โดย Average Joe
12 กุมภาพันธ์ 2014
ในช่วงที่หนังชิงออสการ์สายแข็งมากมายวิ่งชนกันในโรงหนัง เรากลับเดินไปตีตั๋วดูหนังเล็กๆ เรื่องนี้แทน ด้วยเกรงว่าหากไม่รีบดูวันนี้ อาจจะไม่มีโอกาสได้ดูอีกแล้ว The Rocket บุญติดจรวด (หรือชื่อภาษาลาวว่า “บั้งไฟ” — ทำไมเราไม่ใช้ชื่อเดียวกันล่ะ) เล่าเรื่องเด็กชายที่เกิดมาพร้อมกับตราบาปว่าเป็น “ตัวซวย” ตามความเชื่อของผู้ใหญ่ในหมู่บ้าน และเหตุการณ์ต่อมาที่ทำให้เขาและครอบครัวต้องระเหเร่ร่อนไปหาที่อยู่ใหม่ ระหว่างทางนั้น เด็กน้อยได้พบกับความสูญเสีย ความอยุติธรรม ที่มาพร้อมกับมิตรภาพ ความหวัง สองสิ่งหลังนี่เองที่ผลักดันให้เขามีกำลังใจก้าวข้ามอุปสรรคนานาประการ ยืนยันที่จะทำบั้งไฟประกวดในงานบุญ เพื่อช่วยให้ครอบครัวได้มีโอกาสลืมตาอ้าปาก และเพื่อกู้หน้าให้ตัวเองพ้นจากความเป็นตัวซวยในสายตาของผู้ใหญ่ด้วย
เมื่อแรกที่เห็นพล็อตเกี่ยวกับเด็กชายที่ถูกตีตราให้เป็นตัวซวย ก็พลันนึกไปถึงหนังเรื่อง “ปุกปุย” (2533) และซีรีส์ความซวยอันน่าเอ็นดูทันที แต่เมื่อได้ดู The Rocket แล้ว ก็พบว่า “ความซวย” ในหนังทั้งสองเรื่องไม่เหมือนกันเสียทีเดียวนัก “ความซวย” ใน The Rocket แม้จะไม่ได้ประดังมาเป็นแถวยาวเช่นใน ปุกปุย (กล่าวคือ น้อยกว่าในเชิงปริมาณ) แต่ก็มีผลกระทบอย่างมากต่อทั้งครอบครัวของเด็กน้อยและรวมไปถึงทั้งชุมชนด้วย จะว่าไป การกล่าวหาว่าเด็กชายเป็นต้นเหตุของความโชคร้ายทั้งปวงในเรื่องก็ดูจะไม่แฟร์นัก เพราะหลายเรื่องเกิดขึ้นเองโดยเด็กไม่มีส่วนเกี่ยวข้องเลยแม้แต่น้อย ซึ่งจุดนี้เองทำให้ตัวละครย่า (หรือยาย?) ดูมีอคติกับเด็กแบบตั้งแง่และไม่มีเหตุผลเท่าไรนัก
ที่มารูป: https://upload.wikimedia.org
ใน The Rocket เราจะเห็นว่า ชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านได้รับผลกระทบโดยตรงจากการขยายตัวทางอุตสาหกรรมและระบอบทุนนิยม/ประชานิยมเป็นส่วนใหญ่ พวกเขาถูกบังคับให้ละทิ้งถิ่นฐาน เนื่องจากทางการจะสร้างเขื่อนในพื้นที่นั้น แถมยังสัญญา (หลอกลวง?) ว่าจะหาบ้านจัดสรรให้อยู่ใหม่อย่างสบาย ปรากฏว่าพอชาวบ้านขนของย้ายมาจริง กลับพบแต่โครงปูนโล่งๆ ของบ้านที่ยังสร้างไม่เสร็จ (และดูไม่มีวี่แววว่าจะเสร็จในเวลาอันใกล้) กับพื้นดินแห้งแล้งที่เพาะปลูกอะไรก็ไม่ขึ้น ซึ่งสาเหตุของพื้นดินที่แห้งแล้งก็คือผลพวงจากสงครามที่ยังส่งผลต่อเนื่องยาวนานผ่านคนหลายรุ่นด้วยนี่เอง
