ดูหนังอย่างคนเบี้ยน้อยหอยน้อย 155; ดู Wonder หนังที่ไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับ Wonder Woman #โปรยได้กากมาก
หนังเรื่องนี้สร้างมาจากนวนิยายสำหรับเด็ก แต่งโดยนักเขียนหญิงชาวอเมริกันเชื้อสายโคลอมเบียวัย 54 นามปากกา อาร์. เจ. พาลาซิโอ ซึ่งย่อมาจากชื่อจริง ราเควล จารามิลโล พาลาซิโอ ก่อนหน้าที่จะมาเขียนหนังสือ เธอเป็นกราฟิกดีไซเนอร์ ทำงานออกแบบปกหนังสือเป็นหลัก จนกระทั่งวันหนึ่งในปี 2008 เธอพาลูกชายวัย 3 ขวบไปต่อคิวซื้อไอศกรีม ใกล้ๆ กับเด็กหญิงคนหนึ่งซึ่งมีใบหน้าผิดปกติ พอลูกเธอเห็นเด็กหญิงคนนั้นเข้าก็ตกใจร้องไห้ เธอกลัวเด็กหญิงจะรู้สึกไม่ดี จึงรีบลนลานพาลูกออกไป พอดีกับที่ได้ยินคุณแม่ของเด็กหญิงบอกลูกว่า “เรากลับกันเถอะนะลูก” พาลาซิโอจึงได้คิด ว่าการที่เธอพาลูกหลบออกไปยิ่งจะทำให้เด็กหญิงคนนั้นรู้สึกไม่ดีขึ้นไปอีก ที่จริงเธอควรสอนลูกไม่ให้กลัวคนที่แตกต่างจากเรามากกว่า คืนนั้น เธอจึงเริ่มลงมือเขียนนวนิยายเรื่องแรกในชีวิต โดยให้ตัวละครเอกเป็นเด็กที่มีใบหน้าผิดปกติเนื่องจากเป็นโรคทางพันธุกรรม ตั้งชื่อเรื่องว่า Wonder (ความมหัศจรรย์) ตามชื่อเพลงในปี 1995 ของนาตาลี เมอร์ชานต์ นักร้องนักแต่งเพลงชาวอเมริกัน เพลงนี้บอกเล่าเรื่องราวของเด็กหญิงซึ่งเจ็บป่วยมาแต่กำเนิด แต่ก็สามารถเอาชนะมันได้อย่างน่าอัศจรรย์ยิ่ง นับเป็นแรงบันดาลใจอีกอย่างหนึ่งของพาลาซิโอในการสร้างสรรค์นวนิยายเรื่องนี้
ตัวละครเอกในเรื่อง Wonder เป็นเด็กชายวัย 10 ขวบ ชื่อออกัสต์ พูลล์แมน หรือ อ็อกกี้ เขามีอาการของโรคเทรเชอร์ คอลลินส์ (Treacher Collins syndrome: TCS) อันเป็นชื่อที่ตั้งตามชื่อนายแพทย์เอ็ดเวิร์ด เทรเชอร์ คอลลินส์ ศัลยแพทย์และจักษุแพทย์ชาวอังกฤษ ผู้อธิบายเกี่ยวกับโรคนี้เป็นครั้งแรกเมื่อปี 1900 สาเหตุของโรค TCS คือความผิดปกติทางพันธุกรรม ทำให้กระดูกขากรรไกรล่างและกระดูกโหนกแก้มของผู้ป่วยไม่เจริญเต็มที่ ตั้งแต่ยังเป็นตัวอ่อนในครรภ์มารดา เมื่อเด็กเกิดมาก็เลยมีใบหน้าผิดปกติ ส่งผลให้มีความผิดปกติในการมองเห็น การได้ยิน การพูด การเคี้ยวและกลืนอาหารด้วย โรคนี้รักษาไม่ได้ แต่บรรเทาได้ด้วยการผ่าตัดศัลยกรรมใบหน้า ซึ่งก็ต้องทำหลายต่อหลายครั้ง