โดย Average Joe

29 มกราคม 2017

ภาพยนตร์เพลงของฮอลลีวูด โดยเฉพาะช่วงยุค 50’s และ 60’s มักกล่าวถึงการไขว่คว้าหาโอกาสและเป้าหมายชีวิตที่ตัวละครใฝ่ฝัน ไม่ว่าจะเป็น An American in Paris (1951) Singin’ in the Rain (1952) West Side Story (1961) My Fair Lady (1964) หรือ Funny Girl (1968) และฉากร้องเพลงในเรื่องก็มีบทบาทแสดงให้เห็นความปรารถนาส่วนนี้ของตัวละคร มากกว่าเป็นเพียงฉากโชว์การร้อง-เต้นที่หรูหราอลังการเท่านั้น

La La Land เป็นภาพยนตร์เพลงร่วมสมัยที่แสดงการคารวะ (homage) หนังเพลงรุ่นคลาสสิกที่กล่าวมาข้างต้น ทั้งด้านงานภาพ การออกแบบฉาก เครื่องแต่งกาย สไตล์เพลง (แจ๊ซ) รวมถึงแก่นเรื่องหลักเกี่ยวกับโอกาสและความฝัน มีอา (เอ็มมา สโตน) ใฝ่ฝันจะได้เป็นนักแสดงชั้นแนวหน้าในฮอลลีวูด แม้จะผ่านการออดิชันที่แย่ๆ มานับครั้งไม่ถ้วน เธอได้พบและรักกันกับเซบาสเตียน (ไรอัน กอสลิ่ง) นักเปียโนฝีมือดีที่อยากเปิดผับแจ๊ซเป็นของตัวเอง ทั้งสองต่างให้กำลังใจและสนับสนุนอีกฝ่ายอย่างเต็มที่ แต่ทว่าเส้นทางสู่ความฝันย่อมมีราคาค่างวดที่ต้องจ่ายไป ความโรแมนติกฟุ้งฝันในตอนแรกจึงถูกความจริงกระชากลงมา และนั่นก็เป็นจุดที่ทำให้เกิดรอยร้าวระหว่างหนุ่มสาวช่างฝันคู่นี้

สิ่งที่ทำให้ La La Land น่าสนใจ นอกจากองค์ประกอบคลาสสิกทั้งหลายที่กล่าวมา ได้แก่ การให้ความสมดุลระหว่างความฝันกับความจริง โดยไม่ให้ตัวละครติดอยู่กับความเพ้อฝันมากเกินไป ในขณะเดียวกันก็ไม่โหมความโหดร้ายของชีวิตใส่ลงไปมากจนโทนหนังหม่นเศร้า เชื่อว่าหลายคนเมื่อกำลังไฟแรงหรือเพิ่งเรียนจบใหม่ๆ ย่อมเคยมีอารมณ์ศิลปินหรือมีอุดมการณ์แรงกล้า อยากทำทุกอย่างดังที่ใจหวังไว้ แต่แล้วก็ได้รู้ว่าแผนทั้งหลายที่เคยวางไว้เต็มไปด้วยอุปสรรคนานัปการ เส้นทางแห่งความฝันจึงเลือนรางลงไปทุกที หลายคนจึงต้องยอมจำนนต่อวิถีแห่งความจริง โดยอาจทนทำงานที่ตัวเองไม่ได้รัก และสุดท้ายก็ลืมความฝันแต่แรกเริ่มไปเสีย ส่วนอีกกลุ่มอาจจะไม่ยอมไหลตามกระแสทุนนิยม และดื้อดึงยื้อความฝันนั้นไว้ โดยหารู้ไม่ว่า การตามความฝันโดยเท้าไม่ติดดินจะนำมาซึ่งความลำบากในชีวิตมากมายนัก

ตัวอย่างสองแบบที่กล่าวมานั้นล้วนสุดโต่งไปคนละด้าน คนทั้งสองกลุ่มนั้นอาจจะลืมไปว่า ยังมีตัวเลือกอีกทางให้เลือกเดิน นั่นคือหาจุดลงตัวระหว่างความฝันและความเป็นจริง (ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย) ถึงเราจะ “ติสต์แตก” ขนาดไหนก็ตาม ท้ายที่สุดแล้วเราต้องรับมือกับชีวิตจริงให้ได้ด้วยการพบกันครึ่งทาง การตามหาฝันของเราควรดำเนินไปพร้อมการตระหนักรู้อยู่เสมอว่า เราต้องทำงานเพื่อหาเงินมาเลี้ยงตัว ไม่ว่างานนั้นจะเป็นอะไรก็ตาม การติดอยู่กับจินตนาการหรือความเพ้อฝันมากเกินไปจนปฏิเสธความจริง ก็เป็นเช่นกับดักที่รั้งเราไว้มิให้เราเดินไปข้างหน้าได้ เช่นที่คีธพูดกับเซบาสเตียนว่า ที่เอ็งยังไปไม่ถึงไหนเสียที เพราะเอ็งนั้นยังหลงติดอยู่กับอดีตนั่นเอง ฉะนั้น เอ็งจงมา join the Dark Force กับข้าเสียดีๆ ว่ะฮ่ะฮ่า (เดี๋ยวๆ ท่ดๆๆ ผิดเรื่องละ) ที่สำคัญคือ หากเรามีใครสักคนที่คอยเป็นแรงใจระหว่างเส้นทางสู่ฝัน ยามเมื่อเราเดินทางไปถึงเป้าหมายที่ต้องการ ความสำเร็จนั้นก็จะไม่ได้มีความหมายต่อเราเพียงคนเดียวเท่านั้น แต่ยังรวมถึงคนที่มายิ้มให้กับความสำเร็จของเราอีกด้วย

