ดูหนังอย่างคนเบี้ยน้อยหอยน้อย 161; ในที่สุดก็ได้ฤกษ์ที่ดิฉันจะแนะนำลูกชายคนโตให้ทุกท่านรู้จักสักที จากหนังญี่ปุ่นเรื่อง The Last Recipe นี่ล่ะค่าาาา
หนังเรื่องนี้มีชื่อไทยว่า “สูตรลับเมนูยอดเชฟ” สร้างมาจากนวนิยายปี 2014 ของทานากะ เคอิจิ เรื่อง 麒麟の舌を持つ男 (คิรินโนะ ชิตะโวะ โมะทสึ โอโตโกะ) แปลว่า “ชายผู้มีลิ้นกิเลน” สื่อความหมายถึงตัวละครเอกซึ่งเป็นเชฟหนุ่มผู้มีประสาทรับรสอันพิเศษ ชิมอาหารแม้เพียงครั้งเดียวก็สามารถจดจำรสชาติและทำออกมาได้เหมือนต้นตำรับเปี๊ยบ หนังเป็นผลงานการกำกับของ ทาคิตะ โยจิโร่ เจ้าของรางวัลออสการ์จากหนังเรื่อง Departures ภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศยอดเยี่ยม เมื่อปี 2009 เขียนบทโดย ฮายาชิ ทามิโอะ ผู้เขียนบทเรื่อง Let’s Go, Jets! (อ่านได้ในเบี้ยน้อยหอยน้อย 124 จ้า)
หนัง The Last Recipe มีชื่อเป็นภาษาญี่ปุ่นว่า ラストレシピ ~麒麟の舌の記憶~ (ระสึโตะ เระชิปิ ~ คิรินโนะ ชิตะโนะ คิโอะขุ ~) ชื่อหลัก ระสึโตะ เระชิปิ ก็คือ Last Recipe แปลว่า “ตำราอาหารสุดท้าย” ส่วนชื่อรอง คิรินโนะ ชิตะโนะ คิโอะขุ แปลว่า “ความทรงจำของลิ้นกิเลน” หนังบอกเล่าเรื่องราวของ ซาซากิ มิทสึรุ เด็กกำพร้าผู้มีพรสวรรค์มาตั้งแต่เกิด สามารถจดจำรสชาติและแยกแยะส่วนประกอบของอาหารได้หลังจากชิมเพียงครั้งเดียว เมื่อเติบโตขึ้นเขาก็ได้เป็นเชฟฝีมือเยี่ยม แต่ด้วยนิสัยส่วนตัวที่เข้มงวดจริงจังและทะนงเกินไป ก็เลยไม่ประสบความสำเร็จในการเปิดร้านอาหาร ต้องตั้งหน้าทำงานใช้หนี้ด้วยการรับจ้างคนรวยๆ และคนป่วยใกล้ตาย (ก็ต้องรวยเช่นกัน) ทำ “อาหารมื้อสุดท้าย” ที่ผู้จ้างอยากจะกินให้ได้ก่อนตาย หรือ “อาหารในความทรงจำ” ที่ผู้จ้างเคยกินแล้วยังคงประทับใจไม่รู้ลืม
ชีวิตของซาซากิมาถึงจุดเปลี่ยน เมื่อมหาเศรษฐีชราอดีตเชฟมือทองของประเทศจีน ว่าจ้างให้เขาทำอาหารที่เชฟผู้ยิ่งใหญ่ของญี่ปุ่น ยามางาตะ นาโอะทาโร่ ได้คิดค้นขึ้น ตั้งแต่สมัยที่ญี่ปุ่นยึดครองแมนจูเรีย อันว่าแมนจูเรียนั้น ตั้งแต่โบราณนานมาก็เป็นแคว้นของชาวแมนจู อยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของจีน ติดกับรัสเซีย แต่เมื่อจีนเกิดเหตุจลาจลในช่วงปลายราชวงศ์หมิง ชาวแมนจูก็ฉวยโอกาสยกทัพเข้ายึดจีน ล้มล้างราชวงศ์หมิง สถาปนาราชวงศ์ชิง ปกครองจีนอยู่ 268 ปี ตั้งแต่ พ.