✂️✂️✂️✂️✂️✂️✂️✂️✂️✂️✂️✂️✂️✂️

ครอบครัววิลสัน ประกอบด้วยสามีภรรยา เก๊บและอเดเลด พร้อมด้วยลูกอีกสองคน โซรา กับเจสัน เดินทางมาพักผ่อนที่บ้านพักตากอากาศ แต่หลังจากไปนอนเล่นชายหาดกลับมา คืนนั้นเองก็มีคนประหลาดใส่ชุดแดงสี่คนบุกเข้ามาในบ้านวิลสันกลางดึก แถมคนทั้งสี่นี้ก็ดันมีหน้าตาเหมือนกับทุกคนในบ้านราวกับเงาในกระจก

พล็อตเรื่องสั้นๆ แค่นี้อาจทำให้หลายคนคิดว่านี่คงเป็นหนังระทึกขวัญเกี่ยวกับโจรบุกบ้าน (home invasion) หรือไม่ก็เรื่องแฝดนรก (doppelgänger) เป็นแน่ แต่เมื่อเหลือบไปดูผู้กำกับ/เขียนบทที่ชื่อจอร์แดน พีล (Jordan Peele) แล้ว รับรองได้ว่าหนังเรื่องนี้มีอะไรซ่อนอยู่อีกมากมายแน่นอน

จากความสำเร็จเกินคาดของ Get Out (2017) ที่เสียดสีเรื่องสีผิวในฉากหน้าที่เป็นหนังระทึกขวัญได้อย่างแนบเนียน จอร์แดน พีลก็กลับมาสร้างความหลอนอีกครั้งกับ Us ที่ไม่เพียงแต่ซ่อนประเด็นทางสังคมไว้ใต้ชุดพรางลึกลับด้วยการเล่าเรื่องอย่างมีชั้นเชิง แต่หนังยังเต็มไปด้วยความเหนือจริง (surrealism) ในระดับของ อิโต จุนจิ (Ito Junji) กันเลย กล่าวคือคนดูคงไม่ต้องไปหาเหตุผลอะไรมาก เพราะเมื่อหนังบอกที่มาที่ไปของกลุ่มคนที่เป็น “ร่างเงา” (หรือ the Tethered) เหล่านี้ก็ดูคลุมเครือและเลื่อนลอยพอสมควร (จุดนี้เองคงเป็นสาเหตุที่ทำให้หลายคนหลุดความสนใจไปจากเรื่องในช่วงครึ่งหลัง) อย่างไรก็ตาม นี่ก็เป็นหนังที่มีความดีอยู่ไม่น้อยเลย

ที่มาภาพ: imdb.com

Us ก้าวข้ามประเด็นเรื่องสีผิวมาสู่เรื่องชนชั้น โดยมีโครงการ “Hands Across America” เป็นฉากหลัง (และเป็นจุดเชื่อมโยงสู่แรงจูงใจของ “ร่างเงา”) หนังยังแสดงให้เห็นแนวคิดบริโภคนิยม (consumerism) ของตัวละคร ไม่ว่าจะเป็นความหลงใหลวัตถุของเก๊บ หรือการอวดรวยของครอบครัวไทเลอร์ เพื่อน(?)ของครอบครัววิลสัน การยึดติดกับสิ่งฟุ่มเฟือยเหล่านี้สะท้อนภาพและเสียดสีอเมริกันชนบางกลุ่มที่อยากได้อยากมีตามกระแสสังคม โดยเฉพาะการเอาชนะคะคานกันในหมู่เพื่อนฝูง ซึ่งหนังก็จิกกัดประเด็นนี้อย่างสนุกมือเลยทีเดียว (พีลใส่มุกฮาๆ ในสถานการณ์คับขันต่างๆ ได้อย่างลงตัว เช่นเดียวกับที่เคยทำสำเร็จมาแล้วจากเรื่อง Get Out) และหากพิจารณาดูดีๆ ชื่อหนัง Us อาจจะเขียนเป็นอักษรตัวใหญ่ที่หมายถึง US (อเมริกา) ได้ด้วย

นอกจากเรื่องชนชั้นแล้ว ศาสนาก็เป็นอย่างหนึ่งที่หนังหยิบมาใช้อยู่ประปรายในหลายเหตุการณ์ เช่นการอ้างอิงถึงข้อความในคัมภีร์ไบเบิล (ในหนังปรากฏให้เห็นแค่ชื่อบทและวรรค) ได้แก่ Jeremiah 11.11 (ตัวเลข 11.11 ยังปรากฏแทรกอยู่ในหนังอีกหลายจุด) หรือการให้ตัวละครพูดถึง God ซ้ำแล้วซ้ำเล่าในครึ่งหลัง องค์ประกอบด้านศาสนานี้น่าจะใส่มาเพื่อพยากรณ์เหตุการณ์บางอย่าง และเพื่อแสดงถึงความเชื่อเรื่องเจตจำนงเสรีของตัวละครด้วย

