ดูหนังอย่างคนเบี้ยน้อยหอยน้อย 183; ดู Shoplifters หนังญี่ปุ่นที่ประสบความสำเร็จสูงสุดในระดับนานาชาติประจำปีนี้ เพราะชนะรางวัลปาล์มทองคำอันเป็นรางวัลสูงสุดในเทศกาลภาพยนตร์เมืองกานส์ ทั้งยังได้รับคัดเลือกให้เป็นตัวแทนประเทศญี่ปุ่นเข้าชิงรางวัลออสการ์สาขาภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศยอดเยี่ยมด้วย นี่เดี๋ยวดิฉันจะไปสั่งทำป้ายไฟแล้วล่ะ เชียร์สุดใจ
ก็ทำไมจะไม่เชียร์ล่ะคะ นี่มันหนังของคุณพี่โคเรเอดะ ฮิโรคะสุ ผู้กำกับ เขียนบท และอำนวยการสร้างหนังที่ดิฉันรักที่สุดในชีวิต ก็คือเรื่อง Nobody Knows (ปี 2004) ซึ่งหลังจากโดนกะซวกใจไปครั้งนั้นแล้ว ไม่ว่าคุณพี่แกจะทำอะไรออกมา ดิฉันก็ดู ที่ผ่านมาเคยเมาท์ถึงหนังของแกไป 2 เรื่อง ได้แก่ After the Storm และ The Third Murder ในเบี้ยน้อย 074 และ 153 ตามลำดับ แล้วก็คงจะได้เมาท์ต่อไปอีกหลายๆ เรื่อง หลายๆ ปี เพราะพี่แกคงจะยังไม่หมดไฟง่ายๆ
ที่มาภาพ: imdb.com
Shoplifters อ่านว่า ช็อปลิฟเทอร์ส แปลว่า คนที่ขโมยของตามร้านค้า (เติม s ก็คือมีหลายคน) หนังมีชื่อภาษาญี่ปุ่นว่า “มังบิขิ คะโซะขุ” (万引き家族) “มังบิขิ” หมายถึงการขโมยของตามร้านค้า ส่วน “คะโซะขุ” แปลว่า ครอบครัว ก็หมายความว่าทั้งครอบครัวนั้นแหละดำรงชีพด้วยการลักขโมย ตอนที่ดิฉันเห็นโปสเตอร์หนัง เข้าใจว่าครอบครัวนี้มีพ่อ แม่ ยายหรือย่า แล้วก็มีลูกชายซึ่งนั่งตักพ่อ มีลูกสาวซึ่งแม่อุ้มอยู่ ส่วนผู้หญิงอีกคนอาจจะเป็นน้าหรืออาของเด็ก แต่พอไปดูจริงๆ ถึงได้รู้ว่าเข้าใจผิดหมดเลย เรื่องราวทั้งหมดของหนังถ้าจะเล่าโดยไม่สปอยล์ ก็คงจะเล่าได้แค่นี้ 555
ก็แล้วเรื่องนี้มันมีอะไรดี จึงจับอกจับใจผู้ชมทั้งชาวญี่ปุ่นและชาวต่างชาตินัก ดิฉันขอสรุปรวบยอดว่า มันเป็นเรื่องของครอบครัวซึ่งสมาชิกทุกคนอยู่ร่วมบ้านเดียวกัน มีความรักความผูกพันกัน ดูแลช่วยเหลือซึ่งกันและกัน นับว่าเป็นครอบครัวอบอุ่นตามอุดมคติ แต่พร้อมกันนั้น มันก็แหกกฎทุกอย่างของการเป็น ‘ครอบครัวที่ดี’ ตามมาตรฐานของสังคม ไม่ว่าจะเป็นกฎพื้นฐานเบื้องต้นซึ่งนิยามความเป็นครอบครัว กฎหมายซึ่งรักษาความเป็นระเบียบเรียบร้อยของสังคม และกฎศีลธรรมซึ่งจรรโลงสังคม แล้วที่ย้อนแย้งไปกว่านั้น ครอบครัวนี้ถือกำเนิดขึ้นมาจากความล่มสลายของสังคมเองนั่นแหละ แต่มันกลับก่อร่างสร้างบางอย่างที่เป็นปัจจัยสำคัญในการธำรงรักษาสังคม ทั้งๆ ที่ในอีกแง่มุมหนึ่ง มันก็บ่อนทำลายสังคมไปพร้อมๆ กัน การดำรงอยู่ของครอบครัวนี้จึงเป็นสิ่งที่ท้าทายทั้งต่อสมาชิกในครอบครัวเอง และต่ออำนาจหรือกลไกที่ใหญ่กว่าปัจเจก
ตั้งแต่ดูหนังของคุณพี่โคเรเอดะมา นับเรื่องนี้ก็เป็นเรื่องที่ 8 แล้ว ดิฉันว่านี่คือหนังที่สะท้อนปัญหาสังคมอย่างกว้างขวางและรุนแรงที่สุดของคุณพี่ เรียกได้ว่าตีแผ่แทบจะทุกปัญหา และครอบคลุมคนในสังคมทุกช่วงวัย แม่ดิฉันผู้ซึ่งไปดูหนังเรื่องนี้ด้วยกัน บอกดิฉันหลังจากดูจบว่า “รู้ไหมว่าปัญหาใหญ่ของญี่ปุ่นตอนนี้คืออะไร ก็ลักขโมยของตามห้างร้านนี่แหละ ซึ่งคนที่ทำก็คือคนแก่” ดิฉันก็เลยไปค้นข้อมูลดู แล้วก็พบว่าเป็นจริงอย่างที่แม่บอก แต่ไม่ใช่แค่คนแก่เท่านั้น