โดย Average Joe

31 ตุลาคม 2012

“Money doesn’t change men, it merely unmasks them. If a man is naturally selfish or arrogant or greedy, the money brings that out, that’s all.”
Henry Ford (1863-1947)

เมื่อเลขานุการหนุ่ม ได้เข้าไปสัมผัสกับตัวตนที่แท้และเบื้องหลังเบื้องลึกของครอบครัวมหาเศรษฐี ที่เป็นเจ้าของบริษัทที่เขาทำงานอยู่รวมถึงธุรกิจพันล้านอีกมากมาย และได้ล่วงรู้ความลับอันเน่าเหม็นของแต่ละคนในครอบครัว เขาจึงถูกดึงเข้าไปสู่วังวนแห่งอำนาจเงินตรา กิเลส ราคะ ความละโมบ การทรยศหักหลัง และการแก้แค้น นี่คือโครงเรื่องหลักของ The Taste of Money (돈의 맛) ของผู้กำกับ/เขียนบท อิมซังซู (Im Sang-soo) ที่เคยทำให้หนังเรื่อง The Housemaid (하녀, 2010) โด่งดังที่เทศกาลหนังเมืองคานส์มาแล้วเมื่อสองปีก่อน

the-taste-of-money

ที่มารูป: http://fims.kofic.or.kr

ครึ่งแรกของหนังอยู่ในขั้นดีมาก โดยเฉพาะฉากเปิดเรื่อง ทรงพลังและตรงประเด็นโดยไม่ต้องมีคำพูดอะไรมาก หลังจากนั้นหนังก็พาเราไปรู้จักกับตัวละครต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นประธานบริษัทที่ดูกะล่อนเป็นเสือผู้หญิง ภรรยาท่านประธานที่เป็นนางพญาตัวจริงในบ้าน ลูกสาวคนโตที่เป็นแม่ม่ายลูกติด ลูกชายคนเล็กท่าทางขี้โกงที่เดินเข้า-ออกคุกเป็นว่าเล่น แม่บ้านชาวฟิลิปปินส์ที่กลายเป็นเหยื่อราคะของคุณผู้ชายของบ้าน คุณตาที่ดูเป็นคนแก่ใจดีแต่ก็แฝงไว้ด้วยอำนาจ และเลขานุการหนุ่มหน้าตาซื่อๆ ที่จับพลัดจับผลูเข้ามามีส่วนรู้เห็นการกระทำที่ผิดทั้งกฎหมายและศีลธรรมของเจ้านายเศรษฐีของตน หนังทำให้เห็นความขัดแย้งระหว่างสมาชิกในครอบครัว เล่ห์กลในการใช้เงินทำความผิด (หรือกลบเกลื่อนความผิด) การใช้ความรุนแรง การล่วงละเมิดทางเพศ สิ่งเหล่านี้ทำให้เราแอบคิดในใจว่า The Taste of Money น่าจะเป็นหนังดรามาที่วิพากษ์สังคมวัตถุนิยมและมนุษย์หน้าเงินได้เจ็บแสบอีกเรื่อง…แต่นั่นก็คือครึ่งเรื่องแรกเท่านั้น (อ้าว)

ปัญหาหลักๆ ของ The Taste of Money คือ หนังมีฉากที่ไม่จำเป็นอยู่ประมาณเกือบ 40% กระจายๆ กันอยู่ตลอดเรื่อง แต่ฉากที่เห็นว่าสร้างความมึนได้รุนแรงที่สุด น่าจะเป็นช่วงท้ายเรื่องตั้งแต่ขึ้นเครื่องบินเป็นต้นมาจนถึงจบเรื่อง (คนดูถึงกับมองหน้ากันไปมา พร้อมคำถามในใจที่คาดว่าคงคล้ายๆ กันว่า “ตกลงนี่มันหนังแนวไหนกันฟระ”) จนชวนให้สงสัยเหลือเกินว่า ตอนกำกับครึ่งเรื่องหลังนี่ เฮียอิมแกเมายาอยู่รึเปล่าหว่า ซึ่งหากผู้กำกับจะ (มีสติ) ทิ้งไอ้ฉากพวกนั้นออกไป แล้วหันมาสนใจภูมิหลัง แรงจูงใจในการกระทำ (motivation) และการเปลี่ยนแปลงทางจิตใจของตัวละคร (โดยเฉพาะพระเอกที่ไม่ใช่คนในครอบครัวนี้) หรือไม่ก็เน้นไปที่สงครามจิตวิทยาของคนในครอบครัวให้มากกว่านี้ หนังคงมีอะไรให้พูดถึงได้มากกว่าฉากโป๊เปลือยที่สักแต่ทำมาเพื่อสร้างความ “แรง” ทว่าไม่ส่งเสริมประเด็นหลักของเรื่องเท่าไรนัก

