โดย Average Joe

6 มกราคม 2013

life_of_pi_ver3

ที่มารูป: http://www.impawards.com

Life of Pi น่าจะทำให้หลายคนนึกถึงหนังเรื่อง Big Fish (2003) เพียงเปลี่ยนจาก “เรื่องเล่าของพ่อ” มาเป็น “เรื่องเล่าของพาย” เท่านั้น หนังกล่าวถึงเรื่องราวชีวิตที่ไม่ธรรมดาของชายผู้ไม่ธรรมดาคนหนึ่ง ที่เต็มไปด้วยประสบการณ์การผจญภัยอันน่าเหลือเชื่อเกินจริง แต่เมื่อเรื่องราวนั้นได้ถูกเรียบเรียงและเล่าผ่านปากของเขาแล้ว มันก็ดูน่าตื่นเต้นและสนุกสนานน่าติดตามจนเราไม่สนใจด้วยซ้ำว่า เรื่องที่ได้ฟังนั้นมีความสมเหตุสมผลเพียงใด ตราบใดที่เรายังจับสาระสำคัญและ “ความจริง” ของเรื่องเล่านั้นๆ ได้

ตัวละครเอกของหนังเป็นชาวอินเดียที่นับถือทั้งฮินดู คริสต์ อิสลาม ชื่อของเขาได้รับอิทธิพลมาจากสระว่ายน้ำในฝรั่งเศส เดินทางข้ามมหาสมุทรแปซิฟิกด้วยเรือเดินสมุทรของญี่ปุ่น (ที่มีชื่อเป็นภาษาฮีบรู) หลังจากเรืออัปปางก็ใช้ชีวิตในมหาสมุทรแปซิฟิกกับเสือเบงกอลตัวหนึ่งเป็นระยะเวลานานสองร้อยกว่าวัน จนท้ายที่สุดกระแสน้ำพัดเขามาขึ้นฝั่งที่เม็กซิโก หนังสร้างจากนวนิยายของนักเขียนชาวแคนาดา และกำกับโดยผู้กำกับชาวไต้หวัน หากจะกล่าวว่า Life of Pi สามารถเป็นตัวแทนของคำว่า globalisation ในยุคนี้ได้อย่างดีอีกด้วย ก็คงจะไม่ผิดเท่าไรนัก และความเป็นสากลนี้ก็ยิ่งขับเน้นประเด็นสำคัญของหนังออกมาได้ชัดเจนทีเดียว

เห็นได้ชัดว่าหนังเรื่องนี้พูดถึง “ความเชื่อ” และ “ความศรัทธา” เป็นหลัก จากการให้ตัวเอกของเรื่องสนใจศึกษาศาสนาหลักๆ ของโลกถึงสามสี่ศาสนา และเปิดใจกว้างรับข้อคิดคำสอนของแต่ละศาสนามาใช้ได้อย่างลงตัว คำพูดของพายในวัยเด็กที่น่าสนใจมากประโยคหนึ่งก็คือ “Thank you Vishnu, for introducing me to Christ.” สำหรับพายแล้ว “พระเจ้า” ไม่ได้มีรูปใดรูปหนึ่งที่ตายตัว ทว่าเป็นนามธรรมแทนความศรัทธาที่คนคนหนึ่งพึงถือเป็นหลักยึดเหนี่ยวจิตใจในการใช้ชีวิต การผจญภัยร่อนเร่กลางมหาสมุทรแปซิฟิกเป็นระยะเวลานาน ก็อาจมองได้ว่า พายไม่ได้เป็นตัวแทนของคนแผ่นดินไหนเป็นพิเศษ แต่เป็นตัวแทนของพวกเราทุกคนในโลก ที่ต่างก็ถูก “ทดสอบ” โดย “พระเจ้า” อยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน

นอกจากเนื้อเรื่องและสารสำคัญที่น่าคิดตามของหนังแล้ว ดนตรีประกอบและงานศิลป์ด้านภาพก็อยู่ในระดับยอดเยี่ยม โดยเฉพาะภาพในหนังที่แสนจะอลังการและงดงามตระการตาเกินกว่าจะหาคำใดมาบรรยายได้ นับเป็นความมหัศจรรย์ของทัศนศิลป์บนแผ่นฟิล์มครั้งหนึ่งทีเดียว และเหมาะกับการดูกับระบบ 3D มากๆ เพราะระบบสามมิติในเรื่องนี้แทบจะดึงคนดูเข้าไปอยู่ในฉากนั้นๆ เลยก็ว่าได้

เนื่องจากไม่ได้อ่านหนังสือ เลยไม่สามารถเปรียบเทียบหนังกับหนังสือได้ แต่เท่าที่ได้ดูหนังของหลี่อันมา จะสังเกตได้ว่า หนังของเขาที่ดังๆ แต่ละเรื่องล้วนดัดแปลงมาจากบทประพันธ์เดิม และเขาก็ยังสามารถ “เล่าเรื่อง” จากบทดัดแปลงนั้นได้เยี่ยมยอดในแบบของตัวเอง ไม่แพ้บทประพันธ์ต้นฉบับเลย ไม่ว่าจะเป็น Sense and Sensibility (1995) หรือ Brokeback Mountain (2005) แน่นอนว่าต้องให้เครดิตคนเขียนบทที่ยอดเยี่ยมด้วย (บทหนังทั้งสองเรื่องที่ยกตัวอย่างมา ชนะรางวัลออสการ์ทั้งคู่) ส่วนบทพูดใน Life of Pi แม้จะเป็นหนังดรามาเต็มขั้น แต่ก็มีอารมณ์ขันน่ารักๆ บ้านๆ ที่ทำให้เราอมยิ้มได้เรื่อยๆ โดยในอารมณ์ขันนั้นก็ยังมีสัจธรรมที่จริงจังแทรกอยู่ให้ขบคิดตามได้อีกด้วย

เมื่อถึงตอนจบ เรื่องเล่าแสนมหัศจรรย์ของพายอาจจะแตกออกเป็นสองแบบ แต่ไม่ว่าเราจะเลือก “เชื่อ” เรื่องเล่าเรื่องไหนก็ตาม สิ่งที่ควรตระหนักไว้อยู่เสมอก็คือ เรื่องเล่าทั้งสองต่างก็กล่าวถึงความจริงอย่างเดียวกัน เช่นเดียวกับที่ทุกศาสนาต่างก็สอนให้ทุกคนเป็นคนดี อาจจะมีรายละเอียดปลีกย่อยต่างกันไปบ้าง ก็เพียงเพราะความแตกต่างทางวัฒนธรรม ชาติพันธุ์ และภาษาเท่านั้น

9/10 ครับ ^_^

ปล. พอหนังจบ ก็ว่าจะลองไปหาหนังสือมาอ่านดู ปรากฏว่าหาร้านไหนก็ไม่มีเลยทั้งเวอร์ชันอังกฤษและไทย โดยเฉพาะที่ Asia Books นอกจากจะไม่มีน้องเสือ Richard Parker แล้ว บนชั้นหนังสือยังมีแต่ Fifty Shades of Grey วางเรียงรายเต็มไปหมด ของเขาแรงจริงๆ
ปล. 2 แม้หนังจะดีขนาดไหน แต่ส่วนตัวโคตรไม่ชอบโปสเตอร์หนังเรื่องนี้เลย (สงสัยตังค์หมดไปกับค่าจ้างทีม visual effects กับค่าทำ 3D) ทำออกมากี่แบบก็น่าเพลียใจเสียเป็นส่วนใหญ่ เลยเลือกอันที่โอเคที่สุดมาแปะ