ดูหนังอย่างคนเบี้ยน้อยหอยน้อย 091; ได้เลิกงานตามเวลาราชการปกติเป็นครั้งแรกในรอบ 3 เดือน ก็เลยกลับบ้านไปสลัดเครื่องแบบ แล้วเดินไปดู Moonlight ที่ House RCA
หนังเรื่องนี้เป็นผลงานการกำกับและเขียนบทของแบร์รี เจนกินส์ ผู้กำกับหนุ่มผิวสีวัย 37 เล่าเรื่องราวของ ไชรอน เด็กชายที่อาศัยอยู่กับแม่ขี้ยา (แสดงโดย เนโอมี แฮร์ริส) ในชุมชนคนผิวสีชั้นรากหญ้าแห่งเมืองไมอามี รัฐฟลอริดา ลำพังปัญหาเรื่องแม่ก็หนักหนาเกินทนแล้ว แต่เขายังต้องเผชิญกับปัญหาเพศสภาพของตัวเองด้วย ซึ่งในสังคมชนชั้นล่างผิวสีที่แมนๆ เตะบอลครัช และเต็มไปด้วยเด็กอันธพาลที่พร้อมจะระรานผู้อ่อนแอกว่า มันเป็นสภาวะที่อยู่ยากมากสำหรับเด็กชายติ๋มๆ ไม่สู้คน โชคดีที่ยังมีผู้ใหญ่ใจดีเมตตาเขา ได้แก่ ฮวน (แสดงโดย มาเฮอร์ชาลา อาลี) และเทรีซา แฟนสาวของฮวน (แสดงโดย จาเนลล์ โมเน) ผู้ไม่มีความสัมพันธ์ทางสายเลือดใดๆ กับไชรอน แต่เป็นเหมือนพ่อแม่อุปถัมภ์ซึ่งมีอิทธิพลต่อชีวิตเขาทั้งทางตรงและทางอ้อม
หนังแบ่งเป็น 3 องก์ เล่าเรื่องของไชรอนใน 3 ช่วงวัย คือวัยเด็ก วัยรุ่น และวัยหนุ่มฉกรรจ์ บนเส้นทางชีวิตที่แสนยากลำบากในการค้นพบตัวตนที่แท้จริงและการแสวงหาที่ยืนในสังคมให้แก่ตนเอง ท่ามกลางสภาวะที่พร่าเลือนของเส้นแบ่งความดี-ความชั่ว อย่างฮวนผู้เป็นเสมือนแสงสว่างในโลกอันมืดมนของหนังเรื่องนี้ ก็ทำมาหาเลี้ยงชีพด้วยการเป็นดีลเลอร์ยาเสพติด ซึ่งก็หมายความว่า เขาก็เป็นส่วนหนึ่งของวงจรที่สร้างความมืดมนให้แก่โลกนั่นเอง #เจ็บจี๊ด
แบร์รี เจนกินส์ เขียนบทหนังเรื่องนี้โดยดัดแปลงจากบทละครเวทีของแทเรลล์ แอลวิน แมคครานีย์ ผู้เขียนบทและนักแสดงละครเวทีวัย 36 บทละครดังกล่าวมีชื่อว่า In Moonlight Black Boys Look Blue นี่เป็นชื่อที่จับใจดิฉันมาก เพราะนอกจาก blue จะแปลว่า “สีฟ้า” แล้ว ยังแปลว่า “เศร้า” ด้วย ส่วน “แสงจันทร์” ก็ถูกใช้เป็นอุปลักษณ์ (metaphor) ที่แตกต่างไปจากเรื่องอื่นๆ คือเป็นแสงที่สาดส่องให้เห็นตัวตนที่แท้จริงของตัวละคร ซึ่งไม่เหมือนภาพลักษณ์ภายนอกที่ทุกคนเห็น และไม่เหมือนคนทั่วไปในสังคม (ตัวจริงคือ “blue” แต่แสดงออกเป็น “black” เพื่อให้เหมือนกับคนอื่นๆ) ในขณะเดียวกัน แสงจันทร์ก็ช่วยสาดส่องให้เห็นความทุกข์เศร้าทั้งปวงที่ตัวละครเก็บกดปิดบังไว้ ซึ่งไม่ว่าจะพยายามกลบฝังเท่าใด ก็ยังมีผลต่อชีวิตจิตใจของเขาอยู่ดี
หนังทำลายคอนเส็ปต์สวยหรูที่ว่า “คนเราทุกคนมีสิทธิ์เลือกว่าเราจะเป็นใครและจะเป็นอะไร” อย่างไม่เหลือซาก เพราะท้ายที่สุดแล้วหากเราต้องการอยู่รอดให้ได้ในสังคมที่ไม่มีที่ทางให้กับคนที่ “แตกต่าง” เราก็ต้องสร้างตัวตนขึ้นมาใหม่แล้วกดทับตัวตนที่แท้จริงไว้ไม่ให้ใครเห็น ยิ่งไปกว่านั้น สภาพแวดล้อม บุคคลต่างๆ ในชีวิต และเหตุการณ์ต่างๆ ที่เราต้องพบเจอ ก็ล้วนมีส่วนหล่อหลอมเราให้ “เป็น” อะไรบางอย่างทั้งสิ้น คนบางคนจึงไม่มีโอกาสแม้แต่จะคิดด้วยซ้ำว่าตัวเองอยากเป็นใครและต้องการจะเป็นอะไร เพราะทุกอย่างในชีวิตบีบบังคับไว้แล้วอย่างยากที่จะหลีกหนี
