ดูหนังอย่างคนเบี้ยน้อยหอยน้อย 165; ดู Phantom Thread หรือชื่อไทย “เส้นด้ายลวงตา” หนังออสการ์ขวัญใจเบี้ยน้อยฯ ประจำปี 2017
ในแต่ละปี ดิฉันจะมีการละเล่นอย่างหนึ่งซึ่ง (น่าจะ) สนุกอยู่คนเดียว 555 คือการเลือกหนังที่ชอบที่สุดในบรรดาหนังที่มีชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์สาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม โดยไม่ได้แคร์ว่าในความเป็นจริงมันจะชนะหรือเปล่า แต่มันเป็นหนังที่ชนะในความรู้สึกของดิฉัน อย่างปีที่แล้ว หนัง ‘ชนะเลิศ’ ของดิฉันคือ Manchester by the Sea (อ่านได้ในเบี้ยน้อยฯ 095) แต่เรื่องที่ชนะจริงๆ คือ Moonlight (อ่านได้ในเบี้ยน้อยฯ 091) สำหรับปีนี้ ในบรรดาหนัง 9 เรื่องที่เข้าชิง ดิฉันเมาท์มอยไปแล้ว 2 เรื่อง ได้แก่ Get Out และ Dunkirk ซึ่งถ้าท่านใดได้อ่านเบี้ยน้อยฯ 111 กับ 128 ก็คงจะพอจำได้ว่าดิฉันไม่ค่อยตื่นเต้นกับมันเท่าไหร่ ตัดออกจากโผได้เลย #วอนแฟนคลับหนังสองเรื่องนี้อย่าตบข้อย ส่วนอีก 7 เรื่องที่เหลือ ดิฉันก็จะทยอยเมาท์ให้ได้อ่านกัน เผอิญว่าหนังชนะเลิศของดิฉันยังฉายในโรงอยู่ จึงขอหยิบมาเมาท์ก่อนเป็นเรื่องแรก
Phantom Thread เป็นผลงานการเขียนบทและกำกับของนักทำหนังหนุ่มชาวอเมริกันวัย 47 พอล โทมัส แอนเดอร์สัน ดิฉันไม่ใช่แฟนพันธุ์แท้ของแก เพราะหนังแกแม้จะสนุกมากแต่ก็อึนมาก เรื่องนี้ตอนดูหนังตัวอย่างก็คิดในใจว่าอึนแหงๆ แต่เนื่องจากเป็นผลงานการแสดงเรื่องสุดท้ายก่อนอำลาวงการของท่านเซอร์แดเนียล เดย์-ลูวิส หนึ่งในนักแสดงที่เป็นตำนานของฮอลลีวูด ก็เลยต้องดูสักหน่อย แล้วสุดท้ายมันก็กลายเป็นหนังออสการ์ที่ดิฉันชื่นชอบที่สุดในปีนี้ไป
ที่มาที่ไปของหนังเรื่องนี้ เกิดจากการที่แอนเดอร์สันได้อ่านเรื่องราวของ กรีสโตบัล บาเลนเซียกา แฟชันดีไซเนอร์ชาวสเปน ผู้ก่อตั้งแบรนด์ Balenciaga ทำให้แกเริ่มสนใจเกี่ยวกับอุตสาหกรรมแฟชันและการสร้างสรรค์แฟชันชั้นสูง แล้วพอดีวันหนึ่งแกป่วย นอนซมอยู่ที่บ้าน มีเมียสุดเลิฟคอยดูแล (เมียแกก็คือ มายา รูดอล์ฟ นักแสดงตลกหญิงผู้รับบทเด่นในหนังเรื่อง Bridesmaids และ Grown Ups) แกบังเอิญเห็นเมียมองแกด้วยสายตาที่อ่อนโยนเปี่ยมไปด้วยความรัก ก็เลยเกิดไอเดียที่จะทำหนังเกี่ยวกับแฟชันดีไซเนอร์หนุ่มใหญ่ ผู้มีความรักอันแสนดูดดื่มและสุดวิปลาส กับหญิงสาวผู้เป็นแรงบันดาลใจในชีวิตเขา ทั้งนี้ ในการสร้างตัวละครพระเอก แอนเดอร์สันได้แนวมาจากชีวประวัติของ ชาร์ลส์ เจมส์ นักออกแบบแฟชันชั้นสูงคนแรกของอเมริกา ผู้มีกำเนิดเป็นคนอังกฤษ พระเอก Phantom Thread ก็เป็นคนอังกฤษ และเรื่องราวในหนังก็เกิดขึ้นในปี 1954 ร่วมสมัยกับชาร์ลส์ เจมส์
