ดูหนังอย่างคนเบี้ยน้อยหอยน้อย 167; ดู The Shape of Water หนังที่กรรมการออสการ์มอบมงให้เป็นภาพยนตร์ยอดเยี่ยมแห่งปี 2017 ทั้งยังได้เข้าชิงรางวัลออสการ์มากที่สุดและคว้ารางวัลไปเยอะที่สุดของปีนี้
เป็นอีกครั้งที่ฮอลลีวูด ‘ต้องมนต์’ ของนักทำหนังชาวเม็กซิกัน เพราะในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา ผลงานของผู้กำกับ-เขียนบทหนุ่มใหญ่ชาวเม็กซิกัน 3 หน่อซึ่งมาทำงานเป็นล่ำเป็นสันในฮอลลีวูด ประสบความสำเร็จสูงมากในเวทีรางวัลของอเมริกา สามท่านนั้นเป็นเพื่อนรักกันมานาน แต่ละท่านล้วนฝีมือฉกาจ มีแนวทางเป็นของตัวเองชัดเจน และได้รับการยอมรับว่าเป็นนักทำหนังยอดฝีมือของฮอลลีวูด จนมีฉายาที่แม้จะฟังดูธรรมดาแต่ก็ออกแนวยกย่อง (สำหรับวงการหนัง) ว่า The Three Amigos หรือ “สามสหาย” (อามีโกส เป็นภาษาสเปน รูปพหูพจน์ของ amigo แปลว่า เพื่อนเกลอที่เป็นผู้ชายทั้งหมู่)
ท่านทั้งสามมีนามว่า อัลฟอนโซ กวารอน (อายุ 56) อเลฆันโดร กอนซาเลซ อิญาร์ริตู (อายุ 54) และกีเยร์โม เดล โตโร (อายุ 53) กวารอนคือผู้กำกับ Harry Potter and the Prisoner of Azkaban หนังแฮร์รี พ็อตเตอร์ที่ดิฉันชอบที่สุดในบรรดา 8 เรื่อง และเป็นผู้เขียนบท กำกับ ตัดต่อ อำนวยการสร้าง หนังเรื่อง Gravity หนึ่งในหนังที่สร้างสรรค์ที่สุดของวงการภาพยนตร์ ส่งผลให้ตัวแกได้รับรางวัลออสการ์สาขาผู้กำกับยอดเยี่ยมประจำปี 2013 ไปครอง ในปีถัดมา อิญาร์ริตูก็พา Birdman or (The Unexpected Virtue of Ignorance) ผลงานการเขียนบท กำกับ และอำนวยการสร้างของแก ขึ้นถึงจุดสูงสุด ด้วยการชนะรางวัลออสการ์สาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ทั้งตัวแกเองก็ชนะสาขาผู้กำกับยอดเยี่ยมถึง 2 ปีซ้อน จาก Birdman ในปี 2014 และ The Revenant ในปี 2015 (อ่านได้ในเบี้ยน้อยหอยน้อย 024 และ 053 ตามลำดับ) พอมาถึงปี 2017 น้องเล็กในบรรดาสามสหายอย่าง กีเยร์โม เดล โตโร ก็มีผลงานที่กวาดรางวัลจากทั่วโลกไปเกือบร้อยรางวัล รวมทั้งรางวัลออสการ์สาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมและผู้กำกับยอดเยี่ยมด้วย ผลงานดังกล่าวก็คือ หนัง The Shape of Water เรื่องนี้นี่เองๆๆๆๆ #เอคโค่
หลายๆ ท่านน่าจะเหมือนกับดิฉัน คือรู้จัก เดล โตโร ครั้งแรกจากเรื่อง Pan’s Labyrinth เมื่อปี 2006 หนังจากการร่วมทุนของสเปนและเม็กซิโก ซึ่งแกเขียนบท กำกับ และอำนวยการสร้างเอง หนังมีชื่อไทยสุดลั้ลลาว่า “อัศจรรย์แดนฝัน มหัศจรรย์เขาวงกต” ทำให้ผู้ปกครองชาวไทยจำนวนมากต่างอุ้มลูกจูงหลานไปดู เพราะคิดว่าเป็นหนังแฟนตาซี ความจริงคือ มันก็แฟนตาซีแหละ แต่เป็นดาร์กแฟนตาซีจ้าาาา อีกนิดเดียวจะสยองขวัญแล้ว หนังเรื่องนี้สนุกมากๆ แต่ก็เต็มไปด้วยความรุนแรง ความมืดหม่น และสัตว์ประหลาดที่โคตรประหลาด โคตรน่ากลัว จนหลายๆ ฉากแม้แต่ดิฉันซึ่งเป็นดาร์กตัวป้ายังต้องหรี่ตาดูแค่ครึ่งๆ ตอนนั้นผู้ปกครองชาวไทยต่างด่ากันระงม ว่าเหมือนถูกหลอกให้พาบุตรหลานไปดู ซึ่งจุดนี้ก็ไม่รู้จะโทษใครอะนะ ถ้าว่ากันตามเนื้อผ้า เหอๆๆ
