ดูหนังอย่างคนเบี้ยน้อยหอยน้อย 110; ดูรอบสื่อหนังจีนแผ่นดินใหญ่ ชื่อฝรั่งว่า I Am Not Madame Bovary ชื่อไทยว่า “อย่าคิดหลอกเจ้

ดิฉันว่าหนังเรื่องนี้ปังตั้งแต่ชื่อเรื่อง ชื่อฝรั่งกับชื่อไทยดูไม่เกี่ยวกันเลย แต่มันตรงกับเนื้อเรื่องและตัวละครสุดๆ ทั้งยังจุดประกายความสนใจได้อย่างมาก ชื่อฝรั่งนี่ทำเอางงแรง ทำไมนางเอกหนังจีนจะต้องมาประกาศว่า “เดี๊ยนไม่ใช่มาดามโบวารี” ซึ่งเป็นตัวละครของฝรั่งเศส พอดูหนังถึงได้รู้ว่าชื่อจีนของหนังคือ 我不是潘金莲 อ่านว่า หว่อปู๋ชื่อพันจินเหลียน แปลว่า “ฉันไม่ใช่พันจินเหลียน” คราวนี้ก็เลยเก็ต ว่าชื่อฝรั่งเขาตั้งให้เป็นสากล เพราะคนทั่วโลกย่อมรู้จักมาดามโบวารีมากกว่าพันจินเหลียนซึ่งเป็นตัวละครในวรรณกรรมจีน เขาก็เลยเปลี่ยนเพื่อให้เข้าถึงผู้ชมในวงกว้าง

พันจินเหลียนเป็นตัวละครในวรรณกรรมจีนเรื่อง “ซ่งเจียง” (หรือออกเสียงตามสำเนียงฮกเกี้ยนว่า “ซ้องกั๋ง“) กับเรื่อง “จินผิงเหมย” แต่งขึ้นประมาณ ค.ศ. 1600 ต้นๆ เรื่องซ้องกั๋งเป็นเรื่องของผู้กล้า 108 คนซึ่งถูกขุนนางข่มเหงรังแก จึงลี้ภัยไปที่เขาเหลียงซาน ประพฤติตนเป็นพวกนอกกฎหมาย ร่วมกันปราบขุนนางชั่ว ตัวละครสำคัญในวรรณกรรมเรื่องนี้ นอกจากซ่งเจียงซึ่งเป็นผู้นำกองโจรแล้ว ยังมีนายโจรที่มีบทบาทมากอีกคนหนึ่ง ชื่ออู่ซง พี่ชายของอู่ซงชื่ออู่ต้า เป็นคนอัปลักษณ์ แต่ได้เมียสวยชื่อพันจินเหลียน พันจินเหลียนไม่ได้รักสามีตน กลับพอใจในตัวอู่ซง พยายามยั่วยวนแต่อู่ซงไม่เล่นด้วย นางจึงไปเป็นชู้กับเศรษฐีชื่อซีเหมินชิ่ง แล้วสมคบกันฆ่าอู่ต้า อู่ซงจึงสังหารพันจินเหลียนและซีเหมินชิ่ง แก้แค้นให้พี่ชาย เรื่องซ้องกั๋งมีฉบับแปลไทยหลายสำนวน ผู้แปลคนแรกคือสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ ใช้ชื่อ “ซ้องกั๋ง” ทำให้คนไทยเรียกเรื่องนี้ว่าซ้องกั๋งมาจนปัจจุบัน ส่วนสำนวนอื่นๆ ก็ใช้ชื่อต่างๆ กันไป เช่น 108 ผู้กล้าแห่งเขาเหลียงซาน จอมโจรเขาเหลียงซาน 108 คน วีรบุรุษเขาเหลียงซาน #คุ้นทุกชื่อ

