ดูหนังอย่างคนเบี้ยน้อยหอยน้อย 176; ดู Jurassic World: Fallen Kingdom ความล่มสลายของอาณาจักรแห่งไดโนเสาร์
นับตั้งแต่สตีเวน สปีลเบิร์ก ได้หยิบนวนิยายเรื่อง Jurassic Park ของนักเขียนชื่อดัง ไมเคิล ไครค์ตัน มาสร้างเป็นหนังเมื่อปี 1993 ไดโนเสาร์ก็สถิตเสถียรอยู่ในใจของผู้ชมทั่วโลก จนกลายเป็นสัตว์ชนิดหนึ่งซึ่งแม้จะสูญพันธ์ุไปแล้ว แต่ก็ไม่เคยถูกลืม และคนจำนวนมากก็ยังคงรอคอยอยู่เสมอที่จะได้ดูพวกมันโลดแล่นอยู่บนจอครั้งแล้วครั้งเล่า ปัจจุบัน เวลาผ่านมา 25 ปีแล้ว หนังในแฟรนไชส์ Jurassic Park ก็ดำเนินมาถึงเรื่องที่ 5 อีกสามปีข้างหน้าก็จะมีเรื่องที่ 6 ถ้าแบ่งเป็นชุดไตรภาคก็ประกอบด้วย 2 ชุด คือไตรภาค Jurassic Park กับไตรภาค Jurassic World ในฐานะที่เบี้ยน้อยหอยน้อยตามติดมาทุกภาค ดูภาคละหลายรอบด้วย (ทางทีวี) ก็เลยจะขอเล่าเท้าความให้ทุกท่านฟังพอเป็นกษัย
จากจินตนาการของไมเคิล ไครค์ตัน ไดโนเสาร์ถือกำเนิดขึ้นมาใหม่ด้วยพลังแห่งความหลงใหลและความร่ำรวยของมหาเศรษฐี จอห์น แฮมมอนด์ แกตั้งบริษัทชื่อ อินเจ็น (InGen ย่อมาจาก International Genetic Technologies หรือเทคโนโลยีพันธุกรรมนานาชาติ) ทุ่มทุนค้นคว้าวิจัย จนสามารถสกัดดีเอ็นเอไดโนเสาร์ได้จากซากของยุงในก้อนอำพัน บังเอิญว่ายุงตัวนั้นเพิ่งไปกัดไดโนเสาร์มา แล้วดันถูกยางไม้ไหลมาท่วมทับร่างโดยไม่ทันรู้เนื้อรู้ตัว เวลาผ่านไปยางไม้แข็งตัวกลายเป็นอำพัน นางก็เลยกลายเป็นฟอสซิลยุงที่มีเลือดไดโนเสาร์อยู่เต็มท้อง ให้ทีมวิจัยของอินเจ็น นำโดย ดร.เฮนรี วู นักพันธุศาสตร์เชื้อสายจีน ดูดออกมาสกัดดีเอ็นเอ โดยนำดีเอ็นเอของกบมาเติมเต็มส่วนที่ขาดหาย เพาะพันธุ์ไดโนเสาร์หลากหลายสายพันธุ์ในห้องแล็บ ให้มีแต่ตัวเมีย เพื่อให้ไม่มีการสืบพันธุ์ตามธรรมชาติ จะได้ควบคุมจำนวนประชากรได้ #เว่อร์มากแต่เราเชื่อ
