โดย Average Joe
27 กุมภาพันธ์ 2014
แม้จะไม่ได้เป็นหนังการ์ตูนหรือหนังผจญภัย แต่สิ่งที่ Saving Mr. Banks มีเหมือนกับหนังค่ายดิสนีย์เรื่องอื่นๆ ก็คือ แง่มุมในการมองโลกทางบวก ท่ามกลางความสับสนวุ่นวายและความโชคร้ายนานัปการในชีวิตของตัวละครต่างๆ ในเรื่อง และใน Saving Mr. Banks ก็พูดถึงตัวละครที่เต็มไปด้วยบาดแผลในใจจากวัยเด็ก ที่ต้องผ่านกระบวนการเผชิญหน้าและเอาชนะความเจ็บปวดนั้น เพื่อปลดปล่อยให้ตัวเองเป็นอิสระจากความรู้สึกผิดบาปด้วยประการทั้งปวง
ที่มารูป: http://www.impawards.com
พี แอล แทรเวิร์ส นักเขียนชาวออสเตรเลีย-อังกฤษ ผู้ให้กำเนิดแมรี่ ป๊อปปิ้นส์ พี่เลี้ยงเด็กผู้โด่งดัง เดินทางมาลอสแองเจลิส เพื่อเจรจาต่อรองกับราชาการ์ตูน วอลต์ ดิสนีย์ ในการเอาหนังสือสุดรักสุดหวงของเธอไปทำเป็นภาพยนตร์ ภารกิจหลักของดิสนีย์ก็คือ พยายามเกลี้ยกล่อม ตะล่อม โน้มน้าวให้แทรเวิร์สยินยอมเซ็นอนุมัติลิขสิทธิ์หนังสือให้เขานำมาสร้างหนังให้ได้ การ(ไม่)เจรจาเป็นไปอย่างกระอักกระอ่วน เพราะแทรเวิร์สเล่นค้านไปเกือบทุกไอเดียที่ทีมผู้สร้างอุตส่าห์คิดกันมา ตั้งแต่ห้ามทำเป็นหนังเพลง ห้ามมีตัวการ์ตูน และห้าม ดิ๊ก แวน ไดก์ แสดง (แต่ท้ายสุดดิสนีย์ก็ดื้อแพ่งทำทุกอย่างที่ห้ามมานั้น ฮ่าๆๆ)
ในขณะที่เราสนุกเพลิดเพลินไปกับการงัดข้อระหว่างสองลุงป้านี้ เรายังได้รับรู้ถึงปมในอดีตของแทรเวิร์ส ความทรงจำเกี่ยวกับพ่อ รวมถึงต้นกำเนิดของแมรี่ ป๊อปปิ้นส์ ที่หลายคน (รวมทั้งดิสนีย์) เคยเข้าใจว่าถูกส่งมาเพื่อช่วยเหลือเด็กๆ แต่ที่จริง แทรเวิร์สสร้างพี่เลี้ยงเด็กมหัศจรรย์คนนี้ขึ้นมาเพื่อ“ไถ่โทษ” และแก้ไขความรู้สึกผิดบาปในวัยเด็กของเธอเองต่างหาก
สิ่งที่ดิสนีย์พูดกับแทรเวิร์สในตอนท้าย แสดงให้เห็นว่า คนเราแต่ละคนล้วนมีเรื่องเลวร้ายในอดีต เพียงแต่เราสามารถเลือกได้ว่าจะให้อดีตอันเลวร้ายนั้นมากำหนดชีวิตตัวเองหรือไม่ ทั้งยังเลือกได้ว่าจะ “นำเสนอ” ให้คนอื่นจดจำหรือรู้จักเราในแง่ใด เช่นดิสนีย์ที่จริงๆ มีอดีตที่ไม่น่าพิสมัยกับพ่อของตัวเอง และก็แอบเป็นสิงห์อมควัน (ดิสนีย์เสียชีวิตด้วยมะเร็งปอด) แต่ยังคงภาพลักษณ์เป็นคุณลุงอารมณ์ดีไม่มีพิษภัยได้ ทั้งนี้ไม่ใช่เพื่อสร้างภาพ แต่เพื่อรักษาและถนอมน้ำใจผู้คนที่มองตัวเองเป็นบุคคลต้นแบบ (role model) ด้วย
