ดูหนังอย่างคนเบี้ยน้อยหอยน้อย 174; เห็นความพยายามของพี่อุ๊ หฤทัย ในการพิสูจน์ว่าภาพวาดในครอบครองเป็นผลงานของจิตรกรชื่อดัง วินเซนต์ แวนโก๊ะ ก็เลยนึกถึงหนังแอนิเมชันที่ได้ดูเมื่อต้นปี หนังเรื่องนี้มีชื่อว่า Loving Vincent หรือชื่อไทย “ภาพสุดท้ายของแวนโก๊ะ” ซึ่งได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์สาขาภาพยนตร์แอนิเมชันยอดเยี่ยมประจำปี 2018 แม้จะพ่ายแพ้ให้แก่ Coco ไป (อ่านได้ในเบี้ยน้อยหอยน้อย 157) แต่ Loving Vincent ก็เป็นหนังเรื่องหนึ่งที่ชั่วชีวิตของดิฉันคงจะลืมได้ยาก
นามของจิตรกรท่านนี้ ดิฉันไม่ค่อยอยากจะเขียนว่า “แวนโก๊ะ” เท่าไหร่ แต่ก็เข้าใจที่มาที่ไปว่าทำไมคนไทยเขียนแบบนั้น ที่จริงชื่อ Vincent van Gogh ถ้าออกเสียงตามภาษาดัตช์อันเป็นภาษาบ้านเกิดของท่าน เขียนเป็นตัวไทยว่า “ฟินเซนต์ ฟาน โค้ค” น่าจะใกล้เคียงที่สุด และ “ฟาน” กับ “โค้ค” ก็ห้ามเขียนติดกันด้วย เพราะ van ในนามสกุลของชาวดัตช์ หมายถึง “แห่ง ของ” เป็นการบอกว่าเจ้าของนามสกุลคนแรกมาจากแห่งหนตำบลใด เหมือนเวลาเราเขียนนามสกุลที่มี “ณ อยุธยา” ต่อท้าย หรือนามสกุล ณ จังหวัดอื่นๆ เช่น ณ เชียงใหม่, ณ หนองคาย, ณ สงขลา ก็ไม่ได้เขียน “ณ” ติดกับคำข้างๆ
เหตุที่คนไทยมักจะเขียนชื่อท่านว่า “วินเซนต์ แวนโก๊ะ” ก็เพราะเราถนัดเขียนชื่อชาวต่างชาติตามเสียงภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน ตัว v ในภาษาอังกฤษ เราถอดเป็น ว ชื่อท่านจึงกลายเป็น “วินเซนต์” ส่วนคำว่า van อเมริกันออกเสียงเป็นสระแอ เราเลยเขียนตามว่า “แวน” แต่ที่เพี้ยนไปเยอะสุดคือ Gogh ซึ่งถ้าคิดว่าเราถอดพยัญชนะต้น g เป็น ก ตามเสียงภาษาอังกฤษ ส่วนตัวสะกด gh เราไม่ถอดออกมา เพราะตัวสะกดนี้อเมริกันไม่ออกเสียง เราก็น่าจะเขียนว่า “แวน โก” แต่ปรากฏว่าก็กลายเป็น “แวนโก๊ะ” ไปอีก เพราะเราเขียนตามเสียงที่ได้ยิน คือคนอเมริกันเขาไม่ออกเสียงตัวสะกด gh ก็จริง แต่เขาก็พยายามลงน้ำหนักคำว่า Gogh ให้ละม้ายในภาษาดัตช์ ก็เลยฟังคล้ายๆ “โก๊ะ” พี่ไทยก็ว่า “วินเซนต์ แวนโก๊ะ” เลยค่ะ เว้นวรรคอะไรก็ไม่ต้องละ เพราะเวลาพูดก็ไม่ได้เว้นวรรคนี่
สมัยเด็กๆ ดิฉันได้อ่านชีวประวัติของท่านจากหนังสือที่พ่อแม่ซื้อมา จำได้ว่าเขาเขียนนามสกุลท่านว่า “แวนโกะห์” นับเป็นการเขียนตามเสียงอเมริกันที่แนบเนียนใช้ได้ แต่เดี๋ยวนี้เขียนเป็น “โก๊ะ” ไปหมดแล้ว ซึ่งดิฉันไม่ชอบเลย ตัวดิฉันก็โก๊ะพอแล้วยังต้องมาเจอ “แวนโก๊ะ” อีก ดังนั้นต่อจากนี้ ดิฉันจะขอเขียนชื่อท่านว่า “ฟาน โค้ค” หวังว่าท่านผู้อ่านจะไม่โก๊ะ เอ๊ย! ไม่งงนะคะ