ความแรงของ Pan’s Labyrinth ทำให้ดิฉันได้อ่านบทสัมภาษณ์ เดล โตโร ในหลายๆ สื่อ แล้วก็อึ้งทึ่งอย่างมากกับความหลงใหลในสัตว์ประหลาดของแก แกพูดถึงจินตนาการในวัยเด็กเกี่ยวกับสัตว์ประหลาดอย่างเป็นจริงเป็นจังและธรรมดามาก จนดิฉันชักสงสัยว่าบ้านแกอาจจะมีสัตว์ประหลาดจริงๆ ซะก็ไม่รู้ #ดาร์กแต่เด็ก พอเติบโตขึ้น อายุได้ 21 ปี แกก็เข้าสู่วงการหนังและทีวีเม็กซิโก ได้ทำหนังและละครแนวเขย่าขวัญสั่นประสาทที่แกรัก ทั้งในฐานะผู้กำกับ ผู้เขียนบท ผู้อำนวยการสร้าง และช่างแต่งหน้าสเปเชียลเอฟเฟ็กต์ ซึ่งอย่างหลังนี้แกอุตส่าห์ไปร่ำเรียนมาจนเปิดบริษัทของตัวเองได้ ทีนี้ปรากฏว่า หนังยาวเรื่องแรกที่แกเขียนบทและกำกับเมื่ออายุ 29 เป็นหนังที่สยดสยองพองขนอย่างสร้างสรรค์จนโด่งดังข้ามมาถึงอเมริกา แกจึงได้มากำกับหนังในฮอลลีวูด ถ้าเอ่ยชื่อหนังเหล่านั้น หลายๆ ท่านน่าจะคุ้นอยู่ คือ Mimic (ปี 1997) Blade II (ปี 2002) และ Hellboy (ปี 2004) แล้วหลังจาก Pan’s Labyrinth แกก็ได้เขียนบทและกำกับหนังอีก 3 เรื่อง ได้แก่ Hellboy II: The Golden Army (ปี 2008) Pacific Rim (ปี 2013) และ Crimson Peak (ปี 2015) จนมาถึง The Shape of Water ซึ่งประสบความสำเร็จสูงสุดในปีนี้
เรื่องราวใน The Shape of Water เกิดขึ้นในช่วงสงครามเย็น ซึ่งสหรัฐอเมริกากับสหภาพโซเวียตกำลังแข่งขันสำรวจอวกาศกันอย่างดุเดือด (อ่านเรื่องสงครามเย็นได้ในเบี้ยน้อยหอยน้อย 098 Hidden Figures) นางเอกของเรื่องชื่อ เอไลซา เอสโปซิโต (แสดงโดย แซลลี ฮอว์กินส์) เป็นพนักงานทำความสะอาดกะกลางคืนในศูนย์ปฏิบัติการลับของรัฐบาลสหรัฐ ที่รัฐบัลติมอร์ เธอเป็นใบ้ แต่ไม่ได้หูหนวก สาเหตุที่ทำให้พูดไม่ได้อาจจะเนื่องมาจากถูกทำร้ายตั้งแต่ยังเป็นทารก เพราะเธอมีแผลเป็นลักษณะเหมือนรอยบั้งสามรอยอยู่บนลำคอทั้งสองด้าน วันหนึ่งเอไลซาได้ค้นพบว่า รัฐบาลสหรัฐจับสัตว์ประหลาดได้ตัวหนึ่งจากแม่น้ำในทวีปอเมริกาใต้ และเอามาขังไว้ในศูนย์ปฏิบัติการลับแห่งนี้เพื่อทำการทดลอง ภายใต้การควบคุมของพันเอก ริชาร์ด สตริกแลนด์ (แสดงโดย ไมเคิล แชนนอน) สัตว์ประหลาดตัวนี้มีลักษณะครึ่งคนครึ่งปลา เพศผู้ รูปร่างสูงใหญ่ หุ่นน่ากินยิ่งกว่าทีมขุนนางอยุธยาในละครบุพเพสันนิวาส มีแขนมีขามีตามีปาก แต่พูดไม่ได้ ถูกผู้พันสตริกแลนด์ทรมานทรกรรมอย่างโหดร้ายทารุณ แม่หญิงเอไลซาแอบผูกมิตรกับคุณพี่ ‘มนุษย์น้ำ’ จนกระทั่งพัฒนาเป็นความรัก อันนำไปสู่การยอมเสี่ยงตายเพื่อลักลอบพาคุณพี่หนี ด้วยความช่วยเหลือของคนดีซึ่งมีอยู่น้อยนิดในชีวิตของเธอ ได้แก่ เซลดา (แสดงโดย อ็อกเทเวีย สเปนเซอร์) หญิงผิวดำผู้เป็นเพื่อนร่วมงานที่สนิทที่สุด ไจล์ส (แสดงโดย ริชาร์ด เจนกินส์) เกย์สูงวัยผู้เป็นเพื่อนบ้านที่รักที่สุด และ ดร.