ดูหนังอย่างคนเบี้ยน้อยหอยน้อย 121; ดู “Kedi เมืองแมว” หนังสารคดีตุรกีที่ว่ากันว่าทำให้ทาสแมวฟินกระจาย
จริงๆ หนังชื่อ “เคดิ” เฉยๆ เป็นภาษาเตอร์กิช แปลว่า แมว ส่วนชื่อไทยที่มี “เมืองแมว” ต่อท้าย ก็เพื่อสื่อถึงฉากหลังของเรื่อง คืออิสตันบูล เมืองที่ใหญ่ที่สุดของตุรกี ซึ่งมีประชากรแมวอาศัยอยู่ร่วมกับคนเป็นเวลาหลายพันปีล่วงมาแล้ว
ก่อนมาดูหนังเรื่องนี้ ดิฉันไม่เคยรู้เลยว่าสิ่งหนึ่งที่นิยามความเป็นอิสตันบูลก็คือแมว ไม่ใช่แมวมีเจ้าของด้วยนะ แต่เป็นแมวจรหลายพันตัว ซึ่งมีเมืองทั้งเมืองเป็นบ้าน มีบ้านคนเป็นสถานที่ท่องเที่ยว และมีคนเป็นทาสีทาสาคอยดูแลรับใช้ให้อาหาร แมวเหล่านี้ไปได้ทุกที่ที่มันอยากไป เข้าบ้านคนได้ทุกบ้านที่มันอยากเข้า (เพราะมันรู้ว่าบ้านไหนต้อนรับมัน) มีคนคอยให้อาหารและที่พักพิงมิได้ขาด เจ็บป่วยก็มีคนดูแลรักษา ออกลูกออกหลานมาก็มีคนช่วยเลี้ยง คนที่อิสตันบูลอยู่ร่วมกับแมวอย่างสมาชิกร่วม “บ้าน” เดียวกัน สำหรับแมว คนจะเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตพวกมันหรือไม่ คงไม่มีใครล่วงรู้ แต่ที่แน่ๆ แมวเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตคนที่นั่น ไม่ว่าเขาจะรู้สึกอย่างไรกับมันตาม
เจดา โทรุน ผู้กำกับหนังสารคดีเรื่องนี้ เป็นชาวอิสตันบูลโดยกำเนิด และมีแมวเป็นส่วนสำคัญในชีวิตตั้งแต่ปฐมวัย เธอจึงอยากบอกเล่าเรื่องราวความสัมพันธ์อันพิเศษระหว่างเมือง-คน-แมว ในดินแดนบ้านเกิดของเธอให้ชาวโลกได้รับรู้ และก็ปรากฏว่าหนังเรื่องนี้ได้เข้าฉายเกือบทุกทวีปจริงๆ โดยเฉพาะในอเมริกา ยืนโรงฉายจนถึงบัดนี้เป็นเวลา 4 เดือนแล้ว สัปดาห์แรกฉายแค่โรงเดียว เดือนถัดมาขยายเป็น 130 โรงทั่วประเทศ #ปรบมือรัว
ในเมื่อแมวเป็น “หัวใจ” ของเมืองนี้ โทรุนจึงเริ่มต้นถ่ายทำด้วยการตามติดชีวิตแมวจร 19 ตัว แล้วมาคัดเลือกเหลือ 7 ตัว แต่ละตัวคาแรกเตอร์จัดๆ ทั้งนั้น เช่น “ซาริ” คุณแม่ลูกสี่สุดอินดี้ “ซิโคพาท” เจ๊ใหญ่ขาโหดประจำซอย และ “กัมซิส” พระเอกนักบู๊เจ้าเสน่ห์ โดยมีการสัมภาษณ์คนรอบข้างแมวแต่ละตัว ให้แต่ละคนมาเล่าเรื่องแมวและเล่าเรื่องของตัวเองกับแมว แล้วนำส่วนของคนกับส่วนของแมวมาตัดต่อเรียงร้อยเข้าด้วยกันอย่างมีรสชาติ สลับกับภาพมุมสูงของเมืองอิสตันบูล ซึ่งงดงามด้วยสถาปัตยกรรมและภูมิทัศน์ อบอวลด้วยบรรยากาศอันอบอุ่น และมีชีวิตชีวาด้วยความผูกพันระหว่างคนกับแมว
ที่มาภาพ: kedifilm-au.com
