โดย ช.คนไม่หวังอะไร
เพื่อความเข้าใจที่ชัดเจนว่า “การเมือง” คืออะไรนั้น หากจะสรุปแบบย่อก็คือ
1.การปกครอง อันหมายถึง “การบริหาร” ทุกๆ ด้านตามนโยบายทางการเมือง ทุกด้าน หมายถึง ด้านเศรษฐกิจ สังคม ความมั่นคง สาธารณสุข การศึกษา กีฬา บันเทิง ฯลฯ
2.นโยบายนั้นมาจากไหนอย่างไร ผู้ที่สนใจการเมืองโดยองค์รวม หรือผู้สนใจด้านใดด้านหนึ่งที่ปลีกย่อยลงไป มีความคิดว่าด้านนั้นไม่ถูกต้องชอบธรรม ก็จะร่วมหารือกัน แล้วพัฒนาจากการถกเถียงหรือศึกษาหาแนวทางใดก็ตามเพื่อแก้ไขร่วมกัน ซึ่งจุดนี้จะเป็นจุดเริ่มไปสู่การเรียนรู้ทฤษฎีต่างๆ รวมถึงลัทธิต่างๆ ตามแนวทาง เมื่อมีมากขึ้นก็มักดำเนินการตามกฎหมายหรือระเบียบต่างๆ ที่ประเทศกำหนดไว้
3.บุคคลที่มีแนวคิดตรงกันหรือคล้ายกัน อาจเป็นด้านปลีกย่อยจนถึงด้านหลักๆ รวมกันจัดตั้งในข้อ 2. โดยมักยึดหลักลัทธิใดลัทธิหนึ่งหรือทฤษฎีใดทฤษฎีหนึ่ง แล้วประยุกต์การใช้มาแก้ไขปัญหา ซึ่งตรงนี้ในระบบทั่วไปจะเป็นพรรคการเมือง ในพรรคจะกำหนดนโยบายด้านต่างๆ ตลอดจนการเผยแพร่แนวทาง สร้างแนวร่วมและจัดตั้ง เพื่อจะสามารถนำนโยบายไปใช้ในการปกครอง
4.นั่นหมายถึง การเมืองคืออะไร จากลำดับเบื้องต้นก็คือ คณะบุคคลที่มีแนวคิดคล้ายกันมาจัดตั้งเป็นพรรคการเมือง ตรงนี้ล่ะที่ไทยพลาดในลำดับถัดมา คือการดำเนินการผิดพลาดในระบบพรรคการเมือง ระบบงานตั้งแต่สมาชิกพรรค ภาระหน้าที่ สิทธิการร่วมงาน-สิทธิและภารกิจ ตั้งแต่ระดับศูนย์งาน สาขาพรรค ถึงองค์กรหลักภายในพรรค ความผิดพลาดนี้มีมาตลอดจนนำไปสู่การกำหนดนโยบายและการคัดเลือกบุคคลเพื่อนำนโยบายไปใช้ในการปกครอง
5.ผลที่ตามมาจะสังเกตเห็นได้ชัด จากพรรคการเมืองหนึ่งที่มีพื้นฐานความคิดซึบซับจากแนวคิดดั้งเดิมจะอยู่ได้ยาวนานกว่า แม้ระบบภายในองค์กรจะมีปัญหาบ้าง ขณะที่พรรคการเมืองในช่วงระยะหนึ่งมีการร่วมกันจัดตั้งพรรคจากประโยชน์ร่วมกันจากบุคคลที่มีศักยภาพและคิดเรื่องแนวทางในนโยบายเป็นเรื่องรองมักจะยืนยาวไม่มากนัก จนมาถึงบุคคลที่มีศักยภาพสูงในแต่ละช่วงระยะนั้นยึดถือพรรคเป็นเฉพาะของกลุ่มตน และในที่สุดระบบพรรคย่อมถูกทำลายตนเอง เมื่อถึงระบบที่ยึดถือตัวบุคคลมากกว่านโยบายกับทฤษฎี
