาหลี) ในขณะที่อเมริกาใช้ระบบสมัครใจ และเกาหลีใช้ระบบบังคับ แต่การเข้ารับประจำการเป็นทหารของชายไทยนั้นเหมือนอยู่ตรงกลางระหว่างสองแบบนี้ การจับใบดำใบแดงยังสะท้อนให้เห็นความเชื่อเรื่องดวงชะตาแบบไทยๆ รวมทั้งกรณีหนีทหารทั้งทางตรงและทางอ้อม และที่เป็นจุดเด่นที่สุดในการเกณฑ์ทหารของไทยก็คือ มีสาวประเภทสองมารายงานตัวเช่นชายไทยคนอื่นๆ ด้วย โดยเหล่าทหารที่รับรายงานตัวก็ทำตัวปกติ จุดนี้เองที่ผู้กำกับสนใจ เพราะแสดงให้เห็นถึงความ “ใจกว้าง” ของชายชาติทหาร รวมถึงการปฏิบัติหน้าที่ “ชายไทย” ของสาวประเภทสองเหล่านั้น ที่ไม่เอาเพศสภาพของตนมาเป็นข้ออ้างในการยกเว้นทหาร เทียบกับผู้ชายอีกกลุ่มที่ยอมทำทุกทางเพื่อจะไม่ได้เป็นทหาร
อาจจะเป็นเพราะด้วยประสบการณ์ในการทำสารคดีมาก่อนของ Josh Kim หรืออาจจะเพราะส่วนใหญ่ของหนังเป็นการเล่าผ่านมุมมองของเด็กชายอายุ 11 ขวบ หนังจึงถ่ายทอดเรื่องราวต่างๆ อย่างตรงไปตรงมา นอกจากเรื่องความหลากหลายทางเพศและการเกณฑ์ทหาร “แบบไทยๆ” ที่ได้กล่าวถึงข้างต้นแล้ว หนังยังนำเสนอพื้นที่สีเทา เช่น ยาเสพติด สถานที่อโคจร การติดสินบน อิทธิพลท้องถิ่น รวมทั้งประเด็นเรื่องชนชั้น แต่ก็หาได้วิพากษ์หรือตัดสินลงไปว่าสิ่งใดผิดหรือถูก ราวกับจะบอกพวกเราว่าหลายสิ่งที่เห็นในหนัง “มันก็เป็นเช่นนั้นเอง”
ที่มารูป : https://en.wikipedia.org
นอกจากบทที่แข็งแรงและการกำกับที่แม่นยำแล้ว กลุ่มนักแสดงก็เป็นส่วนที่ควรได้รับคำชมเชยเป็นอันดับต้นๆ การแสดงของนักแสดงทุกคนไหลลื่น เป็นธรรมชาติและน่าเชื่อ โดยเฉพาะ ถิร ชุติกุล และ อิงครัต ดำรงศักดิ์กุล ที่เล่นเป็นเอกและโอ๊ต ทั้งสองแสดงได้เข้าขากันดีเหมือนได้เติบโตมาด้วยกันจริงๆ รวมทั้งสอบผ่านอย่างสวยงามเมื่อต้องแสดงอารมณ์อันซับซ้อน ส่วน โทนี่ รากแก่น ที่แสดงเป็นโอ๊ตตอนโต แม้จะโผล่หน้ามาให้เห็นน้อยมาก (เขาให้เสียงบรรยายตลอดเรื่อง) แต่ในตอนท้ายเรื่อง สายตาของเขาก็บ่งบอกได้ว่า สิ่งที่เขาเห็นและได้ประสบมา โดยเฉพาะจากความทรงจำที่มีต่อพี่ชายนั้น ได้ทำให้เขาเติบโตกลายเป็นอีกคน ที่ไม่อ่อนเดียงสาและมองโลกแบบง่ายๆ เป็นมิติเดียว เช่นตัวเองในวัยเยาว์อีกต่อไป
9/10 ครับ
ป.ล. แนะนำบทความอ่านเพิ่มเติม “เมื่อหนังเกย์ ไม่จำเป็นต้องพูดถึง ‘ความเป็นเกย์’ อีกต่อไป” ในนิตยสาร Bioscope ฉบับที่ 161 June 2015 หน้า 24-25 และ “The Checkers Men” บทสัมภาษณ์ผู้กำกับ Josh Kim และโปรดิวเซอร์ Edward Gunawan ในนิตยสาร Attitude Thailand ฉบับ May 2015 หน้า 74-7