โดย ปวิวัณณ์ คำเจริญ

21 กันยายน 2016

ดูหนังอย่างคนเบี้ยน้อยหอยน้อย 073; เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศจีน จัดเทศกาลภาพยนตร์จีนประจำปี 2016 มีฉายหนังฟรีหลายเรื่อง รวมทั้งเรื่อง Xuan Zang ซึ่งกำลังเข้าฉายในโรงเครือ SF อยู่ในขณะนี้ บังเอิญวันที่เขาฉายหนังเรื่องนี้ในเทศกาล ตรงกับวันเรียนภาษาจีนของพวกเราพอดี ดิฉันก็เลยชวนเหล่าซือจัดทัศนศึกษานอกสถานที่ซะเลย เหล่าซือก็เซ็นหนังสือขออนุญาตให้เลยค่ะ และทางสำนักเราก็อำนวยความสะดวกเป็นอย่างดี เพียงแต่ไปดูแล้วต้องทำรายงานสรุปส่งด้วย 555 ดิฉันก็ทำส่งไปแล้วเรียบร้อย เป็นเวอร์ชันวิชาการ ต่อไปนี้จะเป็นเวอร์ชันเบี้ยน้อยฯ ละนะคะ แถ่นแท้นนนนน

xuan-zang

ที่มารูป: http://img.goldposter.com

Xuan Zang ถ้าเขียนเป็นพินอินก็ Xuán Zàng อ่านว่า เสวียนจั้ง เป็นชื่อพระภิกษุรูปหนึ่งซึ่งมีบทบาทสำคัญอย่างมากต่อประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของจีน หนังเรื่องนี้มีชื่อภาษาจีนว่า “ต้าถังเสวียนจั้ง” แปลว่า เสวียนจั้งแห่งมหาราชวงศ์ถัง สำหรับประเทศจีนสมัยก่อน เวลาพูดถึงราชวงศ์ ก็หมายถึงราชอาณาจักรนั่นเอง เพราะเขาเรียกราชอาณาจักรด้วยชื่อราชวงศ์ เหตุที่พระเสวียนจั้งได้รับยกย่องให้เป็นบุคคลสำคัญของราชวงศ์นี้ ก็เพราะท่านเป็นผู้ที่ทำให้พุทธศาสนาในประเทศจีนเจริญรุ่งเรืองอย่างมาก เลื่องลือระบือไกลไปทั่วทิศานุทิศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรัชสมัยของพระจักรพรรดิถังไท่จง พระจักรพรรดิพระองค์ที่สองของราชวงศ์ ผู้สร้างความเจริญให้แก่ประเทศจีนในทุกๆ ด้าน โดยพระเสวียนจั้งก็ได้เป็นกำลังสำคัญในด้านพุทธศาสนา วรรณกรรม รวมทั้งการศึกษาภูมิศาสตร์และวัฒนธรรมของเอเชียกลางและเอเชียใต้

ตามประวัติศาสตร์กล่าวว่า พระเสวียนจั้งเป็นคนฉลาดปราดเปรื่องมาตั้งแต่เด็กแล้ว ท่านบวชเณรเมื่ออายุ 13 พออายุ 20 ก็บวชพระ ได้ศึกษาพระสูตรต่างๆ จากธรรมาจารย์หลายสำนัก เรียนไปเรียนมาก็พบว่า แต่ละสำนักก็ตีความกันไปหลากหลาย ท่านก็เลยอยากจะไปเรียนที่ดินแดนต้นกำเนิดของพุทธศาสนาเลย จะได้อัญเชิญพระไตรปิฎกต้นฉบับภาษาสันสกฤตกลับมาด้วย ดังนั้น ท่านจึงตัดสินใจที่จะเดินทางไปชมพูทวีป เพื่อจะไปศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยนาลันทา แต่พอดีช่วงนั้นเพิ่งสถาปนาราชวงศ์ถังได้ไม่นาน สถานการณ์บ้านเมืองยังไม่ค่อยเรียบร้อย จึงมีกฎห้ามประชาชนเดินทางออกนอกเขตแดน ท่านก็ถวายฎีกาขอพระบรมราชานุญาต แต่พระจักรพรรดิไม่พระราชทาน ท่านจึงแอบเดินทางไปคนเดียว ลักลอบออกนอกเมืองแบบผิดกฎหมายเลยข่าาาาา

