ดูหนังอย่างคนเบี้ยน้อยหอยน้อย 168; ดู Three Billboards Outside Ebbing, Missouri หนังที่ประสบความสำเร็จสูงสุดในเวทีลูกโลกทองคำและบาฟตา (รางวัลสูงสุดทางภาพยนตร์ของอังกฤษ เทียบได้กับรางวัลออสการ์ของอเมริกา) ประจำปี 2017
หนังจากการร่วมทุนของอังกฤษและอเมริกาเรื่องนี้ เขียนบทและกำกับโดย มาร์ติน แม็กโดนา นักทำหนังชาวอังกฤษวัย 48 ความคิดที่จะทำหนังเรื่องนี้เกิดขึ้นเมื่อ 20 ปีที่แล้ว #โห ตอนที่แกขับรถผ่านรัฐทางใต้ของอเมริกา แล้วไปเห็นบิลบอร์ด คือป้ายโฆษณาขนาดใหญ่อยู่ข้างทาง มีข้อความแสดงการตั้งคำถามต่อการทำงานของตำรวจที่ยังจับคนร้ายในคดีหนึ่งไม่ได้ บิลบอร์ดพวกนี้โดนใจแม็กโดนา จนหลายปีผ่านไปแกก็ยังไม่สามารถสลัดมันออกจากหัว แถมยังจินตนาการต่อด้วยว่าคนที่ทำบิลบอร์ดคือแม่ของเหยื่อที่ถูกฆาตกรรม แกจึงเขียนมันออกมาเป็นบทหนังซะเลย โดยผูกเรื่องราวให้เกิดขึ้นในเมืองสมมุติ ชื่อว่าเมืองเอบบิง อยู่ในรัฐมิสซูรี คุณแม่ของเหยื่อมีบ้านอยู่ชานเมือง มีถนนสายเล็กๆ ตัดผ่าน เป็นถนนที่ค่อนข้างเปลี่ยวเพราะคนมักจะไปใช้ถนนใหญ่มากกว่า ลูกสาวของคุณแม่ถูกฆ่าอย่างทารุณตรงข้างทางนี้เอง ผ่านไปเกือบปีตำรวจยังจับคนร้ายไม่ได้ คุณแม่จึงตัดสินใจดับเครื่องชน ด้วยการเช่าบิลบอร์ดเก่าๆ 3 ป้ายริมถนนสายนั้น ขึ้นข้อความต่อเนื่องกันเพื่อประจานความล้มเหลวของตำรวจในการไขคดีนี้
ดิฉันไม่เคยดูหนังของมาร์ติน แม็กโดนา มาก่อน แต่รู้สึกถูกชะตากับหนังเรื่องนี้ตั้งแต่ชื่อหนังเลย มันยาวดี ตรงดี จุดประกายความสนใจได้มาก แถมยังใช้คำว่า Three ซึ่งทำให้รู้สึกถึงความหนักแน่นจริงจังมากกว่าใช้เลข 3 ดิฉันก็เลยขัดเคืองเล็กน้อยเมื่อรู้ว่าชื่อไทยของหนังคือ “3 บิลบอร์ด ทวงแค้นไม่เลิก” ซึ่งนอกจากจะใช้เลข 3 แล้ว มันยังเป็นชื่อที่ชี้นำพอสมควร ดิฉันว่าแม็กโดนาฉลาดมากๆ ที่ไม่ชี้นำอะไรเลยในชื่อหนัง เพราะหนังเรื่องนี้มีอะไรที่พลิกความคาดหมายอยู่ไม่น้อย คือหนังมันไม่ได้ใสซื่อยูโทเปียขนาดจะพูดถึงแค่การ “ทวงความยุติธรรม” หรือ “ทวงแค้น” แต่มันเป็นเรื่องของคนที่พยายามชดเชยความรู้สึกผิดและความเจ็บปวดของตัวเองด้วยการ ‘หาที่ลง’ คือหาใครสักคนมาชดใช้ มารับผิดชอบ มาให้กล่าวโทษ เพื่อที่จะได้ไม่ต้องโทษตัวเองหรือโทษชะตากรรม ด้วยเหตุนี้ หนังจึงมีมิติที่ล้ำลึก และตีแผ่ธรรมชาติของมนุษย์ได้อย่างแสบสันน่าสะท้อนใจ
ที่มาภาพ: imdb.com
Three Billboards Outside Ebbing, Missouri ชนะรางวัลลูกโลกทองคำ 4 สาขา ชนะรางวัลบาฟตา 5 สาขา โดยคว้ารางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมมาได้จากทั้งสองเวที ส่วนเวทีออสการ์ หนังเข้าชิง 7 ชนะ 2 แม้รางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจะตกเป็นของ The Shape of Water (อ่านได้ในเบี้ยน้อยหอยน้อย 167) แต่ในด้านการแสดงแล้ว ไม่มีเรื่องไหนสู้เรื่องนี้ได้ เพราะชนะทั้งสาขานักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยมและนักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยม โดยสาขาสมทบชายได้เข้าชิงถึง 2 คน
