ดูหนังอย่างคนเบี้ยน้อยหอยน้อย 153; ดู The Third Murder หนังระทึกขวัญเกี่ยวกับการไต่สวนคดีฆาตกรรม ผลงานการกำกับ เขียนบท และตัดต่อ (ควบสามตำแหน่งเช่นเคย) ของ โคเรเอดะ ฮิโรคะสุ นักทำหนังชาวญี่ปุ่นที่คนไทยน่าจะรู้จักมากที่สุดแล้วในตอนนี้ เพราะที่ผ่านมา ไม่ว่าแกจะทำหนังกี่เรื่องๆ ก็ได้มาฉายในเมืองไทย ดิฉันเองยังได้ดูหนังของแกมาตั้ง 6 เรื่อง เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ 7 และก็คงจะดูต่อไปจนชั่วกัลปาวสาน 555
ว่ากันว่า โคเรเอดะเป็นผู้กำกับที่มี ‘ลายเซ็น’ ชัดเจนคนหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการทำหนังเกี่ยวกับชีวิตครอบครัว ดังที่ดิฉันเคยเขียนเล่าไปในเบี้ยน้อยหอยน้อย 074 After the Storm การเปลี่ยนแนวมาทำหนัง legal thriller เป็นครั้งแรกของแกนี้ จึงเป็นที่ฮือฮาพอสมควร และทำให้ติ่งน้อยใหญ่ต่างตื่นเต้นดีใจกันถ้วนหน้า
ที่มาภาพ: asianwiki.com
ชื่อเรื่อง The Third Murder แปลมาตรงตัวจากชื่อภาษาญี่ปุ่นว่า 三度目の殺人 (ซันโดะเมะ โนะ ซะทสึจิน) มีชื่อภาษาไทยว่า “กับดักฆาตกรรมครั้งที่ 3” เป็นเรื่องของทนายจำเลยคนเก่ง ซึ่งพยายามหาทางแก้ต่างให้ลูกความ อดีตนักโทษคดีฆาตกรรมผู้ก่อคดีซ้ำอีก และรับสารภาพด้วย แต่พอคุณทนายไปหาหลักฐานเพิ่มเติม ลูกความกลับเปลี่ยนคำให้การไปเรื่อยๆ ตามหลักฐานที่คุณทนายพบ จนคุณทนายมึนตึ้บ จากที่เคยคิดว่าหน้าที่ของทนายคือทำทุกอย่างให้ชนะคดี ความจริงจะเป็นยังไงนั่นก็อีกเรื่อง กลับกลายเป็นว่า ความจริงคือสิ่งที่เขาต้องการที่สุดในตอนนี้ แต่ก็ไม่รู้เลยว่าจะหามันได้จากที่ใด
โครงเรื่องของหนังเรื่องนี้ ว่าที่จริงก็ไม่ค่อยแปลกใหม่เท่าไหร่ แต่สิ่งที่น่าสนใจก็คือการนำนักแสดงระดับเทพของญี่ปุ่นสามคนสามวัยมาประชันบทบาทกัน คนแรกคือ คุณป๋าฟุคุยามะ มาซาฮารุ นักร้อง นักดนตรี นักแต่งเพลง และนักแสดง ระดับท็อปคนหนึ่งในวงการบันเทิงของเอเชีย อยู่ในวงการมาตั้งแต่ยังเป็นหนุ่มน้อยจนอายุ 48 ในปีนี้ แต่ชื่อเสียงและความนิยมก็ไม่เคยตก ในหนัง The Third Murder คุณป๋ารับบททนายผู้ถูกลูกความปั่นหัวจนมึน คนที่ 2 ผู้รับบทลูกความ ได้แก่ ยะคุโชะ โคจิ นักแสดงผู้ยิ่งใหญ่ของญี่ปุ่น วัย 61 ปี เคยเล่นหนังฮอลลีวูดระดับรางวัลถึง 2 เรื่อง ได้แก่ Memoirs of a Geisha เมื่อปี 2005 และ Babel เมื่อปี 2006 ส่วนคนที่ 3 คือสาวน้อยอายุ 19 ฮิโรเสะ ซึสึ ผู้รับบทนางเอกในหนังเรื่อง Let’s Go Jets! เมื่อต้นปี (อ่านได้ในเบี้ยน้อยหอยน้อย 124) คราวนี้เธอเล่นเป็นลูกสาววัย 16 ของผู้ตาย ซึ่งนับเป็นผู้เสียหายโดยตรง แต่ตัวเธอเองก็กลับมีเงื่อนงำบางอย่างที่ทำให้คุณทนายยิ่งมึนเข้าไปอีก #เฮ้อ!
สิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัดในหนังเรื่องนี้ คือโคเรเอดะก็ยังคงใส่ประเด็นครอบครัวไว้ในหนังค่อนข้างมาก จนบางประเด็นดิฉันก็ไม่เข้าใจว่ามันมีหน้าที่อะไรในหนัง ดิฉันอาจจะชินกับหนังและละคร legal thriller ของฝรั่งมากไปหน่อย เลยรู้สึกว่าหนังน่าจะสนุกขึ้นอีกเยอะถ้าเน้นเรื่องการสืบสวนทวนพยานของทนายมากกว่านี้ ไม่ต้องเน้นเรื่องครอบครัวในส่วนที่ไม่ค่อยเกี่ยวกับคดีมากนักก็ได้ เพราะจริงๆ แล้ว ถ้าลูกความมันจะพลิกลิ้นรายวันขนาดนั้น ทนายควรไปตามล่าหาความจริงจากที่อื่นแล้วหรือเปล่า ไม่ใช่รอฟังแต่ลูกความแล้วคาดหวังว่ามันจะพูดความจริงสักครั้ง แต่นั่นแหละ ช่วงนี้ดิฉันอาจจะดูหนังสืบสวนสอบสวนมากไป เพิ่งดู Murder on the Orient Express และ Wind River ไปหยกๆ (อ่านได้ในเบี้ยน้อยหอยน้อย 151 และ 152 ตามลำดับ) มาถึง The Third Murder ก็เป็น “ฆาตกรรมครั้งที่ 3” ของเดือนนี้พอดี ดูมากไปความคิดก็เลยอาจจะเฟื่องไปหน่อย เช่นคิดว่า ถ้าเป็นตู จะไปสืบจากไหน เป็นต้น
อย่างไรก็ดี หนังก็ยังมี ‘ความโคเรเอดะ’ ที่ดิฉันชื่นชอบไม่เปลี่ยนแปลง นั่นคือการเปิดพื้นที่ให้คนดูคิดต่ออย่างกว้างขวาง อย่างการผูกเรื่องให้ตัวละครเอกทั้งสามมีความผูกพันที่ซับซ้อนกว่าการเป็นทนายจำเลย ฆาตกร (มั้ง) และลูกสาวเหยื่อ ก็ทำให้เราคิดอะไรได้เยอะมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นเกี่ยวกับบาดแผลอันลึกล้ำในจิตใจมนุษย์ แล้วหลังจากดูหนังจบ ดิฉันก็ยังมาคิดต่ออีกว่า “ฆาตกรรมครั้งที่ 3” นี่มันคืออะไร ในเมื่อคดีที่สู้กันอยู่ในเรื่องเป็นฆาตกรรมครั้งที่ 2 ที่ลูกความก่อ พอคิดไปคิดมา ได้เห็นว่าคดีนี้ทำให้อะไรต้อง ‘ตาย’ ไปบ้าง ก็…อืม…กุเข้าใจละ
สรุป: จ่าย 140 ได้กลับมา 137
โดย ปวิวัณณ์ คำเจริญ
27 ธันวาคม 2560
(ขอบคุณภาพปกจาก imdb.com)