ดูหนังอย่างคนเบี้ยน้อยหอยน้อย 143; ดู Victoria & Abdul หนังว่าด้วยความสัมพันธ์อันแสนมหัศจรรย์ระหว่างพระมหากษัตรีย์แห่งจักรวรรดิอังกฤษ กับมหาดเล็กรับใช้ชาวอินเดีย
ที่มาภาพ: reelrundown.com
“วิกตอเรีย” ในชื่อเรื่อง ก็คือพระนามของสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย เวลามีคำว่า “นาถ” (แปลว่า ผู้เป็นที่พึ่ง) ต่อท้ายตำแหน่ง “พระราชินี” หมายความว่าพระราชินีพระองค์นั้นเป็นพระประมุขของประเทศ หรือเคยทรงดำรงตำแหน่งพระประมุขในฐานะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ดังเช่นสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่ 9 แห่งราชวงศ์จักรี สมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียเสด็จขึ้นครองราชย์ตั้งแต่พระชนมายุ 18 พรรษา ในปี ค.ศ. 1837 และเสด็จสวรรคตในปี ค.ศ. 1901 เมื่อพระชนมายุ 82 พรรษา รวมแล้วทรงครองราชย์ 63 ปีเศษ ยาวนานกว่าพระมหากษัตริย์พระองค์ใดในอังกฤษ จนกระทั่งสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ผู้ทรงเป็น ‘ลื่อ’ (ลูกของเหลน) ของสมเด็จฯ วิกตอเรีย ทรงทำลายสถิติ ‘สมเด็จเทียด’ ไปเมื่อปี ค.ศ. 2015
ในรัชสมัยของสมเด็จฯ วิกตอเรีย ซึ่งตรงกับสมัยรัชกาลที่ 3 ถึงรัชกาลที่ 5 ของราชวงศ์จักรีนั้น ประเทศอังกฤษยังคงมีชื่อเรียกว่า จักรวรรดิอังกฤษ หรือจักรวรรดิบริติช (British Empire) เพราะเป็นช่วงเวลาที่อังกฤษมีอำนาจการปกครองและมีอิทธิพลเหนือดินแดนต่างๆ ทั่วโลก หลังจากที่ได้ดำเนินนโยบายล่าอาณานิคมตามลัทธิจักรวรรดินิยมมายาวนาน ในตอนนั้น สกอตแลนด์และเวลส์ ดินแดนในเกาะบริเตนใหญ่ซึ่งมีพรมแดนติดต่อกับอังกฤษ รวมทั้งไอร์แลนด์ซึ่งเป็นเกาะที่อยู่ข้างๆ ได้ตกเป็นของอังกฤษเรียบร้อยแล้ว นอกจากนี้อังกฤษยังมีอาณานิคมอยู่ทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อินเดีย ประเทศที่ยิ่งใหญ่และมีความสำคัญมากที่สุดประเทศหนึ่งในทวีปเอเชีย ก็ตกเป็นเมืองขึ้นอังกฤษอย่างสมบูรณ์ในปี ค.ศ. 1858 คือปีที่ 20 แห่งรัชสมัยของสมเด็จฯ วิกตอเรีย ส่วนสยามเมืองยิ้มของเรา แม้จะรอดเงื้อมมืออังกฤษมาได้ แต่ก็นับว่าหืดขึ้นคอ เพราะต้องยอมเซ็นสนธิสัญญาที่เสียเปรียบทุกสิ่งอย่าง จนอาจเรียกได้ว่าเป็น ‘อาณานิคมอย่างไม่เป็นทางการ’
พระชนมชีพของสมเด็จฯ วิกตอเรียนับว่ามีสีสันมาก โดยเฉพาะในข้อที่ว่า ทรงมี ‘บุรุษคู่พระทัย’ มาตลอดรัชสมัย เมื่อเสด็จขึ้นครองราชย์ใหม่ๆ ก็มีลอร์ดเมลเบิร์น นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ต่อจากนั้นก็ทรงพบรักและอภิเษกสมรสกับเจ้าชายอัลเบิร์ต เจ้าชายจากแคว้นหนึ่งในเยอรมนี จนกระทั่งเจ้าชายเสด็จสวรรคตไปเมื่อสมเด็จฯ มีพระชนมายุเพียง 42 พรรษา หลังจากทรงครองคู่กันมา 21 ปี มีพระราชโอรส-ธิดาถึง 9 พระองค์ สมเด็จฯ ทรงเศร้าสลดพระราชหฤทัยอาลัยรักพระราชสวามีมาก จึงทรงสวมแต่ฉลองพระองค์สีดำนับแต่บัดนั้น แต่ในขณะเดียวกัน ก็ทรงมีมหาดเล็กรับใช้ชาวสก็อต นามว่า จอห์น บราวน์ เป็นคนสนิทตามติดไปทุกที่ เป็นเวลายาวนานถึง 22 ปีตั้งแต่เจ้าชายอัลเบิร์ตเสด็จสวรรคต จนบราวน์เสียชีวิตไปในปี ค.