โดย Average Joe

31 กรกฎาคม 2015

Billy Hope นักมวยแชมป์โลกที่อาชีพกำลังรุ่งโรจน์ ใช้ชีวิตที่หรูหราฟุ่มเฟือย มีภรรยาแสนสวยและลูกที่น่ารัก แต่เพราะอารมณ์หุนหันเพียงไม่กี่นาที กลับนำไปสู่โศกนาฏกรรมที่พรากทุกอย่างไปจากเขา เขาจึงต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและทัศนคติของตนเอง โดยมีครูฝึกระดับบ้านๆ แต่ฝีมือเก่งฉกาจช่วยสอนให้เขา ‘สู้’ อย่างถูกต้อง เพื่อที่จะกลับมายืนผงาดอยู่บนสังเวียนชกได้อีกครั้ง แต่เหนือสิ่งอื่นใดนั้น คือการได้สิทธิ์ในการดูแลลูกสาวคืนมาด้วย

south

ที่มารูป: http://www.joblo.com

พอดูพล็อตเรื่องของ Southpaw แล้ว ก็พอเข้าใจได้ว่าทำไมเสียงวิจารณ์เรื่องนี้มีทั้งบวกและลบ พล็อตซ้ำซากและเดาได้แบบนี้ แทบจะเป็นสูตรการดำเนินเรื่องของหนังนักมวยเลยก็ว่าได้ ชื่อตัวละคร บิลลี โฮป ก็ตั้งมาแบบชัดโต้งๆ ไม่ต้องมาตีความอะไรกันต่อมากมาย (บวกกับ tagline บนโปสเตอร์หนังที่ว่า ‘Believe in Hope’ อีก ย้ำกันเข้าไป) ฉากที่ขึ้นชกครั้งสุดท้ายก็ดูจงใจดรามาเยอะไปนิด

แต่ถึงกระนั้น Southpaw ก็ถือเป็นหนังดีที่ดูสนุกมาก และน่าจะเป็นตัวอย่างที่ดีของการนำเอาพล็อตเก่าๆ มาเล่าซ้ำโดยไม่ให้น่าเบื่อ ผู้กำกับ Antoine Fuqua เล่าเรื่องอย่างกระชับฉับไว ตรงไปตรงมา ฉากชกมวยก็ดูสมจริง เหงื่อเป็นเหงื่อ เลือดเป็นเลือด (ตอนดูอยู่ก็นึกถึงเรื่อง Cinderella Man เลย) และเลือกใช้มุมกล้องที่ประหนึ่งพาเราขึ้นไปชกบนเวทีมวยด้วย ส่วนฉากอื่นๆ นอกเหนือจากการชกก็ทำได้ดีไม่น่าเบื่อ ปัจจัยหลักที่เป็นจุดแข็งของหนังเรื่องนี้และสมควรได้รับคำชมเชยอย่างยิ่งคือการแสดงนี่เอง

Jake Gyllenhaal ได้พิสูจน์ฝีมือให้พวกเราเห็นแล้วว่าเขาเป็นนักแสดงที่รับบทได้หลากหลาย และพัฒนาตัวเองมาโดยตลอด ตั้งแต่หนังแปลกๆ อย่าง Donnie Darko จนได้เข้าชิงรางวัลออสการ์จาก Brokeback Mountain รวมถึงผลงานระยะหลังๆ เช่น Prisoners และ Enemy (ยังไม่ได้ดู Nightcrawler) มาถึงเรื่องนี้ พ่อหนุ่มเจคลงทุนเปลี่ยนแปลงตัวเองจนทำเอาคนดูแทบจำไม่ได้ ไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงทางร่างกายเท่านั้นที่ทำให้เราเชื่อว่าเขาคือนักมวยแชมป์โลกจอมฉุนขาด แต่ด้วยการแสดงที่ละเอียดอ่อนผ่านสายตาและคำพูด ทำให้ Billy Hope เป็นตัวละครแบบ tragic hero ที่คนดูอยากจะเบิ๊ดกะโหลกเวลาเขาโมโหแบบไม่ดูกาลเทศะ (แต่คงไม่กล้าเพราะกลัวโดนชกกลับ!) และพร้อมเอาใจช่วยเมื่อเขาถึงจุดตกต่ำ ไม่อยากฟันธงไปว่า Jake Gyllenhaal จะได้เข้าชิงรางวัลอะไรหรือไม่ในช่วงต้นปีหน้า (เพราะถ้ากระแสหนังไม่แรงมาก อาจจะทำให้หลายคนมองข้ามนักแสดงไปก็ได้) แต่ขอรับรองเลยว่า นี่เป็นหนึ่งในการแสดงที่ดีที่สุดของนักแสดงหนุ่มคนนี้ทีเดียว 

