โดย Average Joe

1 พฤศจิกายน 2012

Sinister /ˈsɪnɪstə/ adj. threatening to do harm or something evil.

นักเขียนหนังสือเกี่ยวกับเรื่องจริงของอาชญากรรมพาครอบครัวย้ายมาอยู่ในบ้านหลังใหม่ เพื่อใช้เป็นสถานที่ค้นคว้าข้อมูลในการเขียนหนังสือเล่มต่อไป วันแรกของการย้ายบ้านเขาพบฟิล์มเก่าหลายม้วน ซึ่งปรากฏว่าเป็นฟิล์มที่บันทึกภาพการฆาตกรรมหมู่ของครอบครัวที่เคยอยู่บ้านหลังนี้ รวมถึงครอบครัวอื่นๆ อีก และสิ่งเหล่านี้ก็ทำให้ครอบครัวของเขาต้องพบกับเรื่องประหลาดมากมายและ(อาจ)ประสบชะตากรรมเช่นเดียวกับเหยื่อรายอื่นๆ ด้วย

สำหรับคนที่ดูหนังผี/สยองขวัญมาหลายเรื่อง อาจจะรู้สึกว่าพล็อตแบบนี้ (เจอเทปบันทึกภาพ-บ้านมีประวัติคนตาย-เจอปิศาจในตำนาน-ดื้อไม่ยอมย้ายบ้านแม้ผีจัดเต็ม-พอคิดจะย้ายก็สายเกินแก้) ช่างคุ้นหู และคงจะเดาเหตุการณ์ในหนังต่อได้เป็นฉากๆ อันที่จริง Sinister ก็ไม่ได้พยายามปฏิเสธตัวเองว่าเดินซ้ำรอยหนังแนวเดียวกันนี้อีกหลายเรื่อง แต่การผลิตซ้ำในกรณีนี้ก็ยังน่าสนใจด้วยการเล่าเรื่องและชั้นเชิงในการนำเสนอให้คนดูกลัวหรือตกใจ เป็นข้อพิสูจน์ว่า หนังผีที่ดี อาจไม่จำเป็นต้องมีพล็อตที่แหวกแนว การตัดสลับฉากที่หวือหวา เมกอัพและซีจีที่ทั้งหลอนทั้งแหวะ หรือมุขหักมุมตอนจบให้คนดูตกเก้าอี้ก็ได้ เพียงมีเนื้อเรื่องที่ชัดเจน การกระทำและตัวละครมีที่มาที่ไป รู้จังหวะปล่อยผี และแก้ปมที่ผูกไว้ให้ครบ แค่นี้ก็สยอง (ตามสูตร) ได้แล้ว

sinister

ที่มารูป: http://www.impawards.com

หนังเปิดฉากแรกมาแบบนิ่งๆ ไม่มีเสียงหรือคำบรรยายใดๆ แต่ก็ชวนขนลุกได้มากพอสมควร การดำเนินเรื่องต่อมาเป็นไปอย่างเนิบช้า แต่ก็สร้างความน่าติดตามได้ตลอดแม้จะเป็นฉากที่ไม่มีผีโผล่ก็ตาม การทำผีหลอกในเรื่องอยู่ในเกณฑ์ดี ทำให้สะดุ้งได้เป็นระยะ หรือไม่ก็สร้างบรรยากาศที่ไม่น่าไว้วางใจได้อยู่ตลอดเรื่อง และการที่หนังใช้เทคนิคภาพเบลอ ภาพสะท้อน หรือตัดฉับก่อนจะมีฉากสยอง ก็สามารถเล่นกับจินตนาการของคนดูได้มาก บวกกับดนตรีและเสียงประกอบที่หลอนๆ ทำให้ความน่ากลัวใน Sinister อยู่ในระดับที่สู้หนังผีเรื่องอื่นได้สบายๆ จุดอ่อนนิดหน่อยของเรื่องกลับเป็นผีที่โผล่มาให้เห็นชัดเกินไปในบางฉาก (ซะงั้น) โดยเฉพาะปิศาจ Bughuul (หรือ Bagul) ที่แม้จะออกแบบได้น่ากลัว (จากที่ดูในตัวอย่างหนัง) แต่พอเห็นบ่อยๆ เข้าในหนัง กลับไม่น่ากลัวเท่าไร ลองสังเกตว่า ผีเรื่องไหนโผล่มาแว็บๆ ในแสงสลัวๆ คลุมเครือ ไม่ชัดเจน มักจะน่ากลัวกว่าแบบที่เห็นกันจะๆ (แต่หนังผีบางเรื่องก็ดันจัดแสงเสียมืดจนมองอะไรแทบไม่เห็น พอมองไม่เห็น คนดูก็ไม่รู้จะกลัวอะไรดี เวรกรรม)