สมัยนั้นเส้นทางที่ใช้เดินทางจากฉางอาน เมืองหลวงของราชวงศ์ถัง ไปยังชมพูทวีป ก็มีแต่เส้นทางสายไหม ซึ่งถือเป็นทางที่อ้อม เพราะต้องขึ้นไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ผ่านดินแดนที่ปัจจุบันคือเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ และประเทศคีร์กีซสถาน อุซเบกิสถาน อัฟกานิสถาน ในเอเชียกลาง เข้าชมพูทวีปหรือเอเชียใต้ทางปากีสถานและทิศเหนือของอินเดีย แล้วถ้าจะไปนาลันทาก็ต้องเดินทางลงมาทางทิศตะวันออกเฉียงใต้อีกยาวไกล นับว่าอ้อมโลกพอสมควร แต่ทางที่ไม่อ้อมนี่ก็ลักษณะจะไปไม่ถึง เพราะต้องปีนข้ามเทือกเขาหิมาลัยอ่ะนะ (ภาพในหนังเรื่อง Everest ลอยมา 555) สรุป พระเสวียนจั้งก็ต้องไปทางที่ชาวบ้านเขาไปกันนั่นแหละ ซึ่งก็ลำบากลำบนหืดขึ้นคอมาก ต้องเดินเท้าบ้าง ขี่ม้าบ้าง ผ่านภูมิประเทศทุกแบบ ทั้งทะเลทราย ป่าเขาลำเนาไพร ทุ่งหญ้ากว้างใหญ่ และภูเขาหิมะ ระหว่างทางก็ผ่านแคว้นต่างๆ เป็นร้อย (สมัยนั้นเขายังไม่ได้รวมกันเป็นประเทศ) พอไปถึงท่านก็เข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยนาลันทาจนสำเร็จการศึกษา จากนั้นก็ธุดงค์ในชมพูทวีปต่ออีก รวมเวลาตั้งแต่ออกเดินทางจนกระทั่งกลับถึงฉางอานทั้งหมด 18 ปี คือออกเดินทางปี พ.ศ. 1170 กลับถึงฉางอานปี พ.ศ. 1188 ขากลับพระจักรพรรดิถังไท่จงจัดขบวนต้อนรับยาวเป็นร้อยลี้ข่าาาาาา

เมื่อกลับสู่มาตุภูมิ พระเสวียนจั้งก็เริ่มงานแปลพระไตรปิฎกจากภาษาสันสกฤตเป็นภาษาจีนทันที และระหว่างนั้นท่านก็เขียนบันทึกการเดินทางอันยิ่งใหญ่ของท่าน ให้ชื่อว่า “ต้าถังซีอวี้จี้” แปลว่า บันทึกเรื่องดินแดนตะวันตกแห่งมหาราชวงศ์ถัง (เนื่องจากชมพูทวีปอยู่ทางตะวันตกของจีน) หนังสือเล่มนี้แหละที่เป็นเอกสารล้ำค่าในการศึกษาประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ และวัฒนธรรมโบราณของดินแดนเอเชียกลางและเอเชียใต้จวบจนปัจจุบัน ทั้งยังเป็นแรงบันดาลใจให้เกิดนิยายอมตะ ซึ่งได้รับยกย่องให้เป็นหนึ่งในสี่สุดยอดวรรณกรรมจีนด้วย นิยายเรื่องนี้มีชื่อภาษาจีนกลางว่า “ซีโหยวจี้” แปลว่า บันทึกการเดินทางสู่ตะวันตก แต่งในปี พ.ศ. 2133 สมัยราชวงศ์หมิง มีฉบับแปลไทยครั้งแรกในสมัยรัชกาลที่ 5 ใช้ชื่อตามสำเนียงแต้จิ๋วว่า “ไซอิ๋ว” (ไซ = ซี แปลว่า ตะวันตก, อิ๋ว = โหยว แปลว่า เดินทาง) หรือที่ทั่วโลกรู้จักกันแพร่หลายในชื่อ Journey to the West ตัวละครเอกของนิยายเรื่องนี้คือ “พระถังซัมจั๋ง” ชื่อนี้เป็นสมญานามที่พระจักรพรรดิถังไท่จงพระราชทานให้พระเสวียนจั้ง “ซัมจั๋ง” เป็นสำเนียงแต้จิ๋ว ตรงกับจีนกลางว่า “ซานจั้ง” หมายถึงพระไตรปิฎก ดังนั้น “ถังซัมจั๋ง” จึงหมายถึง ผู้เชี่ยวชาญพระไตรปิฎกแห่งราชวงศ์ถัง