แดเนียล เดย์-ลูวิส นักแสดงชาวอังกฤษวัย 60 ผู้รับบทเรย์โนลด์ส วูดค็อก นักออกแบบแฟชันชั้นสูงชื่อดังแห่งลอนดอน พระเอกของหนังเรื่องนี้ เป็นนักแสดงที่ชนะรางวัลออสการ์สาขานักแสดงนำชายยอดเยี่ยมเยอะที่สุดในประวัติศาสตร์ คือชนะถึง 3 ครั้ง เข้าชิงแต่ชวดอีก 3 ครั้ง รวมเป็น 6 ครั้ง ซึ่งเมื่อเทียบกับจำนวนหนังที่แกเล่นเป็นตัวเอกก็ถือว่าเยอะมาก ว่ากันว่าความสำเร็จของแกทั้งนี้ เป็นผลจากการแสดงแบบ Method Acting อันมีหลักการสำคัญคือ นักแสดงจะต้อง ‘เป็น’ ตัวละครตัวนั้นเลย ไม่ใช่แค่ ‘แสดงเป็น’ ตัวละครตัวนั้น
ความเคร่งครัดในเมธอดแอ็กติ้งของท่านเซอร์ขึ้นชื่อลือชามาแต่ไหนแต่ไร เพราะระหว่างถ่ายทำหนัง แกจะใช้ชีวิตเป็นตัวละครของแกตลอด แม้แต่เวลาอยู่บ้าน รวมทั้งฝึกฝนตนเองให้มีความสามารถแบบเดียวกับตัวละคร และมีประสบการณ์จริงตามที่ตัวละครประสบ เป็นต้นว่า ตอนที่รับบทศิลปินพิการ ในเรื่อง My Left Foot เมื่อปี 1989 แกก็อยู่แต่บนรถเข็น แล้วก็ฝึกวาดรูปด้วยเท้าซ้ายจนวาดได้จริง พอปี 1992 รับบทอเมริกันอินเดียน ใน The Last of the Mohicans แกก็เพิ่มน้ำหนักเกือบ 10 กิโล ไปอยู่ป่า 6 เดือน ทำเรือแคนูเอง และแบกปืนติดตัวแม้กระทั่งเวลาอยู่กับครอบครัว #ท่านค้าาา!! จนถ่ายทำเสร็จ แกกลายเป็นโรคหูแว่วกับโรคกลัวที่แคบ ต้องไปบำบัดรักษาอีก ปีถัดมา ได้รับบทคนคุก ใน In the Name of the Father แกลดน้ำหนัก 20 กว่ากิโล แล้วเข้าไปอยู่ในคุก 3 วัน 3 คืน ให้ทีมงานทรมานทรกรรมแกโดยประการต่างๆ เพื่อให้เข้าถึงความทุกข์ทรมานของนักโทษ ต่อมาปี 1997 รับบทนักมวย ใน The Boxer แกก็ไปฝึกมวยอยู่ 3 ปี จนครูฝึกบอกว่าไปเป็นนักมวยอาชีพได้สบาย ครั้นปี 2002 รับบทหัวหน้าแก๊งจอมโหด ใน Gangs of New York แกก็จ้างครูมาสอนการใช้มีดจนใช้ได้คล่องแคล่ว แล้วพอปี 2012 รับบทประธานาธิบดีเอบราฮัม ลิงคอล์น ใน Lincoln แกก็เหมือนมีองค์ท่านมาลงตลอดเวลา ทีมงานและคนในบ้านต้องเรียกแกว่า “ท่านประธานาธิบดี” ไม่งั้นแกไม่หัน #เอากะพ่อสิ!!
