ดูหนังอย่างคนเบี้ยน้อยหอยน้อย 130; ดู Silence ผลงานการกำกับและร่วมเขียนบทของลุงมาร์ติน สกอร์เซซี มีชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์เมื่อต้นปี แต่เราเพิ่งได้ดู #ได้ดูก็ดีแล้วเหอะ
ที่มาภาพ: heartsandmindsbooks.com
หนัง Silence หรือชื่อไทยว่า “ศรัทธาไม่เงียบ” (ทำให้คิดถึง “อำมหิตไม่เงียบ” ชื่อไทยของ The Silence of the Lambs ยังไงไม่รู้ #เฮ้อ) สร้างจากนวนิยายอิงประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น เรื่อง 沈黙 (อ่านว่า จิมโมะกุ แปลว่า ความเงียบ) เล่าเรื่องของบาทหลวงโปรตุเกสซึ่งไปเผยแผ่ศาสนาคริสต์ที่ญี่ปุ่นในช่วงศตวรรษที่ 17 อันเป็นช่วงที่ญี่ปุ่นกำลังล้างบางศาสนาคริสต์ นวนิยายเรื่องนี้เขียนโดย เอ็นโด ชูสะกุ นักเขียนชาวญี่ปุ่นผู้เป็นคาทอลิก ตีพิมพ์ในปี 1966 (พ.ศ. 2509) แปลเป็นภาษาอังกฤษในชื่อ Silence (ความเงียบ) ในปี 1969 เคยสร้างเป็นหนังญี่ปุ่นในปี 1971 และหนังโปรตุเกสในปี 1997 มาแล้ว
คนญี่ปุ่นรู้จักศาสนาคริสต์มาตั้งแต่ปี 1549 (พ.ศ. 2092) เมื่อบาทหลวงฟรังซิสโก ฆาเบียร์ ชาวสเปน เข้ามาเผยแผ่ศาสนา หลังจากที่สเปนกับโปรตุเกสติดต่อค้าขายกับญี่ปุ่นมาแล้วประมาณ 6 ปี บาทหลวงท่านนี้มีชื่อเขียนตามภาษาอังกฤษว่า Francis Xavier เป็นคนแรกที่นำศาสนาคริสต์มาเผยแผ่ในอินเดีย ศรีลังกา มาเลเซีย จีน และญี่ปุ่น ท่านได้รับการประกาศให้เป็นนักบุญ (Saint) ในปี 1622 หลังจากเสียชีวิตได้ 10 ปี เราจึงรู้จักท่านในนาม เซนต์ฟรังซิส เซเวียร์ มาจนปัจจุบัน ชื่อโรงเรียนเซนต์ฟรังซีสเซเวียร์ กับโรงเรียนเซนต์ฟรังซีสซาเวียร์คอนแวนต์ ก็ตั้งขึ้นตามชื่อท่านนี่เอง
การเผยแผ่ศาสนาคริสต์ในญี่ปุ่นของบาทหลวงฆาเบียร์นับว่าประสบความสำเร็จมาก เพราะในเวลาไม่ถึง 50 ปี มีชาวญี่ปุ่นเปลี่ยนมานับถือศาสนาคริสต์ถึง 200,000 คน แต่พอมาถึงต้นคริสตศตวรรษที่ 17 ซึ่งเป็นยุคสมัยที่โชกุนตระกูลโทคุงาวะเรืองอำนาจ ก็ถึงจุดเปลี่ยน เพราะโทคุงาวะ อิเอะยะสึ โชกุนคนแรกของตระกูล ได้ประกาศห้ามเผยแผ่ศาสนาคริสต์ เนื่องจากเหตุผลด้านความมั่นคง
ล่วงมาถึงยุคสมัยของโชกุนคนที่ 2 คือ โทคุงาวะ ฮิเดะทาดะ ผู้เป็นบุตรของโทคุงาวะ อิเอะยะสึ ความหวาดระแวงชาติมหาอำนาจตะวันตกก็ทวีคูณขึ้นอีก ทำให้โชกุนประกาศขับไล่มิชชันนารีโปรตุเกสและปราบปรามชาวคริสต์ ในปี 1612 และ 1614 พอถึงปี 1620 ก็สั่งประหารชาวคริสต์ตายเป็นเบือ
