ดูหนังอย่างคนเบี้ยน้อยหอยน้อย 195; ดู Joker หนังของตัวร้ายที่เรารัก
พูดถึงโจ๊กเกอร์ ดิฉันก็คิดถึงยาย นี่อาจจะเป็นการโยงเข้าเรื่องที่ยาวสักหน่อย แต่ดิฉันว่าหลายๆ บ้านที่มีปู่ย่าตายายอยู่กันเป็นครอบครัวใหญ่ น่าจะมีกิจกรรมอย่างหนึ่งที่เคยทำเหมือนๆ กัน นั่นก็คือการเล่นไพ่กินตังค์ กิจกรรมนี้ฟังดูเป็นการพนันมาก ซึ่งที่จริงก็ใช่แหละ เพียงแต่เราจะไม่มีวันล้มละลายขายตัวจากการพนันนี้ ประการหนึ่งเพราะเราเล่นกันตาละบาทสองบาท อีกประการหนึ่ง การเล่นไพ่กับปู่ย่าตายายนั้น เรามีแต่ได้ ไม่มีเสีย อย่างที่บ้านดิฉัน ถ้าหลานเล่นได้ เงินก็เป็นของหลาน แต่ถ้าหลานเล่นเสีย ก็เท่ากับฝากเงินไว้กับยาย จะถอนเมื่อไหร่ก็ได้ แถมยังได้สร้างความสนุกสนานบันเทิงให้แก่ยายด้วย ที่จริงเล่นไพ่ก็เป็นการฝึกสมองหลายอย่าง ถ้าหากเราเล่นเป็นเกมกีฬา ส่วนการกินตังค์นั้นก็เป็นเดิมพันที่ทำให้เกมสนุกขึ้นเท่านั้นเอง
ร่ายมาซะยาว ยังไม่เข้าเรื่อง 555 คือดิฉันจะบอกว่า ในสำรับไพ่ จะมีไพ่โจ๊กเกอร์อยู่ 2 ใบ เป็นรูปตัวตลกฝรั่งกำลังเต้นยกแข้งยกขา ตอนที่ยายบอกดิฉันว่านี่คือโจ๊กเกอร์ ดิฉันก็ร้องอ๋อทันที เพราะรู้จักชื่อนี้จากการ์ตูนมาแล้ว ประเด็นคือ ยายสอนดิฉันนับแต้มไพ่ตั้งแต่อายุยังไม่ถึง 10 ขวบเลยมั้ง แต่ดิฉันรู้จักตัวละครโจ๊กเกอร์ก่อนหน้านั้นเสียอีก เรียกได้ว่าเป็นตัวร้ายฝรั่งตัวแรกๆ ที่ดิฉันรู้จักในชีวิต ทั้งๆ ที่ดิฉันไม่ใช่คอการ์ตูนฝรั่งเลย คิดดูแล้วกันว่าโจ๊กเกอร์โด่งดังขนาดไหน เด็กบ้านนอกบ้านนาอย่างดิฉันก็ยังรู้จักได้
โจ๊กเกอร์เป็นตัวร้ายสำคัญในหนังสือการ์ตูนเรื่อง Batman ของค่ายดีซีคอมิกส์ เมื่อมีการสร้าง Batman เป็นหนังการ์ตูน ละครทีวี และหนังคนแสดง โจ๊กเกอร์ก็ยังคงเป็นตัวร้ายสำคัญ การทาหน้าขาวย้อมผมสีเขียวแบบตัวตลก กับปากแดงที่แสยะยิ้มตลอดเวลาสมฉายา ‘โจ๊กเกอร์’ ไม่เคยสร้างความตลกให้แก่ใคร มีแต่ความขำขื่นและเขย่าขวัญสั่นประสาท ก็เลยพอดีกันกับแบทแมนซึ่งถ้าจะว่ากันจริงๆ ก็มีปมในใจซับซ้อนอยู่พอควร