ดิฉันเชื่อว่า ทุกท่านต้องเติบโตมากับหนังหรือละครเรื่องไซอิ๋วไม่เวอร์ชันใดก็เวอร์ชันหนึ่ง ซึ่งทุกเวอร์ชันจะเต็มไปด้วยอิทธิปาฏิหาริย์แฟนตาซี และพระถังซัมจั๋งก็จะง่อยมาก ถ้าไม่มีเห้งเจียก็คงไม่รอดไปถึงชมพูทวีปแน่นอน ดังนั้น คนรุ่นหลังจึงไม่ค่อยรู้กันแล้วว่าพระถังซัมจั๋งตัวจริงท่านเป็นยังไง มีคุณูปการอะไรบ้าง การที่หนังเรื่อง Xuan Zang ตั้งใจถ่ายทอดเรื่องราวของพระเสวียนจั้งอย่างสมจริงที่สุด โดยยึดตามบันทึกการเดินทางของท่าน จึงถือเป็นคุณูปการแก่ผู้ชมเช่นกัน เพียงแต่ว่า ในฐานะที่มันเป็นหนัง ดิฉันก็อยากจะให้มัน ‘สัมผัสใจ’ คนดูกว่านี้สักหน่อย คือท่านเป็นพระนักเทศน์นักปฏิบัติที่แตกฉานในพระไตรปิฎกมากที่สุดแล้ว ทั่วทั้งชมพูทวีปก็ยอมรับนับถือท่านในเรื่องนี้อย่างไม่มีข้อกังขาเลย ทั้งๆ ที่ท่านเป็นพระต่างชาติแท้ๆ แล้วทุกอย่างที่ท่านทำ ตั้งแต่การเดินทาง ไปจนถึงการแปลพระไตรปิฎกและประพันธ์คัมภีร์ต่างๆ ก็เป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่มาก แต่ดิฉันรู้สึกว่าหนังสื่อสารความยิ่งใหญ่ของท่านด้วยองค์ประกอบที่ไม่ค่อยถูกที่ถูกทางเท่าไหร่นัก ก็เลยขัดใจเล็กน้อยถึงปานกลาง

หวงเสี่ยวหมิง ผู้แสดงเป็นพระเสวียนจั้ง ถือว่าสอบผ่านในแง่บุคลิกหน้าตาและการแสดง แต่เวลาพูดภาษาสันสกฤต พี่แกทำปากถั่วงาได้ชุ่ยมาก คือหนังอุตส่าห์พยายามสมจริง ให้พูดสันสกฤตล้วนๆ เลยในช่วงที่อยู่ชมพูทวีป ก็น่าจะส่งนักแสดงไปเรียนภาษาพอให้ถั่วงาได้เนียนกว่านี้สักหน่อยก็ยังดี อีกอย่าง อยากรู้จังว่าพระเสวียนจั้งใช้ครีมกันแดดยี่ห้ออะไร เดินกลางทะเลทรายแดดเปรี้ยงขนาดนั้น หน้าไม่มีไหม้ไม่มีหมองสักน้อย หรือเขาตั้งใจจะสื่อว่าเป็นผู้มีบุญ แล้วนี่ดิฉันจะบาปหรือเปล่า มาเขียนเมาท์อยู่เนี่ย จบดีกว่า 555

สรุป: จ่าย 0 ได้กลับมา 65