ดูหนังอย่างคนเบี้ยน้อยหอยน้อย 126; ดู The Lure หนังนางเงือกโปแลนด์ ซึ่งมีชื่อไทยชวนให้คิดถึงปลาฉลามว่า “ครีบกระหาย” #แวบหนึ่งคิดถึงหูฉลาม
ในบรรดาอมนุษย์ในตำนานทั้งหมด ดิฉันว่าเงือกป๊อปปูล่าร์สุดแล้ว ทุกทวีปในโลกมีตำนานเกี่ยวกับเงือกไม่เว้นแม้แต่แอฟริกา เพียงแต่มีรายละเอียดแตกต่างกันไป อย่างเงือกยุโรป ถ้าเป็นเงือกสาว ก็จะมีลักษณะเด่นคือ สวย ผมยาว เสียงเพราะ ร้องเพลงเก่ง เวลาอยู่บนบกหางจะเปลี่ยนเป็นขาได้ แต่ถ้าโดนน้ำก็กลับเป็นหางตามเดิม นางกินคนเป็นอาหาร โดยใช้การร้องเพลงล่อลวงมนุษย์ (ส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย) ให้หลงใหล จากนั้นก็งาบด้วยฟันอันแหลมคม ซึ่งเป็นฟันที่ไม่มีใครเห็นในยามปกติ นางเงือกแบบนี้คาดว่าหลายๆ ท่านน่าจะจำได้จากหนังเรื่อง Pirates of the Caribbean: On Stranger Tides นั่นน่ะเป็นเงือกตามตำนานยุโรปเลย คือมีลักษณะเป็นปิศาจน่าหวาดกลัว และว่ากันว่าเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เรือสมัยก่อนพุ่งชนหินโสโครกหรืออับปาง
ถ้ามองว่าตำนานที่มนุษย์สร้างขึ้นเป็นเครื่องสะท้อนแฟนตาซีของมนุษย์ เราก็จะเห็นได้ว่านางเงือกยุโรปเป็นสัญลักษณ์ของหลายๆ อย่าง ทั้งความบริสุทธิ์ไร้เดียงสา ความเย้ายวนรัญจวนใจ และเซ็กส์ ซึ่งพ่วงมากับความอันตราย พูดง่ายๆ ว่านางเงือกเป็นตัวแทนของกามตัณหา คือความพอใจหลงใหลในรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ซึ่งจะนำพาเราไปสู่หายนะ #นี่พูดให้ง่ายหรือพูดให้ยาก ด้วยเหตุนี้ แอกเนียสกา สมอคซินสกา ผู้กำกับสาววัย 39 ชาวโปแลนด์ จึงเกิดไอเดียทำหนังที่มีนางเงือกเป็นสัญลักษณ์แห่งการเรียนรู้ ‘โลก’ และ ‘โลกย์’ ของตัวเธอเอง จากการที่เธอเติบโตขึ้นในไนต์คลับซึ่งเป็นกิจการของคุณแม่ โดยนำมาผนวกกับเทพนิยายนางเงือกที่โด่งดังที่สุดในโลก นั่นก็คือ The Little Mermaid (เงือกน้อย) ของ ฮันส์ คริสเตียน แอนเดอร์เซน นักประพันธ์ชาวเดนมาร์ก
ก่อนหน้านี้ The Little Mermaid ได้รับการดัดแปลงเป็นวรรณกรรมและการแสดงต่างๆ หลากหลายประเภท ในหลากหลายประเทศทั่วโลก แต่ที่คนรู้จักและจดจำได้มากที่สุดน่าจะเป็นภาพยนตร์แอนิเมชันของวอลต์ ดิสนีย์ เมื่อปี 1989 ซึ่งดัดแปลงตอนจบให้แฮปปี้เอนดิ้งตามประสาการ์ตูนฟีลกู๊ด ที่จริงเวอร์ชันต้นฉบับของเทพนิยายเรื่องนี้ดาร์กขั้นสุด ในขณะเดียวกันก็เป็นการคิดใหม่ทำใหม่ในเรื่องเงือก คือเปลี่ยนจากเงือกดุร้ายกระหายเลือดตามตำนาน มาเป็นเงือกที่อ่อนหวานและมีชีวิตที่แสนเศร้า เนื้อเรื่องกล่าวถึงเงือกน้อย ธิดาสุดท้องของราชาเงือก มีพี่สาว 5 ตน เธอไม่กินคน ไม่ล่อลวงคนให้เรือแตก แต่กลับช่วยคนให้รอดชีวิตจากเรือแตก และคนที่เธอช่วยชีวิตไว้ก็คือเจ้าชายที่เธอหลงรัก