เรื่อง “จินผิงเหมย” เป็นเรื่องที่แต่งขยายความเรื่องซ้องกั๋ง โฟกัสที่ชีวิตอันโลดโผนและคาวโลกีย์ของซีเหมินชิ่ง กับบรรดาเมียน้อย เมียเก็บ และชู้รัก ซึ่งมีเด่นๆ อยู่ 3 คน ได้แก่ พันจินเหลียน หลี่ผิงเอ๋อร์ และผังเชวินเหมย ชื่อของทั้งสามเป็นที่มาของชื่อเรื่อง “จินผิงเหมย” ซึ่งแปลรวมกันได้ว่า ดอกบ๊วยในแจกันทอง วรรณกรรมเรื่องนี้มีผู้แปลเป็นภาษาไทย 2 สำนวนในเวลาไล่เลี่ยกัน ได้แก่ ยาขอบ (ผู้แต่งเรื่อง “ผู้ชนะสิบทิศ“) แปลจากฉบับภาษาอังกฤษ ใช้ชื่อว่า “บุปผาในกุณฑีทอง” แต่เนื้อเรื่องมีแค่ 1 ใน 4 ของฉบับภาษาจีน อีกสำนวนหนึ่งแปลโดย เนียน กูรมะโรหิต ภรรยาของ สด กูรมะโรหิต ใช้ชื่อว่า “ดอกเหมยในแจกันทอง” แต่แปลไม่จบ #เสียดาย

ส่วนมาดามโบวารี เป็นตัวละครเอกในวรรณกรรมฝรั่งเศสเรื่อง Madame Bovary แต่งโดย กูสตัฟ ฟลอแบร์ ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ ค.ศ. 1857 มาดามเป็นผู้หญิงที่เบื่อชีวิตครอบครัวของตัวเอง ก็เลยคบชู้ และช็อปปิ้งแหลกลาญจนเป็นหนี้ พอโดนเจ้าหนี้ทวงหนักก็เลยฆ่าตัวตาย วรรณกรรมเรื่องนี้โด่งดังไปทั่วโลก ทำเป็นหนังมาแล้วหลายรอบ และมาดามก็กลายเป็นตัวละครตัวหนึ่งซึ่งคนรู้จักชื่อมากที่สุดทั้งที่อาจจะไม่รู้ว่านางเป็นใคร 555

ดิฉันไม่ทราบเหมือนกันว่าคนฝรั่งเศสเวลาจะด่าผู้หญิงไม่ดี เขาด่าว่า “นังมาดามโบวารี” หรือเปล่า แต่สำหรับคนจีน “พันจินเหลียน” ได้กลายเป็นคำด่าไปแล้ว ผู้หญิงคนไหนถูกเรียกว่าพันจินเหลียนนี่ถือว่ารุนแรงมาก นางเอกเรื่อง I Am Not Madame Bovary โดนด่าแบบนี้เต็มๆ นางจึงลุกขึ้นสู้สุดชีวิตเพื่อทวงเกียรติยศศักดิ์ศรีกลับคืนมา

นางผู้นี้เป็นหญิงชาวบ้านนามว่า หลีเสว่เหลียน ได้ออกอุบายหย่ากับสามีเพื่อให้ได้อพาร์ตเมนต์ในเมือง ซึ่งรัฐบาลจัดให้สำหรับคนโสด แต่หลังจากหย่า สามีนางดันไปแต่งงานกับหญิงอื่น นางจึงไปฟ้องศาล ให้ศาลตัดสินว่าการหย่าครั้งนั้นเป็นการหย่าปลอม (เพราะนางวางแผนกับสามีไว้อย่างนั้นจริงๆ) แต่ในเมื่อนางหย่าตามกฎหมายแล้วจริงๆ ศาลจึงตัดสินเป็นอื่นไปไม่ได้ นางก็เลยแพ้คดี พอไปยื่นอุทธรณ์ ก็แพ้อีก จึงตัดสินใจไปพบสามีเพื่อให้เขายืนยันว่าหย่ากันปลอมๆ จริงๆ #เวียนหัวกับภาษาตัวเองมาก สามีนอกจากจะไม่ยอมยืนยันแล้ว ยังด่านางอย่างสาดเสียเทเสีย และเรียกนางว่า “พันจินเหลียน” ด้วย นางจึงเดินหน้าเรียกร้องความยุติธรรมให้แก่ตัวเอง จนเหตุการณ์บานปลายกลายเป็นเรื่องใหญ่ ถึงขนาดสั่นสะเทือนระบบรัฐการและการปกครองในระดับประเทศ

