โดย ปวิวัณณ์ คำเจริญ
14 ตุลาคม 2016
ดูหนังอย่างคนเบี้ยน้อยหอยน้อย 080; ดู Your Name อะนิเมะที่กำลังเป็นปรากฏการณ์ถล่มโลกโซเชียลและโรงภาพยนตร์อยู่ในตอนนี้ เมื่อวันที่ไปดู Doctor Strange ที่ลิโด ตกใจแทบสิ้นสติเมื่อเห็นว่าเหลืออยู่รอบเดียว เพราะต้องเทโรงเพิ่มรอบให้ Your Name ดูจบเดินออกมา เห็นคนต่อแถวซื้อตั๋วยาวเหยียดยั้วเยี้ยไปถึงหน้าส้วม เคราะห์ดีโรงหนังบ้านเราก็มีฉายเรื่องนี้เหมือนกัน มิฉะนั้นถ้าจะมาดูที่ลิโดคงต้องซื้อตั๋วล่วงหน้าข้ามวันกันเลยทีเดียว
ก่อนที่จะมาฉายในประเทศไทย Your Name ได้สร้างปรากฏการณ์อันยิ่งใหญ่ในญี่ปุ่นมาแล้ว ด้วยการเป็นอะนิเมะซึ่งไม่ได้สร้างโดยสตูดิโอจิบลิเรื่องแรกที่ทำรายได้เกินหมื่นล้านเยน เป็นภาพยนตร์ที่ทำรายได้สูงสุดประจำปี 2016 และได้รับคำวิจารณ์อย่างดีเยี่ยม ไม่แน่รายรับในเมืองไทยอาจจะชนะญี่ปุ่น เพราะกระแสปากต่อปากทางโลกออนไลน์ในขณะนี้รุนแรงมาก ขนาดคนที่ไม่ได้เป็นแฟนแอนิเมชันญี่ปุ่นยังยอมออกจากบ้านไปซื้อตั๋วดูเลย ทำเอาหนังเรื่องอื่นๆ ในช่วงนี้เงียบหงอยจ๋อยสนิทไปตามๆ กัน
ที่มารูป: http://www.animenewsnetwork.com/
Your Name เป็นผลงานการเขียนบทและกำกับของแอนิเมเตอร์ที่เนื้อหอมที่สุดในเวลานี้ ชิงไก มาโกโตะ ซึ่งปีนี้อายุ 43 นี่ไม่ใช่ผลงานสร้างชื่อของเขา เพราะก่อนหน้านี้เขาทำอะนิเมะมาแล้วหลายเรื่อง ล้วนเป็นที่ชื่นชมและทำให้เขามีชื่อเสียงมานานแล้ว แต่ Your Name เป็นผลงานที่พูดได้ว่าประสบความสำเร็จสูงสุดและกว้างขวางที่สุด ซึ่งผู้ที่มีส่วนอย่างสำคัญอีกคนหนึ่งในความสำเร็จครั้งนี้ก็คือ คาวามุระ เกงคิ โปรดิวเซอร์หนังเรื่องนี้ ผู้ร่วมพัฒนาและขัดเกลาบทกับชิงไก (ฮีก็คือผู้เขียนนิยายเรื่อง If Cats Disappeared from the World อ่านเรื่องของฮีได้ในเบี้ยน้อยฯ เรื่องที่ 061 ค่ะ #ขายของ)
ชิงไกเขียนอะนิเมะ Your Name ขึ้นจากนวนิยายชื่อเดียวกันซึ่งเขาเองเป็นผู้แต่ง (ฉบับแปลไทยชื่อ “เธอคือ...” แปลโดย ปาวัน การสมใจ) นิตยสาร Bioscope บอกว่าแกได้แรงบันดาลใจมาจากวรรณกรรมญี่ปุ่นปลายสมัยเฮอัน (ประมาณปี พ.ศ.1700) เรื่อง โทริคาเอบายะ โมโนกาตาริ (Torikaebaya Monogatari) เป็นเรื่องของพี่น้องชายหญิงลูกของเสนาบดี ซึ่งมีพฤติกรรมสลับเพศกัน (คือแกเรียนจบสาขาวรรณกรรมญี่ปุ่นจากมหาวิทยาลัยชูโอ – เลิศอ่ะ – แต่จริงๆ วรรณกรรมเรื่องนี้ก็มีการดัดแปลงมาหลายเวอร์ชันแล้ว เป็นมังงะก็มี ชื่อ “เมื่อเธอเป็นฉัน และฉันเป็นเธอ“) ชิงไกนำอนุภาคการสลับเพศมาโยงเข้ากับปัญหาอย่างหนึ่งของวัยรุ่นปัจจุบัน