ที่ผ่านมา เฉพาะหนังคนแสดง มีผู้ที่ได้รับบทโจ๊กเกอร์มาแล้ว 4 คน คนแรกคือ ซีซาร์ โรเมโร ผู้บุกเบิกบทโจ๊กเกอร์ทั้งทางจอแก้วและจอเงิน ตั้งแต่ปี 1966 (พ.ศ. 2509) คนที่ 2 คือหนึ่งในนักแสดงที่เก่งกาจที่สุด แจ็ค นิโคลสัน รับบทโจ๊กเกอร์ในหนัง Batman เมื่อปี 1989 (พ.ศ. 2532) ซึ่งไมเคิล คีตัน แสดงเป็นแบทแมน คนที่ 3 คือนักแสดงหนุ่มยอดฝีมือผู้ล่วงลับ ฮีธ เลดเจอร์ รับบทโจ๊กเกอร์ในหนัง The Dark Knight เมื่อปี 2008 (พ.ศ. 2551) หนังเรื่องที่สองในไตรภาค “อัศวินรัตติกาล” (The Dark Knight Trilogy) ซึ่งคริสเตียน เบล แสดงเป็นแบทแมน คนที่ 4 คือนักแสดงดีกรีออสการ์ จาเร็ด เลโต รับบทโจ๊กเกอร์ใน Suicide Squad หนังปี 2016 (พ.ศ. 2559) ของจักรวาลภาพยนตร์ดีซี ซึ่งเบน แอฟเฟล็ก แสดงเป็นแบตแมน (อ่านเรื่องของจักรวาลนี้ได้ในเบี้ยน้อยฯ 149; Justice League)
นักแสดงผู้รับบทโจ๊กเกอร์ทั้ง 4 เวอร์ชัน ต่างก็ถ่ายทอดความเป็นโจ๊กเกอร์ที่มีสีสันแตกต่างกันออกไป แต่โจ๊กเกอร์ที่ผู้ชมจดจำได้มากที่สุด และยังคงเป็นที่กล่าวขวัญและอ้างอิงถึงอยู่จนทุกวันนี้ น่าจะเป็นฉบับ ฮีธ เลดเจอร์ ซึ่งหลายๆ คนเรียกว่าฉบับ ‘โนแลน’ คือเอาชื่อผู้กำกับมาเรียกเลย เนื่องจากไตรภาคอัศวินรัตติกาลของคริสโตเฟอร์ โนแลนนั้น มีสไตล์เฉพาะตัวชัดเจนในการสร้างความจริงจังและลุ่มลึกให้แก่หนังซูเปอร์ฮีโร่ โดยที่ฮีธ เลดเจอร์ ก็แสดงได้ดีมาก จนได้รับรางวัลออสการ์สาขานักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยม อันเป็นรางวัลที่มอบให้เขาแม้ว่าจะเสียชีวิตไปแล้ว ดังนั้น เมื่อค่ายดีซีกล้าหาญชาญชัย นำโจ๊กเกอร์ซึ่งเป็นตัวร้ายที่ผู้ชมรู้จักดีอยู่แล้วในหลากหลายรูปแบบ และมีภาพจำอันตรึงใจไปแล้วจากการแสดงของฮีธ เลดเจอร์ มาเป็นตัวละครเอกในหนังเรื่องใหม่ แถมยังไม่ใช่หนังซูเปอร์ฮีโร่ แต่เป็นแนวระทึกขวัญจิตวิทยา จึงสร้างความฮือฮาฟ้าถล่มในหมู่มหาประชาชนได้เป็นอย่างมาก
ที่มาภาพ: imdb.com
Joker เป็นหนังที่บอกเล่าให้เรารู้ว่า ก่อนจะมาเป็นโจ๊กเกอร์ วายร้ายระดับตำนานซึ่งสั่นสะเทือนแบทแมนได้ถึงจิตวิญญาณนั้น เขาเป็นใครมาจากไหน และกลายมาเป็นโจ๊กเกอร์ที่เรารู้จักได้อย่างไร หนังจับเรื่องเมื่อปี 1981 (พ.