ศ. 1883 เมื่อเขามีอายุ 57 ปี และสมเด็จฯ มีพระชนมายุ 64 พรรษา หลังจากนั้น สมเด็จฯ ทรงหงอยเหงาเศร้าสร้อยเบื่อโลกต่อมาอีก 4 ปี จนถึงปี ค.ศ. 1887 ในพระราชพิธีกาญจนาภิเษก เฉลิมฉลองที่ทรงครองราชย์ครบ 50 ปี ก็ได้ทรงพบหนุ่มชาวอินเดียวัย 24 นามว่า อับดุล การิม ซึ่งได้มาเป็นคนสนิทของพระองค์ในช่วง 14 ปีสุดท้ายของพระชนมชีพ
เรื่องราวของอับดุล การิม ไม่ค่อยมีใครรู้จักเท่าเรื่องของจอห์น บราวน์ แม้จะเป็นที่รู้กันทั่วไปว่าสมเด็จฯ วิกตอเรียในช่วงปลายพระชนมชีพ โปรดอะไรที่เป็นอินเดี๊ยอินเดีย แม้กระทั่งที่พระตำหนักออสบอร์น ในเกาะไวท์ ซึ่งสมเด็จฯ โปรดแปรพระราชฐานไปประทับเป็นประจำ ก็ยังมี ‘ห้องอินเดีย’ ซึ่งสร้างขึ้นตามแบบท้องพระโรงของกษัตริย์อินเดีย จนกระทั่งเมื่อปี 2003 ศราบานี บาซู นักเขียนหญิงชาวอังกฤษเชื้อสายอินเดีย ได้ไปเที่ยวชมพระตำหนักออสบอร์น และได้ไปพบเบาะแสเกี่ยวกับอับดุล การิมเข้า เธอจึงใช้เวลา 4 ปีค้นคว้าเรื่องนี้ แล้วนำมาเขียนเป็นหนังสือสารคดีชีวประวัติ เรื่อง Victoria & Abdul: The True Story of the Queen’s Closest Confidant (วิกตอเรียกับอับดุล : เรื่องจริงของคนสนิทที่ใกล้ชิดที่สุดของสมเด็จพระราชินีนาถ) หนังสือนี้ได้ถูกคว้ามาสร้างเป็นหนัง โดยฝีมือการกำกับของ สตีเฟน เฟรียส์ ผู้กำกับชาวอังกฤษ เจ้าของผลงานเรื่อง The Queen เมื่อปี 2006 ซึ่งเฮเลน มีร์เรน แสดงเป็นสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 จนชนะรางวัลออสการ์สาขานักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม และเฟรียส์ก็ได้เข้าชิงผู้กำกับยอดเยี่ยมในคราวเดียวกัน
ผู้รับบทสมเด็จฯ วิกตอเรียในหนัง Victoria & Abdul คือ จูดี เดนช์ ซึ่งเคยแสดงเป็นสมเด็จฯ มาแล้วเมื่อปี 1997 ในหนังเรื่อง Her Majesty, Mrs Brown หรือเรียกสั้นๆ ว่า Mrs Brown หนังเป็นเรื่องราวความสัมพันธ์ระหว่างสมเด็จฯ กับจอห์น บราวน์ ซึ่งว่ากันว่าใกล้ชิดมากจนคนในราชสำนักถึงกับเรียกพระองค์ (ลับหลัง) ว่า “มิสซิสบราวน์” คือสถาปนาเป็นภรรยาของมิสเตอร์บราวน์ไปเลย บ้างก็ว่าทรงจดทะเบียนสมรสกับบราวน์จริงๆ มีหลักฐานยืนยันด้วย ทีนี้ในเมื่อ Victoria & Abdul มีเนื้อเรื่องต่อเนื่องจาก Mrs Brown แถมยังให้นักแสดงคนเดิมมารับบทเดิมอีก หนัง Victoria & Abdul จึงกลายเป็น ‘ภาคต่ออย่างไม่เป็นทางการ’ ของ Mrs Brown ไปโดยปริยาย