หนังใช้สัญลักษณ์หลายอย่างแสดงถึงลักษณะของตัวละคร ที่เห็นได้ชัดก็คือกรรไกร ✂️ และกระต่าย ? กรรไกรเป็นสัญลักษณ์ของสิ่งที่เป็นคู่กัน (duality) ในขณะเดียวกันก็เป็นสิ่งของชิ้นเดียว (individuality) แสดงถึงความสัมพันธ์ของตัวละครหลักกับร่างเงา (การใช้กรรไกรยังเป็นการอ้างถึงหนังเรื่อง Dead Again ที่ผู้กำกับใช้เป็น reference อีกด้วย) ส่วนกระต่ายนั้นเป็นสัตว์ที่ดูขนปุยน่ารัก แต่จริงๆ เป็นสัตว์ที่กินพวกเดียวกันเองได้ (ผู้กำกับยอมรับเลยว่าตัวเองกลัวกระต่าย) นี่อาจจะสะท้อนภาพมนุษย์เราทั่วไปเลยก็ได้ ที่ยอมห้ำหั่นกันเองเพื่อเอาตัวให้รอด (จริงๆ กระต่ายยังเป็นสัญลักษณ์แทนอย่างอื่นอีก แต่เขียนแล้วจะสปอยล์เอาได้ อิอิ)

ความดีงามอีกอย่างที่ละเลยเสียมิได้คือดนตรีประกอบโดย Michael Abels ที่ใช้เสียงจากเครื่องสายมาสร้างบรรยากาศไม่น่าไว้วางใจได้ตลอดทั้งเรื่อง โดยเฉพาะแทร็ก Pas de Deux และสามารถนำเพลงแร็ปยุค 90 อย่าง I Got 5 On It มามิกซ์ใหม่จนกลายเป็นเพลงหลอนๆ ที่ติดหูเหลือเกิน (นึกถึงเพลง “คิดถึงเธอทุกทีที่อยู่คนเดียว” เวอร์ชันในหนังเรื่อง “ศพ 19”)

สุดท้ายแต่ไม่ท้ายสุด เราจะกล่าวถึงหนังเรื่อง Us โดยไม่พูดถึงการแสดงของลูพิตา นย็องโง (Lupita Nyong’o) ไม่ได้แน่ ปกตินักแสดงคนเดียวต้องเล่นสองบทในหนังเรื่องเดียวก็ยากอยู่แล้ว แถมไอ้สองบทที่ว่ายังมีความซับซ้อนทางอารมณ์และบุคลิก ซึ่งลูพิตาก็สามารถใช้ทั้งสีหน้าท่าทาง รวมถึงการออกแบบเสียงพูดใหม่ สร้างตัวละครที่มีเอกลักษณ์ติดหูติดตาผู้ชมได้อย่างดี (สมฐานะนักแสดงรางวัล) เห็นการแสดงขั้นเทพขนาดนี้แล้วก็อยากลุ้นให้ลูพิตาได้เข้าชิงออสการ์ปีหน้าเหลือเกิน เช่นเดียวกับที่แดเนียล คาลูยา (Daniel Kaluuya) ได้เข้าชิงจาก Get Out แต่อีกใจก็หวั่นว่านางอาจจะซ้ำรอยเจ๊โทนี คอลเล็ต (Toni Collette) จากเรื่อง Hereditary ที่ถึงจะแสดงได้เฮี้ยนขนาดไหนก็ยังอดเข้าชิงอยู่ดี คงต้องเดาใจกรรมการปีหน้ากันว่า จะเหลือพื้นที่ให้หนังสยองขวัญบนเวทีรางวัลอยู่ไหม

ที่แน่ๆ ฮาโลวีนปลายปีนี้ น่าจะมีหลายคนแต่งชุดจัมพ์สูทสีแดงเดินถือกรรไกรไปเล่น Trick or Treat ไม่น้อยเลย

8/10 ครับ

โดย Average Joe

3 เมษายน 2562

??????????????

ป.ล. Jeremiah 11.11 หรือเยเรมีย์ บทที่ 11 วรรคที่ 11 มีใจความว่า “Therefore thus saith the Lord, Behold, I will bring evil upon them, which they shall not be able to escape; and though they shall cry unto me, I will not hearken unto them.” (เพราะฉะนั้น พระยาห์เวห์ตรัสดังนี้ว่า นี่แน่ะ เราจะนำเหตุร้ายมาเหนือเขา ซึ่งเขาหนีไม่พ้น ถึงเขาจะร้องทุกข์ต่อเรา เราก็จะไม่ฟังเขา) บทแปลไบเบิลมาจาก bible.com

ป.ล. 2 คำว่า thỏ ที่อยู่บนเสื้อของลูกสาว เป็นภาษาเวียดนาม หมายถึง “กระต่าย”

ป.ล. 3 “Hands Across America” เป็นโครงการจริงที่จัดตั้งในปี 1986 เพื่อช่วยเหลือกลุ่มคนไร้บ้านในอเมริกา โครงการดังกล่าวอาศัยคนมีชื่อเสียงและดาราหลายคนในการเรี่ยไรเงินช่วยเหลือ ทว่าผลลัพธ์กลับน้อยกว่าเป้าหมายที่คาดการณ์ไว้มาก (ตั้งไว้ 100 ล้าน แต่ได้มาเพียง 15 ล้าน)

ป.ล. 4 จอร์แดน พีล ให้นักแสดงของเขาไปดูหนังสยองขวัญ/ระทึกขวัญ มาเป็นการบ้าน จำนวน 10 เรื่อง ได้แก่ Dead Again (1991) The Shining (1980) The Babadook (2014) It Follows (2014) A Tale of Two Sisters (2003) The Birds (1963) Funny Games (1997) Martyrs (2008) Let the Right One In (2008) และ The Sixth Sense (1999)

(ขอบคุณภาพปกจาก imdb.com)