ดูหนังอย่างคนเบี้ยน้อยหอยน้อย 129; ดู The Battleship Island หนังสงครามอลังการงานสร้างของเกาหลีใต้ ซึ่งมี ซงจุงกิ สามีแห่งชาติ เล่นเป็นตัวประกอบ #จริงๆนะจ๊ะ
ถ้าเอ่ยชื่อ Battleship Island หรือ “เกาะเรือรบ” เราอาจจะไม่ค่อยคุ้นเท่าไหร่ แต่ถ้าพูดว่า “เกาะฮาชิมะ” หลายๆ คนคงร้องอ๋อ เพราะเมื่อปี 2556 มีหนังไทยเรื่อง “ฮาชิมะโปรเจกต์ ไม่เชื่อต้องลบหลู่” เป็นหนังผี ไปถ่ายทำที่นั่น แล้วถ้าใครเกิดไวหน่อย ก็น่าจะรู้จักหนังญี่ปุ่นเรื่อง Battle Royale (เกมนรก โรงเรียนพันธุ์โหด) เมื่อปี 2543 ซึ่งก็ไปถ่ายที่นั่นเหมือนกัน และระหว่างการถ่ายทำก็มีเหตุการณ์แปลกๆ เกิดขึ้นหลายอย่าง นักแสดงสาว คุริยามะ จิอากิ (คนที่แสดงเป็น โกโก ยูบาริ ในเรื่อง Kill Bill) ก็ถูกผีสิงจนมีอาการคลุ้มคลั่ง การที่เกาะฮาชิมะเกี่ยวพันกับเรื่องลึกลับอาถรรพณ์เยี่ยงนี้ ก็เพราะมันเป็นเกาะที่เต็มไปด้วยซากปรักหักพังของเมืองที่ถูกทิ้งร้าง ซึ่งได้รับการรับรองว่าเต็มไปด้วย ‘พลังงานบางอย่าง’ จริงๆ จนติดอันดับต้นๆ ของสถานที่ผีสิงที่น่าขนลุกขนพองและมี ‘มวลสารหนาแน่น’ ที่สุดในโลก
ความจริงก็ไม่แปลกที่เกาะฮาชิมะจะมีผีดุ เพราะก่อนหน้าที่มันจะถูกทิ้งร้าง มีคนทุกข์ทรมานและตายที่นั่นเป็นเบือ เนื่องจากมันเป็นสถานที่ใช้แรงงานทาสของญี่ปุ่นในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ทีแรกเกาะนี้มันก็อยู่ของมันดีๆ เป็นเกาะเล็กๆ นอกชายฝั่งทางใต้ของญี่ปุ่น ห่างจากเมืองนางาซากิ 15 กิโลเมตร แต่พอมีการขุดพบถ่านหินเมื่อปี 1810 (พ.ศ. 2353) เท่านั้นแหละ ถนนทุกสายก็มุ่งสู่ฮาชิมะ เพราะถ่านหินเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่ตอบโจทย์การปฏิวัติอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นได้อย่างเหมาะเจาะ ก็เลยมีคนเข้าไปจับจองพื้นที่ทำเหมืองถ่านหินกันมากมาย
จนกระทั่งในปี 1890 บริษัทมิตซูบิชิก็ซื้อเกาะนี้ แล้วสร้างมันเป็นเมืองอุตสาหกรรมถ่านหินที่เจริญรุ่งเรืองสุดๆ ใต้ดินทำเหมืองถ่านหินลึกลงไป 1 กิโลเมตร บนดินสร้างตึกใหญ่โตมโหฬาร สำหรับเป็นที่ทำการและที่พักอาศัยของเจ้าหน้าที่ คนงานเหมือง และครอบครัว ประกอบด้วยสถานที่ที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต เช่น อพาร์ตเมนต์ โรงเรียน โรงพยาบาล ห้างสรรพสินค้า โรงอาบน้ำสาธารณะ และสถานที่พักผ่อนหย่อนใจเช่นโรงหนัง สวนสาธารณะบนดาดฟ้าตึก และร้านปาจิงโกะ #ขาดไม่ได้