ศ. 2187 – 2455 จักรพรรดิพระองค์สุดท้ายของราชวงศ์ และเป็นพระองค์สุดท้ายของจีนด้วย ก็คือสมเด็จพระจักรพรรดิเซวียนถ่ง พระนามเดิม อ้ายซินเจว๋หลัวผู่อี๋ (“อ้ายซินเจว๋หลัว” เป็นราชสกุล ส่วน “ผู่อี๋” เป็นพระนาม ฝรั่งออกเสียงว่า “ปูยี”) เสด็จขึ้นครองราชย์เมื่อ พ.ศ. 2451 พระชนมายุยังไม่ถึง 3 พรรษา พอปลาย พ.ศ. 2454 ก็เกิดการปฏิวัติ ทำให้ต้องทรงสละราชสมบัติใน พ.ศ. 2455 เมื่อพระชนมายุ 6 พรรษา เป็นอันสิ้นสุดการปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ของจีน ครั้นถึง พ.ศ. 2474 กองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่นได้เข้ายึดครองแมนจูเรีย สถาปนาเป็นจักรวรรดิแมนจู หรือ “แมนจูกัว” (“กัว” ตรงกับภาษาจีนกลาง “กว๋อ” แปลว่า ประเทศ) ปีต่อมา ญี่ปุ่นก็ตั้งรัฐบาลหุ่นเชิด เชิญอ้ายซินเจว๋หลัวผู่อี๋เป็นจักรพรรดิแต่เพียงในนาม ด้วยความมุ่งหมายที่จะยึดครองจีนให้ได้ทั้งประเทศเป็นลำดับต่อไป
ตามท้องเรื่อง The Last Recipe เชฟยามางาตะ ซึ่งรับราชการอยู่ที่แผนกห้องเครื่อง สำนักพระราชวังญี่ปุ่น ได้รับมอบหมายจากกองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่นให้ไปประจำที่แมนจูกัว เพื่อเตรียมเครื่องเสวยสำหรับสมเด็จพระจักรพรรดิญี่ปุ่นในช่วงที่เสด็จฯ เยือนแมนจูกัว เชฟยามางาตะได้คิดค้นสูตรอาหาร 112 ชนิดสำหรับปรุงถวาย เรียกชื่อว่า “ตำรับอาหารจักรพรรดิ” แต่ปัจจุบันตำรับอาหารดังกล่าวได้สูญหายไปแล้ว ซาซากิผู้ตกลงรับงานจึงต้องตามสืบเสาะหาตำรับอาหารให้เจอก่อน ถึงจะสามารถทำอาหารตามตำรับนั้นได้ นี่ก็คือจุดเริ่มต้นแห่งการเดินทางของซาซากิ ซึ่งปรากฏว่ามันกลายเป็นการ ‘ไขปริศนา’ บางอย่างของชีวิตคนบางคน โดยที่เขาเองก็ไม่เคยล่วงรู้และไม่ได้คาดคิดมาก่อนเลย
The Last Recipe ทำให้ดิฉันได้รู้ว่า หนังเกี่ยวกับอาหารนั้นสามารถทำได้หลากหลายแนวโดยไม่มีขีดจำกัด แม้กระทั่งเป็นหนังดราม่าอิงประวัติศาสตร์การเมืองผสานกับการสืบสวนและจารกรรม อาหารในหนังเรื่องนี้ได้ถูกจัดวางไว้ให้มีบทบาทสำคัญในทุกมิติ ดิฉันจะขอพูดถึงแค่สามมิติหลักๆ ละกัน เป็นการเรียกน้ำย่อย
