ดูหนังอย่างคนเบี้ยน้อยหอยน้อย 045; ไปสกาลา ดู Inside Out แอนิเมชันที่พาเราไปดูสิ่งมหัศจรรย์พันลึกที่สุด คือกระบวนการภายในสมองมนุษย์ ซึ่งแสดงออกสู่ภายนอกเป็นพฤติกรรม (เขียนคล้องจองกันทำไม 555)
เด็กหญิงไรลีย์ แอนเดอร์สัน เกิดและเติบโตที่รัฐมินนิโซตา ในสมองของเธอก็เป็นเช่นเดียวกับคนทั่วไป คือมีอารมณ์พื้นฐานอยู่ 5 ตัว (เป็นตัวละคร เลยเรียกตัว) ได้แก่ Joy (สุข) Sadness (เศร้า) Fear (กลัว) Anger (โกรธ) และ Disgust (ขยะแขยง) ทั้งห้าประจำการอยู่ที่ Headquarters อันเป็น “สำนักงานใหญ่” ของสมอง ทำหน้าที่ควบคุมให้ไรลีย์แสดงปฏิกิริยาตอบสนองไปตามอารมณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อพบเจอเหตุการณ์ต่างๆ Joy เป็นหัวหน้าทีม ความสุขจึงเป็นอารมณ์หลักของไรลีย์ ทำให้เธอเป็นเด็กที่ร่าเริงแจ่มใสอยู่เสมอ ความทรงจำอันมีความสุขของเธอจะถูกเก็บไว้ในลูกแก้วสีเหลืองทองเหมือนสีผิวของ Joy เมื่อหมดวัน ลูกแก้วเหล่านี้ก็จะไหลไปตามท่อ เพื่อเก็บในส่วนความทรงจำระยะยาว (long-term memory) หากเกิดเหตุการณ์สำคัญในชีวิต ความทรงจำเกี่ยวกับเหตุการณ์นั้นจะถูกเก็บในลูกแก้วขนาดใหญ่ เป็นส่วนหนึ่งของความทรงจำหลัก (core memory) ในแต่ละวันลูกแก้วของไรลีย์จะเป็นสีเหลืองทองเป็นส่วนใหญ่ และลูกแก้วความทรงจำหลักก็เป็นสีเหลืองทองทั้งหมดเลย ชีวิตดี๊ดี จนเมื่อไรลีย์อายุ 11 ขวบ ก็เกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้น เพราะครอบครัวเธอจำเป็นต้องย้ายจากมินนิโซตาไปซานฟรานซิสโก แล้ว Sadness ก็ดันไปแตะลูกแก้วความทรงจำหลักของไรลีย์จนกลายเป็นสีฟ้าตามสีผิวของนาง ทำให้ไรลีย์รู้สึกเศร้าเมื่อคิดถึงความทรงจำเหล่านั้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ Joy ยอมไม่ได้ เธอจึงพยายามหาทางแก้ไข ความชุลมุนวุ่นวายก็เลยบังเกิดขึ้น
ด้วยความที่ดิฉันต้องใช้วิชาจิตวิทยาในการประกอบสัมมาอาชีวะอยู่ ดูหนังเรื่องนี้จึงรู้สึกปลาบปลื้มลืมตายมาก หนังนำวิทยาศาสตร์มาผสานกับจินตนาการจนทำให้กระบวนการในสมองของคนเรากลายเป็นภาพที่เข้าใจง่ายและสามารถตีความได้ในเชิงสัญลักษณ์ ตัวอย่างเช่น เกาะบุคลิกภาพ (personality islands) เป็นเกาะที่แสดงที่มาของบุคลิกภาพแบบต่างๆ ของไรลีย์ ซึ่งพัฒนาขึ้นจากความทรงจำหลัก ตอนที่ไรลีย์ยังเด็กอยู่ก็จะมีแค่ 5 เกาะ และเกาะเหล่านั้นก็เจริญขึ้นเรื่อยๆ แต่เมื่อเธอเติบโตขึ้น ถึงช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่จะเข้าสู่วัยรุ่น เกาะเหล่านั้นอาจจะขยายใหญ่ขึ้น เพิ่มจำนวนขึ้น หรืออาจจะพังทลายลงจนหมดก็ได้ มันก็เทียบกับความเป็นจริงได้เลยว่า ในช่วงที่เด็กกำลัง form บุคลิกภาพเพื่อจะเป็นวัยรุ่นนั้น เด็กบางคนก็ทำสำเร็จ แต่บางคนก็กลายเป็นเด็กมีปัญหาไปเลย เพราะไม่สามารถสร้างหรือพัฒนาบุคลิกภาพอันเป็นเครื่องแสดงตัวตนหรือความมีอยู่ของตัวเองได้ อีกตัวอย่างหนึ่งที่สร้างสรรค์มาก คือ Dream Production ทำหน้าที่ผลิตความฝันโดยนำความทรงจำเรื่องต่างๆ ของไรลีย์มาเขียนบทใหม่ให้เว่อร์วังกว่าเดิม แล้วถ่ายทำเป็นละคร ฉายในช่วงที่เธอนอนหลับ การเปรียบกระบวนการ “หลับฝัน” เป็นการผลิต “ละครทีวี” นี้ เป็นอุปลักษณ์ที่ยั่วล้อและฮาไม่ใช่น้อย
สิ่งที่เก๋มากสำหรับดิฉันคือ หนังเรื่องนี้ดูเหมือนจะเล่าความขัดแย้งระหว่างไรลีย์กับทุกสิ่งทุกอย่างรอบตัว แต่ความขัดแย้งที่แท้จริงนั้น อยู่ในหัวของเธอเอง หนังได้ทำให้ความขัดแย้งทางอารมณ์ของมนุษย์ ซึ่งเป็นนามธรรม กลายเป็นรูปธรรมขึ้นมา โดยสร้างให้อารมณ์เป็นตัวละครแบบคน ความขัดแย้งของตัวละครซึ่งเป็นบุคลาธิษฐาน (personification) ของอารมณ์ต่างๆ นี้ ได้ก่อให้เกิดความอลเวงในหัวของไรลีย์ จนทำให้เธอมีพฤติกรรมที่แตกต่างออกไปจากตอนเด็กๆ ดังนั้น ความขัดแย้งภายใน (inner conflict) ของเธอ จึงเป็นต้นเหตุแห่งความขัดแย้งระหว่างเธอกับทุกสิ่งรอบตัว ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ของวัยรุ่นทุกคนก็ว่าได้
แต่เมื่อความขัดแย้งภายในดำเนินมาถึงบทสรุป หนังก็ได้นำเสนอสารที่สำคัญอย่างยิ่งสำหรับการเติบโตเป็นผู้ใหญ่ของคนทุกคน กล่าวคือ ความเศร้าเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเรา ความทรงจำที่มีทั้งสุขและเศร้าเป็นความทรงจำที่มีคุณค่าและจำเป็นสำหรับชีวิต
บัดนั้น ดิฉันรู้สึกเหมือนถูกตีแสกหน้าอย่างอ่อนโยน แล้วน้ำตาก็ไหลลงมาด้วยความปีติ
ที่มารูป: jubaaj.deviantart.com
สรุป: จ่าย 100 ได้กลับมา 170
โดย ปวิวัณณ์ คำเจริญ
19 สิงหาคม 2015
(ขอบคุณภาพปกจาก imdb.com)