ดูหนังอย่างคนเบี้ยน้อยหอยน้อย 169; ดู Ready Player One หนังสดุดีป็อปคัลเจอร์ที่เรารัก

คำว่า Pop Culture นี้ ย่อมาจาก Popular Culture หมายถึงวัฒนธรรมที่เป็นที่นิยมของคนส่วนใหญ่ในสมัยนั้นๆ มีศัพท์บัญญัติอย่างเป็นทางการว่า “วัฒนธรรมประชานิยม” แต่หลายๆ ตำราก็ใช้ว่า “วัฒนธรรมสมัยนิยม” หรือ “วัฒนธรรมกระแสนิยม” หรือใช้ทับศัพท์ว่า “วัฒนธรรมป็อป” ไปเลย คำว่า “ป็อปคัลเจอร์” ถือกำเนิดขึ้นมาพร้อมกับการประเมินค่าว่าเป็น “วัฒนธรรมชั้นต่ำ” ซึ่งตอบสนองรสนิยมโหลๆ ของประชาชนคนบ้านๆ ที่มีการศึกษาน้อย แต่เมื่อเวลาผ่านไปก็เป็นที่ยอมรับมากขึ้นว่า ป็อปคัลเจอร์ก็มีคุณค่าในตัวเอง และเป็นเครื่องสะท้อนความนิยมแห่งยุคสมัยหรือความเป็นไปของสังคมได้ นัยความหมายของคำนี้จึงไม่ต่ำเตี้ยเรี่ยดินแบบสมัยก่อนแล้ว ทั้งหมดนี้เล่าไปงั้นแหละ แล้วไงใครแคร์ เพราะดิฉันและคนทั้งบ้านทั้งเมืองก็เกิดและเติบโตมากับป็อปคัลเจอร์ด้วยกันทั้งนั้น ต่อให้ชื่นชมวัฒนธรรมชั้นสูงแค่ไหนก็ปฏิเสธความรักที่มีต่อป็อปคัลเจอร์ไม่ได้อยู่ดี

เมื่อปี 2011 (พ.ศ. 2554) มีนวนิยายอเมริกันเรื่องหนึ่งพูดถึงป็อปคัลเจอร์ได้อย่างสร้างสรรค์มากๆ ผู้แต่งคือ เออร์เนสต์ ไคลน์ ซึ่งตอนนั้นอายุ 39 เติบโตขึ้นมากับป็อปคัลเจอร์ยุค 1980s และชื่นชอบมันถึงขั้นหลงใหลคลั่งไคล้ แต่แทนที่เขาจะเขียนนิยายย้อนยุคไปในช่วงนั้น กลับให้เรื่องราวเกิดขึ้นในอนาคตช่วงยุค 2040s ซึ่งสังคมล่มสลายจนคนเลือกที่จะหลีกหนีชีวิตจริงสุดเหียกไปใช้ชีวิตในโลกเสมือนจริง แล้วเล่นเกมออนไลน์อันประกอบขึ้นจากป็อปคัลเจอร์ยุค 80s ที่ซ่อนปริศนาบางอย่างไว้ หากใครไขปริศนาได้ก็จะได้รับรางวัลมหาศาล นวนิยายเรื่องนี้ชื่อ Ready Player One (คือประโยคเริ่มต้นวิดีโอเกมซึ่งบอกให้ผู้เล่นคนที่ 1 เตรียมพร้อม) เป็นนวนิยายขายดีที่สุดในปี 2011 ได้รับการแปลเป็นภาษาต่างๆ กว่า 30 ภาษา ฉบับแปลไทยชื่อ “สมรภูมิเกมซ้อนเกม” โดย อมรรัตน์ อาศิรวาท หนัง Ready Player One สร้างมาจากหนังสือเล่มนี้ มีเออร์เนสต์ ไคลน์ เจ้าของบทประพันธ์มาร่วมเขียนบท ขยายขอบเขตป็อปคัลเจอร์ให้ครอบคลุมตั้งแต่ยุค 1970s มาจนถึงปัจจุบัน กำกับโดยสตีเวน สปีลเบิร์ก ผู้มีบทบาทในการสร้างสรรค์ป็อปคัลเจอร์ให้แก่ชาวโลกมาตลอด 5 ทศวรรษ

โลกเสมือนจริงแบบที่เราเห็นในหนัง เป็นเทคโนโลยีที่มีการพัฒนามากว่า 50 ปีแล้ว เพื่อใช้ประโยชน์ในวงการต่างๆ เทคโนโลยีนี้เรียกว่าวีอาร์ (VR) ย่อมาจาก Virtual Reality ภาษาไทยเรียกว่า “ระบบเสมือนจริง” หรือ “เทคโนโลยีความเป็นจริงเสมือน” เป็นการใช้คอมพิวเตอร์สร้างสภาพแวดล้อมเสมือนจริงแล้วให้คนเข้าไปอยู่ในนั้นโดยใช้อุปกรณ์เชื่อมต่อ เช่น แว่นตาอันใหญ่เหมือนแว่นดำน้ำ ทำให้มองเห็นและสัมผัสโลกเสมือนจริงดังกล่าวราวกับว่าได้เข้าไปอยู่ในนั้นจริงๆ เราจะไม่รู้สึกถึงโลกจริงเลยตราบใดที่ยังเชื่อมต่อกับวีอาร์