จนยอมแลกทุกอย่างเพื่อให้ได้อยู่กับเขา เธอไปทำความตกลงกับแม่มดเพื่อจะเปลี่ยนหางเป็นขา แลกกับการที่เสียงอันไพเราะของเธอจะต้องหายไป เธอจะกลายเป็นใบ้ และจะรู้สึกเจ็บปวดเหมือนเหยียบลงบนมีดทุกครั้งที่ก้าวเดิน ที่สำคัญ ถ้าเจ้าชายไปแต่งงานกับคนอื่น เธอจะต้องตาย ร่างจะสูญสลายกลายเป็นฟองคลื่นในมหาสมุทร ข้อแลกเปลี่ยนเหล่านี้ช่างไม่คุ้ม แต่เธอก็ยอม สุดท้าย เจ้าชายผู้แสนโง่ก็ไปแต่งงานกับคนอื่นจริงๆ ในงานแต่งงานของเจ้าชาย พี่สาวทั้งห้าของเงือกน้อยลอบมาพบน้องสาวพร้อมผมที่สั้นกุด เพราะพวกนางไปขอให้แม่มดช่วยน้อง แม่มดจึงขอผมอันยาวสลวยของพวกนาง แลกกับการให้มีดมาเล่มหนึ่ง ถ้าเงือกน้อยใช้มีดนี้ฆ่าเจ้าชายก่อนอรุณรุ่ง แล้วเอาเลือดของเขาหยดลงบนขา ขาก็จะกลับเป็นหาง แล้วเธอก็จะกลับไปใช้ชีวิตในมหาสมุทรได้ตามเดิม แต่เงือกน้อยตัดสินใจที่จะยอมตายดีกว่าจะฆ่าคนที่เธอรัก ดังนั้น เมื่อดวงอาทิตย์พ้นขอบฟ้า ร่างเธอจึงค่อยๆ กลายเป็นฟองคลื่น แต่แทนที่จะสูญสลายไปแบบฟองอื่นๆ เธอกลับกลายเป็นดวงวิญญาณสุกสว่างที่เรียกว่า daughter of the air (ธิดาแห่งฟากฟ้า) เนื่องจากเธอยินยอมเสียสละเพื่อความรักโดยปราศจากความเห็นแก่ตัว เธอจึงได้รับโอกาสให้คอยดูแลช่วยเหลือมนุษย์อีก 300 ปี ก่อนที่จะไปสถิตยังอาณาจักรของพระเจ้าบนสรวงสวรรค์ #นี่ขนาดกุยอมตายเพื่อคนแล้วยังต้องมาช่วยคนต่ออีก #เงือกน้อยไม่ได้กล่าวไว้
ต้นฉบับยังดาร์กจนปวดตับขนาดนี้ ดิฉันก็ไม่เคยคิดเหมือนกันว่าจะได้ดูเวอร์ชันดัดแปลงที่ดาร์กยิ่งกว่าต้นฉบับไปอีก จนกระทั่งมาดู The Lure นี่แหละ หนังมีชื่อภาษาโปลิชว่า Córki Dancingu แปลว่า Daughters of the Dance Club หรือ “ลูกสาวแห่งคลับเต้นรำ” ซึ่งเป็นชื่อที่สื่อถึงชีวิตจริงของผู้กำกับและเรื่องราวของตัวละคร ทั้งยังชวนให้นึกถึง daughter of the air ใน The Little Mermaid ด้วย
(ที่มาภาพ: cultofghoul.blogspot.com)
ตัวละครเอกในหนังเป็นเงือกสาวพี่น้อง ชื่อ เซร็บร์นา กับ ซโลตา (ตรงกับภาษาอังกฤษว่า ซิลเวอร์ กับ โกลเดน หรือ “เงิน” กับ “ทอง”) ทั้งสองได้ร้องเพลงล่อลวงมนุษย์ 3 คนซึ่งเป็นนักร้องและนักดนตรีในไนต์คลับ ให้พาพวกเธอขึ้นจากน้ำไปอยู่ร่วมกับมนุษย์ ด้วยวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกัน เซร็บร์นาหลงรักมีเตค มือเบสสุดหล่อ ส่วนซโลตาอยากกินคนให้หนำใจ ก็เลยอยากเข้าไปอยู่ในหมู่คน จะได้กินสะดวก เจ้าของไนต์คลับรับสองสาวไว้โดยให้ทำงานเป็นนักร้องนักเต้นเปลื้องผ้า ใช้ชื่อว่า Córki Dancingu หรือชื่อภาษาอังกฤษ “เดอะลัวร์” (แปลว่า ความเย้ายวนใจ เครื่องล่อใจ เสน่ห์ดึงดูด) เซร็บร์นากับมีเตคต้องการมีเซ็กส์กัน แต่ติดที่ร่างมนุษย์ของเงือกไม่มีเครื่องเพศ ครั้นจะร่วมรักกันในร่างเงือก