ศ. 2524) ณ เมืองสมมุติชื่อว่า ก็อตแธมซิตี้ หรือเรียกสั้นๆ ว่าก็อตแธม อันว่าเมืองก็อตแธมนี้ก็คือบ้านเกิดของแบทแมนกับโจ๊กเกอร์ และเป็นฉากสำคัญของเรื่อง Batman มาแต่ไหนแต่ไร แต่ทุกท่านที่เป็นแฟนแบทแมนก็คงจะรู้ว่า ก็อตแธมก็คืออุปลักษณ์ของนิวยอร์กซิตี้ หรือมหานครนิวยอร์ก เมืองหลวงอันวุ่นวายขายปลาช่อนของสหรัฐอเมริกานั่นเอง ที่จริงชื่อ “ก็อตแธม” ก็เป็นชื่อเล่นในเชิงเสียดสีของมหานครนิวยอร์กอยู่แล้ว ว่ากันว่ามีที่มาจากชื่อหมู่บ้านในอังกฤษสมัยโบราณ ซึ่งชาวบ้านรวมหัวกันแกล้งทำเป็นผีบ้าผีบอกันทั้งหมู่บ้าน เพื่อขับไล่กษัตริย์ซึ่งจะมายึดครองที่ดิน ก็อตแธมก็เลยขึ้นชื่อว่าเป็น ‘เมืองคนบ้า’ ไม่ต่างจากมหานครนิวยอร์ก ซึ่งแออัดพลุกพล่านไปด้วยผู้คน คลาคล่ำไปด้วยปัญหา และชุกชุมไปด้วยอาชญากรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงปี 1981 นั้น ว่ากันว่าสถิติอาชญากรรมในนิวยอร์กสูงมากเป็นประวัติการณ์
ท่านที่ได้ชมไตรภาคอัศวินรัตติกาล คงจะจำความมืดหม่นของเมืองก็อตแธมในจินตนาการของโนแลนได้ แต่ก็อตแธมใน Joker มืดมนอนธการกว่านั้นอีก เพราะมันเต็มไปด้วยผู้คนที่ไร้มนุษยธรรมโดยสิ้นเชิง ความฟอนเฟะของเมืองนี้แสดงให้เห็นวงจรอุบาทว์ของปัญหาเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ซึ่งมีมนุษย์เป็นทั้งผู้ก่อปัญหาและผู้รับผลจากปัญหา โดยที่ไม่มีใครลุกขึ้นมาแก้ไขอะไรได้ มีแต่จะทำให้ปัญหาลุกลามเรื้อรัง จนทำลายความดีและคนดีที่เหลืออยู่แทบจะหมดสิ้น สังคมแบบนี้มันจะเหมือนที่ไหนในชีวิตจริงบ้างก็ไม่รู้แหละ แต่เมื่อพิจารณาการแต่งหน้าของโจ๊กเกอร์ซึ่งแตกต่างจากเวอร์ชันอื่นๆ คือแต่งดวงตาเป็นรูปข้าวหลามตัดสีน้ำเงินอย่างชัดเจน ตัดกับใบหน้าขาวโพลนและปากแดงฉานแล้ว ก็ทำให้คิดว่า สังคมที่หนังเรื่องนี้สะท้อนคงจะไม่ใช่แค่มหานครนิวยอร์ก หากเป็นอเมริกาทั้งประเทศเลยทีเดียว แล้วบังเอิญว่าสีน้ำเงิน ขาว แดง ก็เป็นสีธงชาติของหลายๆ ประเทศด้วย ประเทศอื่นๆ ก็เลยเทียบเคียงกับเขาได้อยู่ #เนอะ
แม้ว่าหนังเรื่องนี้จะนำเสนอประเด็นหนักหน่วงดังที่กล่าว แต่ก็มีลักษณะบางอย่างที่เป็น ‘การ์ตูน’ อยู่พอสมควร ซึ่งนับเป็นเรื่องที่ดีมาก เพราะทำให้ดิฉันไม่รู้สึกว่าหนังมีท่าทีที่อาจปลุกระดมให้คนลุกขึ้นมาใช้ความรุนแรง หรือทำให้เกิดความหดหู่ถึงขั้นจิตตกดำดิ่งอย่างที่เขาว่ากันเท่าไหร่ สำหรับดิฉันมันเป็นหนังที่ทำให้เข้าใจโลกได้อย่างดีทีเดียว คนที่ถูกบีบคั้นจนหมดหนทางสู้ จะให้เขาลุกขึ้นมาเห็นแก่ส่วนรวมก็คงจะลำบาก ถ้าบ้านเมืองสงบราบคาบโดยที่เขาถูกเหยียบจมธรณี ส่วนคนที่เหยียบเขากลับได้เสวยสุข เขาก็คงอยากเผาบ้านเผาเมืองให้จลาจลไปเลยรู้แล้วรู้รอด จะได้เดือดร้อนอย่างเท่าเทียมกัน ไม่ต้องมีความเหลื่อมล้ำต่ำสูง