ความสำเร็จอีกประการหนึ่งของ La La Land ที่ปฏิเสธไม่ได้ก็คือ เคมีอันแสนลงตัวระหว่างสองนักแสดงหนุ่มสาว ไรอัน กอสลิ่ง และเอ็มมา สโตน (ที่ดูดีมากในชุดเสื้อผ้าสไตล์วินเทจ) สองนักแสดงนำคู่นี้ เคยมีผลงานร่วมกันก่อนหน้านี้เรื่อง Crazy, Stupid, Love (2011) และ Gangster Squad (2013) นอกจากเรื่องเคมีอันสุดวิเศษระหว่างทั้งคู่แล้ว แต่ละคนก็ยังมีเสน่ห์เฉพาะตัวที่ดึงดูดคนดูได้เองโดยไม่ต้องพึ่งอีกฝ่ายเลยด้วย พ่อหนุ่มไรอันนั้นเป็นที่เลื่องลือกันอยู่แล้วถึงฝีมือการแสดงที่เก่งฉกาจ แสดงได้ลื่นไหลทั้งแนวดรามาและตลก ซึ่งบทบาทในเรื่องนี้ก็ส่งเสริมให้เห็นทักษะทั้งสองด้านของเขาได้ชัดเจน บวกกับการร้องเพลง/เล่นเปียโน และเต้นรำแบบพลิ้วๆ ในจอแบบนี้ ไรอันจึงกลายเป็นนักแสดง triple threat (เก่งทั้งแสดง-ร้อง-เต้น) ของวงการไปอีกคน ส่วนน้องเอ็มมาที่เรารู้จักครั้งแรกจากเรื่อง Easy A (2010) ก็ทำให้เราเห็นว่า มีอานั้นแท้จริงก็ฝีมือไม่เลวเลย (จากฉากออดิชันที่มีโทรศัพท์) เธอเพียงแต่รอโอกาสที่เหมาะกับตัวเองอยู่เท่านั้น

ที่มาภาพ: http://www.impawards.com/

ดนตรีและเพลงประกอบในเรื่องจากการประพันธ์ของจัสติน เฮอร์วิตซ์ ที่เป็นเพื่อนเรียนมหาวิทยาลัยของผู้กำกับ ก็ไพเราะน่าฟังและมีบทบาทในการขับเคลื่อนเรื่องราวอย่างมาก เช่นแทร็กที่ชื่อ Mia & Sebastian’s Theme เสียงเปียโนเบาๆ นุ่มๆ ที่ออกมาตั้งแต่ฉากแรกๆ เป็นเพลงที่ดึงดูดมีอาเข้าหาเซบาสเตียน และขับเน้นการเปลี่ยนแปลงในความสัมพันธ์ของทั้งคู่ ทุกครั้งที่มีเพลงนี้บรรเลงซ้ำ เพลงโชว์ร้อง-เต้นสไตล์พ่อแง่แม่งอนอย่าง A Lovely Night หรือเพลง City of Stars ที่ทำให้เราติดใจและติดหูตั้งแต่ตอนดูเทรลเลอร์ แต่ที่โดนใจมากที่สุดคงเป็นเพลง Audition (The Fools Who Dream) ที่สรุปใจความสำคัญของเรื่องเอาไว้ได้ครบถ้วน

Here’s to the ones who dream
Foolish as they may seem
Here’s to the hearts that ache
Here’s to the mess we make
คือบทเพลงแด่ผู้กล้าตามหาฝัน
อาจน่าขันดูเขลาไปไร้เดียงสา
แด่ดวงใจที่รวดร้าวสุดวิญญาณ์
แด่ชีวาที่สับสนหนทางเลือน

สุดท้ายนี้คงต้องขอชมผู้กำกับ-เขียนบท เดเมียน ชาเซล ที่สามารถทำพล็อตที่ดูซ้ำซากจำเจให้น่าติดตามได้ตลอดทั้งเรื่อง (อาจจะมีอืดๆ ช่วงกลางเรื่องบ้าง) และการจบด้วยซีเควนซ์ที่ไม่มีบทพูดยาวเจ็ดนาทีครึ่งนั้น (ดูแล้วพลันนึกไปถึงฉากตีกลองส่งท้ายเรื่อง Whiplash) ก็ทรงพลังและปวดร้าวเหลือเกิน

9/10 ครับ ^_^

ป.ล. La La Land ได้เข้าชิงรางวัลออสการ์ 14 สาขา รวมถึงภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ผู้กำกับยอดเยี่ยม นักแสดงนำชาย-หญิงยอดเยี่ยม ถ่ายภาพยอดเยี่ยม และดนตรี-เพลงประกอบยอดเยี่ยม เป็นต้น

ป.ล. 2 เห็นทอม เอเวอเร็ต สก็อต (Tom Everett Scott) แล้ว ทำให้นึกถึงตอนที่เขาแสดงเป็นมือกลองที่หลงใหลดนตรีแจ๊ซในเรื่อง That Thing You Do (1996) เมื่อยี่สิบปีก่อน

ป.ล. 3 ที่น่าสนใจก็คือ นางเอกเรื่อง That Thing You Do กับเรื่องนี้ นามสกุลเดียวกันเลยแฮะ (Dolan)