โดย ปวิวัณณ์ คำเจริญ
15 กุมภาพันธ์ 2017
ดูหนังอย่างคนเบี้ยน้อยหอยน้อย 093; ดู The Red Turtle หนังแอนิเมชันจากการร่วมทุนของ 3 ประเทศ 7 บริษัท รวมทั้งสตูดิโอจิบลิสุดเลิฟของหลายๆ คน
ความร่วมมืออันอุดมนี้เกิดจากการที่คุณลุงมิยาซากิ ฮายาโอะ เจ้าพ่อจิบลิ ได้ดูแอนิเมชันเรื่อง Father and Daughter ผลงานของมิคาเอล ดูด็อก เดอ วิต แอนิเมเตอร์ชาวดัตช์-อังกฤษ ซึ่งชนะรางวัลออสการ์และบาฟตาสาขาภาพยนตร์แอนิเมชันขนาดสั้นยอดเยี่ยมเมื่อปี 2001 คุณลุงก็เลยคุยกับคุณแวงซองต์ มาราวัล แห่งบริษัทไวลด์บันช์ ผู้จัดจำหน่ายแอนิเมชันของจิบลิในต่างประเทศ ว่ามาราวัลเอ๊ย ช่วยตามหาผู้กำกับหนังเรื่องนี้ให้หน่อย มาราวัลซึ่งเป็นคนฝรั่งเศส แต่มีบริษัทสำนักงานใหญ่อยู่ในเยอรมนี และซี้กับลุงมิยาซากิชาวญี่ปุ่น ก็เลยบินไปหามิคาเอล ดูด็อก เดอ วิต ที่อังกฤษ แล้วชวนมาร่วมงานกัน
เดอ วิตเขียนบท The Red Turtle ร่วมกับปาสกาล แฟร์ร็อง ผู้กำกับ-เขียนบทหญิงชาวฝรั่งเศส จากนั้นเขาก็มาทำงานที่สตูดิโอจิบลิในโตเกียว โดยมีคุณปู่ทาคาฮาตะ อิซาโอะ หนึ่งในผู้ก่อตั้งสตูดิโอจิบลิ และผู้กำกับอะนิเมะระดับสุดยอดอย่าง Grave of the Fireflies (ปี 1988) Pom Poko (ปี 1994) My Neighbor the Yamadas (ปี 1999) และ The Tale of Princess Kaguya (ปี 2013) รับหน้าที่ Artistic Producer ดูแลงานด้านภาพทั้งหมด
ที่มาภาพ: img1.ak.crunchyroll.com
The Red Turtle มีชื่อภาษาญี่ปุ่นตามโปสเตอร์ว่า Red Turtle: Aru Shima no Monogatari แปลว่า “เต่าแดง: ตำนานของเกาะแห่งหนึ่ง” (Red Turtle ถ่ายเสียงตามตัวอักษรภาษาญี่ปุ่นว่า “เรดโดะ ทาโทะหรุ” อ่ะนะ) เป็นเรื่องของชายหนุ่มเรือแตกไปติดเกาะอยู่กลางมหาสมุทร และได้พบกับเต่าทะเลยักษ์สีแดง ซึ่งมีความสำคัญต่อเขานับจากนั้นไปจนตลอดชีวิต
หนังเรื่องนี้มีความเป็นสากลไม่แพ้ที่มาของหนัง อันเกิดจากความร่วมมือของคนหลายชาติจากนานาประเทศ เพราะตัวละครไม่ปรากฏว่าเป็นใครมาจากไหน ชื่ออะไรเป็นคนชาติอะไรก็ไม่รู้ ที่สำคัญ หนังเรื่องนี้ไม่มีบทพูด ก็จะให้แกพูดกับใครใช่มะ แกติดเกาะอยู่คนเดียว ส่วนช่วงที่แกไม่ได้อยู่คนเดียว ก็ไม่จำเป็นต้องสื่อสารด้วยคำพูด ดังนั้น หนังเรื่องนี้จึงไม่ต้องมีซับไตเติลเลย ไม่ว่าเราจะพูดภาษาอะไรก็ดูรู้เรื่อง ส่วนการไม่ระบุชื่อเสียงเรียงนาม เชื้อชาติ และยุคสมัยของตัวละคร ก็ทำให้ตัวละครตัวนี้สามารถเป็นตัวแทนมนุษย์ทุกคนในโลกนี้ได้ ซึ่งช่วยให้สารสำคัญของเรื่องชัดเจนยิ่งขึ้นไปอีก
หนังเล่าเรื่องด้วยภาพ กิริยาท่าทางและการเคลื่อนไหวของตัวละคร พร้อมด้วยดนตรีประกอบอันแสนไพเราะของโรลองต์ เปเรซ เดล มาร์ คอมโพสเซอร์ชาวฝรั่งเศส ซึ่งถ่ายทอดเนื้อหาของเรื่องและอารมณ์ความรู้สึกของตัวละครได้เป็นอย่างดี ทั้งหมดนี้ทำให้เราเห็นว่า ยังมีสิ่งอื่นที่สามารถสื่อสารได้ไม่แพ้ถ้อยคำ และอาจจะสื่อสารได้กว้างขวางลึกซึ้งกว่าถ้อยคำด้วย เพราะมันเปิดกว้างให้การตีความอย่างที่สุด
งานภาพของหนังเรื่องนี้โดดเด่นมากไม่แพ้ดนตรีประกอบ ตั้งแต่เปิดเรื่องฉากเรือแตกนี่ดิฉันก็ยังตะลึงไม่หาย เขาใช้ลายเส้นน้อย สีไม่ฉูดฉาด แต่ดูสมจริงมากๆ แสงเงาก็ดูเป็นธรรมชาติ เข้ากับเรื่องราวความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติในหนัง ซึ่งมีแต่มนุษย์กับธรรมชาติล้วนๆ ไม่มีอะไรปะปนเลย
เมื่อธรรมชาติเป็นทั้งผู้ให้อันไม่สิ้นสุด และผู้ทำลายอันไร้ความปรานี มนุษย์จึงทำได้เพียงใช้ชีวิตให้สอดคล้องกับธรรมชาติ จนกว่าเราจะกลับคืนสู่ธรรมชาติในวันสุดท้ายของชีวิต
สรุป: จ่าย 140 ได้กลับมา 150
หมายเหตุ: The Red Turtle ได้เข้าชิงรางวัลออสการ์สาขาภาพยนตร์แอนิเมชันยอดเยี่ยมประจำปีนี้
(ขอบคุณภาพปกจาก www.wildbunch.biz)