และก็ไม่ได้ช่วยให้ใบหน้าของผู้ป่วยดู ‘ปกติ’ ขึ้นมาเท่าไหร่ เพียงแต่ทำให้สามารถมองเห็น ได้ยินเสียง พูดได้ กินอาหารได้ เท่านั้นเอง ด้วยเหตุนี้ พ่อกับแม่ของอ็อกกี้จึงให้เขาเรียนหนังสืออยู่กับบ้าน จนกระทั่งมั่นใจว่าเขาโตพอที่จะมี ‘ภูมิต้านทานโลก’ แล้ว จึงตัดสินใจส่งเขาเข้าโรงเรียน ไปเริ่มเรียนชั้น ป.5 ร่วมกับเพื่อนรุ่นราวคราวเดียวกัน และนี่ก็คือจุดเริ่มต้นของการเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับมนุษย์คนอื่นในโลก ไม่เฉพาะสำหรับอ็อกกี้เท่านั้น แต่ยังรวมถึงเด็กคนอื่นๆ ที่สัมพันธ์เกี่ยวข้องอยู่ในชีวิตเขาด้วย
นวนิยายเรื่อง Wonder ได้รับการตีพิมพ์ในปี 2012 และขายได้กว่า 5 ล้านเล่มทั่วโลก ติดอันดับหนังสือขายดีอันดับ 1 ยาวนานถึง 89 สัปดาห์ ได้รับการแปลเป็นภาษาต่างๆ 20 กว่าภาษา (ฉบับแปลไทยชื่อ “ชีวิตมหัศจรรย์ของออกัสต์” แปลโดย ปณต ไกรโรจนานันท์) ได้รับรางวัลหนังสือยอดเยี่ยมและหนังสือยอดนิยมจากหลากหลายเวที อีกทั้งยังก่อให้เกิดกระแส “เลือกทำดี” (Choose Kind Movement) อันสืบเนื่องมาจากประเด็นสำคัญของเรื่อง ที่นำเสนอให้มนุษย์ทุกคนทำดีต่อกัน นับว่าเป็นหนังสือที่ส่งอิทธิพลต่อสังคมอย่างกว้างขวาง
ความสำเร็จของหนังสือเล่มนี้ ทำให้มีหนัง Wonder ติดตามมา โดยผู้รับบทอ็อกกี้ก็คือ หนูน้อยเจค็อบ เทรมเบลย์ นักแสดงเด็กเจ้าบทบาท จากเรื่อง Room เมื่อปี 2015 (อ่านได้ในเบี้ยน้อยหอยน้อย 055) มีนักแสดงยอดฝีมืออย่างโอเวน วิลสัน และจูเลีย โรเบิร์ตส์ รับบทพ่อกับแม่ของอ็อกกี้ ร่วมด้วยนักแสดงเด็กและเยาวชนที่ตีบทแตกกระจุยอีกหมู่หนึ่ง กำกับและร่วมเขียนบทโดย สตีเฟน ชบอสกี ผู้แต่งนวนิยายเรื่อง The Perks of Being a Wallflower ซึ่งเมื่อนำมาสร้างเป็นหนังในปี 2012 เขาก็เป็นคนเขียนบทและกำกับเอง (น้องเอซรา มิลเลอร์ ลูกชายดิฉันแสดงด้วยฮ่ะ #โฆษณาแฝง) นอกจากนี้ ชบอสกียังเป็นผู้เขียนบทหนัง Beauty and the Beast เวอร์ชันคนแสดงเมื่อต้นปี 2017 ด้วย (อ่านได้ในเบี้ยน้อยหอยน้อย 104)
ที่มาภาพ: imdb.com
ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้หนัง Wonder ได้รับความชื่นชมอย่างมาก ซึ่งแท้จริงก็คือปัจจัยที่ทำให้หนังสือได้รับความชื่นชมอย่างท่วมท้นมาก่อนหน้านี้ ได้แก่การเล่าเรื่องผ่านมุมมองของตัวละครหลายๆ ตัว โดยแบ่งเรื่องออกเป็นตอนย่อยๆ แต่ละตอนก็เล่าผ่านมุมมองของตัวละครแต่ละตัว ทำให้ผู้ชมเกิดความเข้าใจ เห็นอกเห็นใจ และไม่ด่วนตัดสินตัวละคร อันนำไปสู่ความเข้าใจ เห็นอกเห็นใจ และไม่ด่วนตัดสินเพื่อนมนุษย์ในชีวิตจริงด้วย กลวิธีนี้เป็นสิ่งที่หนังดำเนินรอยตามหนังสือเป๊ะๆ เพียงแต่ปรับเปลี่ยนตามความเหมาะสม กล่าวคือ หนังสือเล่าผ่านมุมมองของตัวละคร 5 ตัว ได้แก่ อ็อกกี้ โอลิเวีย (หรือเรียกสั้นๆ ว่า “เวีย” พี่สาวของอ็อกกี้) ซัมเมอร์ (เพื่อนหญิงร่วมชั้นเรียนของอ็อกกี้ เจ้าของคติพจน์ “When given the choice between being right or being kind, choose kind.” หรือ “เมื่อต้องเลือกระหว่างการเป็นฝ่ายถูกกับการเป็นคนใจดี จงเลือกเป็นคนใจดี” อันเป็นที่มาของ Choose Kind Movement ที่กล่าวข้างต้น) จัสติน (แฟนของโอลิเวีย) และแจ็ค วิลล์ (เพื่อนนักเรียนชายร่วมชั้น ป.5 ซึ่งครูใหญ่มอบหมายให้มาคอยช่วยดูแลอ็อกกี้ แล้วทั้งสองก็กลายเป็นเพื่อนรักคู่หูคู่ฮาในที่สุด) ทั้งหมดนี้ เมื่อนำมาทำเป็นหนัง ได้ปรับเป็นมุมมองของตัวละคร 4 ตัว โดยตัดซัมเมอร์กับจัสตินออก ใส่มุมมองของมิแรนดา (เพื่อนสนิทของโอลิเวียผู้รักอ็อกกี้เหมือนน้องแท้ๆ) เข้ามาแทน
ดิฉันผู้ไม่เคยรู้เหนือรู้ใต้อะไรไปก่อน หนังสือก็ไม่ได้อ่าน เจอกลวิธีนี้เข้าไปก็แอบทึ่งอยู่พอสมควร เพราะที่จริงมันก็ไม่ใช่กลวิธีที่ซับซ้อนอะไรเลย แต่กลับมีผลต่อความคิดจิตใจอย่างมหาศาล และดิฉันก็ไม่แปลกใจที่มุมมองของมิแรนดาซึ่งเป็นส่วนที่เพิ่มเข้ามา กลับกลายเป็นมุมมองที่จับใจดิฉันที่สุด เพราะมันเริ่มต้นด้วยความมืดหม่นสุดขีด แต่เมื่อทะลุความมืดออกมา ก็สว่างเจิดจ้าจนรู้สึกว่าโลกนี้ไม่มีอะไรอีกแล้วที่เราจะรักไม่ได้ นอกจากนี้ มุมมองของมิแรนดายังเป็นส่วนที่เชื่อมโยงและเติมเต็มความหมายของสัญลักษณ์สำคัญ คือ “หมวกนักบินอวกาศ” ได้อย่างสมบูรณ์ที่สุด คนที่สวมหมวกนักบินอวกาศของตัวเองอยู่ในชีวิตจริง น่าจะอยากถอดออกบ้างเมื่อได้ดูหนังเรื่องนี้
