ดูหนังอย่างคนเบี้ยน้อยหอยน้อย 152; ดู Wind River หรือชื่อไทย “ล่าเดือด เลือดเย็น” หนังสืบสวนคดีอาชญากรรมในแดนเถื่อน ผลงานกำกับและเขียนบทของคุณพี่เทย์เลอร์ เชอริแดน ผู้เขียนบทหนังที่เคยเข้าชิงรางวัลบทภาพยนตร์ยอดเยี่ยมในหลากหลายเวที จากผลงานเรื่อง Sicario เมื่อปี 2015 และ Hell or High Water เมื่อปี 2016
หนังทั้งสองเรื่องดังกล่าว ค่อนข้างจะเป็นหนังนอกกระแสในเมืองไทย แต่มีบทบาทในเวทีรางวัลอย่างมาก ปัจจัยสำคัญก็มาจากบทภาพยนตร์ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวอันโดดเด่น ด้วยฝีมือการเขียนของเชอริแดนนี่แหละ ดิฉันไม่ทันได้ดูหนังทั้งสองเรื่องในโรง เพิ่งได้ดู Hell or High Water ซึ่งนำมาฉายทางทีวีเมื่อไม่นานมานี้ รู้สึกว่าช่วงต้นๆ หนังจะออกแนวเรื่อยๆ มาเรียงๆ นิดนึง ดูไปกินข้าวไปเพลินๆ แต่พอผ่านไปสักพัก ข้าวเขิ้วไม่กินละค่าาาา นั่งจ้องจอแบบติดหนึบไปไหนไม่ได้เลย มันส์มาก
ครั้น Wind River เข้าฉายในเมืองไทย ดิฉันจึงตั้งใจว่าจะไปดูในโรงให้ได้ แต่รอบฉายก็น้อยเสียจนดิฉันเริ่มถอดใจ อย่างที่โรงหนังเครือเอเพ็กซ์ มีฉายวันละรอบ รอบสองทุ่มสิบห้า ป้าก็ไม่ค่อยสู้นะคะ จนเมื่อวันอาทิตย์ที่แล้ว ลองเช็ครอบดู ปรากฏนางเลื่อนมาฉายบ่ายสอง ทางเราดีใจยิ่งกว่าถูกรางวัลที่ 1 แล้วล็อตเตอรีไม่หายค่ะ รีบรุดไปตีตั๋วทันที พบว่ามีคนดูเยอะมาก นับว่ากระแสดีไม่ใช่น้อย
เชอริแดนได้แรงบันดาลใจในการทำหนัง Wind River จากความจริงที่เกิดขึ้นในอเมริกามายาวนาน คือการที่ประชาชนกลุ่มหนึ่งซึ่งถือเป็น ‘คนชายขอบ’ ของอเมริกา ไม่ค่อยจะได้รับความคุ้มครองทางกฎหมายจากภาครัฐ ประชาชนกลุ่มนั้นก็คือ ชนพื้นเมืองอเมริกันที่อาศัยอยู่ในเขตสงวนนั่นเอง
อันว่าชนพื้นเมืองอเมริกันนี้ เมื่อก่อนเราเรียกว่า “อินเดียนแดง” เนื่องมาจากว่า คุณกริสตอโฟโร โกลอมโบ นักสำรวจชาวอิตาเลียน หรือที่เรารู้จักกันในชื่อภาษาอังกฤษว่า คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส ได้เดินเรือมาถึงทวีปอเมริกาโดยเข้าใจว่าเป็นทวีปเอเชีย แล้วพอมาเห็นคนพื้นเมืองผิวคล้ำๆ หน้าคมๆ ก็ยิ่งมั่นใจ เลยเรียกคนพื้นเมืองเหล่านั้นว่า “อินดิโอส” แปลว่า ชาวอินเดีย แกเรียกเป็นภาษาสเปน เพราะแกเดินทางสำรวจโลกโดยได้รับความอุปถัมภ์จากราชสำนักสเปน