คนวัยไหนก็ทำ แถมพ่อแม่ยังสอนลูกให้ทำด้วย ก็อย่างที่เรารู้ๆ กันว่าแม้ญี่ปุ่นจะเป็นประเทศที่ร่ำรวย เป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว แต่ก็ยังมีคนจำนวนมากที่ด้อยโอกาส ซึ่งแม่ดิฉันเรียกด้วยศัพท์หรูว่า “เข้าไม่ถึงสวัสดิการสังคม” เมื่อถึงที่สุดแล้ว คนเหล่านั้นก็ต้องดิ้นรนเพื่อให้มีชีวิตรอด หรือเพื่อตอบสนองความต้องการที่จะมีชีวิตที่ดี จนสังคมญี่ปุ่นสั่นคลอนง่อนแง่นดังที่เป็นอยู่
คุณพี่โคเรเอดะจับประเด็นปัญหานี้มาสำรวจลงลึกไปถึงฐานราก แล้วเผยให้เห็นถึงความเปราะบาง เสื่อมทราม ล่มสลาย ของสถาบันครอบครัวในญี่ปุ่น อันเป็นทั้งผลผลิตและเหตุปัจจัยของสภาพเศรษฐกิจและสังคมที่พิกลพิการ จนกระทั่งคนตัวเล็กตัวน้อยปลาซิวปลาสร้อยในสังคมต้องเกาะเกี่ยวกันไว้เพื่อความอยู่รอดทั้งทางกายทางใจ เหมือนกับปลาเล็กๆ ที่ไม่ต้องกลัวอันตรายอีกต่อไปเมื่อมารวมตัวกัน ในนิทานภาพเรื่อง Swimmy ของลีโอ ลีออนนี ซึ่งถูกอ้างถึงอยู่บ่อยๆ ในหนัง แต่แม้ว่าหนังจะสื่ออะไรที่แรงขนาดนี้ คุณพี่ก็ยังนำเสนอด้วยความละเมียดละมุนละไม ผ่านครอบครัวเล็กๆ ที่ขยายใหญ่ขึ้นและประคองชีวิตไปได้ด้วยการ ‘ลัก’ และความ ‘รัก’ ดังนั้น ชื่อไทยของหนังที่ตั้งไว้ว่า “ครอบครัวที่ลัก” จึงเป็นชื่อที่ทำให้ดิฉันอยากกราบคนตั้งสักสามที
ถ้าจะมีอะไรที่กวนใจดิฉันอยู่บ้าง ก็คือช่วงท้ายของหนังซึ่ง ‘สวัสดิการสังคม’ ยื่นมือเข้ามาถึงครอบครัวนี้ อันสืบเนื่องจากความรู้สึกผิดชอบชั่วดีที่ก่อตัวขึ้นในใจสมาชิกคนหนึ่งของครอบครัว ดิฉันว่าวิธีการช่วยเหลือและจัดการปัญหาที่หนังนำเสนอนั้น มันดูจงใจขยี้จนเกินจริง จนรู้สึกว่าเป็นไปได้หรือที่เขาจะแก้ปัญหากันแบบนี้ แต่ก็ยอมรับแหละว่าพอเป็นแบบนี้หนังมันปะทะเรามากกว่าแบบอื่น และนำพาเราไปสู่จุดที่หนังต้องการให้ไปถึงได้อย่างเด็ดขาดบาดหัวใจ
พอออกจากโรงหนัง แม่ดิฉันชวนกินข้าวที่ร้านอาหารแถวนั้น และเราก็ถกกันเกี่ยวกับหนังอย่างยาวนาน เป็นการถกที่ดิฉันลำเค็ญพอควร เพราะต้องพยายามกล้ำกลืนน้ำตาที่ตกค้างอยู่ในใจด้วย
คุยเสร็จ แม่สั่งว่า “ถ้าจะเขียนเบี้ยน้อยหอยน้อยเรื่องนี้ ต้องวิเคราะห์ให้ดีเลยนะ เพราะหนังมันลึกมาก”
ดิฉันตอบแม่ว่า “แม่ไม่ต้องห่วง เบี้ยน้อยหอยน้อยไม่วิเคราะห์”
ตอบไปแล้วก็มองหน้าแม่ รู้สึกว่าแม่มิได้นำพากับคำตอบนั้น
สรุป: จ่าย 140 ได้กลับมา 177
หมายเหตุ: เพียงไม่กี่วันหลังจากที่ดิฉันไปดูหนังเรื่องนี้ ก็ได้ทราบข่าวอันน่าใจหาย ว่าคุณคิขิ คิริน ปูชนียบุคคลด้านการแสดงของญี่ปุ่น หนึ่งในนักแสดงเจ้าประจำของคุณพี่โคเรเอดะ ผู้รับบทคุณย่าในหนัง Shoplifters ได้เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งเมื่อวันที่ 15 กันยายน 2561 สิริอายุ 75 ปี ก่อนหน้านี้ท่านปรารภว่า Shoplifters อาจจะเป็นหนังเรื่องสุดท้ายของท่าน แล้วก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ คอลัมน์ “ดูหนังอย่างคนเบี้ยน้อยหอยน้อย” ยังคงรำลึกถึงท่านด้วยความอาลัยยิ่ง และขอให้ดวงวิญญาณของท่านไปสู่สุคติในสัมปรายภพ
โดย ปวิวัณณ์ คำเจริญ
18 กันยายน 2561
(ขอบคุณภาพปกจาก imdb.com)