ครั้นมาถึงโชกุนคนที่ 3 คือ โทคุงาวะ อิเอะมิทสึ บุตรของฮิเดะทาดะ ก็สานต่องานพ่อสร้างอย่างแข็งขัน โดยสั่งกวาดล้างชาวคริสต์ครั้งใหญ่ในปี 1624 และ 1629 ชาวคริสต์ในสมัยนั้นจึงต้องปิดบังไม่ให้ใครรู้ว่าเป็นคริสต์ ใช้ชีวิตอย่างหลบๆ ซ่อนๆ และไม่สามารถประกอบศาสนกิจได้เลย เพราะบาทหลวงถูกกวาดล้างไปหมดแล้ว หากทางการสงสัยว่าหมู่บ้านไหนนับถือคริสต์ ก็จะให้ชาวบ้านแต่ละคนเหยียบรูปพระเยซูเพื่อพิสูจน์ว่าไม่ใช่ชาวคริสต์ ใครไม่ยอมเหยียบก็จะถูกกักขัง ถูกทรมาน และในที่สุดก็ถูกฆ่า
แม้กระนั้น ชาวคริสต์จำนวนมากก็ยังยึดมั่นในศาสนาของตนอย่างเหนียวแน่น ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะนโยบายการปกครองของโชกุนโทคุงาวะ อิเอะมิทสึ นั่นเอง ที่ออกกฎหมายเพื่อจำกัดอำนาจของไดเมียว (เจ้าเมือง) ในปี 1635 ให้ไดเมียวมีข้อปฏิบัติต่างๆ ที่ทำให้สิ้นเปลืองเงินทองเยอะๆ จะได้ไม่สามารถสร้างความร่ำรวยและสะสมกำลังพลได้ ผลปรากฏว่าไดเมียวก็ไปเก็บภาษีจากประชาชนแทน เพราะก็ไม่รู้จะหาเงินที่ไหนมาปฏิบัติให้ได้ตามกฎหมายเหมือนกัน ไพร่ฟ้าญี่ปุ่นในตอนนั้นจึงอดอยากยากแค้นกันถ้วนหน้า ประชาชนคนรากหญ้าที่เป็นชาวนา ชาวประมง ทำมาหาได้เท่าไหร่ก็ต้องเอามาเสียภาษี ทั้งยังถูกกดขี่ข่มเหงรีดนาทาเร้นไม่หยุดหย่อน ดังนั้น เมื่อศาสนาคริสต์มาจุดประกายให้พวกเขามีความหวัง มีศรัทธา มีสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจ ชาวบ้านญี่ปุ่นจึงนับถือพระเจ้ากันอย่างยอมมอบกายถวายชีวิต
ในปี 1637 ความคับแค้นของชาวคริสต์ก็ระเบิดออกมาเป็นการก่อกบฏ เรียกกันว่า “กบฏชิมะบะระ” เพราะมีจุดเริ่มต้นจากการลุกฮือของชาวบ้านในแหลมชิมะบะระ เกาะคิวชู เพื่อต่อต้านโชกุนโทคุงาวะ โชกุนปราบกบฏด้วยกำลังทหาร ทำให้ชาวบ้านล้มตายเป็นจำนวนมาก และการต่อสู้ก็ยืดเยื้อไปเป็นปี กว่าโชกุนจะสามารถกวาดล้างกบฏชาวคริสต์ได้สำเร็จ นับเป็นช่วงเวลาที่มืดมนที่สุดแล้วสำหรับชาวคริสต์ในญี่ปุ่น เหตุการณ์ในหนัง Silence ก็เกิดขึ้นในช่วงนี้แหละจ้า #เข้าเรื่องในที่สุด