แต่ถ้าเรียกแบบภาษาอังกฤษก็เรียกว่า “อินเดียน” ต่อมาชาวยุโรปได้แห่กันมายึดทวีปอเมริกาเป็นอาณานิคม ดินแดนที่เป็นประเทศสหรัฐอเมริกาในปัจจุบันมีอังกฤษเป็นเจ้าอาณานิคมใหญ่ ในช่วงเวลานั้นพวกเจ้าอาณานิคมก็รู้แล้วล่ะว่าทวีปอเมริกาไม่ใช่อินเดีย แต่ก็เรียกคนพื้นเมืองว่า “อินเดียน” ติดปากไปแล้ว เลยอยากจะเรียกให้แตกต่างจากคนอินเดีย ในการนี้ การแบ่งแยกความแตกต่างที่นางถนัดที่สุดก็คือแบ่งแยกตามสีผิว นางจึงเรียกชนพื้นเมืองอเมริกันว่า Red Indian เนื่องจากมีผิวสีน้ำตาลแดง แล้วภาษาไทยก็แปลมาตรงตัวว่า “อินเดียนแดง” แต่ปัจจุบัน “เรดอินเดียน” ถือเป็นคำหยาบแล้ว เพราะมันคือคำแสดงการเหยียดผิวดีๆ นี่เอง จึงมีการกำหนดให้เรียกคนกลุ่มนี้ว่า “อเมริกันอินเดียน” หรือ “ชนพื้นเมืองอเมริกัน” (Native American) แทน
ชนพื้นเมืองเหล่านี้ ได้ถูกเจ้าอาณานิคมชาวยุโรปกวาดล้างฆ่าแกงจนแทบจะสูญสิ้นเผ่าพันธุ์ พวกที่เหลือก็ถูกบังคับให้ทิ้งถิ่นฐาน ย้ายเข้าไปอยู่ใน “เขตสงวนอินเดียน” (Indian Reservation) ซึ่งมีอยู่ประมาณ 300 แห่งทั่วสหรัฐอเมริกา ส่วนใหญ่เป็นถิ่นทุรกันดาร ภูมิประเทศย่ำแย่ ภูมิอากาศเลวร้าย แถมยังมีข้อบังคับและข้อจำกัดมากมายที่ทำให้กระบวนการยุติธรรมไม่สามารถเอื้อมไปถึง
ที่มาภาพ: teaser-trailer.com
หนัง Wind River เล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นในเขตสงวนอินเดียนวินด์ริเวอร์ รัฐไวโอมิง ซึ่งถูกปกคลุมด้วยหิมะเกือบตลอดทั้งปี เจ้าหน้าที่ป่าไม้ คอรี แลมเบิร์ต (แสดงโดย เจเรมี เรนเนอร์) ได้พบศพเด็กสาวพื้นเมืองซึ่งเป็นเพื่อนของลูกสาวเขา นอนจมอยู่ท่ามกลางหิมะในพื้นที่รกร้าง มีร่องรอยถูกข่มขืน จึงได้แจ้งเอฟบีไอให้เข้ามาสืบคดี เอฟบีไอส่งเจ้าหน้าที่หญิงอ่อนประสบการณ์มาคนเดียว ชื่อเจน แบนเนอร์ (แสดงโดย เอลิซาเบธ โอลเซน) เจนเห็นว่าคอรีเป็นทั้งผู้พบศพ ผู้ชำนาญพื้นที่ รู้จักกับผู้ตายและครอบครัว แถมยังมีอดีตภรรยาเป็นคนพื้นเมือง พ่อตาแม่ยายก็ยังอยู่ในเขตสงวนแห่งนี้ นับว่าเป็นคนพื้นที่ได้คนหนึ่ง เธอจึงขอให้เขามาร่วมทีมสืบคดี โดยทั้งทีมมีอยู่ 3 คน ได้แก่ เจน คอรี และเบน เจ้าหน้าที่ปราบปรามประจำเขตสงวนวินด์ริเวอร์ การสืบสวนเต็มไปด้วยความยากลำบากและอัตคัดขัดสนไปทุกทาง เพราะเขตสงวนมีข้อกำหนดต่างๆ ซึ่งทำให้ทางการมีอำนาจจำกัดในการสืบสวนคดีและตั้งข้อหากับคนที่มาก่ออาชญากรรมในพื้นที่ จึงเท่ากับว่าพื้นที่ตรงนั้นเป็น “แดนเถื่อน” อย่างแท้จริง นอกจากผู้คนจะต้องผจญกับความโหดร้ายของธรรมชาติแล้ว ยังต้องเผชิญกับความป่าเถื่อนของมนุษย์ด้วยกัน โดยที่ภาครัฐก็ละเลยที่จะให้ความคุ้มครองตามกฎหมายอย่างเท่าเทียมด้วย
ก่อนหน้านี้ ดิฉันเพิ่งดูหนัง Murder on the Orient Express ซึ่งเป็นเรื่องการสืบสวนสอบสวนสมัยโบราณ ไม่มีเทคโนโลยีใดๆ ช่วยเลย ดังที่เขียนเล่าไปในเบี้ยน้อยหอยน้อย 151 แต่เรื่อง Wind River นี้ เกิดในยุคปัจจุบัน เทคโนโลยีมีทุกอย่าง ทีมก็มี ถึงจะมีอยู่หยิบมือเดียวก็ถือว่าไม่ได้หัวเดียวกระเทียมลีบ ทว่าการสืบสวนกลับลำบากยากเข็ญยิ่งกว่าสมัยโบราณเสียอีก เพราะปัจจัยที่มีเหล่านั้นแทบไม่อาจสู้กับความ “เลือดเย็น” ของ ‘อาชญากร’ ได้เลย หนังแสดงให้เห็นว่า อาชญากรไม่ได้หมายถึงแค่คนลงมือก่ออาชญากรรม แต่คนที่ปกป้องอาชญากรโดยใช้อภิสิทธิ์และช่องโหว่ของกฎหมาย ก็ถือเป็นผู้ก่ออาชญากรรมเช่นเดียวกัน ที่สำคัญ ยังมี ‘อาชญากรตัวจริง’ อีก อยากรู้ว่าใคร ก็กลับไปอ่านประโยคสุดท้ายของย่อหน้าเมื่อกี้ละกัน เหอๆๆ
บทหนังเรื่องนี้มีจังหวะคล้ายๆ Hell or High Water อยู่พอสมควร คือช่วงต้นจะอืดอาดยืดยาดนิดๆ แล้วจึงค่อยเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งส่วนที่เข้มข้นนี่แหละจะมีความรุนแรงแบบที่ทำให้เรารู้สึกเหมือนโดนกระชากหัวจนหงายหลังผลึ่งอยู่เป็นระยะๆ คือมันจะมาแบบไม่ทันให้เราระวัง ไม่ทันให้เราได้ตั้งตัวเลย ระหว่างดูหนังเรื่องนี้จึงไม่ควรกินป็อปคอร์นด้วยประการทั้งปวง เพราะป็อปคอร์นอาจพุ่งไปประพรมหัวของคนที่นั่งข้างหน้าได้ แต่ความสนุกของหนังก็มาจากจังหวะกระชากแบบนี้แหละ นอกนั้นจัดว่าธรรมดา
เจเรมี เรนเนอร์ กับเอลิซาเบธ โอลเซน แสดงดีทีเดียว ไม่ทำให้ดิฉันติดภาพฮอว์คอายกับสการ์เล็ตวิทช์ในจักรวาลมาร์เวล แต่หนังกลับขาดอะไรบางอย่างที่จะดึงดูดเราให้เข้าไปมีความรู้สึกร่วมกับตัวละคร จนสามารถเข้าใจความเจ็บปวดของตัวละครได้ ดิฉันจึงไม่ค่อยเกิดอารมณ์สะเทือนใจเท่าไหร่ มีแต่สะเทือนขวัญเกินร้อย
สรุป: จ่าย 140 ได้กลับมา 142
โดย ปวิวัณณ์ คำเจริญ
24 ธันวาคม 2560
(ขอบคุณภาพปกจาก imdb.com)