ใน Ready Player One โลกเสมือนจริงซึ่งประชาชนใช้เป็นที่หลีกหนีจากความจริงอันเลวร้าย มีชื่อว่า “โอเอซิส” สร้างขึ้นโดย เจมส์ ฮัลลิเดย์ ผู้คนเข้าไปอยู่ในโอเอซิสผ่านตัวละครที่เรียกว่า แอวะทาร์ (Avatar) คำนี้นักเล่นเกมและเซียนคอมพิวเตอร์คงจะรู้จักดี ที่จริงมันก็มาจากคำว่า “อวตาร” ซึ่งไทยเรายืมมาจากภาษาสันสกฤตนั่นแหละ ความหมายของอวตารคือ “แบ่งภาคมาเกิดในโลก” ใช้เมื่อเทพเจ้าลงมาเกิดในโลกมนุษย์เพื่อทำภารกิจบางอย่าง โดยที่ ‘ภาคใหญ่’ ของท่านก็ยังเป็นเทพอยู่บนสวรรค์ตามเดิม ตัวอย่างเช่น พระนารายณ์อวตารเป็นพระราม เพื่อมาปราบทศกัณฐ์ แต่พระนารายณ์ที่เป็นเทพก็ยังอยู่ (ต่างจาก “จุติ” ซึ่งหมายถึงตายจากความเป็นเทพไปเลย ถ้าเทพจุติมาเป็นคน ก็แสดงว่าไม่มีเทพองค์นั้นอีกแล้ว) ทีนี้ฝรั่งก็ยืมคำ “อวตาร” ไปใช้บ้าง เพื่อหมายถึงตัวละครสมมุติที่เราใช้แทนตัวจริงของเรา ดังนั้น ถึงเราจะไม่ใช่เทพแต่ก็มีอวตารเป็นของตัวเองได้ ข้อนี้ดิฉันเพิ่งเข้าใจชัดตอนที่ดูหนังเรื่อง Avatar ของเจมส์ แคเมรอน

กลับมาที่โอเอซิส 555 แรกสร้างนั้นโอเอซิสไม่มีเกมหรือการแข่งขันอะไร แต่หลังจากฮัลลิเดย์เสียชีวิตลง ก็มีการประกาศพินัยกรรมของแก ความว่า แกได้ซ่อนไข่อีสเตอร์ใบหนึ่งไว้ในโอเอซิส ถ้าใครสามารถหากุญแจ 3 ดอก ซึ่งซ่อนอยู่ในโอเอซิสเช่นกัน แล้วใช้กุญแจนั้นไขประตูไปเอาไข่อีสเตอร์ได้ ก็จะเป็นผู้ชนะ รางวัลที่จะได้รับคือการได้เป็นเจ้าของโอเอซิสต่อจากแก คำว่า “ไข่อีสเตอร์” หรือ Easter Egg นี้ เดิมทีก็หมายถึงไข่ที่เขาระบายสีสวยๆ แล้วเอาไปซ่อนตามที่ต่างๆ ให้เด็กๆ แข่งกันหาในเทศกาลอีสเตอร์ เพื่อเฉลิมฉลองที่พระเยซูคืนพระชนมชีพหลังจากถูกตรึงกางเขน ต่อมาก็มีการนำคำนี้มาใช้เรียกสิ่งที่ซ่อนไว้ในวิดีโอเกมเพื่อให้ผู้เล่นค้นหา ไม่ได้หมายความว่าหาเจอแล้วจะชนะ แต่ถ้าเจอเราจะฟินาเล่ทางอารมณ์อย่างมาก ปัจจุบันไม่ใช่แค่ในเกมอย่างเดียว แต่สิ่งที่ซ่อนไว้ในสื่ออื่นๆ เช่น ภาพยนตร์ เขาก็เรียก “ไข่อีสเตอร์” อย่างหนังในจักรวาลมาร์เวลก็มีไข่อีสเตอร์เยอะแยะเพื่อจะสื่อถึงเรื่องต่อๆ ไป ใครไม่เห็นก็ไม่มีปัญหาอะไร ก็ยังคงดูรู้เรื่องและสนุก แต่ถ้าใครเห็นก็จะฟินเฟร่อ เมาท์มอยหอยกาบกันได้อย่างเมามันส์