เห็นได้ว่า เมธอดแอ็กติ้งแม้จะเป็นวิธีการที่ได้ผลชะงัด แต่นักแสดงก็ลำบากลำเค็ญไม่ใช่น้อย และสุ่มเสี่ยงมากที่จะเจ็บป่วยทั้งทางกายทางจิต แล้วก็ไม่ใช่จะลำเค็ญแค่นักแสดง คนรอบข้างทั้งทีมงานและคนที่บ้านก็ต้องพลอยประสาทรับประทานไปด้วย โปรดิวเซอร์ก็ต้องจ่ายตังค์บานทะโรคกับการฝึกอบรมต่างๆ ยิ่งระดับท่านเซอร์เดย์-ลูวิสแล้ว ครูฝึกธรรมดาสามัญแกไม่จ้างนะ แกเอาครูมือดีที่สุดเลย สิริรวมแล้วค่าตัวแกบวกค่าตัวครูก็เอาการอยู่ การแสดงแบบเมธอดของท่านเซอร์จึงน่าจะกลายเป็นปัญหาอยู่พอสมควร ทำให้แกร่ำๆ จะอำลาวงการอยู่เนืองๆ และได้ลาไปแล้วจริงๆ ครั้งหนึ่งหลังจากเสร็จงานเรื่อง The Boxer โดยแกย้ายไปอยู่ที่อิตาลี เป็นช่างทำรองเท้า #ไปเรียนมาแต่ครั้งไหนคะท่าน แต่ลุงมาร์ติน สกอร์เซซี ไปตามแกกลับมาเล่น Gangs of New York แล้วก็ยาวมาจนบัดนี้ ซึ่งพอต้องรับบทแฟชันดีไซเนอร์ แกก็ไปเรียนออกแบบและตัดเย็บเสื้อผ้า จนสามารถตัดชุดได้เยี่ยงช่างตัดเสื้อคนหนึ่ง พอแกประกาศจะอำลาวงการอย่างถาวร ก็เลยมีข่าวออกมาว่าแกจะไปเป็นช่างตัดเสื้อ #พีคมาก
สำหรับผลงานเรื่องสุดท้ายของท่านเซอร์นี้ ก็ต้องยอมรับแหละว่าเมธอดแอ็กติ้งมันก็ดีจริงๆ นะ ดิฉันได้ดูหนังที่แกเล่นเป็นตัวเอกมา 5 เรื่อง แต่ละเรื่องแกก็คือคนละคนอย่างแท้จริง แล้วก็ไม่รู้เลยว่าตัวจริงของแกเป็นยังไง เพราะแกกลายเป็นตัวละครตัวนั้นอย่างสมบูรณ์ จนแม้กระทั่งการเคลื่อนไหวเล็กๆ น้อยๆ ก็ยังแสดงให้เห็นถึงความเป็นตัวละครตัวนั้น ด้วยเหตุนี้ ต่อให้คาแรกเตอร์ซับซ้อนแค่ไหน แกก็จึงแสดงออกได้อย่างคม ชัด ลึก และเป็นธรรมชาติอย่างที่สุด
เรย์โนลด์ส วูดค็อก นับเป็นตัวละครที่ซับซ้อนมากตัวหนึ่ง เขาเป็นศิลปินอัจฉริยะผู้ประสบความสำเร็จในงานที่ทำอย่างสูง แต่กระนั้นก็เป็นคนขาดความมั่นคงทางจิตใจอย่างรุนแรง ซึ่งแสดงออกในรูปของการคลั่งความสมบูรณ์แบบอย่างสุดโต่ง ติสท์แตกแบบทำลายล้างโลก และจู้จี้จุกจิกเรื่องมากอยู่ยากที่สุดในจักรวาล แต่ก็ด้วยความสั่นคลอนภายในแบบนี้ เขาก็เลย ‘แพ้ทาง’ ผู้หญิงที่ ‘จับทาง’ เขาได้ ซึ่งในเรื่องนี้มีอยู่ถึง 3 คน คนหนึ่งตายไปแล้ว แต่ยังมีอิทธิพลต่อชีวิตจิตใจของเขาอยู่ คนหนึ่งคือหญิงสาวที่เขาตกหลุมรัก อีกคนคือพี่สาวผู้กุมบังเหียนกิจการห้องเสื้อ และคอยกำราบความเยอะของน้องชายอย่างสงบเสงี่ยมแต่ฟันไม่เลี้ยง
