โดย ปวิวัณณ์ คำเจริญ
8 มีนาคม 2017
ดูหนังอย่างคนเบี้ยน้อยหอยน้อย 100; ฉลองเรื่องที่ 100 ด้วย The Salesman หนังอิหร่านที่เปิดตัวได้อย่างงดงามในเทศกาลภาพยนตร์เมืองกานส์ (Cannes Film Festival) เมื่อเดือนพฤษภาคมปีที่แล้ว จากนั้นก็แรงต่อเนื่องมาจนถึงงานออสการ์เมื่ออาทิตย์ก่อน ซึ่งประธานาธิบดีทรัมป์ก็มีส่วนอย่างมาก 555
ที่มาภาพ: traileraddict.com
The Salesman เขียนบทและกำกับโดย อัสการ์ ฟาร์ฮาดี ผู้กำกับ-เขียนบทแถวหน้าของอิหร่าน ซึ่งเมื่อปี 2011 (ตอนนั้นแกอายุ 39 เอง) หนังเรื่อง A Separation ของแกเป็นที่แซ่ซ้องสรรเสริญ จนชนะรางวัลออสการ์สาขาภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศยอดเยี่ยม พอมาปีนี้ The Salesman ก็เข้าชิงอีก หลังจากที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ประกาศห้ามชาวมุสลิมจาก 7 ประเทศ ได้แก่ ซีเรีย อิรัก อิหร่าน ซูดาน ลิเบีย โซมาเลีย เยเมน เดินทางเข้าสหรัฐฯ ตอนนั้นดิฉันฟันธงเลยว่า The Salesman ชนะแน่นอน เพราะการมอบรางวัลให้หนังจากประเทศที่ถูกแบน ย่อมเป็นการส่งสัญญาณทางการเมืองซึ่งออสการ์ถนัดอยู่แล้ว #ดิฉันเป็นคนคิดชั่ว 555
ผลปรากฏว่า The Salesman ชนะจริงๆ และฟาร์ฮาดีก็บอยคอตไม่มาร่วมงาน แม้ว่าแกจะได้วีซ่าเป็นกรณีพิเศษ แกส่งคนมารับรางวัลแทน และอ่านสุนทรพจน์บนเวทีว่า แกตัดสินใจไม่มาร่วมงานเพื่อแสดงความเคารพต่อชาวอิหร่านและประชาชนในอีก 6 ประเทศที่ไม่ได้รับความเคารพในฐานะมนุษย์ การกระทำเช่นนี้เป็นการแบ่งแยกที่ก่อให้เกิดความหวาดกลัว และเหล่านักสร้างหนังนี่แหละที่จะทำหน้าที่ถ่ายทอดเรื่องราวความเป็นมนุษย์ เพื่อทำลายอคติระหว่างเชื้อชาติศาสนา อันจะนำไปสู่ความเข้าใจ ซึ่งเป็นสิ่งที่โลกเราต้องการมากที่สุดในเวลานี้ #สง่างาม #ซื้อหวยไม่ถูกแบบนี้บ้าง
แต่แม้จะไม่มีกระแสหรือการเมืองอะไรมาช่วย หนัง The Salesman ก็ดีในตัวมันเองและคู่ควรกับรางวัลที่ได้รับ คือหนังที่ดีมีระดับเนี่ย ก็ไม่เห็นจะต้องทำให้ดูยากเลย การเล่าเรื่องอย่างเรียบง่ายก็จุดประกายความคิดได้ไม่ต่างจากการเล่าแบบที่ต้องปีนบันไดดูหรอก ถ้าผู้กำกับ-เขียนบทมือถึง ไม่ว่าจะทำยังไงก็โดน แถมหนังยังสนุกแบบที่ว่าสามารถดึงใจเราไปจดจ่อกับทุกๆ วินาทีของมันด้วย ใครคิดว่าดูหนังเรื่องนี้แล้วจะหลับ ตาเบิกโพลงตั้งแต่ต้นจนจบเรื่องค่ะ
ที่ใช้ชื่อเรื่อง The Salesman นี้ ไม่ได้หมายความว่าพระเอกประกอบอาชีพเซลส์แมน แต่มันเป็น allusion หรือการอ้างถึงบทละครเวทีเรื่องหนึ่ง ซึ่งมีชื่อเสียงแบบสุดๆ ในวงการละครเวทีของโลก ทั้งยังแผ่ขยายมาถึงวงการภาพยนตร์และละครโทรทัศน์ด้วย บทละครเรื่องนั้นก็คือ Death of a Salesman ผลงานของ อาเธอร์ มิลเลอร์ นักเขียนบทละครชื่อก้องชาวอเมริกัน