แฮมมอนด์ได้ซื้อเกาะไว้เกาะหนึ่ง ชื่อ “อิสลานูบลาร์” สร้างเป็นสถานที่ท่องเที่ยวให้คนมาดูไดโนเสาร์ ตั้งชื่อว่า “จูราสสิกปาร์ค” ที่จริงจูราสสิกเป็นชื่อยุคดึกดำบรรพ์ที่ยังไม่ใช่ยุครุ่งเรืองของไดโนเสาร์ แต่ไมเคิล ไครค์ตันเลือกชื่อนี้เพราะแกบอกว่ามันเพราะดี #มั่วนิดหน่อยแต่เรารับได้ หนัง Jurassic Park (ปี 1993) หรือชื่อไทย “กำเนิดใหม่ไดโนเสาร์” เป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นในปาร์คแห่งนี้ เมื่อแฮมมอนด์เตรียมจะเปิดปาร์คอย่างเป็นทางการ แต่พนักงานคนหนึ่งดันถูกไดโนเสาร์ทำร้ายถึงตาย เหตุการณ์นี้กระทบต่อความเชื่อมั่นในความปลอดภัยของปาร์ค แฮมมอนด์จึงต้องให้ผู้เชี่ยวชาญมาประเมินเสียก่อน ผู้ที่ได้รับเชิญมามี 3 คน ได้แก่ ดร.อลัน แกรนท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านไดโนเสาร์ ดร.เอลลี แซตเลอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านพืชดึกดำบรรพ์ และ ดร.เอียน มัลคอล์ม ผู้เชี่ยวชาญทฤษฎีเคออส (Chaos Theory ภาษาไทยเรียกว่า “ทฤษฎีความอลวน” หรือ “ทฤษฎีความโกลาหล”) ซึ่ง ดร.มัลคอล์มก็จวกแฮมมอนด์ตรงๆ ตั้งแต่ต้นเลยว่า งานนี้เละแน่นวล
แฮมมอนด์จัดให้ ดร. ทั้งสามได้เที่ยวชมปาร์คร่วมกับหลานสาววัย 13 และหลานชายวัย 9 ขวบของเขา ปรากฏว่า พนักงานคนหนึ่งของปาร์คเกิดอยากจะขโมยตัวอ่อนไดโนเสาร์ไปขายให้บริษัทคู่แข่งในวันนี้พอดี #ควรดูฤกษ์ดูยามบ้าง ฮีก็เลยตัดระบบรักษาความปลอดภัยของปาร์ค ทำให้รั้วไฟฟ้าที่ขังไดโนเสาร์ถูกตัดไฟ ทริปซึ่งเริ่มต้นด้วยความตื่นตาตื่นใจจึงจบลงด้วยการวิ่งป่าราบ เมื่อทุกคนต้องวิ่งหนีนางทีเร็กซ์กับฝูงแร็พเตอร์อย่างไม่คิดชีวิต และจูราสสิกปาร์คก็หมดโอกาสที่จะเปิดดำเนินการตั้งแต่นั้นมา
ใน The Lost World: Jurassic Park (ปี 1997) หรือชื่อไทย “ใครว่ามันสูญพันธุ์” #ไม่มีใครว่าเลยจ้าาา ดำเนินเรื่องต่อจากภาคแรกหลังจาก 4 ปีผ่านไป หลานชายของจอห์น แฮมมอนด์ ชื่อปีเตอร์ ลัดโลว์ ประธานคนใหม่ของอินเจ็น ต้องแบกภาระหนี้สินจากการที่จูราสสิกปาร์คเจ๊งไปตั้งแต่ยังไม่ได้เปิด ฮีจึงคิดจะถอนทุนคืนด้วยการเปิดจูราสสิกปาร์คในเมืองแซนดิเอโก โดยเอาไดโนเสาร์มาจากเกาะอิสลาซอร์นา ใกล้ๆ เกาะอิสลานูบลาร์อันเป็นที่ตั้งของปาร์คเดิม เกาะอิสลาซอร์นานี้ เรียกกันว่า “ไซต์บี” แฮมมอนด์ซื้อไว้สำหรับเป็นที่อนุบาลลูกไดโนเสาร์ หลังจากปาร์คเจ๊งไป ไซต์บีก็โดนพายุถล่ม แล้วก็ถูกทิ้งร้าง ลูกไดโนเสาร์ที่อยู่ที่นั่นก็เติบโตขึ้นตามมีตามเกิด แล้วปรากฏว่าจากเดิมที่มีแต่ตัวเมีย ไดโนเสาร์ส่วนหนึ่งได้เปลี่ยนเพศเป็นตัวผู้ เนื่องจากมีดีเอ็นเอของกบอยู่ในตัว ก็เลยสามารถเปลี่ยนเพศได้เพื่อประโยชน์ในการขยายเผ่าพันธุ์ ดังนั้น ไดโนเสาร์ที่ไซต์บีจึงมีการสืบพันธุ์ตามธรรมชาติ ออกลูกออกหลานสำราญบานใจบนเกาะที่เปรียบเสมือนโลกดึกดำบรรพ์อันอุดมสมบูรณ์
ปีเตอร์ ลัดโลว์ จ้างทีมล่าสัตว์ไปจับไดโนเสาร์ที่ไซต์บีเพื่อเคลื่อนย้ายมาแซนดิเอโก ทำให้แฮมมอนด์ปวดใจมาก เพราะแกอยากจะให้ไซต์บีเป็นเขตอนุรักษ์ไดโนเสาร์ตามธรรมชาติไปเลย ไม่ควรจะเอาไดโนเสาร์มาอยู่ในปาร์คให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอยอีก แกจึงขอให้ ดร.มัลคอล์ม เดินทางไปไซต์บีเพื่อเก็บข้อมูลวิจัยสำหรับการทำเขตอนุรักษ์ แกรู้ว่า ดร.มัลคอล์ม จะต้องปฏิเสธแน่ เพราะคงยังสยองกับจูราสสิกปาร์คไม่หาย แกก็เลยไปชวน ดร.แซราห์ ฮาร์ดิง นักบรรพชีวินวิทยาผู้เป็นแฟนของ ดร.มัลคอล์ม ให้มาร่วมทีมวิจัย และเดินทางล่วงหน้าไปก่อนแล้ว ดร.มัลคอล์มจึงรีบเดินทางไปร่วมทีมที่ไซต์บีทันที เพราะเป็นห่วงแฟน แต่พอไปถึงก็ต้องตกใจแทบสิ้นสติ เมื่อพบว่าลูกสาววัย 12 ของตนแอบตามมาด้วย แล้วหลังจากนั้นมหกรรมวิ่งป่าราบก็เกิดขึ้นอีกครั้ง แถมยังต้องมาวิ่งกันต่อที่แซนดิเอโกอีก เพราะทีเร็กซ์ตัวพ่อที่ทีมล่าสัตว์จับใส่เรือมา ออกอาละวาดตามหาลูกน้อย ดร.ฮาร์ดิงต้องเอาอิลูกมาล่ออิพ่อลงเรือ ยิงยาสลบอิพ่อ แล้วจัดกองทัพคุ้มกันนำไปส่งที่เกาะอิสลาซอร์นาตามเดิม
4 ปีต่อมา ดร.อลัน แกรนท์ ผู้รอดชีวิตอีกคนหนึ่งจากหนังภาคแรก ก็กลับมาเป็นตัวละครเอกใน Jurassic Park III (ปี 2001) หรือชื่อไทย “ไดโนเสาร์พันธุ์ดุ” ตอนนั้นแกกำลังหาทุนทำวิจัยเกี่ยวกับแร็พเตอร์อยู่ แล้วพอดีมีผัวเมียคู่หนึ่งมาเสนอทุนให้ แลกกับการให้แกเป็นไกด์ พาไปนั่งเครื่องบินเล็กวนดูไดโนเสาร์ที่ไซต์บี ดร.