ที่มารูป: www.poets.org

ไม่ต้องสงสัยเลยว่าชื่อวิลเลียม เชกสเปียร์ เป็นที่รู้จักกันดีของนักอ่านทั่วไปว่า เป็นชื่อของกวีชาวอังกฤษผู้เรืองนามในสมัยเอลิซาบีธัน (ค.ศ. ๑๕๕๘ – ค.ศ. ๑๖๐๓) รวมถึงเป็นกวีเอกของโลกคนหนึ่งด้วย หลายคนอาจจะรู้จักเชกสเปียร์ดีกว่าในฐานะของผู้ประพันธ์บทละครอมตะหลายเรื่อง เช่น Romeo and Juliet, Twelfth Night, Hamlet, Macbeth, A Midsummer Night’s Dream เป็นต้น แต่นอกเหนือจากผลงานในรูปแบบบทละครแล้ว งานประพันธ์อีกรูปแบบหนึ่งที่ทำให้เชกสเปียร์เป็นขวัญใจผู้รักวรรณกรรมอังกฤษอย่างมาก ได้แก่ ซอนเน็ต (Sonnet บทกวี ๑๔ บรรทัด) โดยเฉพาะซอนเน็ตหมายเลข ๑๘ (Shall I compare thee to a summer’s day?) ซึ่งเป็นซอนเน็ตบทหนึ่งที่มีชื่อเสียงมากที่สุดในจำนวนซอนเน็ต ๑๕๔ บทของเชกสเปียร์ ซอนเน็ตหมายเลข ๑๘ นี้เป็นบทกวีที่ชาวตะวันตกส่วนใหญ่นิยมเลือกมาอ่านกันในงานพิธีสมรส เนื่องจากมีเนื้อความที่อ่านเข้าใจได้ไม่ยาก ใช้สำนวนโวหารเปรียบเทียบได้เด่นชัด และที่สำคัญที่สุดคือประเด็นการสร้างความเป็นอมตะ (Immortalisation) และความเหนือกาลเวลา (Timelessness) ซึ่งมักเป็นจินตนาการอุดมคติของความรักและการแต่งงานอยู่แล้ว

ที่มารูป: www.quaternaryinstitute.com

เกริ่นมาเสียเยอะ เกือบลืมไปว่าสิ่งที่จะนำเสนอจริงๆ คือซอนเน็ตอีกบทหนึ่งต่างหาก ฮ่าๆๆ

หากซอนเน็ตหมายเลข ๑๘ จะเป็นบทกวีที่ใช้บอกรักกันในงานแต่งงานแล้ว บทกวีที่น่าจะเหมาะกับชีวิต (จริง) หลังแต่งงาน ก็คงจะเป็นซอนเน็ตหมายเลข ๑๓๐ ดังความต่อไปนี้

ที่มารูป: www.quaternaryinstitute.com

SONNET 130

My mistress’ eyes are nothing like the sun;

Coral is far more red than her lips’ red;

If snow be white, why then her breasts are dun;

If hairs be wires, black wires grow on her head.

I have seen roses damask’d, red and white,

But no such roses see I in her cheeks;

And in some perfumes is there more delight

Than in the breath that from my mistress reeks.

I love to hear her speak, yet well I know

That music hath a far more pleasing sound;

I grant I never saw a goddess go;

My mistress, when she walks, treads on the ground:

And yet, by heaven, I think my love as rare

As any she belied with false compare.

ซอนเน็ตหมายเลข ๑๓๐

สองเนตรแห่งหนึ่งนางนี้                  มิเอี่ยมรุจี                        เช่นแสงแห่งดวงสุริยา

สีแดงแห่งกัลปังหา                       ยังสดสวยกว่า                   ชาดทาเรียวปากทรามวัย

หิมะสีขาวสุกใส                           แต่แล้วเหตุใด                   ถันนางจึงสีหม่นเทา

เมื่อพิศเรือนผมนงเยาว์                  ก็มิงามเงา                        หยิกยุ่งหยาบแห้งพันกัน

อันว่ากุหลาบบุษบัน                      มากมีสีสัน                        แดงเรื่อเจือขาวงามตา

ชำเลืองยลยอดยุพา                     สองแก้มกัลยา                   ยากหามาลีทวิรงค์