ผู้กำกับหนังเรื่องนี้ คือ เฝิงเสี่ยวกัง เจ้าของผลงานช็อกอารมณ์สุดขั้วอย่างหนังเรื่อง Aftershock เมื่อปี 2010 หนังเล่าถึงเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในปี 1976 มีเด็กแฝดชายหญิงติดอยู่ใต้ซากปรักหักพัง และแม่เด็กถูกสถานการณ์บีบบังคับให้เลือกช่วยลูกได้เพียงคนเดียว หนังเรื่องนี้น้องชายดิฉันซื้อดีวีดีให้แม่ดูที่บ้าน ดูจบแม่โทร.มาด่าทั้งน้ำตาว่าเอาอะไรมาให้แม่ดูเนี้ยยย ฮือๆ จากนั้นแม่ก็ใช้หนังเรื่องนี้เป็นสื่อการสอน ให้นักศึกษาฝึกวิเคราะห์เรื่องและตัวละครมาโดยตลอด 555

เฝิงเสี่ยวกังได้อ่านนวนิยายเรื่อง “ฉันไม่ใช่พันจินเหลียน” ของนักเขียนชื่อดัง หลิวเจิ้นหยวิน แล้วชอบมาก แกก็เลยชวนหลิวมาเขียนบทหนังเรื่องนี้ และชวนฟ่านปิงปิง นักแสดงสาวสวยสง่ามาดนางพญา มารับบทหลีเสว่เหลียน นับเป็นการพลิกบทบาทครั้งยิ่งใหญ่ แล้วยังต้องแปลงโฉมแบบหัวจรดเท้าด้วย เท่านั้นยังไม่พอ ระหว่างเตรียมงาน เฝิงเสี่ยวกังเกิดไอเดียด้านภาพขึ้นมา คือแกอยากถ่ายทำและนำเสนอหนังเรื่องนี้ผ่านเฟรมภาพวงกลม ในลักษณะเดียวกับภาพวาดทิวทัศน์ของจีนในสมัยโบราณ แกก็เลยคุยกับหลัวพัน ผู้กำกับภาพ หลัวพันก็ว่า ลองดูก็ได้ (วะ) แล้วในที่สุดวิสัยทัศน์อันแหวกแนวของเฝิงเสี่ยวกังก็ได้ปรากฏเป็นจริง

ดิฉันจำได้ว่า เมื่อตอนเด็กๆ พ่อแม่เคยซื้อหนังสือนิทานแปลของจีนมาให้อ่าน ภาพวาดในหนังสือนั้นเป็นภาพที่อยู่ในเฟรมวงกลม วาดสวยและใช้สีสวยมาก จำติดตามาจนทุกวันนี้ พอได้มาดูหนังเรื่องแรกที่นำภาพเคลื่อนไหวมาใส่ในเฟรมวงกลม แล้วจัดองค์ประกอบภาพและใช้สีแบบเดียวกับภาพวาด โดยไม่มีหลุดแม้แต่ฉากเดียว ก็อดทึ่งไม่ได้ ดิฉันได้อ่านที่เฝิงเสี่ยวกังให้สัมภาษณ์ เวลาคนถามว่าแกทำแบบนี้ไปทำไม แกตอบว่า แกแค่อยากนำเสนอในแบบของแก แต่ดิฉันไม่เชื่อหรอกว่าแกต้องการแค่นี้ เหอๆๆ เหตุผลก็เพราะว่า…

I Am Not Madame Bovary เป็นหนังที่เสียดสีระบบรัฐการและการปกครองของจีนได้อย่างแสบสันต์ที่สุด โดยนำเสนออย่างตลกโปกฮาและ (ดูเหมือนว่าจะ) โปรพรรคคอมมิวนิสต์จีนมาก แต่มันจะมีอะไรบางอย่างในความโปรนั้นที่ทำให้เรารู้สึกทะแม่งๆ อยู่ ไม่ต่างจากงานภาพในเฟรมวงกลม ซึ่งสวยงามมากจนดูราวกับภาพวาด แต่เนื่องจากเป็นการทำเลียนแบบภาพทิวทัศน์ ภาพที่เราเห็นจึงเป็นภาพระยะไกล ไม่มีการโคลสอัพหน้านักแสดงเลย และนอกจากไกลแล้วยังแคบด้วย เพราะถูกกรอบวงกลมจำกัดมุมมอง ภาพก็ดูโบราณราวกับหนังย้อนยุค ทั้งที่ไม่ได้ระบุยุคสมัย ความรู้สึกเวลาดูหนังเรื่องนี้มันเต็มอิ่มในลักษณะที่ว่า มันทำให้เราคิดได้ว่าเหมือนเราอยู่ในสภาพที่มองภาพรวมก็ดูดีหรอก แต่จริงๆ แล้วโบร้าณโบราณ แถมยังถูกบังคับให้มองอยู่ไกลๆ แคบๆ ไม่ให้รู้เรื่องรู้ราวอะไรมากไปกว่านั้นด้วย ซึ่งเราก็ทำอะไรไม่ได้มากไปกว่าทำตลกบังหน้า เพื่อนำไปสู่การจิกกัดเสียดสีอันเป็นวิธีการหนึ่งของการวิพากษ์วิจารณ์ #ว้ายนี่มันอารายยย