ดูเหมือนว่าผู้กำกับยังคงสนุกกับการดึงดูดความสนใจผู้ชมด้วยฉากแรงๆ ในหนัง The Housemaid อยู่ (ยังไม่ได้ดูหรอก แต่เคยเห็นภาพจากบางฉากในหนัง โอ้ววววแม่เจ้า) เลยจัดฉาก “อย่างว่า” ใส่เข้ามาจน “ล้น” น่าเสียดายตรงที่หนังปูพล็อตเรื่องมาดีมาก แต่กลับทำได้ไม่เข้มข้นถึงจุดที่ควรจะเป็น หลายฉากดูแล้วไม่ปะติดปะต่อกัน ตัวละครบางตัวโผล่ขึ้นมาโดดๆ อย่างไม่มีสาเหตุ (ตกลงคุณตามีบทบาทอะไรในเรื่อง?) หรือพูดอะไรออกมาลอยๆ แบบไม่มีที่มาที่ไป ทำให้เหตุการณ์หรือการกระทำของตัวละครในเรื่องดูไม่มีน้ำหนักพอให้น่าเชื่อได้ บางครั้งก็สร้างปมปริศนาเอาไว้ให้สงสัย แต่กลับไม่ได้คลี่ปมนั้นให้กระจ่าง เรื่องหนึ่งที่น่าพูดถึงคือ แม้หน้าหนังจะเป็น drama thriller เสียขนาดนี้ แต่กลับมีฉากที่เข้าขั้น “ฮาแตก” อยู่มากพอสมควร ไม่แน่ใจว่าเป็นเพราะความแตกต่างของวัฒนธรรม หรืออยู่ที่การแปลคำบรรยายใต้ภาพ หรือเป็นความตั้งใจของผู้กำกับกันแน่

The Taste of Money เป็นตัวอย่างของหนังที่มีของดีอยู่ในมือ แต่ดันทำออกมาไม่ได้ดีสมราคาคุยสักเท่าไร ยิ่งพอรู้ว่า อิมซังซูได้เข้าชิงรางวัลปาล์มทองคำจากเทศกาลหนังเมืองคานส์ปีล่าสุด ยิ่งรู้สึกขัดใจ เพราะรู้สึกว่าหนังเรื่องนี้มีปัญหาในการเล่าเรื่องมาก (หรือขึ้นชื่อว่าคานส์ต้องมาแนวแปลกๆ ไว้ก่อน?)

6/10 ครับ (หากไม่มีช่วงท้ายอาจจะใจดีให้สัก 7/10) ส่วนหุ่นพระเอกได้ 10/10 ฮ่าๆๆ

ปล. 1 เพิ่งรู้ว่า อิมซังซู คือคนที่กำกับหนังเรื่อง A Good Lawyer’s Wife (바람난 가족, 2003) หนังที่วิพากษ์สังคมเกาหลีผ่านครอบครัวชนชั้นกลางได้อย่างถึงพริกถึงขิง ถึงรสถึงชาติ ถึงเนื้อถึงหนัง โอ้ว (รวมถึงฉากช็อกคนดูที่ยังติดตาจนถึงวันนี้ O_O)
ปล. 2 ยังอยากดู The Housemaid อยู่นะ หาดูได้ที่ไหนเนี่ย
ปล. 3 ซับไตเติลภาษาไทยเรื่องนี้ แปลได้ “แซ่บเว่อร์” จุงๆ เอ้ย จริงๆ