ที่จริงดิฉันไปดูเรื่องนี้เพราะอยากดูเนโอมี แฮร์ริส กับมาเฮอร์ชาลา อาลี เพราะเห็นใครต่อใครสรรเสริญแซ่ซ้องว่าเล่นดีมาก แต่กลายเป็นว่า การแสดงที่ได้ใจดิฉันมากกว่า กลับเป็นของผู้รับบทไชรอนทั้งสามช่วงวัย เรียงจากเล็กไปหาใหญ่คือ อเล็กซ์ ฮิบเบิร์ต, แอชตัน แซนเดอร์ส และเทรแวนเท โรดส์ ตามลำดับ ทั้งสามนอกจากจะมีเครื่องหน้าคล้ายกันมากแล้ว ยังสามารถแสดงโดยรักษาคาแร็กเตอร์หลักของตัวละครไว้ได้อย่างอยู่มือ จนเราเชื่อสนิทใจว่ามันก็คือเด็กคนเดียวกันที่โตขึ้นมานี่แหละ ไม่ว่าร่างกายและความคิดจิตใจจะเปลี่ยนแปลงไปยังไงก็ตาม ลองดูโปสเตอร์นะคะ นั่นคือใบหน้าของทั้งสามคนต่อเป็นจิ๊กซอว์เข้าด้วยกัน แล้วลองปิดให้เห็นเฉพาะแต่ละคน จะเห็นว่าแววตาของทั้งสามล้วนมีความเจ็บปวด แต่มีระดับของความโศก ความสับสน และความไม่ยี่หระแตกต่างกันไป #ป้าว่างมากมานั่งสังเกตโปสเตอร์ #ป้าไม่เคยลำเอียง
ที่มาภาพ: www.southbayfilmsociety.com
สรุป: จ่าย 140 ได้กลับมา 145
หมายเหตุ: Moonlight เข้าชิงรางวัลออสการ์ 8 สาขา
1. ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม
2. ผู้กำกับยอดเยี่ยม – แบร์รี เจนกินส์
3. บทภาพยนตร์ดัดแปลงยอดเยี่ยม – แบร์รี เจนกินส์ และแทเรลล์ แอลวิน แมคครานีย์
4. นักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยม – มาเฮอร์ชาลา อาลี (เข้าชิงแทบทุกสถาบัน และชนะ SAG Award ซึ่งเป็นรางวัลใหญ่ที่สุดสำหรับนักแสดงมาแล้ว)
5. นักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยม – เนโอมี แฮร์ริส (นักแสดงหญิงที่เปลี่ยนแปลงรูปลักษณ์และคาแร็กเตอร์ไปตามบทบาทที่ได้รับอย่างน่าทึ่ง ไม่ว่าจะเป็นแม่นางเทีย ดัลมา ใน Pirates of the Caribbean เจ๊มันนีเพนนี ในเจมส์ บอนด์ เวอร์ชันแดเนียล เครก และแมเดอลีน คุณแม่สุดสวยผู้สูญเสียลูกใน Collateral Beauty จนมาถึงเรื่องนี้ ยอมรับเลยว่าเล่นได้สถุลสุดๆ)
6. ดนตรีประกอบยอดเยี่ยม – นิโคลัส บริเทลล์ (ผู้ประพันธ์เพลงและผู้อำนวยการสร้างวัย 36 มีผลงานเพลงประกอบหนังขั้นเทพอย่าง 12 Years a Slave กับ The Big Short และเป็นผู้อำนวยการสร้างเรื่อง Whiplash ของเดเมียน เชแซลล์)
7. ถ่ายภาพยอดเยี่ยม – เจมส์ แล็กซ์ตัน (เข้าชิงแทบทุกสถาบันที่มีรางวัลสาขาการถ่ายภาพ ได้รับการชื่นชมมากจากงานภาพที่ช่วยขับเน้นความอ้างว้างและแปลกแยกของตัวละครในเรื่องนี้ได้อย่างชะงัด)
8. ตัดต่อยอดเยี่ยม – จอย แมคมิลลอน และแนต แซนเดอร์ส (เข้าชิงแทบทุกสถาบันเช่นกัน โดยแมคมิลลอนได้สร้างประวัติศาสตร์เป็นสตรีผิวสีคนแรกที่ได้เข้าชิงรางวัลออสการ์ในสาขานี้)
โดย ปวิวัณณ์ คำเจริญ
11 กุมภาพันธ์ 2017
(ขอบคุณภาพปกจาก www.impawards.com)