ที่มาภาพ: goldposter.com

ดังที่กล่าวไปแล้วว่า หนังเรื่องนี้ไม่โคลสอัพหน้านักแสดง และเราจะเห็นทุกอย่างในระยะไกล ดังนั้น นักแสดงจึงต้องเล่นให้ใหญ่ ให้ชัด และเล่นทั้งตัว เพื่อที่จะส่งผ่านอารมณ์ความรู้สึกมาถึงคนดูให้ได้ ทีแรกดิฉันก็กังขาว่าฟ่านปิงปิงจะทำได้ดีขนาดไหน ปรากฏมีฉากหนึ่ง กล้องจับภาพนางเดิน ดิฉันดูแล้วแทบจะตบเข่าฉาด เพราะท่าเดินนั้นบ่งบอกความเป็นหลีเสว่เหลียนได้ชัดมากๆ นางเป็นเพียงหญิงชาวบ้านผัวทิ้งที่ไม่มีอำนาจต่อรองอะไรเลยในตอนต้น แต่ด้วยความดื้อรั้นหัวชนฝา (ซึ่งเป็นสิ่งดีหรือเปล่าก็ไม่รู้) ทำให้นางสามารถต่อกรกับกระบวนการยุติธรรมและระบบรัฐการ อันเป็นโลกของผู้ชาย ของผู้มีการศึกษา และของส่วนกลางหรือเมืองหลวง จนกระทั่งมีอำนาจเหนือระบบและบุคคลเหล่านั้น (ซึ่งเป็นไปได้จริงหรือเปล่าก็ไม่รู้) ฟ่านปิงปิงถ่ายทอดความเป็นหลีเสว่เหลียนได้อย่างจริงใจและชวนหัว แต่ก็ขมขื่นคับแค้นจับขั้วหัวใจ จนดิฉันรู้สึกว่า ชื่อหนังภาษาไทย “อย่าคิดหลอกเจ้” นั้น เหมาะสมกับเนื้อเรื่องและตัวละครโดยแท้ คนคิดก็ช่างคิดได้ ดีนะที่ไม่ตั้งว่า “ดิฉันไม่ใช่กากี”

สรุป: จ่าย 0 ได้กลับมา 200

หมายเหตุ:
1. I Am Not Madame Bovary ประสบความสำเร็จมากในเวทีรางวัลทั้งระดับชาติและนานาชาติ รางวัลใหญ่สุดที่ได้รับคือ Asian Film Awards (รางวัลภาพยนตร์แห่งเอเชีย) ชนะไป 3 สาขา ได้แก่ ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม นักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม (ฟ่านปิงปิง) และผู้กำกับภาพยอดเยี่ยม (หลัวพัน)
2. โปสเตอร์หนังเรื่องนี้มีประมาณ 20 แบบ #ขยันมาก แบบที่เลือกมานี้แพร่หลายสุด มีหลีเสว่เหลียนอยู่ตรงกลาง รอบๆ คือผู้ชายที่เธอต่อกรด้วยในรูปแบบต่างๆ จ้องมองเธอด้วยความรู้สึกที่แตกต่างกัน โดยโปสเตอร์ทุกแบบจะมีรูปวงกลม เพื่อสื่อถึงเฟรมภาพที่ใช้ในการนำเสนอ

โดย ปวิวัณณ์ คำเจริญ

22 เมษายน 2017

(ขอบคุณภาพปกจาก chinafilminsider.com)