กลับมาที่โอเอซิสอีกที 55555 หลังจากฮัลลิเดย์ประกาศพินัยกรรมดังกล่าวแล้ว ‘เกมล่าไข่’ ก็เปิดฉากขึ้นอย่างดุเดือด ความเหนือชั้นของเกมนี้ก็คือ มันเป็น ‘ไข่ซ้อนไข่’ อธิบายได้ว่า ผู้เล่นต้องหาไข่อีสเตอร์โดยเอากุญแจ 3 ดอกไปไข แต่การจะได้มาซึ่งกุญแจ ก็ต้องแข่งขันในด่าน 3 ด่านให้ชนะก่อน ซึ่งปรากฏว่าทั้ง 3 ด่านมี ‘ไข่อีสเตอร์เล็กๆ’ อยู่เต็มไปหมดเลย ไข่เล็กๆ ที่ว่าก็คือป็อปคัลเจอร์ทั้งหลายทั้งปวง ไม่ว่าจะเป็นหนัง รายการทีวี เพลง ของเล่น อะนิเมะ คอมิกส์ วิดีโอเกม และรายละเอียดต่างๆ ที่อยู่ในนั้น เช่น ตัวละคร เสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย ข้าวของเครื่องใช้ เป็นร้อยๆ สิ่ง ซึ่งหลายๆ สิ่งก็นำไปสู่การไขปริศนาเพื่อให้ได้ครอบครอง ‘ไข่อีสเตอร์ใหญ่’ ทั้งหมดนี้เป็นอะไรที่สนุกชิบเผง ดิฉันเองไม่มีปัญญาเก็บไข่เล็กๆ ได้ครบถ้วนหรอก ไม่ได้เป็นเซียนป็อปคัลเจอร์ขนาดนั้น แต่ก็ยังสนุกสนานเต็มพิกัดอยู่ดี เพราะลำพังการต่อสู้ของตัวละครเพื่อจะไปให้ถึงไข่ใหญ่ก็มันส์มากๆ อยู่แล้ว #อย่าเพิ่งเมาไข่ดิฉันนะคะ

ที่มาภาพ: showtimes.com

เห็นโปสเตอร์นี้หลายๆ ท่านคงจะงงกันละซี้!! นี่คือโปสเตอร์ที่ทำขึ้นเพื่อสดุดีหนังป็อปๆ ในอดีต โดยนำอวตารของตัวละครใน Ready Player One มาแทนที่ตัวละครในโปสเตอร์หนังที่เป็นต้นแบบ โปสเตอร์ชุดนี้มีทั้งหมด 11 แบบ จากหนัง 11 เรื่อง แบบที่ดิฉันเลือกมานี้ มาจากหนังเรื่อง The Lost Boys เมื่อปี 1987 เป็นหนังเกี่ยวกับแก๊งแวมไพร์ ซึ่งดิฉันเปิดเจอในทีวีเมื่อหลายเดือนก่อนแล้วก็ต้องนั่งดูจนจบเพราะสนุกมาก

ส่วนอวตารทั้ง 5 ตัวในโปสเตอร์ ก็คือพระเอกนางเอกและเพื่อนอีก 3 คนผู้เข้าแข่งขันล่าไข่ ไม่ต้องกลัวว่าจะเห็นแต่หน้าหลอนๆ ของพวกมัน เพราะครึ่งหนึ่งของเรื่องราวในหนังเกิดขึ้นในโลกจริง ซึ่งโฉมหน้าที่แท้จริงของทั้งห้านั้น โอ้วววว ไปดูกันเอาเองนะก๊าาาา

สุดท้าย ดิฉันก็ได้ประจักษ์ว่า การจะสดุดีอะไรก็ตาม ไม่จำเป็นเลยที่เราจะต้องมานั่งสรรเสริญว่ามันดีอย่างนั้นดีอย่างนี้ หากอยากให้คนได้ซาบซึ้งในคุณค่าของมันอย่างที่มันเป็นจริงๆ ก็แค่หยิบยกมันขึ้นมาอยู่ในที่ที่เหมาะที่ควรเท่านั้นเอง

สำคัญที่สุด หนังเรื่องนี้มิได้ส่งเสริมให้เราตัดขาดจากความจริงไปจมจ่อมอยู่แต่ในเกมหรือในโลกเสมือนจริงแม้แต่น้อย ไม่เชื่อก็ดูคำโปรยสิคะ

A better reality awaits.

ความเป็นจริงที่ดีกว่า รอเราอยู่

#เขียนแปะข้างฝากันเร้วววว

สรุป: จ่าย 220 (ดูวันหยุดที่ห้างสรรพสินค้าใกล้บ้าน) ได้กลับมา 252

โดย ปวิวัณณ์ คำเจริญ

21 เมษายน 2561

(ขอบคุณภาพปกจาก imdb.com)