สุคนธรสปรุงองค์                         แต้มแต่งหลังสรง                หอมยวนอวลตรลบกำจาย

แต่ลมหายใจโฉมฉาย                   สูดพลันชีพวาย                  ยามสายเมื่อตื่นนิทรา

เมื่อนางเจื้อยแจ้วเจรจา                  เอ่ยถ้อยโอภา                   ข้าฟังด้วยความยินดี

แม้เสียงตีเป่าดีดสี                        ลำนำดนตรี                      ยังอาจไพเราะเสนาะกว่า

เหล่านางสวรรค์เทพธิดา                คงเคลื่อนกายา                  อวดองค์ระหงสง่างาม

พิศดูลีลานงราม                          ก้าวย่างทุกยาม                 วัดพื้นลื่นถลาร่ำไป

คำกวีอาจเปรียบสตรีใด                 เลิศล้ำอำไพ                     ข้าไม่เห็นตามเช่นนั้น

สายสวาทอาจไม่ครบครัน              แต่ข้ารักมั่น                       สุดหานางใดเทียบเทียมฯ

อ่านจบแล้วรู้สึกอย่างไรกันบ้าง เรียกได้ว่าซอนเน็ตหมายเลข ๑๓๐ นี้ เหมือนกับอยู่กันคนละขั้วกับซอนเน็ตหมายเลข ๑๘ เลยก็ว่าได้ เชกสเปียร์แต่งซอนเน็ตบทนี้โดยจงใจใช้สำนวนยั่วล้อขนบการใช้โวหารชมโฉมสตรีอย่างเกินจริง โดยแสดงให้เห็นภาพ “จริง” ของหญิงอันเป็นที่รักว่ามิได้สมบูรณ์แบบเป็นเสมือนเทพธิดา หากแต่มีข้อบกพร่องตามธรรมดามนุษย์อยู่มากมาย ไม่ว่าจะเป็นความที่ไม่งามล้ำเลิศเช่นนางงาม มีกลิ่นปาก เสียงไม่เพราะ กิริยาซุ่มซ่าม เป็นต้นทำให้ขณะที่อ่านซอนเน็ตบทนี้เราอาจจะต้องพลอยอมยิ้มไปกับความขี้เล่นช่างหยอกเย้าของเชกสเปียร์ก็เป็นได้ความไม่สมบูรณ์เหล่านี้

อาจจะเป็นเรื่องที่น่าขบขันในบทกวี แต่หากเป็นชีวิตจริงของเราที่ต้องประสบเองเล่า จะทำใจรับได้หรือไม่ โดยเฉพาะหลังจากแต่งงานกันแล้ว ข้อเสียบางอย่างที่เคยปกปิดไว้ได้เมื่อสมัยก่อนแต่งงานก็ถึงเวลาถูกเปิดเผย บางคนอาจจะขี้บ่น (มากกว่าเดิม) ขี้โมโห ชอบสุมจานชามไว้เยอะๆ แล้วล้างคราวเดียว ทำกับข้าวไม่อร่อย ขับรถช้า กินขนมบนที่นอน นอนกรน ตื่นสาย มีชั้นในตัวเก่งที่อายุมากกว่าสิบปี หรืออื่นๆ อีกสารพัดที่สุดแสนจะไม่ใช่คุณสมบัติอันเป็นอุดมคติ เมื่อลองนับข้อเสียของคู่ชีวิตของเราแล้ว นับไปนับมาอาจจะพานทำให้ท้อใจ (ที่ทำไมถึงได้นับไม่หมดเสียที) แต่ตามข้อสรุปใน couplet สองบรรทัดสุดท้ายของซอนเน็ตบทนี้ กวีกล่าวว่า ไม่ว่าเธอจะมีข้อบกพร่องที่คนอื่นอาจจะรับไม่ได้มากแค่ไหน เขาก็พร้อมจะยอมรับข้อบกพร่องนั้นๆ โดยกลับมองว่าเป็นเสน่ห์ และมองเธอว่าเป็นยอดสุดายาใจของเขาอยู่เสมอ

เท่านี้ยังไม่ถือว่าเชกสเปียร์เป็นกวีที่โรแมนติกที่สุดคนหนึ่งของโลกอีกหรือ

โดย Average Joe

29 กุมภาพันธ์ 2012