แกรนท์แกก็หวาดๆ อยู่พอสมควร แต่คิดว่าแค่วนดูไม่น่าจะเป็นอะไร จึงตกลงรับข้อเสนอ แต่ปรากฏว่าเครื่องบินดันลงจอดที่ไซต์บี แล้วแกก็ได้รู้ความจริงว่า ผัวเมียคู่นี้เลิกกันไปแล้ว แต่ต้องกลับมารวมกันเฉพาะกิจ เพราะลูกชายวัย 12 ของพวกเขามาเล่นพาราเซลลิ่งกับแฟนใหม่ของแม่ แล้วหายไปในเกาะนี้ (Parasailing ก็คือ “เรือลากร่ม” ผู้เล่นจะใส่อุปกรณ์ติดกับร่มชูชีพแล้วให้เรือลากไป) สรุปว่า พ่อแม่เด็กหลอก ดร.แกรนท์ให้มาช่วยตามหาลูก มหกรรมวิ่งป่าราบจึงเกิดขึ้นอีกครั้งหนึ่ง โดยมีไดโนเสาร์ตัวร้ายอีกสองสายพันธุ์มาเสริมทัพดาราเจ้าประจำอย่างทีเร็กซ์กับแร็พเตอร์ ได้แก่ เทอราโนดอน ไดโนเสาร์มีปีก กับสไปโนซอรัส ไดโนเสาร์กินเนื้อที่ใหญ่ที่สุด ปากแหลมเหมือนจระเข้ มีกระโดงตลอดสันหลัง อยู่บนบกก็ได้ ว่ายน้ำก็ดี
เวลาผ่านไป มีเศรษฐีใหญ่เชื้อสายอินเดีย นามว่า ไซมอน มาสรานี มาซื้อกิจการอินเจ็น แล้วสานต่อความฝันของจอห์น แฮมมอนด์ เปิดสวนสนุกไดโนเสาร์บนเกาะอิสลานูบลาร์ ตั้งชื่อว่า “จูราสสิกเวิลด์” ตามท้องเรื่อง Jurassic World (ปี 2015) นั้น จูราสสิกเวิลด์เปิดทำการมาได้ 10 ปีแล้ว คนเริ่มคุ้นชินกับไดโนเสาร์หน้าเดิมๆ จนไม่รู้สึกตื่นเต้น มาสรานีจึงสั่งให้สร้างไดโนเสาร์สายพันธุ์ใหม่ด้วยเทคโนโลยีพันธุวิศวกรรม โดยผู้ที่รับหน้าที่ดังกล่าวก็คือ ดร.เฮนรี วู (แสดงโดย บี. ดี. หว่อง) นักพันธุศาสตร์แห่งจูราสสิกปาร์คนั่นเอง ดร.วูก็สนุกใหญ่ เอาดีเอ็นเอไดโนเสาร์กินเนื้อสายพันธุ์ต่างๆ มาผสมกับดีเอ็นเอสัตว์อื่นๆ เกิดเป็นไดโนเสาร์สีขาวสุดโหด ตั้งชื่อว่า “อินโดไมนัสเร็กซ์” แล้วก็เลี้ยงนางแบบขังเดี่ยวอยู่ในกรงที่มีระบบรักษาความปลอดภัยสูงสุด
จูราสสิกเวิลด์มีผู้จัดการสาวมาดมั่น นามว่า แคลร์ เดียริง (แสดงโดย ไบรซ์ ดัลลัส ฮาวเวิร์ด) เธอมีหลานชาย 2 คน อายุ 16 กับ 11 ขวบ มาเที่ยวจูราสสิกเวิลด์ในวันที่มีอะไรแปลกๆ ที่กรงอินโดไมนัสเร็กซ์พอดี มาสรานีสังเกตเห็น ก็เลยให้แคลร์ไปตามคนมาประเมินว่ากรงแข็งแรงพอหรือเปล่า คนผู้นั้นก็คือ โอเวน เกรดี้ (แสดงโดย