เชื่อว่าคงมีหลายคนที่อาจจะนึกถึง “ลัดดาแลนด์” หนังผีดรามา (หรือหนังดรามาที่มีผี?) เรื่องเยี่ยม หลังจากดู Sinister จบแล้ว อาจเป็นเพราะว่าประเด็นที่หนังสองเรื่องนี้มีร่วมกันอย่างเห็นได้ชัด คือความเป็นสามีและพ่อของตัวละครเอก (พี่ก้อง สหรัถ และ Ethan Hawke) กล่าวคือ ด้วยอิทธิพลของความเชื่อแบบปิตาธิปไตย (patriarchy) ที่กำหนดให้คนที่เป็นสามีหรือพ่อ อยู่ในฐานะของ “ผู้นำครอบครัว” เขาจึงรู้สึกว่า ตัวเองมีหน้าที่รับผิดชอบความเป็นอยู่(ที่ดี)ของลูกเมีย แต่เนื่องจากตัวเอกจากทั้งสองเรื่องตีความไปว่า ความสุขของครอบครัว = ความสำเร็จของหน้าที่การงาน จึงมุทำแต่งานเพื่อให้ได้เงินเยอะๆ หรือแสวงหาความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ โดยละเลยความต้องการหรือปัญหาของสมาชิกในบ้าน และเอาตัวเองไปผูกติดกับอนาคตที่ยังมาไม่ถึงและไม่แน่นอน (และไม่ปล่อยวางความสำเร็จในอดีต) แทนที่จะอยู่กับปัจจุบันที่จับต้องได้ เห็นได้จากหลายๆ ฉากที่ภรรยาพระเอกบอกว่า อย่าทำแต่งานอย่างเดียว ให้ไปอยู่กับลูกๆ บ้าง หรือไม่ก็พูดเตือนสติว่า ความสำเร็จในชีวิตของเขา ที่จริงก็คือ “ชีวิตคู่” แล้วสมบัติที่จะทิ้งเอาไว้เป็นมรดก ก็คือ “ลูกๆ” นั่นเอง จะเห็นได้ว่า สิ่งที่สำคัญกว่าความสำเร็จทางหน้าที่การงาน ก็คือความสัมพันธ์อันดีระหว่างคนในครอบครัว และความสุขในครอบครัวจะเกิดขึ้นได้ ก็ขึ้นอยู่กับความต้องการและเป้าหมายที่ตรงกันของทุกคนด้วย

มีฉากหนึ่งที่รู้สึกว่ามันเจ๋งมาก คือฉากที่พระเอกเอาวิดีโอที่ตัวเองให้สัมภาษณ์ออกทีวีเกี่ยวกับความสำเร็จของหนังสือเล่มแรก (เมื่อสิบปีก่อน) มาเปิดดู เขาทิ้งท้ายการให้สัมภาษณ์ว่า “หากเขาเขียนหนังสือเพื่อชื่อเสียงและเงินทองเมื่อไร ขอให้… บลาๆๆ” มันเจ๋งยังไงน่ะเหรอ ฉากนี้ทำให้เห็นความฉลาดของผู้กำกับ/เขียนบท ที่ยิงปืนนัดเดียว แต่ได้นกมาถึงสามตัว เขาใช้ฉากนี้แสดงให้เห็นว่า พระเอกยังไม่ยอมปล่อยวางความสำเร็จในอดีต และเฝ้ารอคอยความสำเร็จในอนาคต (ดังที่กล่าวไปในย่อหน้าที่แล้ว) นอกจากนี้ยังเป็นการขับเน้นให้เห็นการเปลี่ยนแปลงของพระเอกทั้งทางร่างกายและจิตใจ และที่สำคัญที่สุดก็คือ คำพูดลงท้ายการสัมภาษณ์ของเขา ยังเป็นเหมือนคำทำนายชะตากรรมของตัวเองในตอนจบอีกด้วย (โบราณเขาถึงว่า จะสบถสาบานอะไรให้ระวังหน่อย) หึหึ