บาทหลวงเซบาสติโอ โรดริเกซ ชาวโปรตุเกส (แสดงโดย แอนดรูว์ การ์ฟิลด์) ตัดสินใจเดินทางไปญี่ปุ่น หลังจากได้ทราบข่าวว่าบาทหลวงคริสโตเวา เฟอร์เรรา (แสดงโดย เลียม นีสัน) อาจารย์ของเขา ซึ่งไปเผยแผ่ศาสนาที่ญี่ปุ่นก่อนหน้านี้ ได้ละทิ้งพระเจ้า เปลี่ยนไปนับถือพุทธมหายาน แถมยังมีลูกมีเมียเป็นชาวญี่ปุ่นด้วย บาทหลวงโรดริเกซไม่เชื่อเรื่องนี้ จึงตั้งใจจะไปตามหาบาทหลวงเฟอร์เรราด้วยตนเอง และปฏิบัติภารกิจเผยแผ่ศาสนาไปพร้อมกัน เขาจึงลักลอบเข้าญี่ปุ่นพร้อมด้วยบาทหลวงฟรังซิสโก การูเป (แสดงโดย อดัม ไดรเวอร์ ซึ่งหน้าเหมือนบาทหลวงโบราณเอี้ยๆ) โดยมีชาวญี่ปุ่นนามว่า คิชิจิโระ (แสดงโดย คุโบะซึกะ โยสึเกะ) เป็นผู้นำทาง (ภาษาอังกฤษที่พูดกันในเรื่องสมมุติว่าเป็นภาษาโปรตุเกสนะจ๊ะ)
เอ็นโด ชูสะกุ เขียนนวนิยายเรื่องนี้โดยอิงจากประวัติของบาทหลวงที่มีตัวตนอยู่จริง คือบาทหลวงคริสโตเวา เฟอร์เรรา ชาวโปรตุเกส กับบาทหลวงจูเซปเป เชียรา ชาวอิตาเลียน ผู้เป็นต้นเค้าของตัวละครบาทหลวงโรดริเกซ ดังนั้นถ้าใครเคยรู้เรื่องราวของบาทหลวงสองท่านนี้ ก็จะรู้ได้โดยไม่ต้องลุ้นว่าเรื่องราวของตัวละครทั้งสองใน Silence จะเป็นอย่างไร การลุ้นไปกับตัวละครเอกจึงอาจไม่ใช่ไฮไลต์ของเรื่อง แต่สิ่งที่ทำให้ต้องลุ้นสุดๆ ก็คือการต่อสู้กันทางความคิดความเชื่อ ซึ่งมีทั้งแบบบริสุทธิ์ใจและแบบมีวาระซ่อนเร้น อันทำให้หนังเรื่องนี้เป็นหนังที่สนุกมากๆ เรื่องหนึ่งสำหรับดิฉันเลยทีเดียว
อันที่จริง ใครๆ ก็น่าจะรู้ ว่าชาติมหาอำนาจตะวันตกใช้ศาสนาคริสต์เป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งในการล่าอาณานิคม โชกุนโทคุงาวะก็คงระแวง จึงดำเนินการปราบปรามชาวคริสต์อย่างโหดเหี้ยม สิ่งนี้ทำให้เห็นได้ว่า ในมุมของชนชั้นผู้นำ ศาสนาผูกติดกับการเมืองการปกครองเสมอ การต่อสู้กันทางความคิดความเชื่อระหว่างชนชั้นผู้นำของญี่ปุ่น กับบาทหลวงโปรตุเกสผู้ (อาจจะ) มีเจตนาบริสุทธิ์ที่จะช่วยคนให้พ้นทุกข์จริงๆ โดยไม่มีเป้าประสงค์ทางการเมือง จึงเป็นการ “พูดคนละเรื่องเดียวกัน” โดยแท้ นั่นทำให้การปะทะกันทางความคิดความเชื่อในหนัง มีแง่มุมเหลี่ยมคมที่ทำให้เราสามารถตีความได้หลายระดับ และห้ามเข้าใจเอาง่ายๆ เป็นอันขาดว่ามันคือความขัดแย้งทางศาสนาอย่างเพียวๆ