คริส แพรตต์) ครูฝึกแร็พเตอร์ ผู้เลี้ยงดูแร็พเตอร์สาว 4 ตัว นามว่า บลู เดลต้า เอคโค่ ชาร์ลี มาแต่อ้อนแต่ออก และสามารถฝึกนางทั้งสี่ให้ปฏิบัติตามคำสั่งได้ (ในระดับหนึ่ง) ผลแห่งการประเมินกรงทำให้ทุกคนได้รู้ว่า อินโดไมนัสเร็กซ์ฉลาดปราดเปรื่องถึงขนาดสร้างร่องรอยหลอกคนว่านางปีนกรงหนีไปแล้ว ทั้งที่จริงๆ แล้วนางอยู่ในกรงนั่นแหละ แต่นางพรางตัวได้เพราะมีดีเอ็นเอหมึกกระดองอยู่ในตัว พอคนเปิดกรงเข้าไปเพราะคิดว่านางไม่อยู่แล้ว นางก็ออกมาไล่ฆ่าทั้งคนทั้งไดโนเสาร์อื่นๆ ในปาร์ค แถมยังไปไล่พวกไดโนเสาร์มีปีก คือเทอราโนดอนกับไดโมร์โฟดอน กระเจิดกระเจิงออกจากกรงมาบินไล่งับผู้คนด้วย มหกรรมวิ่งป่าราบจึงเกิดขึ้นเป็นคำรบสี่
ในช่วงเวลาวิกฤติ หัวหน้าหน่วยรักษาความปลอดภัยของอินเจ็น ผู้เล็งโครงการฝึกแร็พเตอร์อยู่ ว่าจะทำเงินได้อย่างมากหากนำไปใช้ในปฏิบัติการทางทหาร ก็มาบีบให้โอเวนใช้แร็พเตอร์สี่สาวแกะรอยไล่ล่าอินโดไมนัสเร็กซ์ โอเวนจำใจยอม แต่แผนนี้ก็ล้มไม่เป็นท่า เพราะแร็พเตอร์ดันไปเข้าพวกกับอินโดไมนัส สุดท้ายโอเวนดึงสี่สาวกลับมาอยู่ในความควบคุมได้สำเร็จ แต่เดลต้า เอคโค่ ชาร์ลี ก็ถูกอินโดไมนัสฆ่าตายสิ้น แคลร์ตัดสินใจเปิดกรงทีเร็กซ์ แล้ววิ่งนำทีเร็กซ์ออกมาสู้กับอินโดไมนัส บลูเข้าช่วยทีเร็กซ์อีกแรงหนึ่ง แต่ก็สู้ไม่ได้ ในวินาทีที่อินโดไมนัสจะขย้ำทีเร็กซ์ โมซาซอรัส ไดโนเสาร์น้ำ ก็โผล่ขึ้นมางาบอินโดไมนัสกิน จากนั้นทีเร็กซ์ก็ไปคำรามประกาศศักดาบนดาดฟ้าอาคารจัดแสดงของปาร์ค ส่วนบลู โอเวนพยายามจะเรียกให้มาหา แต่นางก็เพียงจ้องมองเขาเหมือนจะจดจำไว้ แล้ววิ่งหายไปในความมืด
ที่มาภาพ: bloody-disgusting.com
หนัง Jurassic World: Fallen Kingdom ดำเนินเรื่องตามเวลาจริงเช่นเดียวกับภาคที่ผ่านๆ มา คือ 3 ปีหลังจาก Jurassic World หรือ 25 ปีนับจาก Jurassic Park คราวนี้มีเหตุคอขาดบาดตายเกิดขึ้นคือ เกาะอิสลานูบลาร์อันเป็นที่ตั้งของจูราสสิกเวิลด์ซึ่งเจ๊งไปแล้วนั้น เป็นเกาะที่มีภูเขาไฟ และภูเขาไฟกำลังจะระเบิด #ทำไมมาเลือกเกาะนี้ทำสวนสนุกคะเนี่ย ทีนี้บนเกาะก็ยังมีไดโนเสาร์อยู่เป็นจำนวนมาก คนก็เลยมีความเห็นแตกเป็น 2 ฝ่าย ฝ่ายหนึ่งนำโดย ดร.