นอกเหนือจากนักแสดงนำแล้ว คนที่แสดงได้โดดเด่นพอๆ กัน (หรือบางฉากอาจจะมากกว่าด้วยซ้ำ) ก็คือ Forest Whitaker ที่แสดงเป็นครูฝึก Tick Wills ลุงฟอเรสต์คือตัวขโมยซีนที่มีทั้งความดุดัน อ่อนไหว และตลก ทุกฉากที่มีลุงคือความปรีดาในการชมภาพยนตร์โดยแท้ อีกคนคือ Oona Laurence ที่แสดงเป็น Leila ลูกสาวของ Billy Hope ที่เป็นเงื่อนไขและแรงผลักดันสำคัญในการต่อสู้ของพระเอก แม่หนูได้พิสูจน์ว่า บทลูกสาวตัวเล็กๆ ของพระเอกนักบู๊ ไม่จำเป็นต้องเป็นบทที่ถูกลืมเสมอไป จากการแสดงแบบ “ใส่หมด” ทำให้เราเชื่อได้ว่า เธอคือลูกสาวของนักสู้ที่แท้จริง

ประเด็นเล็กๆ เกี่ยวกับการช่วยเหลือและแนะนำเด็กๆ ในย่านเสื่อมโทรมที่หนังแทรกเข้ามา น่าจะนำมาขยายและเจาะลงไปให้ได้เชิงลึกมากกว่านี้อีกนิด อาจจะช่วยทำให้หนัง “มีอะไร” ต่อสังคมได้มากกว่าแสดงการต่อสู้ของนักมวยเพียงคนเดียว

8.5/10 ครับ

ป.ล. 1 ชื่อเรื่อง Southpaw มาจากศัพท์มวยว่า southpaw stance หมายถึง ท่าที่นักมวยวางเท้าขวาและมือขวาไว้ข้างหน้า และใช้หมัดขวาแย็บนำติดกันหลายๆ หมัด แล้วจบด้วยหมัดฮุกซ้าย (แต่ในหนังเหมือนจะใช้อัปเปอร์คัตนะ) โดยนักมวยที่ใช้ลักษณะการต่อยแบบ southpaw มักเป็นนักมวยที่ถนัดซ้าย (แม้จะมีนักมวยถนัดขวาหลายคนใช้วิธีชกแบบนี้เช่นกัน) นอกจากนี้ คำว่า southpaw ยังเป็นคำสแลง หมายถึงคนถนัดซ้ายโดยทั่วๆ ไปอีกด้วย
ป.ล. 2 หนังเรื่องนี้เป็นผลงานการประพันธ์เพลงประกอบเรื่องสุดท้ายของ James Horner ก่อนที่เขาจะเสียชีวิตจากอุบัติเหตุเครื่องบินตกเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน ที่ผ่านมา
ป.ล. 3 ดูหนังจบ กลับบ้านมาเจอข่าวแผลหัวแตกของบัวขาวจากการขึ้นชก นี่ถ้าให้ดูรูปอย่างเดียวจะนึกว่าใครเอาฟุตเหล็กมาฟาดกบาลบัวขาวนะนั่น