ดูหนังอย่างคนเบี้ยน้อยหอยน้อย 150; ดู Professor Marston and the Wonder Women หรือชื่อไทย “กำเนิดวันเดอร์วูแมน”
วันเดอร์วูแมนไหน? ก็เจ๊ไดอานา พรินซ์ แห่งจักรวาลดีซีนั่นล่ะฮ่ะ นางถือกำเนิดขึ้นจากการสร้างสรรค์ของศาสตราจารย์วิลเลียม โมลตัน มาร์สตัน ผู้แต่งคอมิกส์เรื่อง Wonder Woman โดยใช้นามปากกาว่า ‘ชาร์ลส์ โมลตัน’ วันเดอร์วูแมนเปิดตัวครั้งแรกในเดือนธันวาคม 1941 (พ.ศ. 2484) และฮ็อตฮิตติดลมบนทันที จนกระทั่งไม่กี่ปีต่อมาขณะกำลังเป็นที่นิยมสูงสุด คอมิกส์เรื่องนี้ก็ถูกสมาคมการศึกษาเด็กแห่งอเมริกาโจมตีว่านำเสนอความรุนแรงและแฝงไว้ด้วยเรื่องกามวิตถาร จึงมีการเรียกร้องให้กวาดล้างและเผาหนังสือทิ้ง #เหมือนข้อหาที่วรรณคดีไทยเคยโดนเปี๊ยบเลย
โปรเฟสเซอร์มาร์สตันไม่ได้มีชื่อเสียง (และชื่อเสีย) แค่กับเรื่อง Wonder Woman เท่านั้น เพราะก่อนจะมาแต่งคอมิกส์ ท่านเคยเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยและนักวิชาการด้านจิตวิทยาชื่อดัง เป็นผู้คิดค้นทฤษฎีจิตวิทยาพฤติกรรมที่ได้รับการยอมรับและนำไปประยุกต์ใช้อย่างแพร่หลายในทุกวงการจวบจนปัจจุบัน เรียกชื่อว่า DISC Theory ย่อมาจากลักษณะพฤติกรรมมนุษย์ซึ่งแบ่งออกเป็น 4 รูปแบบ ได้แก่ Dominance (ควบคุม) Inducement (โน้มน้าว) Submission (โอนอ่อน) Compliance (ยินยอม) เป็นผู้เขียนหนังสือ Emotions of Normal People (ลักษณะอารมณ์ของคนปกติ) ซึ่งเป็นที่ฮือฮามากในสมัยนั้น เนื่องจากนักวิชาการมักจะสนใจศึกษาคนที่จิตไม่ปกติมากกว่า จนลืมไปว่าการทำความเข้าใจคนปกติธรรมดาทั่วไปนี่แหละเป็นเรื่องสำคัญสำหรับทุกคนจริงๆ นอกจากนี้ ท่านยังเป็นผู้ประดิษฐ์เครื่องจับเท็จเป็นคนแรกของโลกด้วย ซึ่งเครื่องดังกล่าวก็ยังคงเป็นอุปกรณ์สำคัญในการสอบสวนหาตัวผู้กระทำผิดในคดีความต่างๆ ตราบจนทุกวันนี้ อย่างไรก็ดี ชื่อเสียงทั้งหมดทั้งมวลของท่านก็ต้องกลับกลายเป็นชื่อเสีย เมื่อท่านถูกเปิดโปงว่าใช้ชีวิตอยู่กินกับภรรยาและชู้รักในบ้านเดียวกัน โดยมีความสัมพันธ์ทางเพศแบบสามคน ซึ่งเป็นเรื่องที่วิปริตวิตถารอย่างยิ่งตามบรรทัดฐานของสังคมสมัยนั้น
ภรรยาทั้งสองของโปรเฟสเซอร์มาร์สตัน มีลักษณะนิสัยแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง ภรรยาที่แต่งงานกันอย่างถูกต้องตามกฎหมาย มีชื่อว่า เอลิซาเบธ มาร์สตัน เป็นนักวิชาการผู้ห้าวหาญ แสบสัน และสนุกสนานเฮฮา ส่วนภรรยาน้อยมีชื่อว่า โอลีฟ เบิร์น เป็นสาวสวยอ่อนหวานน่ารักและมีแรงดึงดูดทางเพศสูง แต่ทั้งสองก็มีสิ่งที่เหมือนกัน คือเป็นคนฉลาดมากๆ มีความเก่งกล้าสามารถหลายอย่าง และเป็นเฟมินิสต์ระดับปรมาจารย์ โปรเฟสเซอร์มาร์สตันจึงรักเทิดทูนภรรยาทั้งสองอย่างที่สุด และสร้างตัวละครวันเดอร์วูแมนขึ้นมาโดยได้แรงบันดาลใจจากทั้งสองท่าน ผู้เป็น “สาวน้อยมหัศจรรย์” ตัวจริง
ที่มาภาพ: imdb.com