ชื่อเรื่อง Phantom Thread สื่อความหมายได้กว้างขวาง เป็นได้ในทุกๆ ความหมายของคำว่า phantom และ thread “แฟนธัม” ที่เป็นคำคุณศัพท์ แปลว่า “ซึ่งลวงตา ซึ่งหลอกหลอน ซึ่งเกี่ยวกับภูตผีปิศาจ” ส่วน “เธร็ด” ที่เป็นคำนาม แปลว่า “เส้นด้าย เส้นใย เรื่องหรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นต่อเนื่องกัน ชีวิตมนุษย์” #ตบเข่าฉาด หนังลวงเราหลายชั้นมาก ให้เราหลงตัดสินตัวละครและสถานการณ์จากสิ่งที่เรามองเห็น แล้วจึงเผยความจริงทีละชั้นๆ ให้เราค่อยๆ ตระหนักว่า สายใยลึกลับที่แม้จะมองไม่เห็นแต่ก็ทรงพลังอำนาจนั้นมีอยู่จริง มันทรงพลังอำนาจถึงขนาดทำให้คนสองคนซึ่งแตกต่างกันอย่างมหาศาล และมีความต้องการที่สวนทางกันอย่างสิ้นเชิง สามารถแสวงหาวิธีการที่จะผูกพันกระสันรัดกันไว้ได้อย่างพิสดารที่สุด แต่ก็งดงามอลังการที่สุดเช่นกัน
ที่มาภาพ: nydailynews.com
ภาพประกอบที่ดิฉันเลือกมานี้ เป็นเมนูอาหารที่จัดให้แขกวีไอพีในวันฉายรอบปฐมทัศน์หนัง Phantom Thread นอกจากภาพจะสวยและบ่งบอกอารมณ์ของเรื่องอย่างชัดเจนแล้ว ยังมีโลโก้ชื่อเรื่องที่ประทับใจดิฉันอย่างลึกล้ำตั้งแต่เห็นมันค่อยๆ ปรากฏบนจอหนังในตอนเริ่มเรื่อง วินาทีที่หางตัว t กับตัว h ยาวขึ้นๆ แล้วไปม้วนพันกันอย่างอ่อนช้อยราวกับลวดลายแฟชันชั้นสูง ประกอบกับดนตรีที่โหมประโคมอย่างยิ่งใหญ่แต่แฝงความลึกลับหลอกหลอน คือวินาทีที่หนังเรื่องนี้ได้ใจดิฉันไป อาหารที่จัดเลี้ยงตามเมนูนี้ คืออาหารที่ได้แรงบันดาลใจจากหนัง นับเป็นความเหนือชั้นของหนังจริงๆ ที่ให้ “อาหาร” มีบทบาทสำคัญพอๆ กับ “เสื้อผ้า” ในฐานะที่เป็นตัวแทนของการดึงรั้ง (เรียกอย่างบ้านๆ ว่า “ชักเย่อ”) ‘เส้นด้ายแห่งความสัมพันธ์’ กันไปมาระหว่างเรย์โนลด์สกับอัลม่า หญิงคนรัก แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นตัวแทนของการสอดร้อยเย็บตรึงเส้นด้ายให้เป็นหนึ่งเดียว
Phantom Thread เข้าชิงออสการ์ 6 สาขา ได้แก่ ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ผู้กำกับยอดเยี่ยม นักแสดงนำชายยอดเยี่ยม นักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยม (เลสลีย์ แมนวิลล์ ผู้รับบทพี่สาวของเรย์โนลด์ส ตัวละครที่ดิฉันชอบที่สุดในหนังเรื่องนี้ 555) ดนตรีประกอบยอดเยี่ยม (โดย จอนนี กรีนวูด มือกีตาร์และคีย์บอร์ดวง Radiohead ผู้ประพันธ์เพลงประกอบภาพยนตร์ให้ พอล โทมัส แอนเดอร์สัน มาแล้วหลายเรื่อง) และออกแบบเครื่องแต่งกายยอดเยี่ยม อันเป็นสาขาเดียวที่ชนะไป แต่ในใจของดิฉัน การแสดงของแดเนียล เดย์-ลูวิส คู่ควรที่สุดกับออสการ์ตัวที่ 4 และดนตรีประกอบของจอนนี กรีนวูด ก็ยังคงหลอกหลอนตราตรึงอยู่จนทุกวันนี้ ประดุจ “เส้นด้ายปิศาจ” ที่แม้จะมองไม่เห็นแต่ก็มีพลังอำนาจอยู่จริง
สรุป: จ่าย 140 ได้กลับมา 247
โดย ปวิวัณณ์ คำเจริญ
26 มีนาคม 2561
(ขอบคุณภาพปกจาก enthuse.ca)