คือความไม่พอใจในตัวเอง ไม่ชอบชีวิตของตัวเอง และปรารถนาจะเป็นคนอื่น โดยผูกเรื่องให้พระเอกนางเอกเป็นเด็กมัธยมที่ไม่รู้จักกันเลย พระเอกชื่อทะจิบานะ ทากิ อยู่โตเกียว นางเอกชื่อมิยามิสึ มิทสึฮะ อยู่เมืองอิโตโมริ (เมืองชนบทที่ชิงไกสมมุติขึ้น) นางเอกเบื่อชีวิตตัวเอง ตั้งใจว่าเกิดชาติหน้าขอเกิดเป็นหนุ่มฮ็อตในเมืองหลวง พอดีช่วงนั้นดาวหางกำลังโคจรมาใกล้โลก (เกี่ยวกันหรือเปล่าไม่รู้ พูดเฉยๆ อิๆๆ) มิทสึฮะฝันว่าตนเองได้อยู่ในร่างทากิ ส่วนทากิก็ฝันว่าตนอยู่ในร่างมิทสึฮะ และใช้ชีวิตเป็นอีกฝ่าย 1 วัน จากนั้นก็กลับร่างเดิม เป็นแบบนี้ประมาณอาทิตย์ละ 2-3 ครั้งโดยคาดเดาไม่ได้ เวลาผ่านไป ทั้งสองจึงได้รู้ว่าทั้งหมดไม่ใช่ความฝัน แต่เป็นการสลับร่างกันจริงๆ ความผูกพันจึงก่อตัวขึ้น และเมื่อรู้ใจตัวเองแน่ชัดว่ารู้สึกอย่างไรกับอีกฝ่าย ทั้งสองก็ตัดสินใจเดินทางไปหากัน โดยไม่รู้เลยว่ามันจะลงเอยด้วยการ ‘ตามหา’ และการดิ้นรนจนสุดชีวิตเพื่อเอาชนะกาลเวลา
ถ้าจะให้ดิฉันอธิบายว่าหนังเรื่องนี้เป็นหนังเกี่ยวกับอะไร ดิฉันขอบอกว่า มันเป็นหนังที่ “บอกเล่าเรื่องของ ‘ตัวตน’ และ ‘ความสัมพันธ์’ ของมนุษย์ ที่เกี่ยวพันกับ ‘เวลาและสถานที่’ ใน ‘มิติ’ ต่างๆ บนพื้นฐานของ ‘วิถีชีวิต’ และ ‘ความเชื่อ’ ทั้งในรูปแบบตรงไปตรงมาและในรูปสัญลักษณ์” หรือถ้าจะพูดให้เข้าใจง่ายขึ้น มันก็คือคำจำกัดความของ ‘ชีวิต’ ในแง่มุมที่เราอาจจะไม่เคยสังเกตเห็นหรือพิจารณาให้ลึกซึ้งมาก่อน
ในการนี้ จะขอยกตัวอย่างคำคำหนึ่งที่มีความสำคัญต่อเรื่องมาก คือคำว่า มุซึบิ (musubi) ซึ่งแปลว่า “ปม”
ปมก็คือส่วนของผ้าหรือเชือกที่ขมวดกันไว้ ในหนังเรื่องนี้คือเชือก ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของสายสัมพันธ์ที่ผูกโยงคนสองคนไว้ด้วยกัน ในชีวิตคนเรา มีทั้งเชือกที่มองเห็นและเชือกที่มองไม่เห็น ผูกและพันเราไว้กับคนรอบข้าง เมื่อเวลาผ่านไป ปมที่ผูกไว้อาจจะคลายและเลื่อนหลุด หรือยิ่งรัดแน่นขึ้นเรื่อยๆ เป็นสิ่งที่เราไม่อาจรู้ เวลาจึงเป็นตัวแปรสำคัญในความสัมพันธ์ของคน และที่โหดร้ายที่สุดคือ เวลาทำให้เราลืมสิ่งที่อยากจำและสมควรจำได้อย่างสนิท แม้แต่ชื่อ (อันเป็นสิ่งที่แทน ‘ตัวตน’) ของคนที่มีความสำคัญต่อเรา
ประเด็นนี้ได้ถูกนำเสนอไว้ตั้งแต่ชื่อเรื่อง ทั้งชื่อภาษาอังกฤษ คือ Your Name และชื่อภาษาญี่ปุ่น คือ คิมิโนะนาวะ (Kimi no Na wa)