Death of a Salesman เป็นเรื่องของวิลลี โลแมน เซลส์แมนตกอับ ผู้ยึดมั่นอยู่แต่กับคุณค่าจอมปลอมของชีวิต จนไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปได้ ทำให้ชีวิตเขาพังทลาย และลูกชายทั้งสองคน คือบิฟฟ์ กับแฮปปี้ (ชื่อน่าสงสารเอี้ยๆ) ก็พลอยมีชีวิตที่ล้มเหลวไปด้วย สุดท้าย วิลลีจึงตัดสินใจฆ่าตัวตาย เพื่อเอาเงินประกันมาให้ครอบครัวได้ยังชีพและให้ลูกชายได้ตั้งตัว
บทละครเรื่องนี้ได้รับยกย่องว่าเป็นหนึ่งในบทละครที่ดีที่สุดของศตวรรษที่ 20 ตัวบทได้รับรางวัลพูลิตเซอร์ในปี 1949 และละครซึ่งจัดแสดงที่บรอดเวย์ก็ได้รับรางวัลโทนีสาขาละครยอดเยี่ยม (Best Play) โดยได้แสดงถึง 742 รอบในปีนั้น ต่อมาก็ยังคืนเวทีอีก 4 ครั้ง ในปี 1975, 1984, 1999 และ 2012 ตามลำดับ กวาดรางวัลไปเป็นกระบุงโกย เวอร์ชันปี 2012 นี่น่าดูมาก เพราะฟิลิป ซีมัวร์ ฮอฟฟ์แมน ผู้ล่วงลับ เล่นเป็นวิลลี ส่วนน้องแอนดรูว์ การ์ฟิลด์ เล่นเป็นบิฟฟ์ น้องต้องเล่นดีมากๆ แน่นอน เหือๆๆ
มีผู้แปล Death of a Salesman เป็นภาษาต่างๆ เยอะแยะมากมาย และจัดแสดงเป็นละครเวทีในหลายๆ ประเทศ นอกจากนี้ยังมีการดัดแปลงเป็นหนังหลายครั้ง ที่โด่งดังมากที่สุดน่าจะเป็นหนังฮอลลีวูดเมื่อปี 1985 ดัสติน ฮอฟฟ์แมน เล่นเป็นวิลลี และจอห์น มัลโควิช เล่นเป็นบิฟฟ์ (สมัยหนุ่มๆ ลุงหล่อเฟี้ยว แถมยังตัวสูง เหมาะกับบทนี้มาก) ส่วนคนไทยเราน่าจะคุ้นเคยกับเวอร์ชันละครทีวีทางช่อง 3 มากที่สุด ที่อาเปี๊ยก-พิศาล เล่นเป็นวิลลี พี่ตั้ว-ศรัณยู เล่นเป็นบิฟฟ์ พี่ออฟ-พงษ์พัฒน์ เล่นเป็นแฮปปี้ ในชื่อเรื่องภาษาไทยซึ่งดิฉันช้อบชอบ คือ “อวสานเซลส์แมน”
สำหรับคนเรียนละครและทำละคร ย่อมจะมี Death of a Salesman เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตไม่มากก็น้อย ผู้กำกับอัสการ์ ฟาร์ฮาดี ก็เรียนจบด้านการละครมา และเคยทำละครเวทีมาก่อน จึงไม่น่าแปลกใจที่แกจะเลือกบทละครอมตะเรื่องนี้มานำเสนอเป็นหนังในแบบของแก โดยผูกเรื่องให้พระเอก ชื่อเอมัด เป็นครูสอนวรรณกรรมและนักแสดงละครเวที มีภรรยาเป็นนักแสดงเช่นเดียวกัน ชื่อรานา ทั้งสองกำลังจะมีผลงานละครเรื่อง Death of a Salesman โดยเอมัดเล่นเป็นวิลลี ส่วนรานาเล่นเป็นลินดา ภรรยาของวิลลี แต่ระหว่างที่กำลังเตรียมงานละครอยู่นั้น เอมัดกับรานาก็ต้องหาที่อยู่ใหม่เป็นการด่วน เพราะอพาร์ตเมนต์เดิมตึกทรุดและจะถล่มลงมา พอดีว่าเพื่อนนักแสดงอีกคนทำอพาร์ตเมนต์ให้เช่าและมีห้องชุดว่างอยู่ จึงชวนสองสามีภรรยาย้ายไปอยู่ที่นั่น แต่ปรากฏว่าในห้องชุดนั้นมีห้องปิดล็อกอยู่ห้องหนึ่ง เนื่องจากเจ้าของเดิมยังไม่ขนของออกไป ฟังเรื่องราวเกี่ยวกับเจ้าของเดิมก็ดูไม่น่าไว้วางใจเท่าไหร่ แล้วในที่สุดเงื่อนงำของบ้านใหม่ก็ทำพิษจริงๆ เมื่อมีเหตุร้ายแรงเกิดขึ้นกับรานา ซึ่งสั่นสะเทือนชีวิตของสองสามีภรรยารุนแรงเสียยิ่งกว่าบ้านเดิมถล่ม