ความดีของหนังอยู่ตรงที่หนังนำเสนออย่างตรงไปตรงมา ผ่านสายตาที่ไม่วิพากษ์หรือตัดสินถูกผิด ไม่เค้นอารมณ์จนฝืนธรรมชาติเกินไป ด้วยการเล่าเรื่องแบบทวิภาค (binary) ให้คนดูรู้สึกถึงความขัดแย้งได้เอง โดยเฉพาะเรื่องบาดแผลทางประวัติศาสตร์ของประเทศ เราจะได้เห็นทัศนียภาพที่สวยงามอุดมสมบูรณ์ของประเทศลาว (ซึ่งบางส่วนก็ถ่ายทำในไทย) แต่ตัวละครบอกเราว่า พื้นที่ที่พวกเขาอาศัยอยู่เพาะปลูกอะไรก็ไม่ขึ้น ภาพป้ายโฆษณาบ้านจัดสรรสวยงาม กับ “เพิง” ที่พวกเขาใช้เป็นบ้านชั่วคราว หรือภาพเด็กๆ เล่นกันอย่างไร้เดียงสา ก็ดูขัดแย้งกับลูกระเบิดนับร้อยลูกที่ฝังอยู่ในดินบริเวณรอบๆ บ้านของพวกเขานี่เอง แม้กระทั่งประเด็นเรื่องความเชื่อและประเพณีดั้งเดิม ผู้สร้าง (ที่เป็นฝรั่ง) ก็ยังเล่าออกมาแบบตรงๆ ซื่อๆ โดยไม่ดูถูกวิถีชาวบ้านว่างมงายคร่ำครึแต่อย่างใด
The Rocket กล่าวถึงประเด็นทางสังคมไว้หลายเรื่อง ไม่ว่าจะโดยตรงหรืออย่างผิวเผิน เช่นผลกระทบที่ทุนนิยมมีต่อปากท้องชาวบ้านและวิถีชีวิตแบบดั้งเดิม (ย่าคะยั้นคะยอให้พ่อไปหางานในเมือง แทนที่อาชีพเกษตรกรอย่างที่เคยทำมา) ความสัมพันธ์ระหว่างหน่วยงานภาครัฐและประชาชน (ชาวบ้านถูกบีบให้ย้ายบ้านเพราะทางการจะสร้างเขื่อน) ความเชื่อและการธำรงรักษาประเพณีดั้งเดิม (กรณี “ตัวซวย” และงานบุญบั้งไฟ) ความทรงจำและบาดแผลจากสงคราม (ตัวละครลุงเพอร์เพิ่ล และทุกฉากที่มีลูกระเบิด) รวมถึงความผูกพันของคนในครอบครัวอีกด้วย (เด็กชายกับพ่อ และมะม่วงของแม่) นี่เป็นหนังเล็กๆ ที่อาจจะไม่สมบูรณ์นัก (บางช่วงดูโดดๆ ไม่ต่อเนื่องเท่าไร) แต่ก็ละเมียดอย่างยิ่งต่อความรู้สึก
7.5/10 ครับ ^_^
ปล. The Rocket เป็นตัวแทนออสเตรเลีย (แม้จะพูดภาษาลาวกันทั้งเรื่องก็ตาม) เข้าชิงออสการ์สาขา Best Foreign Language Film แต่ไม่เข้ารอบห้าเรื่องสุดท้ายนะครับ เห็นโฆษณาบางที่เขียนว่า “เข้าชิงรางวัลออสการ์ สาขาภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศ” แล้ว กลัวมีคนเข้าใจผิดจริงๆ
ปล.2 เป็นผู้ชมคนเดียวในโรง (อีกแล้ว)