โดย Win Malaiwong
15 เมษายน 2016
พิธีกรรมการเปลี่ยนผ่านของเมาคลี
ตอนแรกที่เห็นรายชื่อทีมงานผู้กำกับ นักแสดง และตัวอย่าง CGI ของภาพยนตร์เรื่อง The Jungle Book (2016) ก็คาดหวังว่าหนังน่าจะดีมีคุณภาพแหละ แต่ที่สงสัยคือเรื่อง The Jungle Book เวอร์ชันนี้จะแตกต่าง สามารถฉีกแนวจากหนังที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการ coming of age ของเด็กชายไปสู่วัยผู้ใหญ่เรื่องอื่นอย่างไร พอดูจบยอมรับว่าหนังเพิ่มมุมมองให้ผู้ใหญ่ได้ฉุกคิดในฐานะผู้ปกครองหรือผู้มีหน้าที่ดูแลว่าจะเลือกวิธี facilitate การเจริญเติบโตของเด็กแบบไหน
ที่มารูป: http://f.ptcdn.info
โครงเรื่องไม่มีอะไรแปลกใหม่นะครับ เริ่มต้นจากเมาคลี (Mowgli) มีเหตุถูกกดดันให้ละทิ้ง ‘ครอบครัว’ อันเป็นที่รัก ลาจากสิ่งแวดล้อมที่คุ้นเคย ไปผจญภัยในโลกแห่งความเป็นจริง พบเจอทั้งดีและร้าย เรียนรู้ที่จะปรับตัวและเอาตัวรอด บางครั้งก็ได้รับความช่วยเหลือ แต่หลายครั้งก็ต้องต่อสู้เพียงลำพัง ทำให้เมาคลีต้องดึงศักยภาพตัวเองมาใช้ ควบคู่ไปกับการค้นหาตัวตนว่าเป็นใคร มาจากไหน และจะอยู่ต่อไปในโลกในฐานะอะไร
แม้รูปแบบโครงเรื่องจะผลิตซ้ำเดิม แต่ผู้กำกับ จอน เฟฟโรว์ (Jon Favreau) มีวิธีการเล่าเรื่องที่กระชับฉับไว ไม่น่าเบื่อ มีลูกเล่นแพรวพราวทีเดียว ฉากแรกเปิดตัวพร้อมกับปมขัดแย้งในตัวเมาคลี ฉากถัดมาแสดงปมขัดแย้งระหว่างเมาคลีกับตัวละครอื่น เช่น เกรย์ (Grey) ลูกหมาป่าที่เติบโตมาด้วยกัน และเชียร์คาน (Shere Khan) ไม่ต้องปูเรื่องให้เยิ่นเย้อยืดยาว ภูมิหลังต่างๆ มา flashback ย้อนเอาเมื่อมีจังหวะเหมาะ ร่วมกับการใช้โทนสีมืดและสว่างของป่าแสดงอารมณ์ของหนัง บอกใบ้ว่าสัตว์ตัวไหนเป็นมิตรหรือศัตรูของเมาคลี
สัญลักษณ์ที่ใช้มีความโดดเด่น เช่น “การข้าม” (crossing) เมาคลีต้องกระโดด ปีนป่าย ก้าวข้ามจากฝั่งหนึ่งไปอีกฝั่งหนึ่งตลอดเวลา บางฉากก็ผ่านไปง่ายๆ แต่หลายครั้งก็ล้มลุมคลุกคลานเจ็บตัวบ้าง ฉากเด็ดของการข้ามอยู่ท้ายเรื่องตอนเมาคลีกลับไปหมู่บ้านที่อาศัยของมนุษย์ การใช้สัญลักษณ์ crossing ส่วนมากถ้าข้ามแล้วข้ามเลย ไม่มีการถอยกลับได้อีก เปรียบเหมือนพอเราเติบโตเป็นผู้ใหญ่แล้วจะกลับไปใสซื่อแบบเด็กอีกไม่ได้ แต่เมาคลีมีย้อนรอยกลับเข้าป่า ชวนให้คิดว่าสิ่งตรงหน้าเลวร้ายมากขนาดนั้นเชียวหรือ แล้วใส่เกียร์ reverse ได้จริงไหม
ที่ผมชอบมากที่สุดคือการสร้างตัวละครคู่ขั้วตรงกันข้าม ด้านหนึ่งเป็นบากีร่า (Bagheera) ผู้เที่ยงตรงคร่งครัดอยู่ในระเบียบแบบแผน กฎคือกฎ อีกด้านหนึ่งคือบาลู (Baloo) หมีสุขนิยมสายลมแสงแดด ไม่ตีกรอบให้ชีวิต กฎทุกอย่างสามารถพลิกแพลง เมาคลีอยู่ตรงกลางระหว่างผู้ดูแลปกป้องทั้งสองตัว เห็นข้อดีข้อเสียของความตึงเกินไปและหย่อนเกินไป ต้องปรับตัวหาความสมดุล ดูไปแล้วก็แอบคิดว่าตัวเองเป็นครูแบบบากีร่าหรือบาลู แต่คาดว่าน่าจะเป็นอย่างหลัง เพราะตัวหมีๆ เหมือนกัน
ที่มารูป: https://wizarddojo.files.wordpress.com
นอกจากนี้ หนัง The Jungle Book ยังชูประเด็นเรื่องความเคารพการเป็นปัจเจกในพหุสังคม แตกต่างทว่าอยู่ร่วมกันได้ มีทั้งเสือบ้าอำนาจและลิงที่อยากเป็นใหญ่ แต่สุดท้ายจบไม่สวยทั้งคู่ เป็นความดีงามอีกอย่างของหนังเรื่องนี้ รู้สึก ironic อยู่ในที เป็น ‘มนุษย์ผู้ประเสริฐ’ ไปเชิดหน้าดูสัตว์แสดงตัวอย่างที่ดีที่ควรเป็น บางซีนก็อายสัตว์ ดี๊ดีย์