เอียน มัลคอล์ม เจ้าเก่า (แสดงโดย เจฟฟ์ โกลด์บลุม) บอกว่าปล่อยให้มันตายไปเถอะ ธรรมชาติเลือกแล้วว่ามันจะต้องสูญพันธุ์อีกครั้ง ถ้าเราไปเล่นบทพระเจ้าอีกรอบ ฝืนธรรมชาติเพื่อช่วยมันเอาไว้ ไอ้ที่จะสูญพันธุ์แทนก็คือมนุษย์เราเองนี่แหละ อีกฝ่ายหนึ่งนำโดยแคลร์ มีความเห็นตรงข้าม คือเห็นว่าจะต้องปกป้องชีวิตไดโนเสาร์ให้ถึงที่สุด เธอจึงวิ่งหาสปอนเซอร์ที่จะช่วยย้ายไดโนเสาร์ออกจากเกาะก่อนที่ภูเขาไฟจะระเบิด ปรากฏว่าก็มีสปอนเซอร์เสนอมาจริงๆ แต่มีข้อแม้ว่า โอเวนจะต้องไปด้วย #มีวาระซ่อนเร้นอีกจนได้ โอเวนจึงจำเป็นต้องไปเพราะเป็นห่วงแคลร์ และในใจส่วนลึกก็อยากช่วยบลูออกมาด้วยแหละ แม้จะเห็นด้วยกับดร.มัลคอล์มก็ตาม
Jurassic World มีอินโดไมนัสเร็กซ์ (อ่านได้ในเบี้ยน้อยหอยน้อย 038) Jurassic World: Fallen Kingdom ก็มีไดโนเสาร์พันธุ์ใหม่เช่นกัน และดิฉันออกจะชอบนางมากกว่าอินโดไมนัสเร็กซ์ แม้ว่าบางฉากจะแอบคิดอยู่ว่านี่มันไดโนเสาร์หรือผี บาบาดุ๊กเชียวแก แต่หลายๆ ฉากดิฉันก็รู้สึกว่านางเป็นคน และเอาใจช่วยนางให้ฆ่าคนชั่วๆ ให้หมด สนุกดี
ตั้งแต่ดูหนังแฟรนไชส์นี้มายาวนานเข้าเบญจเพส (หมายถึงหนัง ไม่ใช่ดิฉัน) นี่เป็นครั้งแรกเลยนะที่ดิฉันมองไดโนเสาร์ในเรื่องเหมือนเป็นคน หลังจาก 4 ภาคที่ผ่านมามองมันเป็นสัตว์มาตลอด น่าจะเป็นเพราะว่า ประเด็นทางมนุษยธรรม ซึ่งพูดไว้กว้างๆ ในภาค 1 ขยี้นิดๆ ในภาค 2 แทบจะหายไปหมดในภาค 3 และกลับมาชงไว้อย่างเฉพาะเจาะจงในภาค 4 ได้มาตบในภาคนี้อย่างตรงและแรง จนดิฉันรู้สึกว่าสิ่งที่มนุษย์ทำกับไดโนเสาร์นั้น เกือบจะเทียบได้กับการค้าทาสหรือค้ามนุษย์ แล้วพอรู้สึกว่าไดโนเสาร์เป็นคน ก็ทำให้คิดอะไรๆ ต่อเนื่องไปอีกยาวเหยียด ยาวไปถึงภาคหน้าแล้ว ว่าอาณาจักรที่ล่มสลายคงจะไม่ใช่แค่อาณาจักรของไดโนเสาร์ละกระมัง
สรุป: จ่าย 120 ได้กลับมา 140
โดย ปวิวัณณ์ คำเจริญ
15 กรกฎาคม 2561
(ขอบคุณภาพปกจาก w3livenews.com)