มิติที่ 1 “อาหารในฐานะที่เป็นเครื่องหล่อเลี้ยงผัสสะต่างๆ ทั้งตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ” เวลาเรากินอาหารดีๆ หรือนั่งดูคนทำอาหารให้เรากิน ประสาทสัมผัสของเราจะเปิดรับทุกอย่าง ตามองเห็นอาหารที่ตกแต่งมาอย่างน่ากิน หูได้ยินเสียงการปรุงอาหาร จมูกได้กลิ่นอันหอมหวน ลิ้นได้รสอันโอชะ กายได้อิ่มจากการรับอาหาร ใจก็ได้อิ่มจากความสุขที่ได้รับผ่านผัสสะทุกอย่างข้างต้น น่ามหัศจรรย์ตรงที่ว่า หนังเรื่องนี้สามารถทำให้เรามีประสบการณ์ประหนึ่งได้กินอาหารจริงๆ คือจมูกก็เหมือนจะได้กลิ่น ลิ้นก็เหมือนจะได้รส เพราะองค์ประกอบทุกอย่างมันชักจูงประสาทสัมผัสเรามากๆ ทั้งการดีไซน์อาหาร การถ่ายภาพ แอ็กติ้งของนักแสดง และรายละเอียดปลีกย่อยอื่นๆ ที่ไม่อาจสาธยายได้หมด
มิติที่ 2 “อาหารในฐานะที่เป็นเครื่องผูกพันเชื่อมโยงมนุษย์เข้าด้วยกัน” ไม่ว่าจะเป็นมนุษย์ที่ต่างวัฒนธรรม ต่างเชื้อชาติ อยู่ในประเทศที่เป็นศัตรู หรืออยู่ต่างยุคต่างสมัย
มิติที่ 3 “อาหารในฐานะที่เป็นเครื่องมือทางการเมือง” มิตินี้ขอบอกแต่เพียงว่า เป็นอีก ‘รสชาติ’ หนึ่งที่ ‘อร่อย’ ที่สุดสำหรับดิฉัน อร่อยจนถึงกับหลั่งน้ำตา
ที่มาภาพ: tube.hk
นักแสดงในหนังเรื่องนี้ล้วนแต่ระดับเทพ ได้รับการยอมรับในฝีมือการแสดงมายาวนาน ผู้รับบทซาซากิ ได้แก่ นิโนะมิยะ คะสึนะริ ลูกชายดิฉันเองข่าาาาาา (คนกลางในโปสเตอร์) ท่านใดเคยดูหนังเรื่อง Letters from Iwo Jima (ปี 2006) ของปู่คลินต์ อีสต์วูด อาจจะพอจำนิโนะลูกดิฉันได้ น้องรับบทเด่นทีเดียว คนต่อมา ด้านซ้ายติดกับนิโนะ คือ นิชิจิมะ ฮิเดะโทชิ ผู้รับบทเชฟยามางาตะ ช่วงนี้ช่องไทยพีบีเอสกำลังเอาละครเรื่อง Yae no Sakura (ยาเอะ ยอดหญิงซามูไร) ซึ่งเขารับบทสำคัญมาฉายพอดี ถัดไป ผู้หญิงคนเดียวในโปสเตอร์ คือมิยาซากิ อาโออิ รับบทภรรยาเชฟยามางาตะ คนนี้แทบไม่ต้องพูดถึง ที่สุดของแจ้ในหนังเรื่อง Nana เมื่อปี 2005 และละครเรื่อง Atsuhime หรือ “เจ้าหญิงอัตสึ” เมื่อปี 2008 ซึ่งไทยพีบีเอสเคยเอามาฉาย ฮิตถล่มทลาย
มาทางซีกขวาบ้าง คนขวาสุดก็คือ ทาเคโนะอุจิ ยูทากะ รับบทนายทหารที่ควบคุมการทำงานของเชฟยามางาตะ สำหรับท่านนี้ ใครที่เป็นแฟนละครญี่ปุ่นรุ่นบุกเบิก น่าจะยังรักเทิดทูนไม่เสื่อมคลาย และคนสุดท้าย อายาโนะ โก หัวฟูอยู่คนเดียวในโปสเตอร์ ก็รับบทสำคัญในละคร Yae no Sakura เช่นเดียวกัน แต่เรื่องนั้นก็ยังไม่แซ่บเท่าเรื่องนี้ ซึ่งฮีเล่นเป็นเพื่อนของซาซากิ และเป็นเชฟด้วย ฉากฮีผัดข้าวผัดในกระทะ เห็นกล้ามเนื้อต้นแขนงามๆ ขยับเขยื้อนเคลื่อนไหว เป็นอะไรที่อูมาหมิมาก ป้าอยากกินข้าวผัดขึ้นมาทีเดียว
สรุป: จ่าย 140 ได้กลับมา 169
โดย ปวิวัณณ์ คำเจริญ
14 กุมภาพันธ์ 2561
(ขอบคุณภาพปกจาก news.walkerplus.com)