อีกประเด็นคือเรื่องบทบาทของพ่อที่มีต่อลูก นอกจากพ่อของดิสนีย์ (ที่เรารับฟังเรื่องของเขาผ่านการเล่าของดิสนีย์เอง) เราได้เห็นเรื่องราวของพ่อ 3 คน (ที่ล้วนมีลูกสาว) หนึ่งคือพ่อของแทรเวิร์ส ที่เธอรักและบูชามากถึงกับเอาชื่อเขามาตั้งเป็นนามปากกา สองคือราล์ฟ คนขับรถประจำตัวของแทรเวิร์ส ที่มีลูกสาวพิการนั่งรถเข็น และสามคือตัวดิสนีย์เอง ที่สัญญากับลูกไว้ว่าจะเอาหนังสือที่ลูกชอบมาทำเป็นหนังให้ได้ พ่อทั้งสามคนแม้จะมีหน้าที่การงานต่างกัน แต่ในบทบาทของคนเป็นพ่อแล้ว ทุกคนต่างก็พยายามทำดีที่สุดเพื่อให้ลูกมีความสุข ไม่ละเลยแม้เพียงรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ โดยเฉพาะพ่อของแทรเวิร์สที่แม้จะขี้เหล้าจนทำให้การงานเละเทะไม่เป็นท่า แต่เขาก็เป็นฮีโร่และแรงบันดาลใจที่ดีให้ลูกได้
Emma Thompson โดดเด่นมากในบทแทรเวิร์ส ที่จู้จี้ ขี้บ่น เย็นชา ปากร้าย เอาแต่ใจ และ “เยอะ” ไม่แพ้มิแรนด้า พรีสต์ลีย์ ใน The Devil Wears Prada (2006) เลยเชียว (แต่ความร้ายกาจคงตามหลังมิแรนด้าอยู่หลายขุม) บทแทรเวิร์สเป็นบทที่มีสีสันและซับซ้อนอย่างมาก และป้าเอ็มก็ทำให้เราอมยิ้ม หัวเราะ และสะเทือนใจไปกับทุกเรื่องราวและการกระทำได้อย่างอยู่หมัด พอได้เห็นการแสดงชั้นเยี่ยมขนาดนี้แล้ว ก็ยังนึกเสียดายไม่หายที่ป้าเอ็มหลุดโผเข้าชิงออสการ์นำหญิงในปีล่าสุด เพราะนี่คือหนึ่งในการแสดงที่ดีที่สุดในช่วงหลายปีมานี้ของป้าเลยทีเดียว ส่วน Tom Hanks ที่แสดงเป็นดิสนีย์ ก็ทำได้ดีตามมาตรฐาน (แม้อีกบทบาทหนึ่งของลุงทอมในเรื่อง Captain Phillips จะเด่นกว่าก็ตาม —แต่ก็พลาดชิงออสการ์เช่นกัน T_T)
นักแสดงคนอื่นๆ ที่น่าชื่นชมก็ได้แก่ Paul Giamatti ในบทราล์ฟ โชเฟอร์อารมณ์ดีตลอดศก Colin Farrell ในบทพ่อที่แสนดี อบอุ่น ทว่าอ่อนแอของแทรเวิร์ส และหนูน้อย Annie Rose Buckley ในบท Ginty (แทรเวิร์สในวัยเด็ก) ที่สดใสร่าเริง ช่างคิดช่างจินตนาการ เด็ดเดี่ยวทว่าอ่อนไหว นับเป็นบทแจ้งเกิดที่ดีมากนะหนู
นี่คือหนังสำหรับทุกคน แม้ไม่ใช่แฟนหนังสือหรือหนัง Mary Poppins ก็ตาม
8.5/10 ครับ ^_^
ปล.1 Mary Poppins (1964) เข้าชิงออสการ์ถึง 13 สาขา และชนะ 5 สาขา รวมถึงนักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม (Julie Andrews) เพลงประกอบ และดนตรีประกอบด้วย
ปล.2 แม้ในหนังดูเหมือนแทรเวิร์สจะสงบศึกกับดิสนีย์ได้ แต่ในความเป็นจริง แทรเวิร์สเหวี่ยงใส่ดิสนีย์ในรอบปฐมฤกษ์ของหนัง Mary Poppins ส่วนดิสนีย์ก็แก้ปัญหาง่ายๆ ด้วยการเดินหนีเธอซะงั้น เหอๆๆ หลังจากนั้น แทรเวิร์สเลยแค้นฝังหุ่นด้วยการประกาศกร้าว ไม่ให้ใครหน้าไหนเอาตอนต่อของหนังสือไปดัดแปลงเป็นอะไรทั้งสิ้น
ปล.3 ชอบทุกฉากในออสเตรเลีย