มีเตคก็ทำใจลำบาก เพราะเขารู้สึกว่ามันผิดธรรมชาติ #เรื่องนี้จะไม่เป็นปัญหาถ้ามาปรึกษาพระอภัยนะคะ แต่จริงๆ ในจุดนี้ดิฉันก็เข้าใจมีเตค เพราะหางเงือกในหนังเรื่องนี้ไม่ได้สวยงามฟรุ้งฟริ้งแบบที่เราเคยเห็นกันในหนังเรื่องอื่นๆ มันใหญ่มาก ยาวมาก มีเมือกเหมือนปลา และมีครีบแหลมๆ เรียงกันเหมือนสันหลังมังกร เนื่องจากผู้กำกับสร้างตัวละครนางเงือกโดยอิงตำนานสมัยศตวรรษที่ 14-16 ที่ว่านางเงือกเป็นน้องสาวของมังกร (สอดคล้องกับเงือกตามคติไทยโบราณ ซึ่งหมายถึง “งู”) ความปรารถนาจะได้อยู่ร่วมกับคนรักนำมาซึ่งการตัดสินใจอันบ้าบิ่นสุดสะพรึงของเซร็บร์นา แล้วเงือกสาวพี่น้องก็ได้เรียนรู้โลก(ย์) ในแง่มุมที่มืดมนที่สุด ภายใต้ฉากหน้าของชีวิตอันมีสีสันฉูดฉาดเย้ายวนใจ
หนังสร้างความเซอร์ไพรส์ให้แก่ดิฉันได้ตั้งแต่เริ่มต้น เพราะเพียงแค่ฉากแรกดิฉันก็ต้องอุทานในใจว่า “เฮ้ย! นี่มันหนังเพลงนี่หว่า” คือก่อนดูดิฉันไม่ได้อ่านอะไรเลยเพราะกลัวสปอยล์ ก็เลยไม่รู้ว่าหนังเรื่องนี้เป็นมิวสิคัล แถมย้อนยุคไปในช่วงทศวรรษ 1980 หรือที่เรียกกันว่า “ยุค eighties” ด้วย ดูไปดูมาก็รู้สึกว่าผู้กำกับฉลาดจริงๆ ที่เลือกนำเสนอเป็นหนังเพลง เพราะมันเข้ากับเรื่องของนางเงือกซึ่งล่อลวงคนด้วยเพลง เข้ากับไนต์คลับซึ่งหล่อเลี้ยงและขับเคลื่อนด้วยเพลง ทั้งยังทำให้สามารถใส่ความแฟนตาซีหลอนๆ เข้าไปได้อย่างไม่ประดักประเดิด สอดคล้องกับเพลงในยุค 1980s ซึ่งเป็นแนวดิสโกและอิเล็กทรอนิกส์ป็อปสไตล์ล่องลอยมึนๆ เหมือนคนมัวเมาในอะไรบางอย่างอยู่ตลอดเวลา แล้วองค์ประกอบทุกอย่างในหนังก็ได้รับการออกแบบให้เป็นสไตล์นี้ทั้งหมด เรื่องราวที่นำเสนอก็ไม่ปะติดปะต่อและมีลักษณะกึ่งจริงกึ่งฝัน ซึ่งก็สอดคล้องกับประเด็นที่หนังนำเสนอ จึงไม่น่าแปลกใจที่หนังชนะรางวัล Special Jury Award for Unique Vision and Design หรือรางวัลพิเศษขวัญใจกรรมการสำหรับภาพยนตร์ที่มีวิสัยทัศน์ในการนำเสนอและการออกแบบงานสร้างอันโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ ในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติซันแดนซ์เมื่อปีกลาย
เขียนมาถึงตรงนี้ ก็รู้สึกว่าชื่อ “ครีบกระหาย” เหมาะกับเรื่องอยู่เหมือนกัน เพราะความกระหายก็คือความอยาก ความต้องการ ความปรารถนา บางครั้งเราก็มีความกระหายใคร่รู้ในเรื่องที่ล่อแหลมอันตราย บางครั้งเราก็กระหายที่จะได้ จะมี จะเป็น อะไรบางอย่าง และบางครั้งความกระหายเหล่านั้นก็เปลี่ยนแปลงเราให้กลายเป็นคนเหี้ยมโหดกระหายเลือดโดยไม่รู้ตัว แต่สุดท้ายแล้วเราต้องแลกอะไรกับความกระหายของเราบ้าง เมื่อใดที่ได้เรียนรู้ เมื่อนั้นก็ได้เติบโต
สรุป: จ่าย 140 ได้กลับมา 158
โดย ปวิวัณณ์ คำเจริญ
10 กรกฎาคม 2560