โรเบิร์ต ฮอฟฟ์สเต็ตเลอร์ (แสดงโดย ไมเคิล สตูลบาร์ก) นักวิทยาศาสตร์ในศูนย์ปฏิบัติการลับ ผู้มีเบื้องหลังลึกลับไม่แพ้งานที่ทำ
แวบแรกที่ได้เห็นมนุษย์น้ำในหนังเรื่องนี้ จิตดิฉันก็ประหวัดไปถึงตัวละครตัวหนึ่งในหนัง Hellboy II: The Golden Army (เฮลล์บอย 2 ฮีโร่พันธุ์นรก) ซึ่งสร้างมาจากคอมิกส์ที่เดล โตโร เป็นแฟนคลับตัวยง ตัวละครตัวนั้นก็คือ เอบราฮัม “เอ๊บ” เซเปียน มนุษย์ครึ่งบกครึ่งน้ำผู้สามารถหยั่งรู้ความรู้สึกนึกคิดของผู้อื่น รวมทั้งอดีตและอนาคตของสิ่งต่างๆ ได้ ด้วยการสัมผัสเพียงครั้งเดียว ปรากฏว่ามีคนคิดเหมือนดิฉันเยอะเลย ถึงขั้นเกิดกระแสเมาท์มอยว่า The Shape of Water อาจจะเป็นเรื่องราวของพ่อกับแม่ของเอ๊บ เซเปียน ก็เป็นได้ #มันส์ ข้อนี้ดิฉันก็ไม่รู้เหมือนกันว่าเท็จจริงเป็นประการใด รู้แต่ว่าเดล โตโร รักสัตว์ประหลาดสายพันธุ์นี้เป็นอันมาก เห็นได้จากความแซบเว่อร์ของมนุษย์น้ำใน The Shape of Water และความน่ารักเกินหน้าเกินตาผู้อื่นของเอ๊บ เซเปียน ใน Hellboy II นี่แหละ ความรักของเดล โตโรดังกล่าว นัยว่ามีที่มาจากหนังที่แกได้ดูตอนเด็กๆ เรื่อง Creature from the Black Lagoon (ปี 1954) สัตว์ประหลาดในหนังเรื่องนี้คือมนุษย์น้ำในป่าแอมะซอน มีชื่อว่า Gill-man แปลว่า “มนุษย์เหงือก” #ไม่ใช่เงือก เนื่องจากมีร่างกายเหมือนมนุษย์ แต่มีแผงเหงือกที่ข้างลำคอทำให้หายใจในน้ำได้เหมือนปลา
ที่มาภาพ: imdb.com
The Shape of Water มีหนังตัวอย่างที่สวยงามโรแมนติกมากกกกก ราวกับเป็นหนังโรแมนติกแฟนตาซี แต่ประสบการณ์จากการดู Pan’s Labyrinth ก็ทำให้ดิฉันเตรียมพร้อมรับความเหวอที่จะมากับความแฟนตาซีของเดล โตโร อยู่พอสมควร แล้วก็ปรากฏว่าเตรียมไว้ไม่เสียหลาย เพราะแม้หนังเรื่องนี้จะไม่เน้นความสยดสยองเท่าเรื่องนั้น แต่มันก็เต็มไปด้วยความรุนแรงในรูปแบบต่างๆ และแม้บรรยากาศของหนังเรื่องนี้จะค่อนไปทางอบอุ่นอ่อนหวาน ไม่ใช่ความรันทดหดหู่แบบเรื่องนั้น แต่มันก็มีความเจ็บปวดสอดแทรกอยู่แทบทุกอณู นับเป็นอีกครั้งที่เดล โตโร ประสบความสำเร็จในการผสานจินตนาการที่ทั้งงดงามและพิลึกพึงกลัวของเขา เข้ากับความมหัศจรรรย์พันลึกแบบเทพนิยายแฟนตาซี เพื่อสะท้อนปัญหาและความโหดร้ายทารุณในโลกแห่งความเป็นจริง