อย่างไรก็ดี การเล่าด้วยการแบ่งเรื่องเป็นตอนย่อยๆ ตามมุมมอง ก็มี ‘กับดัก’ ของมันอยู่เหมือนกัน เนื่องจากตอนย่อยๆ นั้นจะมีสถานะเท่ากับเรื่องสั้น 1 เรื่อง ซึ่งถ้าแต่ละเรื่องเชื่อมต่ออารมณ์กันไม่สนิท เราจะรู้สึกเหมือนเรื่องถูกตัดเป็นท่อนๆ แล้วอารมณ์เราก็ถูกตัดตอนไปด้วย แทนที่จะค่อยๆ ไต่ระดับขึ้นไปเรื่อยๆ จนถึงจุดสูงสุด ดิฉันเสียดายอยู่แค่นี้แหละ นอกนั้นก็ซาบซึ้งตรึงใจกับหนังเรื่องนี้เป็นอันมาก
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในข้อที่ว่า มันพูดถึง “มหัศจรรย์แห่งความเมตตา” ได้อย่างน่ามหัศจรรย์ “ความเมตตา” นี้โดยทั่วไปเรามักจะเข้าใจว่าคือความสงสาร แต่จริงๆ แล้ว “เมตตา” แปลว่า ความรัก ความปรารถนาที่จะให้ผู้อื่นเป็นสุข ซึ่งก็คือความหมายของ “being kind” ในเรื่อง Wonder นั่นเอง หนังพิสูจน์ให้เราเห็นว่า หากเรารู้จักทำความเข้าใจและเห็นใจคนอื่น ว่าทุกคนก็ต่างต้องการความรักและความสุขเช่นเดียวกันกับเรา เราก็จะไม่รู้สึกว่าคนอื่นแตกต่างจากเราที่ตรงไหน แล้วความเมตตาก็จะบังเกิดขึ้น และเมื่อใดคนเราปฏิบัติต่อกันด้วยความเมตตา เมื่อนั้นเราก็จะเห็นความมหัศจรรย์ของชีวิต มหัศจรรย์จนอาจจะไม่อยากเชื่อเลยว่า ชีวิตเราจะสามารถมีความสุขและมีคุณค่าได้ถึงเพียงนั้นเลยจริงๆ
สรุป: จ่าย 100 (ดูวันพุธที่ห้างสรรพสินค้าใกล้บ้าน) ได้กลับมา 118
หมายเหตุ: ด้วยความฮ็อตของนวนิยาย Wonder อาร์. เจ. พาลาซิโอ จึงได้แต่งหนังสือประกอบอีก 3 เล่ม ได้แก่
- 365 Days of Wonder: Mr. Browne’s Book of Precepts (ปี 2014) เป็นหนังสือประมวลคติพจน์ 365 บท รวบรวมและอธิบายเพิ่มเติมโดยมิสเตอร์บราวน์ คุณครูประจำชั้นของอ็อกกี้ ซึ่งถ้าใครได้ดูหนัง Wonder ก็คงจะเห็นพ้องต้องกันว่า การที่มิสเตอร์บราวน์ให้เด็กๆ นำเสนอคติพจน์ของตัวเอง มีความสำคัญต่อเรื่องมากทีเดียว
- Auggie & Me (ปี 2015) เป็นหนังสือรวมนวนิยายขนาดสั้น 3 เรื่อง รวมทั้ง The Julian Chapter อันเป็นมุมมองของจูเลียนต่อเหตุการณ์ทั้งหมด จูเลียนก็คือเด็กที่ตั้งหน้าตั้งตากลั่นแกล้งอ็อกกี้ราวกับเป็นจอมมารมาจากนรก แต่หนังก็ทำให้เราเข้าใจมัน และหนังสือเล่มนี้ก็น่าจะทำให้เราเข้าใจมันมากขึ้นไปอีก
- We’re All Wonders (ปี 2017) เป็นหนังสือภาพเล่าเรื่องราวของอ็อกกี้ สำหรับเด็กเล็กที่ยังไม่สามารถอ่านหนังสือยาวๆ
โดย ปวิวัณณ์ คำเจริญ
3 มกราคม 2561
(ขอบคุณภาพปกจาก townsvillekids.com.au)