ดูเผินๆ เหมือนกับว่า Death of a Salesman เกี่ยวข้องกับหนัง The Salesman แค่เป็นละครที่ซ้อนอยู่ในหนัง แต่จริงๆ แล้วมันผูกพันกันลึกซึ้งมาก ยิ่งดิฉันระลึกชาติกลับไปสมัยที่เรียนเรื่อง Death of a Salesman ในวิชา Play Analysis (การวิเคราะห์บทละคร) ก็ยิ่งรู้สึกว่าคุณพี่ฟาร์ฮาดีแกล้ำลึกจริงๆ เพราะละครเรื่องนี้นอกจากจะพูดถึง “ความจริงกับมายาคติ” อันสืบเนื่องจาก “ความฝันแบบอเมริกัน” (American Dream) แล้ว ยังมีประเด็นเสริมที่สำคัญอีก 3 ประเด็น ได้แก่
- ความยึดมั่นในศักดิ์ศรีจนไม่ยอมอ่อนข้อให้ใคร และไม่ประนีประนอมกับสังคม เพราะถ้าสูญสิ้นศักดิ์ศรีไปแล้ว ก็จะหมดความนับถือตัวเอง และไม่สามารถมีชีวิตอยู่ได้
- ค่านิยมของสังคมซึ่งกลายเป็นกรอบที่บีบคั้น จนคนเราไม่สามารถตัดสินใจได้อย่างอิสระ ก็เลยไม่รู้จะหาทางออกได้อย่างไร ในเขาวงกตแห่งความขัดแย้งระหว่างตัวเองกับสังคม
- ความรู้สึกผิด เนื่องจากคิดว่าสิ่งเลวร้ายเกิดขึ้นเพราะความผิดพลาดบกพร่องของตัวเอง จึงรู้สึกว่าเป็นความรับผิดชอบที่จะต้องทำอะไรบางอย่าง เพื่อชดเชยหรือชดใช้ให้แก่ความผิดพลาดนั้น
ทั้งหมดนี้เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ Death of a Salesman ได้รับยกย่องอย่างสูง เพราะแม้มันจะกล่าวถึงโศกนาฏกรรมของครอบครัวเดียว แต่ก็สะท้อนปัญหาอันเป็นสากลของมนุษย์ และแสดงให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสังคมได้อย่างลึกซึ้งกว้างขวางมาก
เรื่องราวใน The Salesman ดำเนินคู่ขนานไปกับละคร Death of a Salesman ที่ซ้อนอยู่ในเรื่อง ซึ่งแม้เหตุการณ์และปริบทจะแตกต่างกัน แต่นำเสนอประเด็นเดียวกันแบบเก็บทุกเม็ด จึงเป็นข้อพิสูจน์ว่า มนุษย์ทุกคน ไม่ว่าจะอยู่ในยุคสมัยใด มีเชื้อชาติศาสนาใด ก็ต้องเผชิญกับปัญหาแบบนี้ไม่ต่างกัน และล้วนมีชะตากรรมที่ผูกพันอยู่กับสังคมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
สอดคล้องกับสุนทรพจน์ของอัสการ์ ฟาร์ฮาดี ในงานประกาศผลรางวัลออสการ์ ซึ่งเน้นย้ำเรื่องการทำลายอคติระหว่างเชื้อชาติศาสนา และการเสริมสร้างความเข้าใจระหว่างมนุษย์
สรุป: จ่าย 140 ได้กลับมา 160
ภาพ: อัสการ์ ฟาร์ฮาดี กับนักแสดงนำของ The Salesman ได้แก่ ชาฮาบ ฮอสเซนี ผู้รับบทเอมัด กับทาราเนห์ อาลิดูสตี ผู้รับบทรานา ทั้งสองแสดงดีขั้นเทพ แล้วยังหน้าตาดีสุดๆ ภาพนี้ถ่ายในงานเทศกาลภาพยนตร์เมืองกานส์ ซึ่งฮอสเซนีชนะรางวัลนักแสดงนำชายยอดเยี่ยม ส่วนฟาร์ฮาดีได้รางวัลบทภาพยนตร์ยอดเยี่ยมไปครอง (ภาพจาก welcomeqatar.com)
(ขอบคุณภาพปกจาก indiewire.com)