นอกจากนี้ บริษัทมิตซูบิชิยังสร้างกำแพงสูงรอบเกาะเพื่อกันคลื่นด้วย ทำให้มันกลายเป็นเกาะที่มีรั้วรอบขอบชิด ชื่อ “ฮาชิมะ” น่าจะได้มาจากเหตุนี้แหละ เพราะชื่อเต็มๆ คือ “ฮาชิชิมะ” คำว่า “ฮาชิ” แปลว่า ขอบ ริม ปลาย “ชิมะ” แปลว่า เกาะ ก็หมายถึงเกาะที่มีขอบ หรือมีขอบเขตสิ้นสุดชัดเจน ประมาณนั้น ส่วนชื่อเล่น “เกาะเรือรบ” มาจากภาษาญี่ปุ่นว่า “กุงคันจิมะ” คำว่า “กุงคัน” แปลว่า เรือรบ “จิมะ” ก็คือคำเดียวกับ “ชิมะ” แปลว่า เกาะ ชื่อนี้ได้มาจากการที่เวลาเรามองจากบนฟ้า เช่นจากเครื่องบินหรือภาพถ่ายทางอากาศ รูปร่างหน้าตาเกาะนี้ดูเหมือนเรือรบมากๆ เพราะมันมีโครงสร้างคอนกรีต และมีขอบโดยรอบ (จริงๆ คือกำแพง) ซึ่งมองเผินๆ คล้ายกราบเรือไม่ใช่น้อย ดิฉันเคยอ่านเจอว่า ทหารอเมริกันเคยคิดว่าเกาะนี้เป็นเรือรบขนาดใหญ่ ขับเครื่องบินหนีแทบไม่ทัน #ไม่รู้จริงหรือเปล่า 555
ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งเริ่มต้นอย่างเป็นทางการในปี 1939 (พ.ศ. 2482) ถ่านหินถือเป็นยุทธปัจจัยสำคัญ จึงต้องใช้คนงานจำนวนมากมาขุดให้เพียงพอแก่ความต้องการ พอดีตอนนั้นเกาหลี ซึ่งยังไม่แบ่งเป็นเกาหลีเหนือ-เกาหลีใต้ ตกเป็นเมืองขึ้นของญี่ปุ่นอยู่ เพราะถูกญี่ปุ่นบุกยึดรวบหัวรวบหางมาตั้งแต่ พ.ศ. 2453 ญี่ปุ่นจึงกวาดต้อนชาวเกาหลีไปเกาะฮาชิมะ ให้ผู้ชายทำงานในเหมือง ผู้หญิงทำงานในซ่อง ไม่เว้นแม้แต่เด็กๆ ช่วงนี้แหละที่มีคนตายมหาศาลบานตะเกียง ทั้งด้วยความโหดร้ายทารุณและอุบัติเหตุจากการทำงาน ภาวะทุพโภชนาการ และที่พักอาศัยที่แออัด ไม่ถูกสุขอนามัย
หลังจากระเบิดปรมาณูถล่มเมืองนางาซากิในปี 1945 เกาะฮาชิมะก็ยังอยู่รอดปลอดภัยมาได้ จนกระทั่งทศวรรษที่ 1960s กิจการเหมืองถ่านหินในญี่ปุ่นไม่ทำกำไรอีกต่อไป เนื่องจากมีน้ำมันปิโตรเลียมเป็นทรัพยากรใหม่ไฉไลกว่า มิตซูบิชิจึงตัดใจปิดเหมืองที่ฮาชิมะในปี 1974 (พ.ศ. 2517) และใช้เวลา 3 เดือนอพยพคนออกจากเกาะจนหมดสิ้น ฮาชิมะจึงกลายเป็นเกาะร้างนับแต่นั้น แต่ปัจจุบันก็มาบูมในฐานะเป็นโลเกชันถ่ายทำสื่อต่างๆ และเป็นสถานที่ท่องเที่ยวแนวหลอน อีกทั้งญี่ปุ่นยังพยายามผลักดันให้เป็นมรดกโลกด้วย ซึ่งดูเหมือนว่าจะทำสำเร็จแต่ก็ยังมีข้อแม้บางอย่างอยู่ ถ้าดูหนัง The Battleship Island ก็จะเข้าใจได้ #เข้าเรื่องหนังซะที 555
ที่มาภาพ: m.inven.co.kr
หนังเรื่องนี้มีชื่อเกาหลีว่า “กุนฮัมโด” คำว่า “กุนฮัม” แปลว่า เรือรบ “โด” แปลว่า เกาะ เป็นชื่อที่ชาวเกาหลีเรียกเกาะฮาชิมะแบบแปลมาตรงตัว หนังว่าด้วยเรื่องราวของชาวเกาหลีซึ่งถูกกวาดต้อนไปเป็นแรงงานทาสที่เกาะฮาชิมะในช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่เป็นการนำเหตุการณ์จริงในประวัติศาสตร์มาใช้เป็นฉากหลังเท่านั้น เนื้อเรื่องและตัวละครเป็นสิ่งที่แต่งขึ้นทั้งหมด