หนังเรื่องนี้ชี้ให้เราเห็นรากเหง้าของความรุนแรงทุกรูปแบบที่คนเรากระทำต่อกัน ว่ามันเกิดจากการ ‘แบ่งแยก’ และ ‘เหยียด’ คนที่เราคิดว่าแตกต่างจากเรา ทั้งที่จริงๆ แล้วอาจจะไม่ได้แตกต่างกันขนาดนั้นก็ได้ อย่างเอไลซากับมนุษย์น้ำที่เขาว่ากันว่ามี “ความรักต่างสายพันธุ์” ดิฉันว่าก็ไม่ได้ต่างเท่าไหร่หรอก มันมีอะไรบางอย่างที่ทำให้คิดได้ว่ามาจากสายพันธุ์เดียวกันด้วยซ้ำ นับเป็นความแยบยลของหนังที่พูดถึง ‘ความแตกต่าง’ เพื่อจะบอกว่าคนเรา ‘ไม่แตกต่าง’ ดังนั้น ‘การแบ่งแยก’ จึงเป็นการกระทำที่ทั้งไร้ประโยชน์และชั่วร้าย
การที่เรื่องราวในหนังเกิดขึ้นในช่วงสงครามเย็น ยิ่งขับเน้นประเด็นข้างต้นให้เด่นชัดมากขึ้น เพราะสงครามเย็นก็เกิดจากการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย ต่างฝ่ายต่างก็ต้องการเอาชนะ จนบางครั้งก็ยอมละทิ้งมนุษยธรรม นอกจากนี้ ในช่วงเวลาดังกล่าว สังคมอเมริกันยังนิยมการแบ่งแยกจนเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมก็ว่าได้ ดูง่ายๆ จากนามสกุลนางเอก สมัยนั้นใครนามสกุลเอสโปซิโต เราจะรู้ทันทีว่าเป็นเด็กกำพร้าที่ถูกทอดทิ้ง เพราะ Esposito มีรากศัพท์มาจากภาษาละตินว่า expositus ซึ่งกลายมาเป็นภาษาอังกฤษว่า expose แปลว่า เปิดเผย (ex แปลว่า ออกมา ข้างนอก pose แปลว่า วาง “วางออกมาข้างนอก” ก็คือ “เปิดเผย”) “เอสโปซิโต” จึงเป็นนามสกุลที่บ่งชี้ชาติกำเนิดว่าเป็นเด็กที่ถูกวางทิ้งไว้ข้างนอกในที่สาธารณะ นี่มันเป็นการเหยียดอย่างถูกกฎหมายชัดๆ ยังไม่นับการเหยียดผิว เหยียดเพศ เหยียดชนชั้น เหยียดเพศสภาพ ฯลฯ ซึ่งหนังรวบรวมไว้อย่างครบครันราวกับเป็นสารานุกรมการเหยียด แล้วที่เจ็บแสบที่สุดก็คือ ปัจจุบันก็ไม่ได้ดีขึ้นจากสมัยนั้นสักเท่าไหร่เลย
ชื่อเรื่อง The Shape of Water แปลว่า “รูปร่างของน้ำ” แน่นอนว่าเป็นการเปรียบเปรยน้ำกับสิ่งหนึ่งซึ่งทั้งยิ่งใหญ่ ทรงพลัง ชุ่มชื่น หล่อเลี้ยงชีวิต และมีรูปแบบที่หลากหลายแตกต่างกันออกไปตามแต่พื้นฐานชีวิตจิตใจของคนที่ได้เป็นเจ้าของครอบครองมัน เหมือนกับน้ำที่มีรูปร่างแตกต่างกันออกไปตามแต่ภาชนะที่ใส่หรือพื้นที่ที่รองรับ เพราะฉะนั้น “น้ำ” กับสิ่งที่ว่านี้จึงเป็นส่วนประกอบที่สำคัญมากของหนัง แต่ก็น่าเสียดายที่ดิฉันดันเห็นแต่ “รูปร่างของน้ำ” ไม่เห็นรูปร่างของ “สิ่งที่เปรียบกับน้ำ” ชัดเจนนัก ถ้ามนุษย์น้ำจะแสดงอารมณ์ความรู้สึกทางสีหน้าสายตาได้มากกว่านี้ ดิฉันอาจจะเห็นชัดขึ้นบ้างก็ได้ #มัวแต่ดูซิกส์แพ็กมนุษย์น้ำจนลืมดูหน้าหรือเปล่า
สรุป: จ่าย 140 ได้กลับมา 156
หมายเหตุ: The Shape of Water เข้าชิงรางวัลออสการ์ 13 สาขา ชนะ 4 สาขา ได้แก่ ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ผู้กำกับยอดเยี่ยม ออกแบบงานสร้างยอดเยี่ยม และดนตรีประกอบยอดเยี่ยม
โดย ปวิวัณณ์ คำเจริญ
5 เมษายน 2561
(ขอบคุณภาพปกจาก reporteindigo.com)