โดย Average Joe
15 สิงหาคม 2013
เมื่อวานตอนหัวค่ำได้ดูรายการ “วัฒนธรรมชุบแป้งทอด” ตอน “ทำไมแต่งงานกันไม่ได้” ที่ว่าด้วยเรื่องของการหาทางออกและความเป็นไปได้ในการอยู่ร่วมกันตามกฎหมายของคู่รักเพศเดียวกัน พอดูจบก็พลันนึกไปถึงภาพยนตร์ (สำหรับฉายโทรทัศน์) เรื่อง If These Walls Could Talk 2 (2000) ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับหญิงรักหญิงในสามยุคสมัย (1961, 1972 และ 2000) ตอนที่ดูแล้วสะเทือนใจและยังจำได้จนถึงปัจจุบันคือตอนแรก (Segment ‘1961’)
เรื่องมีอยู่ว่า Edith และ Abby เป็นคู่รักวัยชราที่อยู่ด้วยกันมา 30 ปี อยู่มาวันหนึ่ง Abby เสียชีวิตลงอย่างกะทันหัน Edith โทรศัพท์แจ้งข่าวให้ Ted หลานชายของ Abby ทราบ เพื่อจะได้มาร่วมงานศพ การณ์กลับกลายเป็นว่า เมื่อ Ted และครอบครัวมาถึง เขาก็บอก Edith ว่า บ้านที่เธออาศัยอยู่นี้เป็นชื่อของ Abby แม้ว่า Edith จะร่วมลงทุนซื้อบ้านหลังนี้เท่าๆ กันกับ Abby เธอก็ไม่มีสิทธิใดๆ ที่จะอาศัยอยู่ที่นี่อีก นั่นหมายความว่า Edith ไม่เพียงแต่สูญเสียคนที่เธอรักไปตลอดกาล แต่ยังต้องสูญเสียบ้านและทรัพย์สินต่างๆ ที่เธอเคยมีร่วมกันกับ Abby มาทั้งชีวิต เพียงเพราะกฎหมายในสมัยนั้นยังไม่ยอมรับว่าทั้งสองเป็น “คู่ชีวิต” กัน (Vanessa Redgrave ที่รับบท Edith แสดงดีจนได้รางวัลใหญ่ๆ ทั้ง Golden Globe, Emmy และ SAG มาครอบครอง)
หากทิ้งดรามาน่าสะเทือนใจไว้เบื้องหลัง เราจะเห็นว่า สถานการณ์เช่นนี้ก็ไม่ยุติธรรมอยู่ดีสำหรับ “คู่ชีวิต” ที่อยู่ดูแลกันมาโดยตลอด แต่กลับไม่ได้รับสิทธิอันควร เพียงเพราะเขาทั้งสองมีเพศสภาพที่เหมือนกัน ซึ่งไม่เป็นไปตามกรอบของชาย-หญิงที่กฎหมายจะรับรองได้ เมื่อกฎหมายยังไม่ยอมรับพวกเขาเช่นเดียวกับคู่สมรสชาย-หญิง “คู่ชีวิต” เพศเดียวกันจะต้องสูญเสีย 1. สิทธิในการเซ็นยินยอมให้รักษาพยาบาล ในกรณีที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งป่วยไข้ หรือต้องเข้ารับการผ่าตัด 2. สิทธิในการซื้อและถือครองทรัพย์สินร่วมกัน (เทียบได้กับสินสมรสกรณีคู่สมรสชาย-หญิง) 3. สิทธิในการประกันชีวิตให้แก่กัน รวมถึงเป็นผู้รับผลประโยชน์และมรดกโดยตรงในกรณีอีกฝ่ายเสียชีวิต ฯลฯ
จากหนัง อาจจะเป็นความโชคร้ายของ Edith เอง ที่เธอและ Abby อาศัยอยู่ในยุคสมัยที่สังคมยัง “ไม่พร้อม” แต่ถ้าเป็นสมัยนี้ล่ะ สังคม “พร้อม” แล้วหรือยัง เราอาจจะเห็นว่าสังคมยอมรับคนรักเพศเดียวกันมากขึ้น โดยเฉพาะในสังคมไทยที่ดูเหมือนจะใจกว้างมากกว่าบางประเทศ ที่ถึงกับจับคนที่มีแนวโน้มในการรักเพศเดียวกันมาลงโทษอย่างรุนแรงถึงชีวิต (ล่าสุดเห็นความรุนแรงในรัสเซียแล้วหดหู่มากๆ) หรือไม่ก็มีท่าทีปฏิเสธเช่นประเทศจีน เป็นต้น ทว่าในการยอมรับของคนไทยนั้น ก็แฝงไปด้วยการไม่สนับสนุนในที กล่าวคือ หากคุณจะรักเพศเดียวกันก็ทำไปเถิด ตราบใดที่ไม่ทำความเสียหายแก่ผู้อื่น แต่พอบอกว่าจะขอ “แต่งงาน” กันด้วย รับรองว่าบางคนคิ้วขมวดแน่นอน เพราะมันอาจจะขัดกับหลักการและแนวคิดที่เคยมีมาทั้งชีวิตก็เป็นได้
ที่มารูป: https://lgbtseniorvoice.files.wordpress.com
ไม่ว่าคุณจะเห็นด้วยหรือไม่กับการร่างกฎหมายให้คู่รักเพศเดียวกันจดทะเบียนสมรส (หรือเอกสารชื่ออื่น) ได้ตามกฎหมาย โปรดเข้าใจว่า การเรียกร้องขอสิทธิดังกล่าว ไม่ใช่การเรียกร้องขอความเห็นใจ แต่เป็นการเรียกร้อง “สิทธิอันเท่าเทียม” ที่บุคคลควรมีตามระบอบประชาธิปไตยต่างหาก นี่คือเรื่องของสิทธิมนุษยชนล้วนๆ