หนัง Loving Vincent นับเป็นหนังที่สร้างปรากฏการณ์ให้แก่โลกภาพยนตร์ เพราะมันเป็นหนังแอนิเมชันเรื่องแรกของโลกที่สร้างจากภาพเขียนสีน้ำมันทั้งเรื่อง โดยใช้ภาพเขียนที่เป็นผลงานของจิตรกรคนสำคัญของโลกเป็นต้นแบบและเป็นฉากต่างๆ จิตรกรท่านนั้นก็คือ ฟินเซนต์ ฟาน โค้ค ซึ่งผู้กำกับและจิตรกรสาวชาวโปแลนด์นามว่า โดโรตา โกบิเอลา มีความรักและประทับใจในเรื่องราวชีวิตและผลงานอย่างลึกซึ้งดื่มด่ำมายาวนาน เธอจึงร่วมมือกับผู้กำกับหนุ่มชาวอังกฤษ ฮิว เวลช์แมน ตั้งใจจะทำภาพยนตร์แอนิเมชันขนาดสั้นว่าด้วยเรื่องราวของฟาน โค้ค แต่พอเริ่มลงมือทำเมื่อปี 2012 ก็ปรากฏว่าเนื้องานขยายขึ้นเรื่อยๆ หนังจึงเปิดระดมทุนผ่านเว็บไซต์ ได้ทุนสร้างมาส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งสนับสนุนโดยสถาบันภาพยนตร์โปแลนด์ กลายเป็นโปรเจ็กต์ใหญ่ระดับนานาชาติ ซึ่งใช้เวลาสร้างถึง 4 ปี
4 ปีนั้นเขาทำอะไรกันบ้าง ก็เริ่มด้วยเขียนบทหนังโดยผูกเรื่องขึ้นจากประวัติชีวิตช่วงสุดท้ายของฟาน โค้ค มีจดหมายกว่า 800 ฉบับที่ท่านเขียนถึงน้องชายเป็นข้อมูลสำคัญ นำภาพเขียนกว่า 90 ภาพของท่าน ทั้งภาพเหมือนบุคคล ภาพทิวทัศน์ และภาพสถานที่ต่างๆ มาร้อยเรียงเป็นเรื่องราว ให้บุคคลในภาพเป็นตัวละคร คัดเลือกนักแสดงที่รูปร่างหน้าตาเหมือนบุคคลในภาพ มารับบทบุคคลเหล่านั้น โดยแสดงกันหน้ากรีนสกรีน (ฉากเขียว) จากนั้นทำคอมพิวเตอร์กราฟิกใส่ภาพเขียนของฟาน โค้ค เข้าไปเป็นฉากหลัง แล้วปรินท์ออกมาเป็นภาพนิ่งทีละช็อต ส่งให้จิตรกรเขียนเป็นภาพสีน้ำมันบนผ้าใบ ตามสไตล์การเขียนภาพและการใช้สีของฟาน โค้ค จิตรกรที่มาเขียนภาพให้หนังเรื่องนี้ คือผู้ได้รับคัดเลือกจากผู้ที่มาสมัครเกือบ 5,000 คน คัดเหลือ 125 คน จาก 20 กว่าประเทศทั่วโลก ต้องเขียนภาพทั้งหมด 60,000 กว่าภาพ นำมาเรียงต่อกันแบบเฟรมต่อเฟรม ในอัตรา 12 ภาพต่อ 1 วินาที ร่วมกับภาพสถานที่และทิวทัศน์ฝีมือฟาน โค้ค สำเร็จเสร็จสิ้นเป็นภาพยนตร์แอนิเมชันความยาว 95 นาที หนังเรื่องนี้จึงเป็นเสมือนการนำภาพเขียนของฟาน โค้ค มาทำให้กลายเป็นภาพเคลื่อนไหว เพื่อบอกเล่าเรื่องราวของฟาน โค้ค ด้วยภาพเขียนของท่านเอง #กราบรัวๆ
ปัจจุบัน ฟินเซนต์ ฟาน โค้ค เป็นหนึ่งในจิตรกรที่มีชื่อเสียงที่สุดของโลก ผลงานของท่านมีอิทธิพลอย่างมากต่องานศิลปะในยุคต่อๆ มา และเป็นที่รู้จักแพร่หลายนอกวงการศิลปะด้วย เพราะมีการนำมาพิมพ์เป็นปกสมุดไดอารี ภาพต่อจิ๊กซอว์ ลายปักครอสติช การ์ดอวยพร และอื่นๆ อีกมากมายแม้แต่แผ่นรองเมาส์กับจานรองแก้ว ภาพเขียนของท่านมีมูลค่าสูงมาก