6.ฉะนั้น หากสังคมไทยจะมองการเมืองแบบไม่เข้าใจ หรือมองในแง่เลวร้าย จนถึงระดับที่มองนักการเมืองคือการเมือง และเป็นบุคคลที่แสวงหาประโยชน์นั้น ก็ไม่รู้สึกแปลกใจ เพราะในรอบกว่า 50 ปี เป็นมาเช่นนั้น แม้ในบางช่วงจะมีนักการเมืองที่มีอุดมคติจริง เสียสละและทำเพื่ออุดมคติจริงๆ บ้าง แต่คงไม่มีทางที่จะมีศักยภาพเหนือกว่าบุคคลที่มีอุดมคติเล็กน้อยแต่หาประโยชน์ที่มากกว่าได้ในหลายรูปแบบ จากประสบการณ์ที่ทำงานในพรรคการเมืองมาอย่างต่อเนื่อง 34 ปีเต็ม ระบบราชการเป็นหน่วยระดับนโยบายและปฎิบัติจริงนั้นก็ถูกต้อง ขณะที่ความจริงในกฎหมายและกรอบปฎิบัตินั้น ฝ่ายการเมือง (อันนี้หมายถึงในหลักการ) จะต้องดำเนินการแก้ไขได้ หมายถึง ฝ่ายบริหารที่มาจากระบบการเมืองที่ถูกต้องเป็นฝ่ายดำเนินการ แนวทางระบบราชการตั้งแต่ระดับการแต่งตั้งจนถึงการสอบเข้าบรรจุ ทุกอย่างจะอยู่ในระบบที่แข็งแกร่ง เพราะมีกรอบที่เป็นองค์กรและหน่วยงานที่กฎหมายให้ความเป็นอิสระครอบคลุมอีกด้าน เช่น คณะกรรมการข้าราชการพลเรือน ธนาคารแห่งประเทศไทย คณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ทว่าหน่วยงานเหล่านี้เริ่มถูกแทรกแซงทั้งจากสำนักงบประมาณ สภาความมั่นคงแห่งชาติ สำนักข่าวกรองแห่งชาติ เป็นต้น เรื่องสำคัญระดับนี้เป็นเรื่องใหญ่ ที่เห็นมาคือ รัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2540 ที่ฝ่ายการเมืองมีโอกาสดำเนินการปรับเปลี่ยนโครงสร้างการบริหารได้แทบทั้งหมด รวมทั้งระบบและส่วนราชการด้วย แต่ผู้มีอำนาจการเมืองและคณะไม่ได้มีอุดมคติและลึกซึ้งทฤษฎีมากพอ จนคล้ายมาเป็นการสร้างอาณาจักรอำนาจเพื่อคณะตนเองเท่านั้น ซึ่งนำมาสู่ความขัดแย้งและแย่งชิงผลประโยชน์ต่อๆ มา การประมวลเบื้องต้นว่ารอยต่อช่วงนี้เป็นช่วงที่สำคัญมาก เพราะสังคมเพิ่งปรับตัวจากวิกฤติเศรษฐกิจปี พ.ศ. 2540 มาบรรจบกัน นี่คือหลังจุดวิกฤติเศรษฐกิจใหม่ๆ… การพังทลายของระบบทุนเดิมกับสังคมที่ยังสับสน นี่คือโอกาสใหม่เช่นกัน กระบวนการต่อสู้ถึงยาวนานกว่า 10 ปี ลองพิจารณาศึกษาให้ละเอียดแต่ละด้านในช่วงเปลี่ยนผ่านอำนาจปกครองจากเค้าโครงหลังวิกฤติเศรษฐกิจไทยกับเค้าโครงที่เปลี่ยนไปหลังรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2540 ใช้บังคับกับเศรษฐกิจใหม่ อาจจะพอทราบได้ ส่วนตัวมีการเก็บรายละเอียดมาตลอดจากการทำงานการเมืองมา 34 ปี มีเจตจำนงส่วนตนในอุดมคติ แม้จะร่วมงานกับคนที่มีอุดมคติแตกต่างหรือไม่มีอุดมคติก็ร่วมงานกันได้ เพราะเป็นการทำงานแนวร่วมกัน แต่ตนเองต้องไม่เปลี่ยนแปลงเจตจำนงในอุดมคติตนเอง ความประพฤติส่วนตัวอาจมีผิดพลาดได้ แต่ตลอดมาแม้ได้โอกาสหรือถูกยัดเยียดในโอกาสให้มีตำแหน่งต่างๆ ก็ไม่รับตำแหน่งในการแต่งตั้งใดๆ เลยทั้งสิ้น เพราะส่วนตัวคิดมาเสมอว่าไม่เคยต้องการสิ่งเหล่านี้ ขอมีความอิสระส่วนตัวเท่านั้นเอง