หนัง Professor Marston and the Wonder Women (โปรดสังเกตว่า women เป็นพหูพจน์) สร้างมาจากเรื่องจริงที่กล่าวมาข้างต้น ซึ่งปัญญาหางอึ่งอย่างดิฉันคิดไม่ออกเลยว่า การทำหนังว่าด้วยจุดกำเนิดของตัวละครซูเปอร์ฮีโร่ในคอมิกส์โดยมีทุกสิ่งทุกอย่างที่กล่าวมาข้างต้นอยู่ในหนังด้วย มันจะทำออกมาอีท่าไหน ดิฉันจึงขอกราบแทบตักคุณแองเจลา โรบินสัน ผู้กำกับ-เขียนบทรัวๆ เพราะแกผูกเรื่องโดยใช้กลวิธีที่ชาญฉลาดมาก
กลวิธีที่ว่าก็คือ ใช้เหตุการณ์ที่ดูเหมือนจะนำไปสู่ ‘จุดจบ’ ของคอมิกส์ Wonder Woman เป็นแกนของเรื่อง แล้วตัดสลับกับเหตุการณ์ที่นำไปสู่ ‘จุดกำเนิด’ ของคอมิกส์ เหตุการณ์ที่เป็นแกน ได้แก่การที่โปรเฟสเซอร์มาร์สตันถูกสมาคมการศึกษาเด็กสอบสวนเกี่ยวกับการนำเสนอความรุนแรงแฝงเรื่องเซ็กส์ในหนังสือ ส่วนเหตุการณ์ที่นำมาตัดสลับ ก็คือภาพย้อนอดีตเกี่ยวกับเรื่องราวของโปรเฟสเซอร์มาร์สตันและภรรยาทั้งสอง อันนำไปสู่การก่อกำเนิดคอมิกส์ โดยตัดสลับอย่างสอดคล้องกับการสอบสวนในเหตุการณ์ที่เป็นแกน
ส่วนทฤษฎี DISC หนังสือ Emotions of the Normal People และเครื่องจับเท็จ เป็นสิ่งที่สอดประสานอยู่ในโครงเรื่องหลักข้างต้น ทำหน้าที่เชื่อมร้อยเหตุการณ์ที่เป็นแกนกับเหตุการณ์ที่ตัดสลับอีกชั้นหนึ่ง แล้วก็เชื่อมร้อยซึ่งกันและกันอีกที ดังนั้น การผูกเรื่องของหนังเรื่องนี้จึงนับว่าซับซ้อนทีเดียว แต่แม้จะผูกซ้อนกันหลายชั้นขนาดนั้น ก็ไม่ได้ทำให้เรางุนงง หรือสงสัยว่า ‘เมิงจะทำแบบนี้ไปทำไม’ แม้แต่น้อย มีแต่ความสนุก ความเข้าใจ ความกระจ่าง โดยไม่คาดคิดเลยว่าหนังเรื่องหนึ่งจะเปิดตาเปิดใจเราขนาดนี้ได้
ดิฉันไม่ค่อยได้ดูหนังที่ ลูค อีแวนส์ รีเบกกา ฮอลล์ และเบลลา ฮีธโคต แสดงเท่าไหร่ จึงไม่กล้าพูดว่า บทโปรเฟสเซอร์มาร์สตัน เอลิซาเบธ และโอลีฟ เป็นบทบาทการแสดงที่ดีที่สุดของทั้งสาม ทั้งที่จริงๆ แล้วอยากจะพูดแบบนั้นมาก เพราะงานนี้ถ้าแสดงไม่ดีก็ล่มสถานเดียว เนื่องจากมันหมิ่นเหม่ล่อแหลมด้วยประการทั้งปวง โดยเฉพาะอย่างยิ่งบทโอลีฟ ซึ่งเป็นเด็กสาวใสซื่อบริสุทธิ์แต่มีรสนิยมทางเพศกว้างใหญ่ไพศาล แบบได้ทั้งชายหญิง ทั้งแบบสองคนและสามคน มีอุปกรณ์เสริมต่างๆ แถมแต่งคอสเพลย์ด้วย ลองคิดดูว่าถ้าแสดงออกไม่พอเหมาะพอดีจะหายนะเพียงใด แล้วทั้งหมดนี้เป็นรายละเอียดที่สำคัญอีกต่างหาก เพราะเป็นที่มาขององค์ประกอบต่างๆ ในคอมิกส์ เช่นเครื่องแต่งกายของวันเดอร์วูแมน และ “บ่วงแห่งสัจจะ” อาวุธของนาง ซึ่งถ้าร้อยรัดผู้ใด ผู้นั้นจะพูดแต่ความจริง (ได้แรงบันดาลใจจากเครื่องจับเท็จ กับ…เอิ่ม…เชือก #นั่นแหละ) แต่ด้วยการแสดงที่ล้ำเลิศประกอบกับการนำเสนอที่ประเสริฐ ทำให้ทุกอย่างออกมางดงามเป็นที่สุด ดูเป็นธรรมชาติของมนุษย์ที่ ‘ปกติ’ อย่างยิ่ง
ปกติ จนเราต้องทบทวนคำว่า “ปกติ” อีกครั้ง และพบว่าเราไม่สามารถนิยามมันอย่างตื้นเขินได้อีกต่อไป
สรุป: จ่าย 140 ได้กลับมา 340
หมายเหตุ: หนังฉายที่ House RCA ที่เดียว จะออกแล้วจ้า รีบมาดูเร้วววว นี่ดิฉันเพิ่งจะได้ไปดู ดีใจน้ำตาปริบ
โดย ปวิวัณณ์ คำเจริญ
11 ธันวาคม 2560
(ขอบคุณภาพปกจาก aintitcool.com)