เคยมีผู้ประมูลไปในราคาสูงสุด 82.5 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 2.63 พันล้านบาท เมื่อปี 1990 แต่ความสำเร็จทั้งหมดนี้ตรงข้ามกับช่วงที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ราวฟ้ากับเหว เพราะตลอดชีวิตของท่านเต็มไปด้วยความทุกข์ทรมาน ท่านเป็นจิตรกรอัจฉริยะซึ่งมีเอกลักษณ์โดดเด่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการใช้สีคู่ตรงข้ามให้ตัดกันอย่างเข้มข้น และใช้พู่กันปาดสีอย่างฉวัดเฉวียนรวดเร็วโดยทิ้งรอยพู่กันไว้บนเนื้อสี แต่สไตล์ของท่านคงจะแหวกแนวล้ำยุคเกินไปสำหรับยุโรปสมัยนั้น (เมื่อประมาณ 130 กว่าปีที่แล้ว ราว ค.ศ. 1880 – 1890) เพราะตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ท่านทุ่มเทให้แก่การเขียนภาพ เขียนไปทั้งหมด 2,000 กว่าชิ้น แต่ขายได้เพียงชิ้นเดียว คนซื้อก็ไม่ใช่ใครที่ไหน เป็นญาติของท่านเอง ซื้อเพราะสงสาร ด้วยเหตุนี้ ท่านจึงต้องใช้ชีวิตอย่างลำบากยากแค้น แถมยังเสียสติจนถึงขั้นใช้มีดตัดหูตัวเอง ต้องเข้าๆ ออกๆ โรงพยาบาลบ้าเป็นว่าเล่น และสุดท้ายก็ยิงตัวตายเมื่ออายุเพียง 37 ปี
ทั้งหมดนี้ ผู้ที่เคยอ่านชีวประวัติของฟาน โค้ค หรือเคยศึกษาผลงานของท่าน ก็คงจะรู้ดีอยู่แล้ว หนัง Loving Vincent จึงเลือกที่จะบอกเล่าในสิ่งที่คนส่วนใหญ่คงจะไม่รู้ นั่นก็คือ ความคิดจิตใจของฟาน โค้ค โดยที่เราผู้เป็นคนดูไม่ได้เป็นเพียงคนที่มานั่งดู แต่เราจะ ‘ดำดิ่ง’ ลงไปในชีวิตและจิตใจของฟาน โค้คเลย
หนังทำแบบนั้นได้อย่างไร ดิฉันก็งงเหมือนกัน จนถึงบัดนี้ก็ยังทึ่งไม่หาย แต่ก็พอจะสรุปอย่างหยาบๆ ได้ว่า ส่วนหนึ่งเกิดจากงานภาพดังที่ได้เล่าไปแล้ว อีกส่วนหนึ่งมาจากการผูกเรื่อง ที่ให้ตัวละครตัวหนึ่งทำหน้าที่เป็นตัวแทนของคนดู ในการ ‘ศึกษา’ และ ‘สืบหา’ ตัวตนที่แท้จริงของฟาน โค้ค หลังจากที่ท่านได้เสียชีวิตไปแล้ว
คำตอบที่ได้จากการดำดิ่งลงไปพร้อมตัวละครตัวนี้ เป็นสิ่งที่คนดูแต่ละคนอาจจะได้รับแตกต่างกัน แต่สำหรับดิฉัน เหมือนกับได้ก้าวเข้าไปในโลกของผู้ป่วยโรคซึมเศร้า ซึ่งเป็นการเปิดโลกทัศน์ทั้งทางปัญญาและอารมณ์ให้แก่ดิฉันอย่างมาก
สมัยที่ฟาน โค้ค ถูกมองว่าเป็นคนบ้า คนเสียสติ อาจจะไม่ต่างจากสมัยนี้ ที่คนส่วนหนึ่งก็ยังคงมองว่าผู้ป่วยโรคซึมเศร้าเป็นคนเยอะ คนลำไย คนไม่อดทน ดิฉันเองแม้จะไม่ได้มองแบบนั้น เพราะพอจะมีความรู้อยู่บ้างว่าโรคซึมเศร้าเป็นอย่างไร และมีคนรอบข้างเป็นโรคซึมเศร้าหลายคนอยู่ แต่นั่นก็เป็นเพียงความรู้อย่างคนนอก ไม่ได้มีความเข้าใจชัดเจนถึงภาวะอารมณ์ของผู้ป่วย ครั้นได้มาดูหนังที่พาคนดูเข้าไป ‘นั่งในใจ’ ของผู้ป่วยโรคซึมเศร้า ทำให้รู้ว่าเขาคิดอย่างไร รู้สึกอย่างไร ก็บังเกิดความเข้าใจในเหตุผลต้นปลายแห่งความรู้สึกทุกข์ระทมอันเป็นอาการของโรคขึ้นมา จึงทำให้รู้ว่าภาพเขียนของฟาน โค้ค และจดหมายที่ท่านเขียนถึงน้องชาย มีหน้าที่และความหมายมากกว่า ‘การสื่อสาร’ หรือ ‘การถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึก’ ตามธรรมดา ทั้งยังเห็นประจักษ์ว่า ไม่ว่าท่านจะยิงตัวเอง หรือถูกคนอื่นยิง อย่างที่หนังเปิดช่องไว้ให้คิด แต่ท่านก็มีเหตุผลอันเข้าใจได้เช่นกัน ที่จะไม่ต้องการมีชีวิตอยู่
เมื่อตอนที่ดิฉันยังเด็กๆ พ่อชอบเปิดเพลงฝรั่งฟัง มีเพลงหนึ่งที่ดิฉันจำได้แม่น คือเพลงที่ร้องขึ้นต้นว่า “Starry, starry night…” ด้วยทำนองอันไพเราะจับจิต ดิฉันเพิ่งมารู้ภายหลังเมื่อฟังภาษาฝรั่งเริ่มจะรู้เรื่องว่า เพลงนี้แต่งขึ้นโดยได้รับแรงบันดาลใจจากชีวิตและงานของฟินเซนต์ ฟาน โค้ค เนื้อเพลงในท่อนแรกเป็นการอ้างอิงถึงชื่อภาพเขียนที่โด่งดังมากที่สุดของท่าน คือภาพ The Starry Night หรือ “ราตรีประดับดาว” ผู้แต่งและร้องเพลงนี้ก็คือ ดอน แม็กลีน นักร้อง-นักแต่งเพลงชาวอเมริกัน เป็นเพลงที่ฮิตมากตั้งแต่ปี 1972 โดยเฉพาะอย่างยิ่งท่อนแรกซึ่งติดหูและโดนใจมาก ก็เลยทำให้คนมักจะเรียกเพลงนี้ว่า เพลง “สตารี่สตารี่ไนท์” ทั้งที่จริงๆ แล้วเพลงนี้มีชื่อว่า “วินเซนต์”
หนัง Loving Vincent ใช้เพลงนี้ในตอนท้ายเรื่อง ขับร้องโดย ลีแอน ลา ฮาวาส นักร้อง-นักแต่งเพลงสาวชาวอังกฤษ ทั้งเสียงร้อง วิธีการร้อง การตีความเพลง และการเรียบเรียงเสียงประสานของเพลงนี้ เป็นการปิดฉากการดำดิ่งของดิฉันอย่างสมบูรณ์ แล้วหลังจากดูหนังจบ ไม่ว่าดิฉันจะคิดถึงเพลงนี้ขึ้นมาครั้งไร ก็จะมีอาการบ่อน้ำตาตื้นขึ้นมาคราวนั้น รวมทั้งขณะที่กำลังเขียนอยู่นี้ด้วย
ชื่อเรื่อง Loving Vincent มาจากคำลงท้ายจดหมายที่ฟาน โค้ค เขียนถึงน้องชาย ท่านจะลงท้ายว่า Your Loving Vincent (จากฟินเซนต์ที่รักของเธอ) ทุกครั้ง แต่ในขณะเดียวกัน มันก็เป็นการบอกรักและกล่าวสดุดีแด่ “ฟินเซนต์ที่รัก” ของผู้ที่สำนึกในคุณค่าของศิลปะ และรักความงามบนความขมขื่นของชีวิตมนุษย์ทุกคน
สรุป: จ่าย 140 ได้กลับมา 163
หมายเหตุ: เพลง Vincent เวอร์ชันที่นำมาให้ฟังนี้ เป็นเวอร์ชันออริจินัลของดอน แม็กลีน ดิฉันเลือกมาเพราะว่ามีภาพของฟาน โค้ค ให้ดู และมีเนื้อเพลงด้วย หากท่านใดสนใจฟังเวอร์ชันที่ใช้ในหนัง สามารถค้นจากยูทูบได้ ด้วยคำว่า Vincent Lianne La Havas
โดย ปวิวัณณ์ คำเจริญ
20 มิถุนายน 2561
(ขอบคุณภาพปกจาก imdb.com)