งานภาพของหนังเรื่องนี้ควรแก่การแซ่ซ้องสรรเสริญไปจนถึงโลกหน้า เพราะนอกจากภาพมุมสูงแบบ bird’s-eye view หรือมุมมองแบบตานก ซึ่งทำให้เมืองอิสตันบูลดูสวยจับจิตจนอยากจะโดดขึ้นเครื่องบินไปเยือนซะเดี๋ยวนั้นแล้ว ยังมีภาพในระดับสายตาของแมว เพื่อแสดงการมองโลกรอบตัวผ่านมุมมองของแมวด้วย การที่จะถ่ายได้แบบนี้ เขาต้องทำอุปกรณ์พิเศษ ให้กล้องอยู่ในระดับเดียวกับแมวและเคลื่อนที่ตามแมวได้ หลายๆ ช็อตถ่ายใกล้จนคนดูรู้สึกเหมือนกำลังจะเข้าไปสิงในตัวแมว ถ้าเป็นทาสแมวนี่คงจะน้ำตาไหลพรากเลยทีเดียว ขนาดดิฉันไม่ใช่ทาสยังรู้สึกตื่นตาตื่นใจมาก คิดว่าต่อไปคำว่า cat’s-eye view น่าจะเป็นศัพท์เทคนิคทางการถ่ายภาพที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย 555 ทั้งนี้ ผู้ที่มีบทบาทสำคัญในงานภาพของหนัง ก็ได้แก่ ชาร์ลี วัปเปอร์มานน์ สามีของเจดา โทรุน ผู้ทำหน้าที่ตากล้องและโปรดิวเซอร์ #ควบหลายตำแหน่ง
ในฐานะคนที่ไม่เคยเข้าใจแมว หลังจากดูหนังเรื่องนี้แล้ว ดิฉันก็ไม่ได้เข้าใจแมวมากขึ้นหรอก แต่ดิฉันเข้าใจคน แมวจรทุกตัวมันก็เป็นของมันอย่างนั้น มีชีวิตอิสระ ไม่ผูกมัดกับคน มีเพียงความผูกพันเป็นสายใยที่เบาบางมาก แต่หลายๆ คนก็ยังทุ่มเทความรักความเอาใจใส่ให้มัน และรู้สึกว่ามันคือส่วนสำคัญที่มาเติมเต็มความขาดหายของชีวิต มองในแง่หนึ่ง คนก็ยึดแมวเป็นเครื่องเยียวยาความเจ็บปวดของตนเอง จึงรู้สึกว่าถ้าไม่มีแมวเหล่านี้เขาก็คงไม่สามารถผ่านช่วงเวลาอันยากลำบากของชีวิตมาได้ แต่ถ้ามองอีกแง่ ดิฉันก็คิดถึงคำ 2 คำ คือความเมตตา และความกตัญญู
“ความเมตตา” คือความรัก ความปรารถนาที่จะให้ผู้อื่นเป็นสุข ส่วน “ความกตัญญู” คือความตระหนักรู้ในความดีของผู้อื่น รู้ว่าใครทำคุณอะไรแก่เราบ้าง ดิฉันว่าคนในอิสตันบูลมี 2 สิ่งนี้ คือเขาเมตตาแมว และกตัญญูต่อแมว ต่อให้แมวไม่เคยรู้สึกว่าจะต้องทำอะไรให้เขา แต่เขาก็รู้คุณค่าของแมวที่มีต่อชีวิตเขาตลอดมา เขาจึงเผื่อแผ่ความเมตตาให้แก่แมวไม่มีที่สิ้นสุด และยิ่งเมตตาก็ยิ่งกตัญญูมากขึ้น เป็นมวลแห่งความรักและความรู้คุณที่เพิ่มพูนขึ้นเรื่อยๆ ทำให้คนกับแมวอยู่ร่วมกันได้อย่างเบิกบาน พึ่งพาซึ่งกันและกัน แต่ก็เท่าเทียม
ถ้าคนเรามีความเมตตาและความกตัญญูต่อทุกสิ่งทุกอย่าง ที่สำคัญคือต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ดิฉันจินตนาการไม่ออกเลยว่าโลกเราจะงดงามเพียงไหน
จินตนาการไม่ออกเลย เพราะมันไม่มีทางเป็นจริง #จบดาร์กทามมายยย
สรุป: จ่าย 140 ได้กลับมา 150
โดย ปวิวัณณ์ คำเจริญ
16 มิถุนายน 2560
(ขอบคุณภาพปกจาก imdb.com)