ดิฉันออกจะชื่นชอบ ‘มุมมอง’ ในหนังเรื่องนี้อยู่มาก คือถ้าหนังที่มีแบทแมนเป็นพระเอกถูกเล่าในมุมมองของแบทแมน หนัง Joker ก็เล่าในมุมมองของโจ๊กเกอร์บ้าง ทำให้มันกลายเป็นความจริง 2 ฝั่งที่อาจจะไม่มีใครผิดไม่มีใครถูกเลยก็ได้ อย่างแบทแมนแม้จะต้องกำพร้าตั้งแต่อายุยังน้อย และผ่านความยากลำบากมาพอสมควร แต่เขาก็เกิดมาบนกองเงินกองทอง เป็นคนสูงศักดิ์อัครฐาน มหาเศรษฐีกับยาจกเมื่อประสบเหตุการณ์หรือปัญหาอย่างเดียวกัน ย่อมมองโลกมองปัญหาคนละแบบอยู่แล้ว เมื่อมองคนละแบบ แถมทรัพยากรก็มีไม่เท่ากัน วิธีการแก้ปัญหาก็ย่อมแตกต่าง
เมื่อตอนที่ดูไตรภาคอัศวินรัตติกาล ดิฉันประทับใจฉากการตายของโทมัสและมาร์ธา เวย์น คุณพ่อคุณแม่ของแบทแมนมาก ดูทีไรก็น้ำตาไหล พอมาดูฉากนี้ใน Joker ก็ประทับใจจนน้ำตาไหลเช่นเดียวกัน แต่ด้วยมุมมองที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง มุมมองทั้งสองนี้ไม่ได้ขัดกันแต่อย่างใด กลับเติมเต็มกันได้เป็นอย่างดี แล้วเมื่อดูไปจนจบก็ยิ่งทำให้รู้ว่า เพราะอะไรแบทแมนจึงตัดสินใจลุกขึ้นมาทำลายวงจรอุบาทว์ เพื่อไม่ให้เมืองก็อตแธมเสื่อมทรามไปกว่าที่เป็นอยู่
ที่สำคัญ ยังมีแง่มุมที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งเกี่ยวกับมุมมอง ก็คือว่า หากผ่านมุมมองที่วิปลาส เราจะรู้ได้อย่างไรว่าอะไร ‘จริง’
ดูไปดูมา ดวงตารูปข้าวหลามตัดของโจ๊กเกอร์ ละม้ายน้ำตาที่กำลังหยาดหยดอยู่เหมือนกันนะ แล้วดูสิว่าเขาเลือกที่จะเปลี่ยนน้ำตาเป็นอะไร
ท้ายที่สุดนี้ ดิฉันคงไม่สามารถขบคิดถึงทุกสิ่งทุกอย่างที่กล่าวมานี้ทั้งหมดได้ ถ้าปราศจากการแสดงอันหาที่ใดไม่ได้อีกแล้ว ของ ฮวาคีน ฟีนิกซ์ ผู้รับบทโจ๊กเกอร์ ดิฉันรักทุกวินาทีของคุณพี่ฮวาคีนในหนังเรื่องนี้ เช่นเดียวกับที่จะมีโจ๊กเกอร์อยู่ในใจตลอดกาล
สรุป: จ่าย 120 (ดูรอบเช้าวันเสาร์ที่สกาลา) ได้กลับมา 202
โดย ปวิวัณณ์ คำเจริญ
1 พฤศจิกายน 2562
(ขอบคุณภาพปกจาก imdb.com)