หนังตั้งประเด็นเกี่ยวกับศรัทธาที่ถูกท้าทายได้อย่างเข้มข้นและบีบคั้นหัวใจเป็นที่สุด ทำให้ต้องถามตัวเองอยู่ตลอดเวลาว่าทางออกที่ดีที่สุดในสถานการณ์เช่นนี้คืออะไร และแม้ผู้เขียนนวนิยายกับผู้สร้างหนังเรื่องนี้จะเป็นชาวคริสต์ แต่หนังกลับตั้งคำถามให้ชาวคริสต์ได้ทบทวนตัวเองและศรัทธาของตนอย่างหนักหน่วง ซึ่งทำให้ผู้ชมที่นับถือศาสนาอื่นอย่างดิฉัน ได้พลอยทบทวนความคิดความเชื่อของตัวเองไปด้วย คิดไปคิดมาก็แอบรู้สึกโชคดี ที่อย่างน้อยๆ ก็ได้อยู่ในประเทศที่ให้สิทธิเสรีภาพในการนับถือศาสนามาตลอด แม้ว่าจะเป็นประเทศที่มีอะไรบ้าๆ บอๆ ขาดๆ เกินๆ ไปบ้างก็ตาม
(ที่มาภาพ: the-cinema.net)
การแสดงของน้องแอนดรูว์ การ์ฟิลด์ ขึ้นหิ้งไปอยู่กับน้าเลียม นีสัน แล้วเรียบร้อย ควรค่าแก่การปฏิบัติบูชาเป็นอย่างยิ่ง ฝั่งนักแสดงญี่ปุ่นก็ยอดเยี่ยมไม่แพ้กัน ถ้าออกชื่อ เชื่อว่าหลายๆ ท่านน่าจะคุ้นๆ อยู่บ้างแม้จะไม่ค่อยได้ติดตามหนังและละครญี่ปุ่นมากนัก อย่างคุโบะซึกะ โยสึเกะ ที่เอ่ยถึงไปแล้ว ก็คือพระเอกดังในอดีตจากหนังเรื่อง Ping-Pong และละครเรื่อง Long Love Letter (มหัศจรรย์ (รัก) ทะลุมิติ) ส่วนชายวัยกลางคนที่จรดหน้าผากกับแอนดรูว์ การ์ฟิลด์ ในภาพ ก็คือทสึกาโมโตะ ชินยะ นักแสดงและผู้กำกับฝีมือเยี่ยมของญี่ปุ่น แล้วยังมีอาซาโนะ ทาดาโนบุ ดาราญี่ปุ่นที่มีผลงานในฮอลลีวูดมาแล้วหลายเรื่อง เคยมาเล่นหนังไทยด้วย เรื่อง Last Life in the Universe (เรื่องรักน้อยนิดมหาศาล) และ Invisible Waves (คำพิพากษาของมหาสมุทร) ส่วนฝ่ายหญิงก็มี โคมะทสึ นานะ ซึ่งเราได้เห็นฝีมือกันไปแล้วใน Tomorrow I will Date with Yesterday’s You (อ่านได้ในเบี้ยน้อยหอยน้อย 089 ค่ะ)
ส่วนที่เกริ่นไว้ว่าหนังเรื่องนี้ได้เข้าชิงรางวัลออสการ์ครั้งล่าสุดนั้น ผู้ที่มีชื่อเข้าชิงก็คือ โรดริโก พริเอโต ผู้กำกับภาพชาวเม็กซิโก ซึ่งเคยเข้าชิงมาแล้วแทบทุกเวทีจากผลงานการถ่ายภาพในเรื่อง Brokeback Mountain (ปี 2005) Babel (ปี 2006) และ Lust, Caution (ปี 2007) #กรีสสสสส อยากรู้ว่างานภาพในหนังเรื่องนี้เลิศล้ำยังไง เอาเป็นว่าหลายๆ ฉากดิฉันแทบลืมหายใจเลยล่ะฮ่ะ แต่สุดท้ายรางวัลนี้ก็ตกเป็นของ La La Land ไป #เฮ้อ
สรุป: จ่าย 140 ได้กลับมา 175
โดย ปวิวัณณ์ คำเจริญ
24 สิงหาคม 2560
(ขอบคุณภาพปกจาก anhoum.com)