ทีแรกที่ดูหนังตัวอย่าง ดิฉันคิดเอาเองอย่างโง่ๆ ว่าหนังจะออกแนวอับดุลมาช่วยให้สมเด็จฯ ทรงมองโลกกว้างขึ้น เป็นพระมหากษัตริย์ที่ดีขึ้นอะไรประมาณนี้ โชคดีที่หนังไม่ได้นำเสนอประเด็นเชยๆ เช่นนั้น เพราะในความเป็นจริง ความสัมพันธ์ของทั้งสองแทบไม่มีผลอะไรต่อการปกครองประเทศและจักรวรรดิเลย แต่มีผลสั่นสะเทือนการปกครองหรืออีกนัยหนึ่ง ‘การเมือง’ ในราชสำนักเป็นอย่างมาก อีกทั้งหนังก็ไม่ได้ทำให้สมเด็จฯ และอับดุลเป็นตัวละครที่มีความยิ่งใหญ่เกินกว่าความจริงที่เป็น แต่กลับแสดงด้านที่อ่อนด้อยของตัวละครทั้งสองควบคู่ไปกับความยิ่งใหญ่อย่างเป็นธรรมชาติ และความสัมพันธ์อันหมิ่นเหม่พร่าเลือนระหว่างความเป็นเพื่อน เป็นคนรัก เป็นแม่กับลูก เป็นเจ้านายกับข้ารับใช้ เป็นครูกับศิษย์ ก็ชวนให้เราสนใจใคร่รู้สาระแนกันอย่างสนุกสนาน
อย่างไรก็ดี สิ่งที่ขับเคลื่อนหนังเรื่องนี้ยิ่งไปกว่าความสัมพันธ์ระหว่างสมเด็จฯ กับอับดุล ก็คือบทบาทของคนรอบข้าง ซึ่งแบ่งเป็น 2 ฝ่าย ได้แก่ฝ่ายอังกฤษ กับฝ่ายอินเดีย
ฝ่ายอังกฤษ ประกอบด้วยมกุฎราชกุมารเอ็ดเวิร์ด (หรือ “เบอร์ตี้”) พระราชโอรสของสมเด็จฯ เซอร์เฮนรี่ พอนซอนบี ราชเลขานุการในพระองค์ ลอร์ดซาลิสบรี นายกรัฐมนตรี เซอร์เจมส์ รี้ด แพทย์ประจำพระองค์ ตลอดจนข้าราชบริพารฝ่ายในทั้งหมด ทุกคนต่างรังเกียจอับดุลทั้งด้วยเชื้อชาติ ศาสนา ชนชั้น และการเป็นพลเมืองของประเทศอาณานิคม จึงต่างปวดเศียรเวียนเกล้าที่สมเด็จฯ หายพระทัยเข้าออกเป็นอับดุล และทรงเป็นโรคคลั่งอินเดียยิ่งขึ้นทุกวัน หนังถ่ายทอดบทบาทของตัวละครฝ่ายอังกฤษที่เต้นแร้งเต้นกากันด้วยเหตุต่างๆ ทั้งความกลัวว่าประวัติศาสตร์จะซ้ำรอยจอห์น บราวน์ ความระแวงว่าสถานภาพของตนจะสั่นคลอน และความอิจฉาริษยาที่คนต่ำต้อยกว่ากลับได้ดีกว่า โดยนำเสนออย่างตลกขบขันและเสียดสีเล็กๆ ทำให้หนังเป็นความบันเทิงอย่างมากๆ อุดมไปด้วยมุขตลกแบบผู้ดีอังกฤษที่ไพร่สยามอย่างดิฉันขำทุกมุขจริงๆ
ฝ่ายอังกฤษมีเป็นโขยงดังกล่าว ส่วนฝ่ายอินเดียมีคนเดียว คือโมฮัมเหม็ด ผู้ถูกเกณฑ์ให้มาปฏิบัติงานถวายพร้อมๆ กับอับดุล โมฮัมเหม็ดเกลียดอังกฤษเข้าไส้ ทนอยู่ด้วยความจำใจ แต่ก็พยายามประท้วงและต่อต้านทุกครั้งที่มีโอกาส หนังนำเสนอบทบาทของแกในลักษณะตัวตลกตัวหนึ่งมาตลอด จนกระทั่งถึงฉากสำคัญฉากหนึ่งซึ่งเป็นจุดพลิกผันโดยสิ้นเชิง และเฉพาะฉากนี้ฉากเดียวก็ยกระดับหนังทั้งเรื่องให้มีความเฉียบคมขึ้นมาทันตาเห็น มิฉะนั้น หนังอาจจะถึงขั้น ‘ธรรมดาเกินไป’ เอาเลยทีเดียว เมื่อเทียบกับวัตถุดิบชั้นดีที่มีอยู่
สรุป: จ่าย 140 ได้กลับมา 146
โดย ปวิวัณณ์ คำเจริญ
1 พฤศจิกายน 2560
(ขอบคุณภาพปกจาก guideposts.org)