โดย ปวิวัณณ์ คำเจริญ
18 เมษายน 2017
ดูหนังอย่างคนเบี้ยน้อยหอยน้อย 108; ดู Her Love Boils Bathwater หนังอีกเรื่องหนึ่งที่มีบทบาทมากในเวที Japan Academy Prize หรือรางวัลออสการ์ของญี่ปุ่น ซึ่งจัดขึ้นเมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว
หนังเรื่องนี้ได้เข้าชิง 6 รางวัลใหญ่ เป็นรางวัลด้านการแสดง 3 รางวัล ส่วนอีกสามได้แก่ ภาพยนตร์แห่งปี ผู้กำกับแห่งปี และบทภาพยนตร์แห่งปี ซึ่งแม้หนังจะพลาด 3 รางวัลหลังไป แต่การได้เข้าชิงยกแผงแบบนี้ ก็แสดงให้เห็นว่า นากาโนะ เรียวตะ ผู้กำกับ-เขียนบท วัย 43 มีฝีมือที่ไม่ธรรมดาเลย
นากาโนะเขียนบท Her Love Boils Bathwater ขึ้นจากประสบการณ์เสี้ยวหนึ่งในชีวิตของเขาเอง เขาเติบโตขึ้นในครอบครัวคุณแม่เลี้ยงเดี่ยว เพราะคุณพ่อเสียชีวิตไปตั้งแต่เขายังเด็ก ดังนั้นเขาจึงเข้าใจเป็นอย่างดีถึงความรู้สึกของแม่ที่ต้องเลี้ยงลูกเพียงลำพัง และความรู้สึกของลูกที่พ่อแม่ไม่ได้อยู่พร้อมหน้า แล้วเขาก็นำประเด็นนี้ไปขยายและต่อยอดออกไปอีก จนได้ผลลัพธ์เป็นหนังที่นำเสนอ “คุณค่าของการมีชีวิต” และ “คุณค่าของความตาย” ได้อย่างลึกซึ้งและตราตรึงใจ
หนังเล่าเรื่องของ ซาจิโนะ ฟุตาบะ (แสดงโดย มิยาซาวะ ริเอะ) คุณแม่ผู้อาศัยอยู่กับลูกสาววัย 16 ชื่ออาซึมิ (แสดงโดย สึงิซากิ ฮานะ) เดิมครอบครัวนี้เปิดกิจการโรงอาบน้ำสาธารณะ ภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า “เซนโต” เซนโตนี้เป็นวัฒนธรรมอย่างหนึ่งของคนญี่ปุ่นตั้งแต่สมัยที่ยังไม่มีห้องน้ำในบ้าน ชาวบ้านก็เลยต้องมาใช้บริการโรงอาบน้ำรวม แยกเป็นโซนชาย-หญิง จะอาบน้ำสระผมถูขี้ไคลหรือแช่น้ำร้อนก็ตามสะดวก ระหว่างนั้นก็ได้พบปะสังสรรค์กันไปด้วย (แบบเปลือย) นับว่าเป็นกิจกรรมทางสังคมอย่างหนึ่งของญี่ปุ่นที่สืบทอดมาจนปัจจุบัน ทั้งที่ตอนนี้ทุกบ้านก็มีห้องน้ำในตัวกันแล้ว
“เซนโต” แตกต่างจาก “อนเซ็น” ซึ่งคนไทยคุ้นเคยกันดี เพราะน้ำที่เราแช่อนเซ็นเป็นน้ำพุร้อนตามธรรมชาติ ในขณะที่น้ำในเซนโตเป็นน้ำที่ต้มให้ร้อน โดยเขาจะมีบ่อให้ลูกค้าลงไปแช่ด้วยกัน แล้วข้างใต้บ่อก็จะมีท่อซึ่งเชื่อมต่อกับเตาไฟ มีคนคอยเติมฟืนให้ได้อุณหภูมิที่ต้องการ และเป็นอุณหภูมิที่คงที่ ไม่ใช่แช่ๆ ไป ร้อนขึ้นเรื่อยๆ หรือเย็นลงๆ คนต้มน้ำจึงมีความสำคัญมาก ดังนั้น เมื่ออยู่ดีๆ “คนต้มน้ำ” ที่เซนโตของครอบครัวซาจิโนะได้หายตัวไปอย่างไร้ร่องรอย ฟุตาบะผู้แม่จึงจำเป็นต้องปิดกิจการ แล้วไปทำงานเป็นลูกจ้างที่ร้านเบเกอรี่เพื่อหาเลี้ยงครอบครัวแทน
อาซึมิผู้ลูกนั้น แม้จะโตเป็นสาวแล้ว แต่ก็ยังเหมือนเด็กๆ อยู่ เพราะว่าเป็นคนขี้อาย ไม่สู้คน ก็เลยถูกเพื่อนที่โรงเรียนข่มเหงรังแกขั้นวิกฤติ ข้างฝ่ายฟุตาบะผู้สตรองก็พยายามสอนลูกให้เผชิญปัญหาอย่างเข้มแข็ง แต่ก็ไม่ได้ผลเท่าไหร่ จนกระทั่งฟุตาบะได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคร้าย จะมีชีวิตอยู่ได้อีกเพียง 2-3 เดือน เธอจึงตัดสินใจฟื้นฟูกิจการเซนโตของครอบครัวขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง ผลปรากฏว่า นอกจากจะทำให้ลูกสาวของเธอ ‘เติบโต’ ขึ้นภายในเวลาอันรวดเร็ว และสามารถใช้ชีวิตอยู่ได้เมื่อไม่มีเธอแล้ว ยังเป็นการ ‘ฟื้นฟู’ ชีวิตของคนรอบข้าง ให้ ‘เติบโต’ งอกงามไปพร้อมๆ กันด้วย
อันที่จริงพล็อตเรื่องแบบที่คุณแม่เป็นโรคร้ายใกล้ตาย จึงใช้เวลาที่เหลืออยู่เตรียมการให้ลูกสามารถใช้ชีวิตได้ด้วยตัวเองนั้น ไม่ใช่พล็อตที่แปลกใหม่สำหรับหนังญี่ปุ่น แต่นากาโนะผู้เขียนบทและกำกับก็อุตส่าห์สร้างความแปลกใหม่ให้แก่หนังเรื่องนี้ได้ ด้วยการสร้างตัวละครทุกตัวให้มีปมปัญหาอย่างเดียวกัน นั่นก็คือ เกิดมาในครอบครัวที่กะพร่องกะแพร่ง ไม่ได้มีพ่อแม่อยู่พร้อมหน้าพร้อมตา แล้วปมปัญหาดังกล่าวก็ทำให้เกิดปัญหาอื่นๆ ต่อไปอีก โดยเฉพาะอย่างยิ่งทำให้เยาวชนส่วนหนึ่งเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ไร้ความรับผิดชอบ ต่อต้านสังคม และไม่มีจุดมุ่งหมายในชีวิต ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนเป็นปัญหาสำคัญที่ประเทศญี่ปุ่นกำลังเผชิญอยู่
การสร้างตัวละครให้มีปมปัญหาอย่างเดียวกันนี้ เป็นกิมมิคที่ทำให้ทิศทางของหนังเรื่องนี้แตกต่างไปจากเรื่องอื่นที่พล็อตตั้งต้นใกล้เคียงกันอย่างสิ้นเชิง เพราะมันนำไปสู่การตัดสินใจทำภารกิจก่อนตายของฟุตาบะ ซึ่งเป็นทั้งการแก้ปมในใจของเธอเองและคนรอบข้าง โดยที่บางครั้งเธอก็ไม่ได้ตั้งใจ เพียงแค่ทำไปตามความรู้สึกและตามที่คิดมาดีแล้ว แต่ปรากฏว่าผลของมันเกินความคาดหมาย
ฟังๆ ดูเหมือนหนังเรื่องนี้จะมองโลกในแง่ดีจนเกินเหตุ แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่เลย มันเป็นเรื่องของคนที่ทำเพื่อคนอื่นมาตลอดชีวิต แต่สาเหตุที่ทำก็เพราะเป็นคนมีบาดแผล ไม่ใช่ว่าชีวิตดีงามมาตั้งแต่เกิด ดังนั้น “คุณค่าของการมีชีวิต” จึงอยู่ที่ว่า เราจะสามารถใช้บาดแผลเป็นแรงผลักดันให้เรา (รวมถึงคนรอบข้าง) ก้าวไปข้างหน้าอย่างเข้มแข็งได้อย่างไร ส่วน “คุณค่าของความตาย” ก็คือการที่ความตายของเราได้ก่อให้เกิดอะไรดีๆ ขึ้นมาบ้าง จากการที่เราได้ใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่ามาโดยตลอด
ที่มาภาพ: asianwiki.com
เมื่อตอนต้นได้เกริ่นไว้ว่า หนังเรื่องนี้ได้เข้าชิงรางวัลด้านการแสดงใน Japan Academy Prize 3 รางวัล ผลก็ปรากฏว่า ชนะทั้งสาม คือ มิยาซาวะ ริเอะ ผู้รับบทฟุตาบะ ชนะสาขานักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม และสึงิซากิ ฮานะ ผู้รับบทอาซึมิ ชนะรางวัลนักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยม กับนักแสดงหน้าใหม่แห่งปี ควบ 2 สาขาเลย แต่ที่จริงนักแสดงทุกคนก็ยอดเยี่ยมจนไม่รู้จะบรรยายยังไงถูก ดิฉันชอบโปสเตอร์ที่เลือกมานี้เพราะมีครบทุกคน การแสดงในหนังเรื่องนี้ทั้งขยี้ใจและชุบชูใจ จนแทบไม่มีฉากใดที่ดิฉันไม่หลั่งน้ำตา แม้ฉากนั้นจะขำมาก
Her Love Boils Bathwater เป็นชื่อที่แปลมาจากชื่อภาษาญี่ปุ่นว่า 湯を沸かすほどの熱い愛 (Yu o Wakasu Hodo no Atsui Ai) แปลว่า ความรักของเธอร้อนจนต้มน้ำอาบได้ คำว่า “ร้อน” นี่ก็หมายความว่าความรักของเธอมีพลังยิ่งใหญ่ จนสามารถส่งผ่านเป็นพลังให้คนอื่นได้ด้วย หนังเรื่องนี้เปรียบการทำเพื่อคนอื่นด้วยความรักว่าเหมือนการต้มน้ำให้คนอื่นอาบ อันเป็นภารกิจของโรงอาบน้ำแบบเซนโต “โรงอาบน้ำ” จึงเป็นสัญลักษณ์สำคัญของเรื่อง เป็นสถานที่ที่คนมากหน้าหลายตา ไม่ว่าจะมีความสัมพันธ์ทางสายเลือดหรือไม่ก็ตาม ได้มาอยู่ร่วมกันชั่วระยะเวลาหนึ่ง เพื่อให้น้ำร้อนๆ ได้ชำระล้างและเพิ่มพลังให้แก่ชีวิต
สรุป: จ่าย 140 ได้กลับมา 300
(ขอบคุณภาพปกจาก psycho-drama.com)