7.5/10 ครับ

ปล. รอบที่ไปดูมีเด็กหญิงชั้นมัธยม (aka ติ่งหู) ไปดูกันเป็นกลุ่มใหญ่ ทั้งที่มาในชุดนักเรียนและชุดไปรเวท หากไม่นับเรื่องที่พวกเธอพูดคุยเล่นกันอย่างสนุกสนานด้วยภาษาสมัยพ่อขุนรามฯ ระหว่างมีโฆษณาและหนังตัวอย่าง จนทำให้เราต้องย้ายที่นั่งหนีแล้ว เรื่องที่น่าเป็นห่วงคือ เด็กๆ กลุ่มนี้เหมาะกับการดูหนังเรื่องนี้หรือไม่ Sinister ได้เรต น 18 (ตามที่มีบอกไว้หน้าโรงและที่บนจอก่อนหนังฉาย) แต่เด็กสาวๆ (และหนุ่มๆ อีกกลุ่มในแถวหน้า) กลุ่มนี้ดูยังไงก็ไม่น่าจะเกิน 16 ด้วยซ้ำ ไม่รู้ว่าพวกเธอรู้/ใส่ใจเรื่องนี้กันบ้างหรือไม่ แต่ก็คงไปโทษเด็กๆ ไม่ได้ทั้งหมด เพราะจะว่าไป เรื่องนี้น่าจะเป็นความรับผิดชอบของโรงภาพยนตร์โดยตรงที่ไม่มีระบบการตรวจบัตรก่อนขายตั๋ว ซึ่งนี่ไม่ใช่กรณีแรกที่เกิดขึ้น แม้จะรู้ว่าคงได้แต่หวัง แต่ก็ยังอยากให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง (นอกจากโรงหนังแล้วมีใครอีกหว่า) คุมเข้มเรื่องเรตหนังหน่อยเถอะ ไหนๆ ก็อุตส่าห์มีเรตมาแล้ว แต่กลับปากว่าตาขยิบ มีไว้แต่ไม่ใช้ให้มันจริงจัง หยุดอ้างเสียทีเถอะว่า “ขึ้นอยู่กับวิจารณญาณผู้ชม” ดูเป็นการตั้งกฎขึ้นมาแล้วโบ้ยความรับผิดชอบมาให้ผู้อื่นยังไงยังงั้น นี่มันก็ไม่ต่างจากละคร “แรงเงา” ที่ได้เรต น 18 แต่หลายบ้านก็ปล่อยให้เด็กๆ ดูกันอย่างสนุกสนานหรอกนะ สิ่งที่ต้องสร้างความเข้าใจให้ตรงกันก็คือ “กฎ” คือ หนังไม่เหมาะกับผู้ชมที่อายุไม่ถึงเกณฑ์ ซึ่งโรงภาพยนตร์ก็ควรมี “ระเบียบ” การตรวจบัตรก่อนขายตั๋วทุกครั้ง ทั้งนี้ก็เพื่อสร้าง “วินัย” ในการดูหนัง ทั้งนี้เชื่อได้เลยว่าอาจจะมีคนบ่น-ด่าในช่วงแรกๆ (ตามประสาคนไทยที่ไม่ชอบความไม่สะดวก) แต่หากปฏิบัติจนเป็นนิสัยแล้ว ต่อไปเราก็จะมีวัฒนธรรมการเสพสื่อบันเทิงที่เหมาะสมและเรียบร้อยกับเขาบ้าง

ปล. 2 ปล. ยาวไปมั้ย 😛