ขอพูดถึงคนแพ้ก่อน เพราะแกเป็นคุณป๋าของเดี๊ยน 555 คุณป๋าวูดดี้ ฮาร์เรลสัน ผู้ได้เข้าชิงออสการ์รอบนี้เป็นรอบที่ 3 รับบทสารวัตรวิลเลียม “บิลล์” วิลเลอบี ในเมื่อแกเป็นหัวหน้าตำรวจซึ่งไม่สามารถจับคนร้ายได้ แกก็ควรจะเป็นตัวร้าย แต่หนังมันไม่ง่ายขนาดนั้น เพราะสารวัตรแกเป็นคนดีศรีเอบบิง เป็นที่รักของชาวเมืองถ้วนหน้า การเปิดศึกกับแกด้วยบิลบอร์ดจึงเหมือนเป็นการเปิดศึกกับคนทั้งเมืองกลายๆ อย่างไรก็ดี ถึงแกจะเป็นคนดี แกก็แอบเล่นแรงอยู่ แกโต้กลับแบบที่ไม่มีใครคาดคิด ซึ่งทำให้เหตุการณ์บานทะโรคออกไปโดยแกไม่ต้องรับผิดชอบอะไรแล้ว จุดนี้คุณป๋าเล่นได้ดี๊ดีและยังดูเป็นคนดีอยู่เช่นเดิม ความยอกย้อนนี้สนุกมาก และน่าสะเทือนใจมากในเวลาเดียวกัน
ผู้ชนะรางวัลออสการ์สาขานักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยม คือ แซม ร็อกเวลล์ รับบทเจ้าหน้าที่ตำรวจเจสัน ดิกซอน ลูกน้องของสารวัตรวิลเลอบี ร็อกเวลล์เป็นนักแสดงที่เล่นเป็นพระเอกก็ได้ เล่นเป็นผู้ร้ายก็เจ๋ง การที่ผู้กำกับมอบบทนี้ให้แกจึงเหมาะสมสุดๆ ตัวละครตัวนี้ทำให้เราทั้งรักทั้งเกลียด ทั้งขยะแขยงทั้งเอ็นดู ทั้งสาปแช่งทั้งเอาใจช่วย อย่างที่ไม่น่าเป็นไปได้เลยที่ความรู้สึกสุดโต่งคนละทางแบบนี้จะเกิดขึ้นได้กับคนคนเดียว ไม่รู้ผู้กำกับกับนักแสดงสามารถหาจุดสมดุลแบบนี้ได้อย่างไร ร็อกเวลล์เข้าชิงออสการ์ครั้งนี้เป็นครั้งแรก และก็ชนะไปอย่างคู่ควร
มาถึงคุณแม่ฟรานเซส แม็กดอร์แมนด์ ผู้เข้าชิงออสการ์มาแล้ว 5 ครั้ง ชนะมาครั้งหนึ่งในสาขานักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยมจากเรื่อง Fargo เมื่อปี 1997 รับบท มิลเดรด เฮย์ส คุณแม่ผู้ห้ำหั่นกับตำรวจแบบตาต่อตาฟันต่อฟัน บทนี้เขียนมาเพื่อแม่ และก็ไม่น่าจะมีใครเล่นบทนี้ได้ดีกว่าแม่แล้ว แต่ดิฉันว่าถ้าเทียบกับผู้เข้าชิงอีกคนคือ แซลลี ฮอว์กินส์ จาก The Shape of Water บทของฮอว์กินส์เล่นยากกว่า เพราะแสดงออกได้น้อยกว่า แต่ต้องแสดงให้ชัด ส่วนบทแม่เน้นความตรงความแรง ซึ่งด้วยความเก๋าสุดตีนของแม่ ก็ทำให้แม่ชนะไป
เวลาเราได้เห็นใครลุกขึ้นมาสู้กับอะไรที่ยิ่งใหญ่กว่าตัวเอง ก็เป็นธรรมดาที่จะโดนใจ กระแทกใจ จนเรารู้สึกมีพลังที่จะฮึดสู้บ้าง ดังเช่นหนังเรื่องนี้ที่ก่อให้เกิดปรากฏการณ์การขึ้นบิลบอร์ดเพื่อประท้วง เรียกร้อง และรณรงค์เรื่องต่างๆ แทบจะทั่วโลก แม้แต่ในประเทศคอซอวอ (เมื่อก่อนเรียก “โคโซโว” แต่ตอนนี้กระทรวงการต่างประเทศบอกให้ใช้สระออค่ะ #ล้องห้ายยย)
สำหรับดิฉัน หลังจากดูหนังเรื่องนี้แล้วไม่ค่อยฮึกเหิมจะต่อสู้กับใครเท่าไหร่ แต่อิ่มเอมมากที่ได้พบว่า การจะแก้ปัญหาให้ตรงจุดนั้น เราต้องอ่านให้ขาดก่อนว่าเรากำลังสู้กับอะไร ไม่งั้นปัญหาไม่มีทางจบ มีแต่เราที่จะจบเห่
สรุป: จ่าย 140 ได้กลับมา 199
โดย ปวิวัณณ์ คำเจริญ
17 เมษายน 2561
(ขอบคุณภาพปกจาก imdb.com)