ตัวละครในหนังมีเด่นๆ อยู่ 5 ตัว พิจารณาจากบทบาท ดิฉันว่ามีตัวเอก 3 ตัว ได้แก่ อีคังอ๊ก (แสดงโดย ฮวังจองมิน) หัวหน้าวงดนตรีผู้ฉลาดเอาตัวรอด ชเวชิลซอง (แสดงโดย โซจีซ็อบ) หัวหน้าแก๊งนักเลงผู้ฉลาดใช้กำลัง และหนูน้อยโซฮี ลูกสาวของอีคังอ๊ก (แสดงโดย คิมซูอัน ที่เล่นเป็นลูกสาวกงยูใน Train to Busan) ส่วนตัวละครอีก 2 ตัวมีบทบาทเป็นตัวสมทบชั้นดี ได้แก่ โอมัลยอน (แสดงโดย อีจองฮยอน) สาวแกร่งคู่จิ้นของชเวชิลซอง และที่จะขาดไปไม่ได้ คือ พัคมูยอง (แสดงโดย ซงจุงกิ) เจ้าหน้าที่พิเศษของขบวนการปลดปล่อยเกาหลี ซึ่งแฝงตัวเข้าไปเป็นแรงงานทาสเพื่อพาแกนนำคนสำคัญของขบวนการหนีออกจากเกาะ แต่ทำไปทำมาภารกิจนี้กลับขยายใหญ่ขึ้น กลายเป็นการพาแรงงานเกาหลีทั้งหมด 400 คนหลบหนีกลับประเทศ จนนำมาซึ่งการสู้รบเยี่ยงสงคราม
ก่อนหน้านี้ดิฉันเพิ่งดูหนังสงครามว่าด้วยการอพยพหลบหนีเหมือนกัน คือเรื่อง Dunkirk (อ่านได้ในเบี้ยน้อยหอยน้อย 128) รู้สึกว่า The Battleship Island สนุกกว่าจม สาเหตุสำคัญคือเพราะหนังมีตัวละครที่น่าติดตาม ตัวละครทั้งห้ามี ‘ลักษณะขัดแย้ง’ อยู่ในตัว ทำให้มีความเป็นมนุษย์ที่สมจริงและน่าเอาใจช่วย อย่างอีคังอ๊ก เป็นคนเอาตัวรอดเก่งแต่ไม่เห็นแก่ตัว โซฮี เป็นเด็กแก่แดดแต่ก็ยังไร้เดียงสา ชเวซิลซอง มุทะลุดุดันอันธพาลแต่มีความละเอียดอ่อน โอมัลยอน จิตใจแข็งแกร่งแต่อ่อนโยน พัคมูยอง ดูสุภาพนุ่มนวลแต่โหดสาด #ภรรยาทั้งหลายไม่ควรพลาด ดิฉันไม่เคยดูผลงานการแสดงของนักแสดงทั้งห้ามาก่อน ได้ดูครั้งนี้ครั้งแรกก็รู้สึกว่ามิเสียแรงที่เอาดาราระดับบิ๊กเนมมาเล่น จะมีขัดๆ หน่อยก็แค่ซงจุงกินี่แหละ น้องเล่นแบบติดคาแรกเตอร์พระเอ๊กพระเอกไปนิด ก็เลยดูไม่กลมกลืนกับตัวละครอื่นๆ ซึ่งเล่นซะไม่ห่วงสวยห่วงหล่อกันเลย แต่ซงจุงกิเป็นคนที่มีเสียงพูดไพเราะมาก นี่คือสิ่งที่ได้ค้นพบ 555
ได้ยินมาว่าญี่ปุ่นต่อต้านหนังเรื่องนี้พอสมควร เพราะอะไรก็คงรู้ๆ กันอยู่ แต่ดิฉันว่า หนังก็ไม่ได้ว่าร้ายญี่ปุ่นเกินความเป็นจริงนะ ทหารญี่ปุ่นก็เป็นบ้าแบบนี้แหละ ปัจจัยหลายๆ อย่างมันนำพาให้เป็นแบบนั้น และหนังก็นำเสนออย่างเป็นธรรมกับญี่ปุ่นมากทีเดียว แม้กระทั่งฉากตัดธงชาติญี่ปุ่น ซึ่งดูในหนังตัวอย่างแล้วคิดในใจว่าเล่นใหญ่รัชดาลัยไปมั้ยเฮ่ย! แต่พอได้ดูในหนังจริงๆ มันไม่ใช่อย่างที่คิดเลย ฉากนั้นมันไม่ได้จะชาตินิยมอะไรเลย ก็แค่คนคนหนึ่งที่ต้องการรอดชีวิตและปกป้องคนที่ตัวเองรักเท่านั้น
ที่สำคัญ หนังยังบ่งบอกอย่างชัดเจนว่า ไม่ว่าญี่ปุ่นจะโหดร้ายอย่างไร ก็ยังไม่เท่าความโหดร้ายที่คนเกาหลีกระทำต่อกันเอง และคนต่างชาติย่อมได้ประโยชน์ถ้าสามารถเสี้ยมให้เกาหลีแตกแยกกันเอง ตรงนี้แหละที่ทำให้ดิฉันคิดว่า ความจริงแล้ว หนังอาจจะกำลังพยายามสื่อสารถึง ‘การแตกแยก’ และ ‘สงคราม’ ที่เกาหลีใต้เผชิญอยู่ในปัจจุบันก็ได้ นั่นยิ่งทำให้หนังมีแง่มุมที่ชวนวิพากษ์มากขึ้นไปอีก และผู้ชมชาติอื่นที่ตีกันเองอยู่ ก็อาจจะดูหนังดูละครแล้วย้อนดูตัวได้บ้าง (มั้ง)
สรุป: จ่าย 140 ได้กลับมา 153
โดย ปวิวัณณ์ คำเจริญ
10 สิงหาคม 2560
(ขอบคุณภาพปกจาก hancinema.net)