มีผู้อธิบายชื่อหนังเรื่องนี้ไว้ว่า Kimi no Na wa (君の名は) แปลว่า “ชื่อของเธอคือ” มีความหมายเป็นประโยคคำถาม แต่ในขณะเดียวกัน นาวะ (名は) ที่แปลว่า “ชื่อคือ” (名 = ชื่อ, は = คือ) ยังพ้องเสียงกับ นาวะ (縄) ที่แปลว่า “เชือก” ด้วย
ดังนั้น คิมิโนะนาวะ จึงแปลได้ทั้ง “ชื่อของเธอคือ?” และ “เชือกของเธอ” สมดังเรื่องราวของหนัง ที่พูดถึง “การถักทอ เชื่อมโยง บิดร้อยเป็นปม ขาดออกจากกัน และต่อเข้าใหม่”
อีกคำหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน คือ คะวะตะเระ (kawatare)
คำคำนี้ หมายถึง “เวลาโพล้เพล้” แต่ถ้าแปลตรงตัว จะแปลว่า “นั่นใครกัน”
เหตุที่เรียกเวลาโพล้เพล้โดยใช้คำนี้ ก็เนื่องจากเป็นช่วงที่ท้องฟ้าค่อยๆ มืดลงจนมองไม่เห็นหน้าแล้วว่าใครเป็นใคร จึงเป็นช่วงเวลาที่ต้องร้องถามว่า “นั่นใครกัน” (ซึ่งก็เป็นความหมายเดียวกับ “ชื่อของเธอคือ?” อันเป็นชื่อเรื่องนั่นเอง)
โพล้เพล้นับเป็นช่วงเวลาพิเศษ เพราะจะเป็นกลางวันก็ไม่ใช่กลางคืนก็ไม่เชิง เป็นช่วงรอยต่อระหว่างกลางวันกับกลางคืน ความพิเศษของช่วงเวลานี้ ได้ก่อให้เกิด ‘ความเชื่อพิเศษ’ ทั้งในวัฒนธรรมญี่ปุ่นและวัฒนธรรมไทย
การที่คนไทยเรียกช่วงเวลาโพล้เพล้ว่า “ผีตากผ้าอ้อม” ก็เนื่องจากความเชื่อที่ว่า นี่คือเวลาที่โลกมนุษย์จะเชื่อมต่อกับอีกมิติหนึ่ง ท้องฟ้าที่เป็นสีส้มขมุกขมัวก็คือผ้าอ้อมที่ผีเอามาตากเรียงเป็นพืด ณ ริมขอบฟ้า ซึ่งเราจะสามารถเห็นได้ในช่วงเวลานี้เท่านั้น
ความเชื่อเกี่ยวกับเวลาโพล้เพล้ของไทยกับญี่ปุ่นน่าจะมีส่วนที่ตรงกันมากพอสมควร และหนังเรื่องนี้ก็ใช้ประโยชน์จากช่วงเวลานี้ได้อย่างเต็มบริบูรณ์และงดงามที่สุด ทั้งในแง่เป็นจุดเชื่อมโยงของตัวละคร เป็นจุดไคลแมกซ์ของเรื่อง และเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ช่วยสื่อแนวคิดหลักอันสืบเนื่องจากชื่อเรื่อง ด้วยความหมายตรงตัวของคำ “kawatare” ที่ว่า “นั่นใครกัน”
อันที่จริง หนังเรื่องนี้ก็ไม่ใช่เรื่องแรกที่พูดถึงการสลับร่าง ไม่ใช่เรื่องแรกที่พูดถึงตัวตนและความสัมพันธ์ ไม่ใช่เรื่องแรกที่พูดถึงวิถีชีวิตและความเชื่อ ทั้งยังไม่ใช่เรื่องแรกที่ให้ ‘เวลา’ เป็นอุปสรรคสำคัญของเรื่อง หรือเป็นตัวละครฝ่ายตรงข้ามซึ่งพระเอกนางเอกต้องต่อสู้ฟันฝ่า
แต่หนังเรื่องนี้เป็นเรื่องแรก อย่างน้อยก็ในชีวิตของดิฉัน ที่สามารถนำอนุภาคต่างๆ ที่กล่าวข้างต้น มาผสมผสานกันได้อย่างละเมียดละไมที่สุด งดงามจับใจที่สุด และเปี่ยมความหมายที่สุด
ด้วยการ ‘ถักทอ ผูกร้อย เชื่อมโยง’ ทุกอย่างเข้าด้วยกัน ในทุก ‘มิติ’ อย่างแท้จริง
สรุป: จ่าย 0 (ใช้บัตรสะสมแต้ม) ได้กลับมา 300